ครั้งแรกที่ Husam Kaid ได้ลองดื่ม Adeni chai (ชาเยเมน) ที่ร้าน Qahwah House มันทำให้เขาหวนคิดถึงค่ำคืนเดือนรอมฎอนในเมืองเก่าซานา ประเทศเยมน
มันเป็นประเพณีของหมู่บ้าน ที่เหล่าเด็กๆ จะมุ่งหน้าไปยังเมืองเก่าในช่วงหลังละหมาดตะรอเวียะห์(การละหมาดยามค่ำคืนในช่วงเดือนรอมฎอน) และอยู่เรื่อยไปจนถึงเวลาละหมาดซุบฮฺ (รุ่งเช้า) เขานึกถึงกระป๋องถั่วที่ใช้เสิร์ฟชาเยเมนร้อนๆ ซึ่งถึงแม้ว่าที่ร้าน Qahwah House จะไม่ได้เสิร์ฟชาในกระป๋องถั่ว แต่รสชาติก็เหมือนกันมากจนทำให้เขาคิดถึงบ้าน
สำหรับคนหนุ่มสาวมุสลิมและชาวอาหรับจำนวนมากในนิวยอร์ก Qahwah House ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านกาแฟ แต่ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางของผู้คน เป็นสถานที่ที่ช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสถึงรสชาติและความทรงจำที่หลายคนโหยหา
Qahwah House เปิดสาขาแรกขึ้นในเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกนในปี 2017 เพียงไม่กี่ปีหลังจากที่ อิบรอฮีม อัลฮัซบานี (Ibrahim Alhasbani) ผู้ก่อตั้งอพยพออกจากเยเมนมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา หลังเกิดระเบิดขึ้นใกล้ๆ บ้านของเขาที่เยเมน
ครอบครัวของ อัลฮัซบานี เป็นชาวไร่กาแฟมา 8 ชั่วอายุคน เขาโตมากับกาแฟและเชื่อว่าเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดนั้นมาจากเยเมน เป็นความเชื่อที่มีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์ว่าการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่เยเมน และคำว่า Coffee ในภาษาอังกฤษนั้นก็มีที่มาจากคำว่า Qahwah ในภาษาอาหรับ
ในช่วงทศวรรษ 1400 การค้าขายเมล็ดกาแฟเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่ท่าเรือมอคค่า บนชายฝั่งทะเลแดงของเยเมน ซึ่งตั้งชื่อตามความหลากหลายของเมล็ดกาแฟที่พบได้ที่นั่น และท่าเรือมอคค่าได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟแห่งแรกของโลก
เมื่อ อัลฮัซบานี ย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา และได้ลองดื่มกาแฟครั้งแรก เขาไม่ชอบกาแฟแก้วนั้น ดังนั้น-เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตในสหรัฐฯ เขาจึงคิดได้ว่า ทำไมไม่ลองทำธุรกิจอะไรที่เขามีความรู้ติดตัวอย่างกาแฟดูล่ะ, ทำไมไม่ลองสอนให้ชาวอเมริกันได้รู้จักกับกาแฟแบบดั้งเดิมดูบ้าง? และนี่เป็นที่มาของร้าน Qahwah House
“Qahwah House ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการแบ่งปันวัฒนธรรม ความเชี่ยวชาญในครอบครัว และความรักในกาแฟของผมให้โลกรู้ เมื่อผมได้ลองกาแฟในอเมริกา ผมต้องอึ้งไปเลย เพราะมันไม่ใช่กาแฟจริงๆ – อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่กาแฟแบบที่ผมเติบโตมาและคุ้นเคย” อัลฮัซบานี กล่าว
ร้านกาแฟ Qahwah House ใช้เมล็ดกาแฟที่ส่งตรงมาจากฟาร์มของครอบครัว อัลฮัซบานี ในเยเมน ซึ่งถึงแม้ว่าการขนส่งจะใช้เวลามากกว่าสองเดือน แต่ อัลฮัซบานี บอกว่าการรอคอยนั้นคุ้มค่า “เยเมนเป็นแหล่งกำเนิดของกาแฟ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเยเมนมีกาแฟดีที่สุดในโลก กาแฟที่นั่นปลูกแบบออร์แกนิกในพื้นที่สูง และใช้วิธีแบบธรรมชาติ นั่นเป็นเหตุผลที่เมล็ดกาแฟเยเมนได้เกรดสูงสุด” อัลฮัซบานี กล่าว

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ อัลฮัซบานี ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟ Qahwah House คือเขาหวังให้ร้านเป็นดั่งสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมของผู้คน และนี่ช่วยตอบคำถามว่าทำไมสถานที่ตั้งร้านในกรุงนิวยอร์กจึงอยู่ในย่านวิลเลียมสเบิร์ก,บรูคลิน ซึ่งเป็นย่านของคนผิวขาวและชาวยิว
“ไม่มีชาวอาหรับหรือมุสลิมในพื้นที่นี้ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจเปิดร้านที่นี่ ผมต้องการให้คนชาติอื่นๆ มารวมตัวกันแล้วมาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันไม่เหมือนอย่างที่คุณเห็นในทีวีหรอก (ที่เต็มไปด้วยข่าวด้านลบของมุสลิม) เรามีเครื่องดื่มที่ดีและเรามีวัฒนธรรมที่ดี ที่อยากแบ่งปันกับทุกคนได้” ” อัลฮัซบานี กล่าว
และความต้องการของ อัลฮัซบานี ก็ประสบผลสำเร็จ เพราะที่ร้าน Qahwah House สาขานิวยอร์กนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน ที่ไม่เพียงแต่จะได้สัมผัสกับรสชาติของกาแฟแบบดั้งเดิมแบบจากเยเมนแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเยเมนระหว่างกันอีกด้วย
อัลฮัซบานี บอกว่า เขามักจะได้พบกับลูกค้าที่ไม่เคยได้ยินชื่อประเทศบ้านเกิดของเขามาก่อน และไม่เข้าใจวัฒนธรรมของกาแฟ เขาสนุกกับการได้อธิบายข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก อย่างเช่น ต้นกำเนิดของมอคค่า ที่ไม่ใช่เครื่องดื่มช็อกโกแลตผสมเอสเพรสโซ แต่เป็นถั่วที่มีรสช็อกโกแลตตามธรรมชาติ ซึ่งส่งออกไปทั่วโลกจากท่าเรือมอคค่าในเยเมนในสมัยอดีต
“พวกเขาเป็นมากกว่าร้านกาแฟ ผมคิดว่าผู้คนจำนวนมากได้เรียนรู้เกี่ยวกับเยเมนมากขึ้นผ่าน Qahwah House มากกว่าที่พวกเขาได้รับรู้จากการรายงานข่าว ซึ่งมักวนเวียนอยู่แค่เรื่อง วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุด’ เท่านั้น Qahwah House กำลังแสดงมุมมองอื่นของเยเมนออกมาให้เห็น” Husam Kaid ชาวเยเมนอพยพซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าประจำกล่าว

อัลฮัซบานี บอกว่า การดื่มกาแฟของคนเยเมนกับคนอเมริกันนั้นแตกต่างกันมาก เพราะที่เยเมนการดื่มกาแฟมีความเป็นวัฒนธรรมและการเข้าสังคมมากกว่า “ในสหรัฐฯ ผู้บริโภคจำนวนมากดื่มกาแฟอย่างเร่งรีบในระหว่างเดินทางไปทำงานด้วยกาแฟหนึ่งแก้ว แต่สำหรับเยเมน วัฒนธรรมกาแฟเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม มันคือการนั่งลง พักผ่อน และพบปะสังสรรค์ เป็นการเข้าสังคม เพื่อนและครอบครัวมารวมกันที่ร้านกาแฟและแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างวัน ทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องอื่นๆ ผ่านกาแฟหม้อใหญ่ ไม่ใช่แค่แก้วเดียว”
อีกเหตุผลที่ทำให้ Qahwah House นั้นดึงดูดผู้คนโดยเฉพาะชาวมุสลิมก็คือช่วยเวลาเปิดให้บริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ร้านกาแฟในสหรัฐอเมริกามักจะปิดให้บริการหลัง 18.00 น. เนื่องจากผู้คนมักไม่ดื่มกาแฟกันหลังจากช่วงเวลานั้น เพราะพวกเขาจะไปสังสรรค์ที่ผับบาร์ แต่สำหรับมุสลิมที่ไม่เที่ยวผับบาร์ พวกเขาจึงต้องการพื้นที่ที่สามารถสังสรรค์ได้ และ Qahwah House ก็มาช่วยเติมเต็มช่องว่างนั้น
อัลฮัซบานี บอกว่า “พื้นที่นี้ช่วยย้ำเตือนให้คนหนุ่มสาวมุสลิมและชาวอาหรับนึกถึงวัฒนธรรมของเรา มันย้ำเตือนว่าเรามาจากไหน ดังนั้นพวกเขาจะไม่ลืมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของพวกเขา และพวกเขาจะพยายามปรับปรุงประวัติศาสตร์นี้”
ปัจจุบัน Qahwah House ประสบความสำเร็จจนสามารถเปิดสาขาเพิ่มได้อีกสองสามแห่ง และมีแผนจะเปิดสาขาใหม่อีกอย่างน้อย 5 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้
อ้างอิง :
- https://www.middleeasteye.net/discover/nyc-coffee-qahwah-house-yemen-young-muslims-home-community
- https://www.baristamagazine.com/10-minutes-with-ibrahim-alhasbani-of-qahwah-house
- https://www.insidehook.com/article/new-york/brooklyns-new-yemeni-coffeehouse
ติดตาม Halal Life ในทุกช่องทาง
Youtube : youtube.com/HalalLifeMag