มุสลิมหลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อของชาวตาตาร์ไครเมียมาก่อน จนกระทั่งรัสเซียส่งกองทัพบุกเข้าโจมตียูเครนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชื่อของชาวตาตาร์ไครเมียจึงถูกพูดถึงในฐานะประชากรมุสลิมหลักของยูเครน
อันที่จริงชื่อของชาวตาตาร์ไครเมียนั้นปรากฏขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งบนแผ่นดินยูเครน-รัสเซียมาแล้วหลายครั้งในฐานะประชากรพื้นถิ่นของคาบสมุทรไครเมีย ไล่ตั้งแต่เมื่อครั้งที่รัสเซียทำการผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองในปี ค.ศ.2014 การถูกเนรเทศออกจากแผ่นดินไครเมียโดยคำสั่งของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1944 ไปจนถึงการที่รัฐอิสลามของพวกเขาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ.1783
ชาวตาตาร์ไครเมียเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เติร์กที่ผสมกับชาวมองโกลเมื่อครั้งมองโกลยกทัพมาก่อตั้งอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ด (Golden Horde) ขึ้นบนแผ่นดินยุโรปตะวันออกในช่วงศตวรรษที่ 13 และเมื่อผู้นำมองโกลแห่งโกลเด้นฮอร์ดเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในช่วงศตวรรษที่ 14 ศาสนาอิสลามก็แพร่ไปหลายเมืองในยุโรปตะวันออก รวมถึงคาบสมุทรไครเมีย
ในช่วงท้ายของอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ดเกิดการแตกแยกขึ้นภายในและแตกออกเป็นหลายอาณาจักรย่อยๆ หนึ่งในนั้นคืออาณาจักรข่านไครเมีย (Khanate of Crimean) รัฐอิสลามที่มีอำนาจเหนือดินแดนในคาบสมุทรไครเมียในช่วงปี ค.ศ.1441 ก่อนจะถูกยึดครองโดยจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ.1783

ในปี ค.ศ.1917 ชาวตาต้าร์ไครเมียสถาปานารัฐมุสลิมของตัวเองขึ้นอีกครั้งในชื่อ “สาธารณรัฐประชาชนไครเมียน” หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในรัสเซีย แต่ก็เป็นรัฐที่มีอายุเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะแค่ไม่กี่สัปดาห์หลังการสถาปนา ไครเมียก็ถูกกองทัพบอลเชวิคแห่งโซเวียตรัสเซียบุกเข้ายึด
คาบสมุทรไครเมียภายใต้การปกครองของรัฐบาลโซเวียตนั้นเต็มไปด้วยความอดอยากรากแค้น กล่าวกันว่ามีชาวตาตาร์ไครเมียมากกว่า 100,000 คนเสียชีวิตเพราะความอดอยากและหิวโหย นอกจากนี้ยังถูกสังหารในช่วงนโยบายกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) ไปอีกกว่า 150,000 คน
ในปี ค.ศ.1944 ชาวตาตาร์ไครเมียที่ยังคงหลงเหลืออยู่ราว 180,000 คน ถูกเนรเทศไปยังเอเชียกลาง ตามคำสั่งของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต โดยมีคาดการณ์กันว่าประมาณครึ่งหนึ่งของชาวตาตาร์ไครเมียที่ถูกเนรเทศเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง
เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ.1991 คาบสมุทรไครเมียกลายเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ชาวตาตาร์ไครเมียจึงได้เดินทางกลับมายังบ้านของพวกเขาอีกครั้งหลังถูกบังคับเนรเทศไปเกือบ 50 ปี แต่การกลับมาในครั้งนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะพวกเขาเข้ามาอยู่อาศัยแบบผิดกฎหมาย และบ้านรวมถึงผืนดินที่พวกเขาเคยเป็นเจ้าของตอนนี้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวรัสเซียผู้มาอยู่ใหม่
“เมื่อคนเฒ่าคนแก่ก้าวเท้าลงจากเครื่องบิน พวกเขาก้มลงไปจูบผืนดิน พวกเขาต่างร้องไห้อย่างมีความสุข เพราะได้กลับมายังบ้านเกิด” Erfan Kudusov บอกเล่าความทรงจำในช่วงเวลานั้นกับ Al Jazeera เขาเป็นชาวตาตาร์ไครเมียที่ครอบครัวพาเดินทางกลับมายังไครเมียในวัย 20 ปี
Zakhida Adylova ชาวตาตาร์ไครเมียวัย 34 ปี ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงเคียฟของยูเครน บอกกับ Al Jazeera ว่าเธอยังจำช่วงเวลาที่คุณยายของเธอพยายามกลับไปเยี่ยมบ้านของตัวเองในไครเมียได้ดี “คุณยายเคาะประตูบ้าน แต่เมื่อเจ้าของบ้านคนใหม่ออกมาและรู้ว่าคุณยายมาทำอะไร พวกเขาก็ไล่คุณยายอย่างหยาบคาย”
ภายหลังกลับมายังบ้านเกิด ชาวตาตาร์ไครเมียร์ได้ก่อตั้งองค์กร The Mejlis of the Crimean Tatar People ขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการเรียกร้องและถ่ายทอดปัญหาต่อรัฐบาลท้องถิ่นไครเมีย รัฐบาลกลางยูเครน และหน่วยงานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ The Mejlis ยังทำหน้าที่ฟื้นฟูประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมของชาวตาตาร์ไครเมียให้กลับคืนมาอีกครั้ง
แต่แล้วในปี ค.ศ.2014 ชะตากรรมของชาวไครเมียก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อรัสเซียประกาศผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยการส่งกองกำลังเข้ายึดและแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นไครเมีย จากนั้นจึงจัดลงประชามติในไม่กี่สัปดาห์ถัดมาเพื่อรองรับการผนวกดินแดนไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย การลงประชามติในครั้งนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

องค์กร The Mejlis ของชาวตาตาร์ไครเมียประกาศไม่ยอมรับผลประชามติและปฏิเสธความร่วมมือกับทางการรัสเซียในไครเมีย เพราะยังคงจดจำภาพอันสยดสยองที่เคยได้รับในสมัยโซเวียตได้เป็นอย่างดี รัฐบาลกลางรัสเซียจึงได้กล่าวหา The Mejlis ว่าเป็นองค์กรอิสลามหัวรุนแรง กลุ่มก่อการร้าย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แล้วบังคับใช้กฎหมายห้ามชาวตาตาร์ไครเมียชุมนุมในที่สาธารณะ และห้ามการเรียนการสอนศาสนา
Middle East Eye รายงานว่า ในปี 2017 คณะทำงานตรวจสอบสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในยูเครน ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไครเมีย โดยสรุปว่า ชาวตาตาร์ไครเมียถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญภายใต้การยึดครองของรัสเซีย
Middle East Eye ยังอ้างถึงรายงานของ Human Rights Watch อีกว่า หน่วยงานความมั่นคงกลางแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (FSB) ทำการบุกค้นบ้านเรือนของชาวตาตาร์ไครเมียที่วิพากษ์วิจารณ์การยึดครองของรัสเซียในยามวิกาล หลายคนถูกจับ ถูกกักขัง และซ้อมทรมาน หากมีการพูดคุยเรื่องอัลกุรอานหรือเรื่องราวเกี่ยวกับอิสลาม
เมื่อชีวิตต้องตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง ชาวตาตาร์ไครเมียหลายครอบครัวจึงทยอยหลบหนีไปยังเมืองอื่นๆ ของยูเครน ตัวอย่างเช่น Erfan Kudusov ที่หลบหนีออกจากไครเมียร์ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน หลังหวาดกลัวการถูกทำร้ายเพราะไม่เห็นด้วยกับประชามติและคัดค้านการยึดครองของรัสเซีย แต่ถึงกระนั้นเขาก็เชื่อมั่นว่าสักวันจะได้กลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้ง
“ชาวตาตาร์ไครเมียจะกลับบ้านอีกครั้งอย่างแน่นอน ปู่ย่าตายายของผมถูกเนรเทศและถูกขับไล่ออกไป 45 ปี แต่พวกเขาบอกผมเสมอว่าเราจะกลับบ้าน และเราก็ทำได้” Erfan Kudusov บอกกับ Al Jazeera
ปัจจุบันมีชาวมุสลิมในยูเครนประมาณ 400,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวตาตาร์ไครเมีย ที่ฝากความหวังและอนาคตไว้กับความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย

อ้างอิง :
- https://www.aljazeera.com/news/2022/2/10/ukraine-rising-tensions-put-crimean-tatar-muslims-at-risk-again
- https://www.middleeasteye.net/opinion/how-russia-trying-erase-tatar-muslims
- https://www.bbc.com/thai/international-39336006
- https://en.wikipedia.org/wiki/Crimean_Tatars
- https://youtu.be/VLfBMva0E2I