fbpx

ตอลิบาน ชารีอะห์ และการกดขี่ผู้หญิง : สองมาตรฐานและอคติเหมารวมต่อผู้หญิงมุสลิม – Dalia Mogahed

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า (Lord’s Resistance Army : LRA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในยูกันดาได้ลักพาตัวและสังหารผู้คนหลายหมื่นคนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรัฐตามบัญญัติ 10 ประการในคัมภีร์ไบเบิล

การลักพาตัวเด็กผู้ชายเพื่อนำมาฝึกเป็นทหาร และนำเด็กผู้หญิงมาบังคับเป็นทาสทางเพศของพวกเขาได้รับการบันทึกและนำขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ส่งผลให้มีการออกหมายจับ “นายโจเซฟ โคนี” ผู้ก่อตั้งกลุ่มพร้อมกับผู้นำระดับสูงอีกสี่คน ในข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

และถึงแม้ว่ากลุ่มติดอาวุธนี้จะเป็นกองกำลังคริสเตียนที่ปฏิบัติการในหนทางของพระเจ้าตามแนวคิดของผู้นำของพวกเขา แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ต้องออกมาแสดงข้อคิดเห็นว่าการกระทำของ LRA นั้นไม่สอดคล้องกับหลักการของศาสนาคริสต์ และมันเป็นเพียงการตีความเท่านั้น

ช่างน่าเสียดายนัก ที่เมื่อพูดถึงชาวมุสลิมกลับมีการใช้มาตรฐานที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการยึดครองอัฟกานิสถานครั้งล่าสุดของกลุ่มตอลิบาน

มีข้อมูลรายงานว่าสตรีชาวอัฟกันถูกบังคับให้แต่งงานกับนักรบตอลิบาน ต้องออกจากงาน ต้องทิ้งการเรียน รวมถึงถูกเฆี่ยนตีในที่สาธารณะ

แทนที่จะเรียกร้องให้ยืดระยะเวลาของการลี้ภัย หรือกดดันทางการเมืองให้กลุ่มตอลิบานเกิดการปฏิรูป นักการเมืองฝ่ายขวาในยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับใช้ความไม่ไร้เสถียรภาพของประเทศที่ถูกทำลายจากสงครามนี้ ทำคะแนนทางการเมืองสู้กับพลเมืองมุสลิมและผู้ย้ายถิ่นฐานในประเทศของตัวเอง

ในฐานะที่เป็นพลเมืองมุสลิมของประเทศตะวันตก เราพบว่าตัวเองต้องออกมาปกป้องพี่น้องและศรัทธาของเราอีกครั้ง จากผู้ที่ต้องการใช้โศกนาฏกรรมนี้เผยแพร่วาทกรรมของการเกลียดกลัวอิสลาม ซึ่งเป็นวาทกรรมเดียวกันกับที่เคยใช้เป็นข้ออ้างบุกอัฟกานิสถานเมื่อสองทศวรรษก่อน

ตอนนี้เราก็เป็นอย่างนั้น-ถูกคาดหวังให้ชี้แจง ประณาม และแยกแยะความเชื่อของเราออกจากการกระทำของกลุ่มติดอาวุธที่อ้างศาสนา มันเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ยุติธรรมและน่าเหนื่อยหน่าย ซึ่งไม่ได้เกิดจากเพื่อนร่วมชาติชาวคริสเตียนของเรา แต่มันเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธหรืออาชญากรสงครามที่อ้างว่ากระทำการในพระนามของพระคริสต์

แต่ถึงแม้จะมีสองมาตรฐาน เราก็จำเป็นต้องใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจ ข้าพเจ้าขอพูดให้ชัดเจนว่า : คำสอนหลักของศาสนาอิสลามนั้น ตรงกันข้ามกับการปฏิบัติต่อผุ้หญิงของกลุ่มตอลิบาน ตามที่มีข้อมูลรายงานออกมา

ในทุกความหลากหลายของคำสอนในศาสนาอิสลามนั้นส่งเสริมความปรารถนาทางจิตวิญญาณของผู้หญิง โดยไม่มีผู้กั้นกลางระหว่างเธอกับพระผู้เป็นเจ้า ในศตวรรษที่ 7 ความก้าวหน้าของอิสลามได้ยกระดับผู้หญิงจากการที่ต้องถูกปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงสิ่งของ ไปสู่การมีอิสระอย่างเต็มภาคภูมิ มีอำนาจในการตัดสินใจทางการเงินและทรัพย์สินของตัวเอง มีสิทธิ์เลือกในการแต่งงานและการหย่าร้าง

อาจมีคนสงสัยว่า แล้วเรื่องอาชีพของผู้หญิงล่ะ? – ตั้งแต่ผู้ศรัทธายุคแรก ผู้หญิงได้ทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไปจนถึงนักรบ ตัวอย่างเช่น รุฟัยดะฮฺ อัลอัสละมียะฮฺ ศัลยแพทย์หญิงที่ท่านศานทูตมุฮัมมัดรับรองการดูแลผู้บาดเจ็บของเธอ รวมไปถึงการฝึกอบรมผู้หญิงคนอื่นๆ ในฐานะพยาบาล และมีบทบาทในการก่อตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งแรกสำหรับชุมชน นอกจากนี้ยังมี นุซัยบะห์ บินติ กะอฺอับ สตรีมุสลิมที่ได้รับฉายา “โล่ของศาสนทูต” ที่คอยปกป้องท่านศาสนทูตในสนามรบ แม้ว่าผู้ชายหลายคนจะถอยหนีแล้วก็ตาม

คำสอนของศาสนาอิสลามยังเน้นย้ำความสำคัญของการแสวงหาความรู้สำหรับทั้งชายและหญิง ข้อเท็จจริงคือ มหาวิทยาลัยอัลกอรอวียีน (al-Qarawiyyin) ในเมืองเฟซของโมร็อกโก เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1,000 กว่าปีที่แล้วโดยผู้หญิงมุสลิมชื่อ ฟาฏิมะฮ์ อัล-ฟิรีฮ์ยะห์ (Fatima al-Fihri) ได้รับการรับรองว่าเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงดำเนินการสอนอย่างต่อเนื่อง

ฟาฏิมะฮ์และน้องสาวของเธอได้รับการศึกษาในระดับสูงและอุทิศตนเพื่อศรัทธาของพวกเธอ เมื่อพ่อของเธอเสียชีวิตและเธอได้รับมรดก (ใช่ ผู้หญิงมุสลิมสามารถสืบทอดทรัพย์สินได้หลายศตวรรษก่อนคู่สามีภรรยาชาวยุโรป) เธอและน้องสาวจึงตัดสินใจใช้มรดกนั้นสร้างสถาบันการศึกษา

การอุทิศตนเพื่อแสวงหาความรู้ของสองพี่น้องตระกูล อัล-ฟิรีฮ์ยะห์ นั้นไม่ได้เป็นเพียงตัวอย่างเดียว เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ขณะเดินทางไปบรรยายที่สหราชอาณาจักร ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบศาสตราจารย์มุฮัมมัด อักรอม นัดวี่ (Mohammad Akram Nadwi) ซึ่งเป็นผู้เขียนสารานุกรมของมุฮัดดิซาต (Muhaddithat) นักวิชาการหญิงด้านฮะดิษ ซึ่งเป็นบันทึกคำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่านศาสนทูต

ท่านอาจารย์บอกกับข้าพเจ้าว่า ท่านตั้งใจจะเขียนหนังสือสั้นๆ เกี่ยวกับนักวิชาการหญิงด้านฮะดิษ ซึ่งตอนแรกท่านคิดว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงท่านเขียนออกมาได้ถึง 57 คน (ซึ่งท่านต้องย่อให้เหลือเพียง 40 คนเพื่อตีพิมพ์) จากทั้งราว 9,000 คน ท่านอาจารย์บอกว่ายังมีผู้หญิงอีกหลายพันคนที่ท่านสามารถเขียนถึงได้ นั่นทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ในบรรดานักปราชญ์หลายคนของเรานั้น ในจำนวนนี้มีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ที่ท่านอาจารย์ศึกษาเป็นเพียงแค่นักวิชาการด้านฮะดิษเท่านั้น ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่เป็นนักวิชาการด้านฟิกฮ์ (กฎหมาย), ตัฟซีร (การอรรถาธิบายคัมภีร์) และศาสตร์อื่นๆ ข้าพเจ้าอยากรู้เป็นอย่างยิ่งว่าจำนวนตัวเลขจะเป็นอย่างไร หากท่านอาจารย์ศึกษานักวิชาการหญิงด้านอื่นๆ ของศาสนาอิสลามด้วย

ทว่าความเป็นจริงเหล่านี้กลับขัดแย้งกับภาพของผู้หญิงมุสลิมในจินตนาการยอดนิยม จินตนาการง่ายๆ ที่ชี้นำว่ากลุ่มตอลิบานคือตัวแทนของความเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม และชี้ว่าสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติต่อสตรีไม่ใช่การบิดเบือน รายงานของ Institute for Social Policy and Understanding’s Islamophobia Index ระบุว่า อคติเหมารวมเกี่ยวกับการเกลียดผู้หญิงมุสลิม เป็นวาทกรรมต่อต้านชาวมุสลิมที่แพร่หลายที่สุดจากการสำรวจในหมู่ชาวอเมริกัน

เครื่องมือเก่าแก่ของนักการเมืองตะวันตก คือภาพของผู้หญิงมุสลิมที่ถูกกดขี่ต้องการผู้ช่วยเหลือจากตะวันตกเพื่อพิสูจน์ความชอบธรรมของชาวยุโรป และตามด้วยการบุกรุกและแสวงประโยชน์จากแผ่นดินมุสลิมของชาวอเมริกัน ถึงแม้ว่าการกระทำแบบนี้จะสามารถสืบย้อนไปได้ถึงยุคสมัยสงครามครูเสด แต่ในบริบทสมัยใหม่ มันถูกใช้ผ่านการรายงานข่าวที่มีอคติต่อผู้หญิงมุสลิม

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ดำเนินการโดย ดร.รอชเชลล์ เทอร์แมน (Dr Rochelle Terman) ซึ่งใช้การวิเคราะห์จากข้อมูลที่เธอรวบรวมจากรายงานข่าวของนิวยอร์กไทม์สและวอชิงตันโพสต์เป็นเวลาถึง 35 ปี ชี้ให้เห็นว่ารายงานข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงในต่างประเทศของสหรัฐฯนั้นขับเคลื่อนโดยอคติ (Confirmation Bias การเลือกนำเสนอเฉพาะข้อมูลที่ตรงกับความเห็นตัวเอง) ผู้สื่อข่าวมีแนวโน้มที่จะรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิมและประเทศตะวันออกกลางมากขึ้นหากสิทธิของพวกเธอถูกละเมิด แต่กับผู้หญิงในสังคมอื่นๆ การรายงานข่าวจะเกิดขึ้นเมื่อสิทธิของพวกเธอได้รับการเคารพ

บางคนอาจโต้แย้งว่านั่นมันคือภาพสะท้อนของความเป็นจริง เพราะผู้หญิงในประเทศมุสลิมมักถูกละเมิด แต่ ดร.เทอร์แมน บอกว่านั่นไม่ใช่ประเด็น เธอบอกว่า “ถึงแม้หากว่าแต่ละประเทศจะมีอันดับเท่ากันในดัชนีสิทธิสตรีก็ตาม ถึงอย่างไรผู้หญิงในประเทศมุสลิมก็แสดงให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานจากความเกลียดชังผู้หญิงอยู่ดี ในขณะที่ผู้หญิงในประเทศตะวันตกนั้นแสดงให้เห็นในรูปแบบที่ซับซ้อนมากกว่า”

แม้ว่าชีวิตจริงของพวกเธอจะคล้ายกัน แต่ผู้หญิงมุสลิมก็ยังถูกมองว่าถูกปฏิบัติอย่างทารุณมากกว่าผู้หญิงในความเชื่ออื่น นั่นทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า ความเกลียดชังผู้หญิงเป็นจุดเด่นและเป็นธรรมชาติของมุสลิม

เราจำเป็นต้องบริโภคข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ ตั้งคำถามต่อการสองมาตรฐาน ท้าทายอคติ และอย่ายอมให้ใครก็ตามใช้การกระทำของกลุ่มติดอาวุธมาเผยแพร่ความสุดโต่ง นี่เป็นวิธีเดียวที่เราจะยืนหยัด ร่วมกับชาวอัฟกัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นหญิงหรือชาย โดยนำทั้งแรงกายและแรงใจมาสนับสนุนพวกเขา

ถอดความจาก : Is the Taliban’s treatment of women really inspired by Sharia?

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน