fbpx

ความในใจของเด็กชาวโรฮิงญา ในวันที่ต้องสูญเสียพ่อแม่

เด็กชาวโรฮิงญากว่า 1,400 ชีวิตข้ามชายแดนพม่าเข้ามาในบังคลาเทศในสภาพที่ไร้พ่อไร้แม่ และส่วนใหญ่ล้วนเป็นเด็กกำพร้า

 

ค่ายกูตูปาลอง ค็อกเซสบาซาร์ – Rashid เป็นเด็กชายอายุเพียง 10 ขวบ แต่สิ่งที่เขาต้องแบกไว้บนบ่าอันบอบบางกลับเป็นภาระรับผิดชอบอันหนักอึ้ง นั่นคือการต้องเลี้ยงดู Rashida น้องสาวของเขาในวัยเพียง 6 ขวบ

พวกเขาเป็นหนึ่งในจำนวนเด็กๆ ชาวโรฮิงญากว่า 1,400 คนที่มาถึงบังคลาเทศทางฝั่งชายแดนพม่าในสภาพกำพร้าไร้พ่อไร้แม่ พ่อแม่ของพวกเขาถูกฆ่าตาย บางคนหายตัวไประหว่างการไล่ล่าอันโหดเหี้ยมของกลุ่มทหารพม่าในรัฐยะไข่ทางตะวันตก

Rashid ยังคงโศกเศร้ากับการสูญเสียพ่อแม่ พ่อแม่ที่เขาเล่าว่าได้ถูกทหารพม่าฆ่าตายอย่างเลือดเย็น

ชาวโรฮิงญาเชื่อว่าทหารพม่าผู้ซึ่งมีประวัติก่อการทารุณกรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตน ได้พยายามใช้การจู่โจมของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาเป็นข้ออ้างในการขู่เข็ญบังคับให้พวกตนออกจากประเทศพม่า

……

The Child Friendly Space (CFS) หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลองของประเทศบังคลาเทศครึกครื้นไปด้วยกิจกรรมสนุกๆ เด็กๆ กว่า 60 ชีวิตกำลังสาละวนอยู่กับการระบายสี วาดรูป และเล่นของเล่นด้วยกัน

แต่ Rashid นิ่งเงียบไม่พูดไม่จา เสียงเบาๆ ของเขามักถูกกลบด้วยเสียงดนตรีที่เด็กๆ กำลังบรรเลงกันอยู่อย่างสนุกสนาน

Rashid เคยอาศัยอยู่กับพ่อแม่และพี่น้องของเขาอีก 6 คนในหมู่บ้าน Shikderpara เมืองมองดอว์ จนกระทั่งวันนั้น วันที่ 25 สิงหาคมที่เกิดเหตุการณ์ทหารพม่าเข้ามาบุกรุกหมู่บ้าน เพื่อสังหารกวาดล้างชาวโรฮิงญาและเผาทำลายหมู่บ้านจนไม่เหลือซาก มันคือการกระทำที่องค์การสหประชาชาติเรียกว่าเป็น “ตำราการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เลยทีเดียว

 “วันนั้นเป็นวันศุกร์ ผมคว้ามือน้องสาวแล้วรีบวิ่งหนีขึ้นไปบนเนินเขาใกล้ๆ พอพวกทหารออกไป ผมจึงกลับมาที่บ้าน แต่ก็พบว่าพ่อแม่ของผมเสียชีวิตไปแล้ว” เขาเล่าให้ฟัง

เขาไม่มีเวลาจะนั่งเสียใจมากมายที่หมู่บ้าน ณ ตอนนั้น เมื่อได้เจอกับเพื่อนบ้านกลุ่มหนึ่งบริเวณใกล้เนินเขา Rashid จึงขอหนีตายตามไปด้วย

“ผมใช้เวลาเดินทางสามคืนจนมาถึงที่ด่านบังคลาเทศ ผมข้ามแม่น้ำนาฟเพื่อข้ามชายแดนบังคลาเทศ ผมมาถึงที่นี่ในวันที่ 1 กันยายน ก่อนวันอีดเพียงวันเดียว”

Rashid ไม่รู้ว่าชะตากรรมพี่น้องคนอื่นๆ ของเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง “ผมได้ยินว่าพี่น้องของผมถูกฆ่าตายหมดแล้ว”

ปัจจุบันเด็กชายผู้เอ่อล้นไปด้วยความว้าวุ่นใจคนนี้อาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านของเขา ผู้ที่เขาเล่าว่าดีกับเขาและน้องสาวมาก

ศูนย์ CFS ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรยูนิเซฟและการให้ความร่วมมือจากหน่วยงานช่วยเหลือท้องถิ่น ได้กลายเป็นแหล่งหลบภัยสำหรับเด็กๆ ที่มีสภาพบอบช้ำทางจิตใจ และโดยส่วนใหญ่ยังไร้เดียงสาเกินไปที่จะเข้าใจถึงความโหดร้ายของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

“ตอน Rashid มาถึงที่นี่วันแรก เขาจะเดินมาหาฉันทุกๆ ไม่กี่นาทีแล้วบอกว่า พ่อแม่ของเขาเสียชีวิตแล้ว” Faria Selim เจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการสื่อสารขององค์กรยูนิเซฟประจำบังคลาเทศเล่าให้ฟัง

“พักหลังมานี้เขาดูเริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว นับตั้งแต่วันที่เขาเริ่มมาอยู่ที่นี่” เธอกล่าวเสริม

Rashid บอกว่าเขาไม่ได้เรียนหนังสือในพม่ามานานแล้ว แต่เขาชอบศูนย์ CFS แห่งนี้ที่เปิด 6 วันต่อสัปดาห์

Selim กล่าวว่าปัจจุบันมีศูนย์ CFS ทั้งสิ้น 42 แห่งใน Ukhia และ Teknaf คอยรองรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดราว 429,000 ชีวิต ซึ่งได้มาถึงที่นี่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

 “ที่นี่เราไม่ต้องกังวลว่าจะถูกโจมตี ไม่มีใครมาคอยจ้องทำร้ายเรา ทุกคนมีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้” Rashid บอกกับ Al Jazeera

เมื่อโตขึ้นเขาฝันอยากเป็นคุณครู เพราะจะได้สอนเด็กๆ ชาวโรฮิงญาให้มีความรู้ …

 “หนูเห็นพวกทหารลั่นปืนใส่พ่อแม่ของหนู”

Dilara Begum เด็กน้อยวัย 11 ขวบ และ Ajija Begum วัย 9 ขวบ สองพี่น้องที่ต้องสูญเสียพ่อแม่เหมือนกัน พี่สาวคนโตยังคงอยู่ในสภาพตื่นตกใจกับสิ่งที่เกิดและไม่ค่อยพูดจากับใคร

“ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนอาหารกลางวันไม่นาน แม่ของหนูบอกให้เข้ามาเล่นใกล้ๆ บ้านเพื่อให้พ่อได้เตรียมตัวไปทำงาน” Ajija เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟัง

ในขณะที่เธอกำลังเล่นอยู่กับพี่น้องของเธอ Dilara และ Mushtakim อยู่นั้น จู่ๆ เธอก็ได้ยินเสียงปืนดังลั่น ด้วยความกลัวเธอจึงรีบวิ่งเข้าไปหลบในพุ่มไม้ใกล้บ้านในหมู่บ้าน Bargojibil ของเธอที่เมืองมองดอว์

“ตอนที่ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ หนูเห็นพวกทหารลั่นปืนใส่พ่อแม่ของหนู ปาดคอพ่อของหนู แล้วแทงที่ท้องแม่ของหนูด้วยมีดอันใหญ่” Ajija เล่าพลางเช็ดน้ำตาตัวเอง ในขณะที่ Dilara ยังคงดูอึ้งเหมือนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

Ajija ไม่ได้กลับไปที่หมู่บ้านอีก และในความโกลาหลนั้นเธอหาน้องๆ ของเธอไม่เจอ “ที่แถวๆ เนินเขานั้นมีเพื่อนบ้านของหนูอาสาจะพาหนูหลบหนี หลังจากที่รู้ว่าพ่อแม่ของหนูเสียชีวิตไปแล้ว”

เธอได้มาเจอกับน้องๆ ของเธออีกครั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยกูตาปาลองแห่งนี้ ในส่วนของ Mushtakim ที่สภาพจิตใจไม่ค่อยสู้ดีนั้นกำลังได้รับการเยียวยาบาดแผลจากกระสุนปืน พี่น้องของเธอ 8 คนถูกฆ่าตายหมดในเหตุโจมตีที่หมู่บ้านครั้งนั้น

ตอนอยู่ที่พม่า Ajija มักจะต้องยอมขาดเรียน เนื่องจากพวกทหารมักจะคอยไปสอดส่องที่โรงเรียนบ่อยครั้ง ส่วน Dilara นั้นไม่เคยได้มีโอกาสไปโรงเรียนเลย

“หนูมีความสุขที่ได้อยู่ในบังคลาเทศเพราะไม่ต้องกลัวจะถูกฆ่าอีกแล้ว หนูเริ่มมีเพื่อนเยอะมากขึ้นที่นี่ หนูรู้สึกดีขึ้น” Ajija เล่าให้ฟัง

เธอบอกว่าเธออยากเรียนหนังสือ เพื่อที่จะ “ได้เป็นอะไรบางอย่างและได้รู้จักตัวของเธอเองมากขึ้น”

Dilara ที่ไม่ค่อยเอ่ยปากพูดอะไรเลยตลอดการสนทนา บอกว่า Mushtakim กำลังพักอยู่ที่กระท่อมบ้านญาติ เธอกำลังรักษาแผลที่บาดเจ็บอยู่

“ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อแม่ยังคงหลอกหลอนเราเรื่อยมา”

Nur Hossain เด็กน้อยวัย 12 ขวบและน้องสาวของเขา Jahura Begum วัย 7 ขวบคือสองพี่น้องผู้รอดชีวิตมาได้จากทั้งหมด 9 คนในครอบครัว

“ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าของวันที่ 25 สิงหาคม ที่หมู่บ้านของเรา (โรดิอองซองในเมืองมองดอว์ทางตอนเหนือ) ถูกโจมตี ทันทีที่ผมคว้ามือน้องสาวไว้ได้ ผมก็รีบหนีออกจากบ้านและวิ่งผ่านทุ่งนากับชาวบ้านอีกหลายคน” Nur เล่าให้ฟัง

“พ่อแม่ของผมถูกฆ่าตายในช่วงที่ถูกโจมตี ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านช่วยกันพาเราหนีจนมาถึงที่นี่ที่บังคลาเทศ”

เขาได้มีโอกาสเจอกับเพื่อนในหมู่บ้านอีก 4 คนที่โรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยเฉพาะเพื่อชาวโรฮิงญา

เขาเคยเป็นนักเรียนคนหนึ่งในพม่า แต่เขากลับไม่สามารถนึกชื่อโรงเรียนของตัวเองได้

“ที่โรงเรียนของเรา เด็กในรัฐยะไข่และเด็กโรฮิงญาเคยได้เรียนด้วยกัน แต่ต่อมา 2 ปีให้หลัง เด็กๆ โรฮิงญากลับถูกแยกให้ออกไปเรียนอีกที่หนึ่ง” Nur เล่าให้ Al Jazeera ฟัง

Nur ชอบเล่นฟุตบอลซึ่งเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมในพม่า แต่เนื่องจากกลัวว่าพวกทหารจะจับกุม เขาจึงเลิกเล่นฟุตบอลตั้งแต่นั้นมา

“อยู่ที่นี่เราไม่ต้องกลัวพวกทหาร แต่ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อแม่ก็ยังคงหลอกหลอนเราเรื่อยมา ผมจำท่านทั้งสองได้ดี พ่อกับแม่รักผมมาก แต่ตอนนี้ไม่รู้พ่อกับแม่ไปอยู่ไหนแล้ว” เขาเล่าระบายความในใจ

“พวกทหารเข้ามาถล่มบ้านของเรา”

วันนั้น Anjuman พร้อมด้วยน้องสาวและน้องชายของเธอกำลังเล่นอยู่กับพี่เขยที่บ้านของพวกเขาในหมู่บ้าน Saheb Bazar เมืองบูชิดอง

“ทันใดนั้น พวกทหารก็เข้ามาถล่มบ้านของเราแล้วกราดยิงทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า” เด็กน้อยวัย 11 ขวบผู้ซึ่งจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าถูกโจมตีเมื่อวันที่เท่าไหร่ พยายามเล่าให้ Al Jazeera ฟัง

“พี่เขยของหนูรีบวิ่งออกไปทางประตู แต่เขาหลบกระสุนไม่ทัน” Anjuman เล่าต่อไป “เขาจึงเสียชีวิตไปพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวอีก  10 คน รวมกับพ่อแม่ของหนูด้วย”

เธอมาถึงที่บังคลาเทศพร้อมกับพี่ชายของเธออีกคนที่ชื่อ Anwar วัย 35 ปี

Shapolu Barua เจ้าหน้าที่ภาคสนามของศูนย์ CFS ในกูตูปาลองกล่าวว่า “เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่ล้วนมีบาดแผลบอบช้ำทางจิตใจ”

“ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ Rashid ที่ต้องผ่านการเข้ารักษาเยียวยาจิตใจเป็นเวลานาน เขามาวันแรกในสภาพหวาดผวาสั่นกลัว และพูดซ้ำๆ ไม่หยุดว่า “พวกมันฆ่าพ่อแม่ผม” Shapolu ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ CODEC องค์กรที่อยู่ภายใต้ยูนิเซฟเล่าให้ฟัง

เธอเล่าต่อไปว่า เด็กๆ ที่นี่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน หนึ่งคือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 4-11 ขวบ และสองคือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี

“กลุ่มที่มีอายุน้อยกว่าจะเป็นกลุ่มที่บอบบางมากที่สุด” เธอกล่าว และเสริมต่อไปว่าทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ได้พยายามสร้างความผูกพันกับเด็กๆ และ “พยายามปลอบประโลมพวกเขาให้คลายความหวาดกลัวจากทหารพม่า”

“สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปีนั้น เราจะมีศูนย์เยาวชนคอยรองรับ เพื่อที่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการควบคุมการมีบุตร พร้อมๆ กับได้เรียนรู้ประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ”

ศูนย์ CFS ในกูตูปาลองเป็นอาคารทำด้วยไม้ไผ่และไม้ฟาง ปัจจุบันมีเด็กพักอาศัยจำนวน 562 คน ซึ่ง 70% ของทั้งหมดคือเด็กที่เพิ่งมาถึงหลังจากวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

“ที่นี่เราเน้นให้การสนับสนุนในด้านจิตสังคมและกิจกรรมสันทนาการ การให้ทักษะชีวิตด้วยการให้การศึกษาและความรู้ ดูแลในประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันและความปลอดภัย ตลอดจนการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยต่างๆ” Selim อธิบายให้ฟัง

“นอกจากนี้เรายังจัดสรรอุปกรณ์เพื่อสันทนาการต่างๆ เช่น ของเล่นเพื่อการเรียนรู้ ดินสอ ปากกา ดินสอสี ตลอดจนอุปกรณ์กีฬาเพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย” เธออธิบายพร้อมกล่าวเสริมว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ “เหม่อลอยเย็นชาและบอบช้ำทางจิตใจเป็นอย่างมาก”

“เด็กบางคนไม่อยากพูดอะไรเลย เราเองก็ไม่อยากจะไปบังคับพวกเขา เราจึงให้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวเพื่อให้พวกเขารู้สึกสงบและค่อยๆ เปิดใจทีละนิด ให้ได้เห็นว่าเพื่อนๆ อีกหลายคนรอบข้างมีความสุขและสนุกสนานกัน” เธอเล่าให้กับ Al Jazeera

คือกำแพงแห่งความเกลียดชัง
ที่หยิบยื่นความกำพร้า
ให้กับชีวิตที่ไร้เดียงสา

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Rohingya children recall horror of losing parents

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร