fbpx

“ไร่ชาสุวิรุฬห์ ชาไทย” แบรนด์ชาฮาลาล คุณภาพตลาดโลก

หากจะนึกถึงไร่ชา หลายคนอาจจะจินตนาการถึงพื้นที่สีเขียวชอุ่มอันกว้างใหญ่สุดสายตา พร้อมกับอากาศเย็นๆ ทางภาคเหนือ ใบชาที่ถูกคัดสรรจากต้น ถูกส่งไปยังวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน จนออกมาเป็นชาธรรมชาติกลิ่นหอมละมุน

แต่จะใครรู้บ้างว่า หนึ่งในไร่ชาคุณภาพในจังหวัดเชียงรายที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชาไทยมากว่า 40 ปี มีเจ้าของและผู้ก่อตั้งเป็นมุสลิม ไร่ชาที่ฮาลาลตั้งแต่กระบวนการคิดไปจนถึงผลิตภัณฑ์ กับแบรนด์ สุวิรุฬห์ชาไทย

“ชาของเราเน้นคุณภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะคุณพ่อดื่มเอง ลูกเมียก็ดื่ม พี่น้องก็ดื่ม ลูกค้าก็เปรียบเสมือนเพื่อนเราคนหนึ่ง เราจึงทำไร่ชาที่นี่ให้มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ที่สุด เวลามีคนเดินผ่านเขาจะรู้เลยว่าฤดูนี้ผลิตชา หากวันไหนไม่ได้กลิ่นก็จะถามว่า อ้าวทำไม่ชาแล้วหรอ? เพราะเขาอยากได้กลิ่นชาหอมๆ ทุกๆวัน”

คุณจารุวรรณ ณติณณ์วิรุฬห์ หรือ คุณฮุสนา เจ้าของกิจการรุ่นที่ 3 ของไร่ชาสุวิรุฬห์เอ่ยถึงความเป็นมาของไร่ชา

“รุ่นแรกคืออากงเป็นมุสลิมจีนที่เข้ามาอยู่ที่นี่ รุ่นต่อมาคือป๊าหรือพ่อของเรา เริ่มตั้งแต่ชาพันธุ์พื้นเมือง ชาอัมสัมหรือชาป่า ชาอูหลงซึ่งมีหลายพันธุ์ ต่อมาในรุ่นของเราก็จะพัฒนาเป็นสมุนไพรต่างๆ ผสมไปในชาเพื่อความหลักหลาย”

หลักในการทำไร่ชาของสุวิรุฬห์คือ วิถีเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ ต้องเป็นพันธุ์ที่ใช่ เกษตรอินทรีย์นั้นต้องไม่ใช้สารเคมี แต่ยังคงมีการบำรุงที่ดี ไร่ชาของที่นี่จะแตกต่าง เพราะไร่ชาแต่ละแปลงมีระดับน้ำทะเลแตกต่างกัน มีทั้งที่ราบ ที่ดอน และบนดอย แต่ละที่ก็มีการดูแลที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นคุณฮุสนาเล่าว่าต้องควบคุณคุณภาพ และการทำไร่ชาที่แตกต่างแบบนี้ของสุวิรุฬห์ก็เป็นแบบอย่างให้กับเกษตรอื่นๆ ต่อมา

นอกจากคุณภาพในตัวผลิตภัณฑ์ เพราะคุณภาพของพนักงานก็ต้องให้ความสำคัญด้วย แบรนด์สุวิรุฬห์นั้นเน้นการทำงานกันแบบอบอุ่นอย่างครอบครัว ซึ่งเป็นครอบครอบใหญ่ที่มีความแตกต่าง

“พนักงานของที่นี่ส่วนใหญ่คือชาวเขาและเพื่อนบ้านอย่างชาวเมียนมา ทุกคนมาอยู่กับเราเหมือนครอบครัว มีที่พัก แบ่งเป็นโซนคนมีลูก โซนคนลูกไม่มีลูก พวกเราช่วยกันปลูกข้าวทานเอง อีกส่วนก็นำขาย พนักงานส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่คนมุสลิม ดังนั้นเขาจึงเห็นวิถีของเราที่แตกต่าง ที่นี่เราอ่านอัลกุรอาน เราทำบุญ เราสังสรรค์แบบไม่มีแอลกอฮอล์ พวกเขาก็ชื่นชมเรา ความแตกต่างไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะแก่นในการใช้ชีวิตของทุกคนคือการเป็นคนดี” คุณฮุสนาเล่าด้วยความอิ่มใจ

เมื่อถามคุณฮุสนาว่า แนวคิดการใช้ชีวิตแบบมุสลิมนั้น ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจที่ทำ คุณฮุสนาเล่าต่อว่า

“อากงเป็นมุสลิมจีนเข้มแข็งมาแต่เดิม แกเข้ามาเป็นอิหม่ามที่นี่ อากงสอนให้ยึดหลักการอิสลามในการทำงานและใช้ชีวิต เราไม่เคยมองว่าการเป็นมุสลิมแล้วจะลำบาก แม้จะเป็นผู้หญิงด้วยก็ตาม ปัจจุบันคุณพ่อไม่อยู่แล้ว เหลือเราที่เป็นพี่สาวคนโต ก็ต้องประคับประครองครอบครัวและคนงานอีก 260 ชีวิตไปให้ได้ เพราะภรรยาท่านนบีเองก็เป็นนักธุรกิจ ลูกค้าบางคนคุยกันทางออนไลน์ พอมาเห็นตัวจริงว่าเราเป็นมุสลิมเขาก็ไม่ซื้อ แต่เราก็ไม่ง้อ เดินหน้าหาลูกค้าใหม่ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหลักการหรือทางที่เราเดินเพื่อใคร เพราะมันทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น”

และเพราะความเป็นมุสลิมที่เดินชัดของแบรนด์สุวิรุฬห์นี้เอง ที่ทำให้สุวิรุฬห์เป็นธุรกิจที่ขอ ตราฮาลาล เจ้าแรกในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางอย่างดีในการเปิดตลาด

“ในเชียงรายสมัยก่อนไม่มีใครขอตราฮาลาลเลย เราทำชาเลยมีคนสงสัยว่า แค่ชานะ ต้องมีตราฮาลาลด้วยหรอ? เพราะเขาไม่เข้าใจว่าแก่นของฮาลาลไม่ได้อยู่ที่ไม่มีหมูหรือแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสะอาดและกรรมวิธีการผลิต หลังจากที่เราได้ตราฮาลาลติดลงบรรจุภัณฑ์ ลูกค้าบอกก็แบบ โห มีฮาลาลด้วย เราจึงอธิบายเกี่ยวกับฮาลาลไป ซึ่งจากนั้นธุรกิจหลายๆ เจ้าก็เริ่มทยอยกันขอตราฮาลาลบ้าง”  คุณฮุสนาอธิบายจึงความเป็นมาเกี่ยวกับเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งทำให้แบรนด์สุวิรุฬห์นั้นได้ตีตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในมาเลเซียที่ผลตอบรับดีมาก เพราะที่นั่นผลิตภัณฑ์ชาก็ไม่ได้มีตราฮาลาลเสมอไป จึงทำให้เข้าใจได้ว่าผู้บริโภคนั้นก็เลือกซื้อสินค้าจากตราฮาลาลเพราะมั่นใจในมาตรฐานและความสะอาดปลอดภัย

ตลาดของแบรนด์สุวิรุฬห์ไม่มีเพียงเฉพาะประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังเติบโตในสิงค์โปร์และอเมริกาอีกด้วย

นับได้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีความพัฒนามาตลอด 40 ปี กับชาไทยสุวิรุฬห์ ซึ่งดูเหมือนว่าในรุ่นของคุณฮุสนานั้นจะเติบโตอย่างมาก ซึ่งคุณฮุสนาก็ได้เล่าโมเดลธุรกิจให้ฟังว่า

“สมัยรุ่นคุณพ่อ ท่านวางทุกอย่างไว้ดีมาก เราแค่ต่อยอดมัน เช่นการผสมปุ๋ยที่มีโมเลกุลเล็กลงเพื่อเพิ่มการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาห้องแลปจุลชีวะที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ รุ่นคุณพ่อจะทำไว้แบบเพียวๆ เช่น ชาเขียว ชามะลิ ชาต่างๆ แบบเบสิก พอถึงรุ่นของเราก็มาผสมสมุนไพรต่างๆ ทำแบบไร่นาสวนผสมตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ปรับมาเป็นไร่ชาสวนผสม นอกจากชาแล้วเรายังมีหอมหมื่นลี้ ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ขิง มะรุม และอื่นๆ  นอกจากได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์แล้วยังเป็นการเพิ่มงานให้กับพนักงาน เพราะหากหมดฤดูชา คนเหล่านี้ก็ต้องไปหางานทำข้างนอกเพื่อให้มีรายได้ พอเรามีการผลิตสมุนไพรตรงนี้ ก็เลยให้ทุกคนมาช่วยกันดูแล อยู่ด้วยกันไปทุกวัน พวกเขาก็อิ่มใจ”

แม้ในปัจจุบันจะเกิดแบรนด์ชาต่างๆ มากมายในท้องตลาด แต่สิ่งทำให้สุวิรุฬห์นั้นยังเติบโตอย่างมั่นใจต่อไปก็เพราะแนวคิดอันดีงามที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“ชาเป็นเครื่องดื่มที่คนดื่มกันมาเป็นพันๆปี ตลาดของชายังไงก็ยังเติบโตขึ้นอีกเรื่อยๆ ในส่วนของสมุนไพรก็เน้นกลุ่มคนที่รักสุขภาพ ซึ่งเราไม่ได้ผลิตเยอะ แต่จะทำให้มันเป็นเอกลักษณ์ และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะแตกขยายออกไปอีก อาจจะนำเครื่องเทศออแกนิคมาผสมชา ผสมนม ให้มันแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ในอนาคตก็อยากทำร้านให้คนมานั่งดื่มชาในบรรยากาศดีๆ” คุณฮุสนาเผยถึงอนาคตของแบรนด์ที่ได้วางแผยเอาไว้

 

อย่างหนึ่งที่สัมผัสได้จากเรื่องราวของแบรนด์สุวิรุฬห์นั้น คือความฮาลาล หรือความสะอาดบริสุทธิ์และยึดมั่นในหลักการของตนเอง ตั้งแต่กระบวนการคิด การคัดกรอง การวางแผน ซึ่งมันส่งผลให้ทุกๆ การกระทำที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของสุวิรุฬห์นั้นมีมากกว่าคุณภาพ นั่นก็คือความทุ่มเทใส่ใจที่ทางแบรนด์ได้ใส่ลงไป ในทุกๆ ใบชาที่ผู้บริโภคได้ดื่มกัน

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก