fbpx

อุตสาหกรรมฮาลาลและการเงินอิสลาม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิสลามสู่ความเป็นสากล

กรุงกัวลาลัมเปอร์ “นโยบายกระชับความสัมพันธ์ให้กับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและนานาชาติจะยังคงยืนหยัดเป็นรากฐานแห่งการเติบโตของเศรษฐกิจอิสลามระดับโลก รวมไปถึงความพยายามของประเทศมาเลเซียเองในการที่จะก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีมูลค่าและรายได้ในระดับที่สูงขึ้น” พระราชดำรัสของสุลต่านแห่งรัฐเปรัค Sultan Nazrin Muizzuddin Shah Ibni Almarhum Sultan Azlan Muhibbuddin Shah Al-Maghfur-Lah

สุลต่าน Nazrin ทรงตรัสอีกด้วยว่า เศรษฐกิจอิสลามกำลังได้รับการตอบรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้นในการที่จะเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของระบบนานาชาติ และในช่วงกระบวนการพัฒนาเหล่านั้นก็ยังถือเป็นการเปิดขยายโอกาสเข้าร่วมให้กับเหล่าบรรดาประชาคมโลกได้อีกด้วย

“สิ่งเหล่านี้ทำให้เพิ่มการประสานเชื่อมโยงกันของเศรษฐกิจโลกทั้งระหว่างภายในและภูมิภาค และเพื่อเป็นการยกระดับการเชื่อมโยงรูปแบบใหม่พร้อมการบูรณาการที่ดียิ่งขึ้น เศรษฐกิจอิสลามจึงเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีบทบาทเป็นตัวปลดล็อคศักยภาพใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน และในการนี้ยังสามารถยกระดับให้กับโอกาสโดยรวมของเราด้วยเช่นกัน” สุลต่าน Nazrin ทรงให้โอวาทขณะกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานการประชุมฮาลาลโลกประจำปี 2018 ก่อนที่จะมีการอภิปรายร่วมภายใต้หัวข้อเรื่อง เศรษฐกิจอิสลามสู่ความเป็นสากล: การผสานรวมตัวระดับสากลและการร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์

สุลต่านแห่งรัฐเปรัค

การอภิปรายร่วมดังกล่าวดำเนินรายการโดยศาสตราจารย์ Azmi Omar ประธานและผู้บริหารสูงสุดแห่งศูนย์การศึกษาด้านการเงินอิสลามนานาชาติ (INCEIF) โดยมีผู้ร่วมอภิปรายเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติมาเลเซีย Marzunisham bin Omar, รองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเพื่อกองทุนฮัจญ์ Dato’ Badlisyah Abdul Ghani, ผู้นำนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มธนาคารโลก Marzunisham bin Omar, และกรรมการผู้จัดการธนาคาร Standard Chartered ระบบอิสลาม ประจำสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าร่วมอภิปราย

แม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามในช่วงแรกจะมุ่งเน้นไปยังองค์กรภายในเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจอิสลามนั้นไม่ได้อยู่ในรูปแบบขององค์กรอีกต่อไปแล้ว โดยส่วนใหญ่ได้มุ่งเน้นไปยังประเทศที่จำนวนประชากรมุสลิมมีความโดดเด่น และปัจจัยสำคัญคือการขยายตัวของอัตราความต้องการต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลและการเป็นที่ยอมรับในวงกว้างของระบบการเงินแบบอิสลาม

ในช่วงสิบปีให้หลังเราได้ประจักษ์ถึงความเป็นสากลวิวัฒน์ของระบบเศรษฐกิจอิสลาม ที่ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของแนวโน้มในการสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างผู้คุมเกมส์และผู้ประกอบการระดับนานาชาติ อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เสริมแรงร่วมกันเป็นผลตามมา นอกจากนี้การประสานกันระดับสากลและความร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ยังสามารถช่วยพัฒนาโอกาสให้กับมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในการได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเต็มที่จากข้อได้เปรียบที่หลากหลายของแต่ละประเทศอีกด้วย

ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลและวงการอุตสาหกรรมฮาลาลได้เติบโตจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่คึกคักสำหรับเศรษฐกิจอิสลาม ในการเข้าร่วมช่วงชิงหุ้นส่วนที่ใหญ่กว่าแห่งวงการเศรษฐกิจที่ขยายกว้างออกไปทั่วมุมโลกดังเช่นทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2012 เศรษฐกิจฮาลาลระดับโลกเคยมีตัวเลขประมาณการณ์ที่ 3.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2018 จะสามารถสร้างยอดเพิ่มสูงขึ้นถึง 100% เป็น 6.4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีลักษณะด้านบวกอีกแง่หนึ่งของการเงินอิสลามปรากฎขึ้นให้เห็นว่ามันสามารถกลายเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพต่อการพัฒนาด้านการเงินทั่วโลกทั้งในประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมได้ การเงินอิสลามมีศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในการพิชิตปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างความรุ่งเรืองมั่งคั่งร่วมกันได้อีกด้วย เหล่านี้คือคำกล่าวของธนาคารโลก

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาวงการอุตสาหกรรมการเงินแบบอิสลามได้ขยายตัวขึ้นจากอัตรา 10% เป็น 12% ในแต่ละปี และคาดว่าน่าจะเติบโตขึ้นสู่มูลค่า 6.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2020 ที่ขับเคลื่อนด้วยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความสนใจต่อการเงินอิสลามจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ปัจจุบันได้มีการลงทุนในรูปแบบกองทุนอิสลามมากกว่า 260 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีสถาบันการเงินแบบอิสลามเปิดดำเนินการไปแล้วกว่า 300 แห่งทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน การเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนด้านการเงินอิสลามของมาเลเซียยังทำให้ปี 2016 ที่ผ่านมากลายเป็นปีทองแห่งการออกพันธบัตรบริษัทแบบศุกูกที่สามารถครองตลาดด้วยมูลค่า 47.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นหุ้นส่วนมูลค่า 63.2% ซึ่งแตกต่างจากแนวโน้มในอดีตที่ผ่านมาที่โดยส่วนใหญ่แล้วการออกตราสารจะเป็นบทบาทของรัฐบาลเสียมากกว่า

การประชุมฮาลาลโลกประจำปี 2018 ภายใต้ธีม “เศรษฐกิจข้างหน้า จะไปสู่ทิศทางใด?” ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล (HDC) เป็นเวทีนานาชาติที่เน้นเด่นด้านความชำนาญการของประเทศมาเลเซียที่มุ่งหวังจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานแห่งสากลในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในอนาคต

ทำความรู้จักหน่วยงานพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Industry Development Corporation หรือ HDC)

ฮาลาลคือโอกาสทางธุรกิจ

หน่วยงานพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Industry Development Corporation หรือ HDC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.2006 ด้วยวัตถุประสงค์เด่นชัดคือทำหน้าที่คอยดูแลประสานงานการพัฒนาโดยรวมของอุตสาหกรรมฮาลาลในมาเลเซีย เพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ HDC เป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี

HDC คือรูปแบบการตอบโจทย์แบบองค์รวมของมาเลเซียต่อความต้องการของตลาดโลกที่เรียกร้องให้มีสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อันเนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มมีความมั่นใจต่อกระบวนการฮาลาลมากขึ้นกว่าเดิม แรงผลักดันที่เป็นกุญแจสำคัญของ HDC คือการสร้างความเติบโตและความก้าวหน้าให้กับการพัฒนามาตรฐานฮาลาล คอยเอื้ออำนวยเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับสินค้าและการบริการฮาลาล และส่งเสริมการเติบโตและโอกาสการเข้าร่วมของบริษัทต่างๆในมาเลเซียให้ก้าวสู่ตลาดและวงการอุตสาหกรรมฮาลาลระดับโลกที่มีมูลค่ามากมายหลายแสนล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1.8 พันล้านคน ในขณะที่ตลาดฮาลาลโลกในปัจจุบันประมาณมูลค่าได้สูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค

ในการพยายามที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมระดับนานาชาติให้กับอุตสาหกรรมฮาลาล หน่วยงาน HDC จึงรับหน้าที่คอยจัดสรรกลุ่มผู้ผลิต, ผู้จัดจำหน่าย, ผู้ค้าปลีก, ผู้ประกอบการ, นักวิจัยและนักลงทุน และคอยช่วยเหลือในด้านต่างๆอย่างครอบคลุม เพื่อที่จะแผ่ขยายและรองรับตลาดฮาลาลระดับโลกที่เติบโตขึ้นผ่านการเลือกใช้ประสบการณ์และความชำนาญการของมาเลเซียที่มีความรอบรู้ทั้งในด้านสินค้าอุปโภคและบริโภค

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ HDC www.hdcglobal.com

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน