fbpx

รอมฎอนในเยเมน: ถือศีลอดตอนกลางวัน หิวโหยยามค่ำคืน

เดือนแห่งความประเสริฐกลับเต็มไปด้วยความหมองหม่นในประเทศสงครามอย่างเยเมน ประเทศที่ประชากรกว่า 17 ล้านชีวิตต้องประสบกับภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง

กรุงซานา —สตรีวัย 58 ปีอย่าง Fatima Salah ต้องอดหลับอดนอนในเวลากลางวันเหมือนที่คนส่วนใหญ่ทำกันในช่วงเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอด

แทนที่จะได้พักผ่อน เธอกลับต้องเดินเร่ทั่วกรุงซานาไปตามบ้านและร้านค้าต่างๆ เพียงหวังจะได้มาซึ่งอาหารพอประทังปากท้องครอบครัวของเธอในยามค่ำคืน

“ฉันรู้สึกเหนื่อยและกระหายเพราะว่าต้องเดินเยอะ และฉันก็ถือศีลอดโดยไม่ได้ทานอะไรรองท้องมากมายนัก” Fatima เล่าให้กับแ Al Jazeera ด้วยน้ำตาคลอเบ้า

“ฉันเคยมีชีวิตที่ดีและสมเกียรติในบ้านของฉัน และรอมฎอนก็เป็นเดือนที่ดีที่สุดสำหรับฉัน สงครามได้ลิดรอนความสุขของพวกเราไปทุกวัน เดือนรอมฎอนที่แล้วยังดีอยู่นะ แต่มาปีนี้มันช่างสาหัสเอามากๆ เราต้องถือศีลอดในตอนกลางวันและหิวโหยกันต่อในตอนกลางคืน”

สำหรับมุสลิมทั่วโลกแล้ว เดือนรอมฎอนถือเป็นเดือนแห่งความสุขสันต์และเป็นโอกาสแห่งการขัดเกลาจิตวิญญาณ  แต่สำหรับประเทศสงครามอย่างเยเมนแล้ว พื้นที่สำหรับความสุขสันต์เหล่านั้นช่างเหลือน้อยนิดเต็มทน

องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า ปัจจุบันชาวเยเมนราว 17 ล้านชีวิตกำลังประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เป็นผลจากการถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยด่วนจากประชาคมทั่วโลก

ด้วยสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่าสองปี จึงส่งผลให้ชาวเยเมนหลายครัวเรือนต้องเผชิญกับความยากจนและความเศร้าโศก

“มันคือเดือนรอมฎอน และฉันก็ต้องมาทนหืดขึ้นคอกับความยากจน” Fatima กล่าว “ฉันจำเป็นต้องหาอาหารให้ครอบครัวของฉัน และฉันก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านอีก 20,000 ริยาล (80 ดอลลาร์) ทุกวันนี้ฉันจึงมีเรื่องให้กลัดกลุ้มที่ไม่รู้จบรู้สิ้นอยู่สองอย่าง ความหิวโหยกับการรอวันถูกขับไล่ออกจากบ้านเช่าในเร็ววัน”

รอมฎอนปีนี้ตรงกับช่วงที่ประเทศเยเมนกำลังประสบกับปัญหาโรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคในเยเมนแล้วกว่า 530 ราย และสงสัยว่าติดเชื้อดังกล่าวอีกกว่า 65,000 รายตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

คุณพ่อลูกสิบอย่าง Mohamed al-Mokhdari ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงซานากล่าวว่า เขารู้สึกขอบคุณที่ลูกๆ ของเขาทุกคนปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคอหิวาตกโรค แต่เขายังคงรู้สึกไม่มีความสุขกับสถานการณ์โดยรวมที่ชาวเยเมนต้องประสบในเดือนอันประเสริฐเช่นนี้

“เดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่พิเศษ แต่น่าเสียดายที่ผมกลับไม่รู้สึกถึงความสุขสำราญอย่างที่ผมเคยรู้สึกเมื่อช่วงก่อนเกิดสงครามในเยเมน…. ราคาสินค้าอาหารก็สูงขึ้น ในขณะที่เงินทองก็หายากขึ้นทุกวัน” Mokhdari โอดครวญให้ Al Jazeera ฟังพลางลูบเคราสีเทาของตัวเอง

เพื่อรับมือกับวิกฤติเหล่านั้น ลูกชายสองคนของเขาจึงเริ่มเก็บขวดพลาสติกตามริมถนนแล้วนำไปขายให้กับศูนย์รีไซเคิล ได้มาซึ่งไม่กี่ดอลลาร์ต่อวัน ในส่วนของตัว Mokhdari เองนั้นเป็นคนว่างงาน และครอบครัวก็ไม่สามารถหาเงินมาสังสรรค์เทศกาลรอมฎอนได้อีกแล้ว อาหารละศีลอดในแต่ละวันของพวกเขาส่วนใหญ่จึงมักเป็นอะไรที่ไม่มากไปกว่าโยเกิร์ตและขนมปัง

“มันอยู่ยากและลำบากมาก สิ่งที่เราหามาได้มักเป็นเพียงอาหารจำเป็นพื้นฐานอย่างข้าวและขนมปังเท่านั้น การได้ทานเนื้อวัว เนื้อไก่และผักผลไม้อย่างเพียงพอมันกลายเป็นเพียงความฝันสำหรับรอมฎอนนี้ไปเสียแล้ว” เขากล่าว “ไม่มีอีกแล้วเดือนรอมฎอนที่เราเคยอิ่มหนำกับอาหารมื้อพิเศษในบ้านของผม และบ้านของทุกคนในเยเมน”

Abdulatif al-Hubaishi เจ้าของร้านขายของชำในกรุงซานาเล่าให้ฟังว่า ปริมาณความต้องการของสินค้าประเภทอาหารจากร้านของเขาในเดือนรอมฎอนปีนี้ลดลงจากเดิมไปมาก

“ปริมาณความต้องการสินค้าประเภทอาหารลดลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” Hubaishi บอกกับ Al Jazeera “หรือแม้แต่คนที่เข้ามาซื้อของในร้าน ส่วนใหญ่ก็จะซื้อกันแต่น้ำตาล แป้งสาลีและข้าวสาร สินค้าอื่นๆ อย่างขนมหวาน ถั่ว และผักต่างๆ นั้นไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปเนื่องจากผู้คนมีกำลังซื้อเพียงแค่อาหารจำเป็นพื้นฐานเพียงเท่านั้น”

“ฝูงชนที่มาจับจ่ายซื้อของตามท้องตลาดในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาต่างเงียบหายกันไปหมด เนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่ไม่มีเงินจะจับจ่ายซื้อของสิ่งจำเป็นตามต้องการได้อีกแล้ว”  เขากล่าวเพิ่มเติม

“รอมฎอนปีนี้เป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” เขากล่าว “นี่เป็นรอมฎอนครั้งที่สามนับตั้งแต่เกิดสงครามในเยเมน มันเป็นอะไรที่โหดร้ายที่สุด เนื่องจากเงินเดือนของบรรดาข้าราชการและลูกจ้างรัฐบาลได้ถูกระงับไว้เป็นเวลาร่วมเก้าเดือนแล้ว ในแต่ละปีผู้คนในเยเมนจะจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นในเดือนรอมฎอน แต่ปีนี้พวกเขาไม่มีปัญญาจะจับจ่ายอะไรเลย”

นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยเมนอย่าง Saeed Abdulmomin  เห็นด้วยเช่นกันว่าสถานการณ์ในปีนี้นั้นช่างเลวร้ายจริงๆ

“เงินเดือนถูกระงับไม่ให้จ่าย ราคาสินค้าก็พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ธุรกิจกลับซบเซาลง” เขาบอกกับ Al Jazeera พร้อมให้ข้อสังเกตว่าการดิ่งลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินเยเมนนั้นยิ่งทำให้สถานการณ์ทรุดหนักขึ้นไปอีก “การตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินสกุลรียาลของเยเมนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์นั้นทำให้ราคาสินค้าไต่ขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของความกลัดกลุ้มที่คนยากจนต้องแบกบ่ากันทั่วประเทศเช่นขณะนี้”

แม้ว่ารอมฎอนจะมีเวลาเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น แต่มันก็ยังคงไม่ชัดเจนว่าความลำบากของประเทศเยเมนนั้นจะถูกลากยาวไปอีกนานเท่าใด

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Ramadan in Yemen: Fasting by day, starving by night

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร