ตอลิบานยึดอำนาจปกครองประเทศไปแล้ว 5 วัน แต่ดูเหมือนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะยังคงดังไม่หยุดหย่อนจนแทบกลายเป็นสงครามย่อมๆ ของฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านตอลิบานที่ปะทะความคิดกันอยู่บนโลกออนไลน์
ทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จ ตอลิบานประกาศย้ำหลายครั้งว่าชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนจะปลอดภัย พร้อมมุ่งสร้างบรรยากาศแห่งสันติเพื่อให้ประชาชนทุกคนดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ไม่จำเป็นต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่เพราะที่นี่คือบ้านที่ชาวอัฟกันทุกคนต้องร่วมกันสร้างไปพร้อมกัน ประกาศนิรโทษกรรมให้กับอดีตเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนจากทุกหน่วยงานของรัฐบาลชุดเดิม และเชิญชวนให้กลับมาร่วมกันรับใช้ผู้คนและประเทศชาติอีกครั้ง นอกจากนี้ตอลิบานยังสร้างความแปลกใจให้กับหลายคนด้วยการประกาศเชิญชวนผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าการกลับมาของตอลิบานในครั้งนี้มีท่าทีเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ซึ่งมีตอนหนึ่งพูดถึงการปรับตัวของกลุ่มตอลิบานไว้อย่างน่าสนใจ ดร.ศราวุฒิบอกว่ากลุ่มตอลิบานมีการปรับตัวในหลายด้าน ทั้งด้านการเมือง ด้านทัศนะทางศาสนาที่มีต่อสื่อและสิทธิสตรี รวมไปถึงด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และไม่ได้เพิ่งปรับตัวหลังการบุกยึดกรุงคาบูลในครั้งนี้เท่านั้น แต่มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2020 แล้ว
“อย่างเมื่อปลายปี 2020 ตอลิบานก็มีการตั้งกลุ่มชีอะห์ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถานเป็นหัวหน้าชุมชนในบางส่วนของภาคเหนือ ทั้งที่แต่ก่อนตอลิบานกับชีอะห์ไม่ถูกกันเลย และตอลิบานยังเคยเข้าไปถล่มโจมตีชีอะห์อย่างโหดร้ายด้วยซ้ำ แต่ตอนหลังกลับแต่งตั้งและสร้างเครือข่ายสัมพันธ์กับชีอะห์ นี่คือการปรับตัว และปรับกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย” ดร.ศราวุฒิ กล่าว
ส่วนในด้านทัศนะที่มีต่อสื่อ ดร.ศราวุฒิ บอกว่ากลุ่มตอลิบานนั้นปรับเปลี่ยนท่าทีไปค่อนข้างมาก เพราะเมื่อก่อนพวกเขา “ไม่ยอมให้ประชาชนดูโทรทัศน์ แม้แต่วิทยุบางรายการก็ห้ามฟัง” เพราะมองว่าผิดหลักการทางศานา แต่ปัจจุบันพวกเขาเปลี่ยนท่าทีและไม่สั่งห้ามอีกต่อไปแล้ว
ดร.ศราวุฒิ ยังบอกอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ตอลิบานมีท่าทีเปลี่ยนไปเพราะในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในอัฟกานิสถาน พวกเขาจึงมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติ นั่นทำให้โลกของตอลิบานจึงกว้างขึ้น “ผมมองว่าเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาตอลิบานติดต่อสัมพันธ์กับเอ็นจีโอต่างชาติที่เข้าไปพัฒนาในอัฟกานิสถานมา และเข้าไปทำงานในชนบท พัฒนาการศึกษา การจะเข้าไปทำงานได้ก็ต้องคุยติดต่อประสานงานกับตอลิบาน ทำให้ตอลิบานเห็นโลกกว้างยิ่งขึ้น จากนักศึกษาศาสนาหลังเขาแล้วเข้ามาปกครอง ไม่มีความรู้หรือ knowhow เลย วันนี้ตอลิบานปรับตัวไปจากเดิมมาก”
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของกลุ่มตอลิบานนำมาซึ่งความหวังของหลายฝ่าย ว่าการกลับมามีอำนาจอีกครั้งของพวกเขาจะช่วยนำพาอัฟกานิสถานกลับสู่ความมีเสถียรภาพและนำสันติสุขมาสู่ดินแดนแห่งนี้
แต่ถึงแม้จะมีท่าทีเปลี่ยนไป อีกหลายฝ่ายก็ยังคงมีความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิสตรีและการบังคับใช้กฎหมายศาสนาแบบเข้มงวดที่เคยสร้างความหลาดกลัวให้กับหลายคนมาแล้วเมื่อในอดีต ตัวอย่างเช่น Khaled Hosseini นักเขียนชื่อดังชาวอัฟกานิสถานเจ้าของผลงาน The Kite Runner ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความกังวลในวันที่ตอลิบานบุกยึดกรุงคาบูลว่า
“มีภาพที่น่าสยดสยองมากมายในช่วงที่กลุ่มตอลิบานปกครองอัฟกานิสถาน : การเฆี่ยนตีในที่สาธารณะ การตัดมือ การประหารชีวิตในสนามกีฬา การทำลายโบราณวัตถุอย่างป่าเถื่อนและไร้สติ แต่สำหรับผม ภาพที่ติดตามของตาลีบันในช่วงปี 1990 คือภาพไม้ที่ถือตอลิบเฆี่ยนตีผู้หญิงที่สวมชุดบุรก้า กลุ่มตอลิบานคุกคามผู้หญิงอย่างเป็นระบบ จำกัดเสรีภาพในการไปไหนมาไหน เสรีภาพในการทำงาน สิทธิในการศึกษา สิทธิในการสวมใส่เครื่องประดับ ในการทำสีเล็บ การหัวเราะในที่สาธารณะ หรือแม้แต่การเปิดเผยใบหน้า” เขากล่าว
สองวันก่อนหน้าการบุกยึดกรุงคาบูลของกลุ่มตอลิบาน ซาห์รา คาริมี ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและเจ้าของบริษัทผลิตภาพยนตร์แห่งเดียวของอัฟกานิสถาน ได้เขียนจดหมายเรียกร้องให้โลกช่วยกันหยุดการยึดครองอัฟกานิสถานของกลุ่มตอลิบาน โดยแสดงความกังวลว่าสิ่งเลวร้ายในอดีตจะหวนกลับมาอีกครั้ง
“เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มตอลิบานกลับเข้าสู่อำนาจ จะไม่มีเด็กผู้หญิงแม้แต่คนเดียวที่ได้เรียนหนังสือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีผู้หญิงมากกว่า 9 ล้านคนในอัฟกานิสถานได้รับการศึกษา สิ่งที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ หลังจากกลุ่มตอลิบานยึดครองเมืองเฮรัต เมืองที่ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ผู้หญิงภายในเมืองเกือบครึ่งไม่ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัย เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งเหลือเชื่อที่ทั่วโลกไม่รับรู้ พวกเขาใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถทำลายโรงเรียนเป็นจำนวนมาก และเด็กผู้หญิงกว่า 2 ล้านคน ถูกบังคับให้ต้องออกจากระบบการศึกษาทันที” เธอระบุตอนหนึ่งในจดหมาย
จากความกังวลดังกล่าว เราจึงได้เห็นภาพความวุ่นวายเกิดขึ้นที่สนามบินของกรุงคาบูล ที่ชาวอัฟกันนับพันพยายามยื้อแย่งกันเพื่อหาหนทางหนีออกนอกประเทศ จนกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่ส่งผลให้มีชาวอัฟกันเสียชีวิตจากการเกาะอยู่ด้านนอกเครื่องบินของสหรัฐฯอเมริกา เราได้เห็นภาพความโกลาหลที่ชาวอัฟกันพยายามส่งเด็กเล็กๆ ข้ามรั้วลวดหนามเพื่อหวังให้ทหารสหรัฐพาหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นภาพสะเทือนใจของใครหลายคน
และนั่นทำให้เสียงในโลกออนไลน์แตกออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายหนุนตอลิบานที่คาดหวังว่าพวกเขาจะรักษาสัญญาและนำพาสันติมาสู่อัฟกานิสถาน กับฝ่ายต่อต้านตอลิบานที่ยังคงหวาดกลัวความโหดร้ายที่พวกเขาเคยทำ
แต่นั่นก็ยังไม่น่าหนักใจเท่ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือความรู้สึกของผู้คนที่แสดงออกตามโพสต์ข่าวในเพจต่างๆ ที่ผูกโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไปเป็นเรื่องศาสนา
ด้านหนึ่ง ตอลิบานเป็นมุสลิม ไว้เครายาว ถือธงภาษาอาหรับ มีภาพโหดร้ายป่าเถื่อนกับผู้หญิง หลายคนเลยเหมารวมเกลียดอิสลามและมุสลิมไปทั้งโลก เรื่องอื่นของมุสลิมเลยพาลถูกเกลียดไปด้วย โดยเฉพาะการคลุมผ้าฮิญาบของผู้หญิง รวมไปถึงทุกอย่างที่มีคำว่าอิสลามก็ถูกมองในแง่ลบ เลยเถิดไปถึงขั้นล้อเลียนด้วยคำเหยียดหยาม
อีกด้าน ตอลิบานเป็นมุสลิม ประกาศต่อสู้เพื่อนำชารีอะห์กลับมาใช้ในประเทศ มุสลิมหลายคนจึงออกตัวปกป้องจนบางครั้งแสดงให้เห็นถึงความเลยเถิด ใครวิจารณ์หรือตั้งคำถามต่อกลุ่มตอลิบานถูกผลักไปเป็นพวกเกลียดมุสลิมต่อต้านอิสลาม หรือหากคนวิจารณ์เป็นมุสลิมบางครั้งก็ถูกยัดข้อหาหนักอย่างการเป็นพวกปฏิเสธหลักการศาสนาเลยทีเดียว
และนี่อาจกลายเป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้งระหว่างผู้คนต่างศรัทธา ที่พร้อมประทุจนกลายเป็นหายนะในสังคมได้ตลอดเวลา
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะไม่เดินไปสู่จุดนั้น อินชาอัลลอฮ์
อ้างอิง
- แถลงการณ์ของตอลิบานเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดและการเปลี่ยนแปลงในประเทศอัฟกานิสถาน
- ศราวุฒิ อารีย์ : โฉมหน้าอัฟกานิสถาน และรัฐบาลตอลิบาน 2.0
- ความกังวลของ Khaled Hosseini นักเขียนชื่อดังชาวอัฟกานิสถานเจ้าของผลงาน The Kite Runner
- ความกังวลของ ซาห์รา คาริมี ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงชาวอัฟกัน