fbpx

“พวกเรารอดชีวิตมาได้ เพราะความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า” เรื่องเล่าอันแสนเจ็บปวดจากมารดาชาวโรฮิงญา

ความกลัว ความหิวกระหาย และการถูกทารุณอย่างสาหัส คือคำบรรยายของบรรดาหญิงสาวชาวโรฮิงญาผู้หลบหนีจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารพม่า ที่บอกเล่าให้เราได้รับรู้ถึงเรื่องราวแห่งความตายและหายนะอันแสนเจ็บปวดของพวกเธอ พ่อคนหนึ่งถูกเผาทั้งเป็น ลุงคนหนึ่งถูกเชือดด้วยมีดอย่างเลือดเย็น น้องชายคนหนึ่งถูกจับกุมตัวไปแล้วไม่ได้ยินข่าวคราวใดจากเขาอีกเลย แม้จะต้องเผชิญกับความแออัดในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราว ต้องพึ่งพาอาหารที่ถูกแบ่งสรรกันคนละน้อยนิดและอาศัยความเมตตาจากเพื่อนร่วมค่ายผู้ลี้ภัย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเธอเหล่านั้นพกพามาด้วยตลอดเวลาคือ ความหวังที่เป็นแรงบันดาลใจจากทารกวัยแรกเกิดของพวกเธอที่จะมีบังคลาเทศเป็นบ้านใหม่ให้ได้พำนักพักพิง

ความบริสุทธิ์อันแสนบอบบางของทารกวัยแรกเกิดเหล่านั้นกับสภาพอันเสื่อมโทรมของค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราว ทำให้เราได้เห็นถึงความย้อนแย้งอันแสนเจ็บปวด มันคือที่ซึ่งการอดมื้อกินมื้อหรือภาวะอาหารเป็นพิษเป็นเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความเป็นและความตาย

ทางกองทัพพม่าได้เปิด “ปฏิบัติการล้างบาง” หลังจากที่กลุ่มกบฏชาวโรฮิงญาได้โจมตีป้อมรักษาความปลอดภัยในบริเวณชายแดนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐระไข่ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

องค์การสหประชาชาติได้ระบุว่า ทหารได้ร่วมกันสังหารหมู่ รุมข่มขืนหมู่ และเผาหมู่บ้านไปมากจนอาจกลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“เมื่อเกือบสองเดือนที่ผ่านมาทางฝ่ายทหารได้บุกรุกเข้ามาในเขตหมู่บ้านของเราแล้วยกปืนกราดยิงใส่ผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า” อามีนา หนึ่งในหญิงสาวผู้ลี้ภัยเล่าให้ฟังขณะกำลังไกวเปลให้ลูกสาววัยเพียง 16 วันของเธอที่ชื่อว่า สุมัยยา

“ที่คุณเห็นว่าพวกเรารอดชีวิตกันมาได้เช่นนี้ ก็เพียงเพราะว่าพระเจ้านั้นทรงเมตตาต่อเรามาก” อามีนาหญิงสาววัย 30 ปีกล่าวต่อไป “พวกเขาจับลุงและน้องชายของฉันไป และเราไม่มีวันรู้เลยว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว”

กองทัพพม่าเรียกการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมครั้งนี้ว่า เป็นปฏิบัติการต่อต้านและปราบปรามกลุ่มกบฏเพื่อปกป้องประเทศชาติ พร้อมกับปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ในขณะที่ทางการพม่าได้ทำการสืบสวนสอบสวนการทารุณกรรมดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่กลุ่มนักสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าการสืบสวนเหล่านั้นไร้ซึ่งความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือ

อามีนาคือหนึ่งในผู้ลี้ภัยกว่า 75,000 รายที่รอดชีวิตมาได้จากการข้ามน้ำข้ามภูเขาที่เต็มไปด้วยภยันตราย ก่อนจะมาถึงยังริมฝั่งแม่น้ำบริเวณพรมแดนประเทศบังคลาเทศ

บางคนต้องอยู่ในสภาพที่หิวโหยนานหลายสัปดาห์ บางคนถึงกับต้องยอมจ่ายและแลกทุกสิ่งที่ตนมีกับบรรดานักค้ามนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ในขณะที่อีกหลายชีวิตไม่สามารถมีชีวิตรอดถึงฝั่งเนื่องจากจมน้ำตายหรือไม่ก็ถูกยิงทิ้งโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพม่าระหว่างการเดินทาง

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้รอดชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ทำจากไม้ไผ่และแผ่นพลาสติกสีดำเพื่อป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากแสงแดดอันร้อนระอุเหล่า ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ในการที่จะทำให้ทารกแรกเกิดของพวกเขานั้นมีชีวิตรอดอยู่ต่อไป

ค่ายผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ขาดระบบสาธารณูปโภค ยารักษาโรค และน้ำสะอาด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเริ่มกังวลถึงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางน้ำเช่นอหิวาตกโรค

“ผู้คนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในภาวะแร้นแค้นแสนโหดร้าย หลายคนไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ตามปกติและมีอาหารไม่เพียงพอ”  Azmat Ulla เจ้าหน้าที่กาชาดสากลประจำบังคลาเทศกล่าวขณะเปิดแถลงการณ์เรียกร้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน

สตรีหลายคนจำต้องตกอยู่ในสภาพอับจนและยากไร้ เนื่องจากต้องสูญเสียสุภาพบุรุษที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำในการหาเลี้ยงเพื่อจุนเจือครอบครัว ทุกวันนี้พวกเขาได้แต่พึ่งพาการบริจาคจากโครงการอาหารโลกและกลุ่มองค์กรจิตศรัทธาต่างๆ

คลินิกที่ดำเนินงานโดยกลุ่มองค์กรเอกชนและองค์กรสหประชาชาตินั้นก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่แย่งชิงกันเข้ามาเพื่อขอรับการรักษากว่าพันชีวิตในแต่ละเดือน

Minara Begum หญิงสาววัย 22 ปีปลอบ Ayub ลูกชายวัยหนึ่งเดือนของเธอที่กำลังร้องไห้ ขณะที่เธอเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เธอหนีเอาชีวิตรอดจากหมู่บ้าน Nasha Phuru พร้อมกับสามีและแม่สามีของเธอ

“ลูกชายของฉันได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ ด้วยเพราะฉันไม่มีโอกาสได้ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์” เธอกล่าว “ฉันจึงจำเป็นต้องซื้อนมผงมาให้ลูกทานทั้งๆ ที่รู้ดีอยู่แก่ใจว่ามันจะไม่ดีต่อลูกชายของฉัน”

หญิงสาวอีกหลายคนเล่าให้ฟังว่าพวกเธอรอดจากการถูกข่มขืนมาได้ และบางคนก็เคยเห็นการรุมกระทำชำเราและข่มขืนหมู่โดยพวกทหารด้วยสายตาตัวเอง

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งขององค์กรช่วยเหลือใหญ่ในตะวันตกแห่งหนึ่งได้บอกกับศูนย์ข่าวรอยเตอร์ว่า ทางองค์กรได้ส่งมอบ “อุปกรณ์เสริมเกียรติและศักดิ์ศรี” ให้กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากความรุนแรงไปแล้วมากกว่า 660 รายการ นอกเหนือไปจากการให้คำปรึกษาแก่บรรดาสตรีที่ต้องทรมานกับความหลังอันเจ็บปวด หลังจากที่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากเกือบ 200 รายด้วยกัน

“นี่เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของภูเขาทั้งลูกเท่านั้น” คือคำกล่าวของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งผู้ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามเนื่องจากเขาไม่ได้รับอนุญาตที่จะให้ข้อมูลแก่สื่อ

ภาพความสงบของชายหาด Cox’s Bazar และภาพรีสอร์ทริมหาดแสนสวยของเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลออกไป ช่างให้ความรู้สึกย้อนแย้งมากกับสภาพค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ทุ่งนาอันแห้งแล้ง สองความแตกต่างนี้ห่างกันไปแค่ระยะทางขับรถเพียงชั่วโมงเดียว

ภาพกลุ่มผู้หญิงหน้าตาสิ้นหวังเรียงรายกันมากมายริมท้องถนน ขณะกำลังอ้อนวอนขอเงินบริจาคจากรถราที่ผ่านมา พวกเธอส่วนใหญ่มักจะออกมาขอทานหลังอาทิตย์ตกดินได้ไม่นาน

ภาพผ้าห่มสีแดงถูกปูไว้บนพื้นทรายในค่ายนั้น มีหญิงสาววัย 25 ปีอย่าง Rehana Begum กำลังดูแลลูกสาวของเธอซึ่งมีอายุเพียงหนึ่งวัน

“เรากำลังอยู่ในบ้านในขณะนั้น แล้วจู่ๆ ก็มีกลุ่มทหารบุกเข้ามาในหมู่บ้านและใช้ปืนยิงกราดใส่ชาวบ้านอย่างไม่คิดชีวิต” Rehana Begum ผู้ซึ่งหลบหนีออกจากหมู่บ้านของเธอที่ชื่อว่า Jambuinna ในพม่าเมื่อสามเดือนที่แล้วเล่าให้เราฟัง

“พอเราได้ยินเสียงปืนดังขึ้น เรารีบวิ่งไปหาญาติของเราทันที พวกเราเดินทางโดยเท้าเปล่าเป็นเวลาถึงสี่ชั่วโมงเพื่อให้ถึงชายแดนในเวลาตีหนึ่ง โดยไม่มีอาหารหรือแม้แต่น้ำให้ดื่มซักนิด เราจ่ายให้กับคนที่ดูแลตรงนั้นด้วยเงิน 18 ดอลล่าร์เพื่อขอให้ช่วยพาข้ามชายแดนไป” ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวมีค่ามากเท่ากับ 25,000 จ๊าตของพม่าเลยทีเดียว

หลังจากถูกสกัดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบังคลาเทศ ครอบครัวของ Rehana Begum ได้พยายามหาทางหนีทีรอดจากการถูกส่งตัวกลับบ้าน

“พวกเขาต้องการจะส่งเรากลับประเทศ แต่จากนั้นสักพักเราก็ได้ยินเสียงปืนดังลั่นมาจากฝั่งพม่า แล้วเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเหล่านั้นจึงปล่อยเราไปและพูดว่า “อยู่บังคลาเทศเพื่อเอาชีวิตรอดเถอะ” เธอเล่าให้ฟังทิ้งท้าย

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา :
 Myanmar: Rohingya Muslim mothers flee army crackdown

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร