fbpx

Karim’s Restaurant จากอาหารในครัวพระราชวังโมกุล สู่สตรีทฟู้ดส์อินเดียระดับตำนาน

ด้วยความที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อินเดียจึงเป็นต้นธารวัฒนธรรมของหลายชาติในโลกตะวันออก และด้วยความที่เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของหลายอารยธรรม อินเดียจึงเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เกิดจากการผสมผสานและหยิบยืมจนเกิดกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวจนยากจะหาที่ไหนเหมือน

หนึ่งในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอินเดียที่กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้คนไปทั่วทุกมุมโลกคืออาหาร เพราะไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในประเทศไหน จะใกล้หรือไกลจากดินแดนชมพูทวีปมากเท่าไหร่ ก็ล้วนแล้วแต่มีร้านอาหารอินเดียยอดนิยมให้ลิ้มลองแทบทั้งสิ้น

แต่สำหรับคนที่เป็นอาหารอินเดียเลิฟเวอร์ คงจะดีไม่น้อยหากได้ไปลิ้มลองอาหารอินเดียกันถึงประเทศต้นทาง และหากใครมีแพลนจะไปกินอาหารอินเดียที่ประเทศอินเดียให้ได้สักครั้งในชีวิตแล้วละก็ ขอแนะนำว่าไม่ควรพลาดร้าน Karim’s Restaurant ด้วยประการทั้งปวง

Karim’s Restaurant เป็นร้านอาหารแบบอินเดียเหนือที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุคสมัยโมกุล ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอินเดียก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และได้รับเอกราชจนกลายมาเป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศในปัจจุบัน

อินเดียเป็นเมืองหลวงแห่งศาสนาฮินดู และเป็นบ้านเกิดของพุทธศาสนา แต่อินเดียก็มีประชากรมุสลิมมากถึง 200 ล้านคน หากนับรวมอดีตเพื่อนร่วมชาติอย่างปากีสถานและบังคลาเทศเข้าไปด้วย ประชากรมุสลิมของดินแดนชมพูทวีปแห่งนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 550 ล้านคนเลยทีเดียว

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อินเดียมีมุสลิมเป็นจำนวนมากนั่นเป็นเพราะดินแดนส่วนใหญ่ในชมพูทวีปเคยถูกปกครองโดยราชวงศ์มุสลิมถึงสองยุคสมัย รวมระยะเวลายาวนานกว่า 650 ปี คือยุคสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ระหว่างปี ค.ศ.1206-1526 และยุคจักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire) ระหว่างปี ค.ศ.1526-1857

มุสลิมที่ปกครองอินเดียทั้งสองยุคสมัยนั้นเป็นกลุ่มชาวเติร์ก-มองโกล ที่ขยายอิทธิพลมาจากเอเชียกลาง ซึ่งนอกจากจะนำศรัทธาและความเชื่อมายังอินเดียแล้ว ผู้ปกครองมุสลิมเหล่านั้นยังได้นำวัฒนธรรมของชนชาติตนเองเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนท้องถิ่น จนเกิดกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่เฉพาะตัวขึ้นหลายอย่างอีกด้วย หนึ่งในนั้นคืออาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เกิดขึ้นในยุคสมัยการปกครองของราชวงศ์โมกุล ที่เป็นกำเนิดของอาหารอินเดียยอดนิยมอย่าง บิรยานี แกงกุรุหม่า และเคบับ

อินเดียในยุคสมัยของราชวงศ์โมกุลนั้นเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกในยุคสมัยของจักรพรรดิออรังเซพ (ค.ศ.1658-1707) โดยมีดินแดนในปกครองมากถึง 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรในแผ่นดินราว 150 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลกในยุคสมัยนั้น

อาณาเขตของจักรวรรดิโกุลในรัชสมัยจักรพรรดิออรังเซพ (Source : Wikipedia)

เมื่อถูกยึดอำนาจโดยอังกฤษในปี ค.ศ.1857 “บาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์” (Bahadur Shah Zafar) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโมกุลถูกเนรเทศไปยังกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เหล่าข้าราชบริพารในราชสำนักก็จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หนึ่งในนั้นคือพ่อครัวที่คอยปรุงอาหารชั้นสูงให้จักรพรรดิและบรรดาเชื้อพระวงศ์ และนั่นคือจุดกำเนิดของร้าน Karim’s Restaurant

มุฮัมหมัด อะซีส (Mohammed Aziz) หนึ่งในพ่อครัวประจำราชสำนักโมกุล ตัดสินใจย้ายออกนอกเมืองไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังองค์จักรพรรดิถูกเนรเทศ ซึ่งแม้ชีวิตจะยากลำบากแต่เขาก็ไม่ลืมที่จะสอนวิธีการทำอาหารตำรับราชสำนักให้กับฮัจญีการีมุดดีน (Haji Karimuddin) ผู้เป็นลูกชาย เพราะคิดเสมอว่าการทำอาหารคือมรดกประจำตระกูล

ในปี ค.ศ.1911 ทางการอังกฤษจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในกรุงเดลี ฮัจญีการีมุดดีน จึงเกิดความคิดที่จะหารายได้จากชาวอินเดียที่มารอรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ เขาจึงเดินทางมายังกรุงเดลีเพื่อเปิดแผงขายอาหารเล็กๆ ด้านหน้ามัสยิดญามา (Jama Masjid) มัสยิดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยราชวงศ์โมกุล โดยในครั้งนั้นเขาเปิดขายเพียงแค่สองเมนูคือ แกงกระหรี่แกะใส่มันฝรั่ง และแกงดาล(แกงกระหรี่ถั่ว) กินกับโรตีแผ่นบางๆ

“ในสมัยนั้นไม่มีวัฒนธรรมการกินนอกบ้าน คุณปู่เคยบอกผมว่า ถือเป็นเรื่องน่าละอายถ้าใครต้องออกไปกินข้าวนอกบ้าน เพราะผู้คนจะถามกันว่า มากินข้าวนอกบ้านทำไม ที่บ้านไม่มีแม่หรือพี่สาวทำอาหารให้หรือไง” ซาอีมุดดีน อะฮ์หมัด (Zaeemuddin Ahmed) หนึ่งในผู้บริหารร้าน Karim’s ในปัจจุบัน และเป็นเหลนของให้กับฮัจญี การีมุดดีน บอกกับสื่อท้องถิ่น

ถึงจะเป็นของใหม่ แต่แผงขายอาหารในช่วงงานเฉลิมฉลองของฮัจญีการีมุดดีนก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะคนที่เดินทางมาร่วมงานส่วนใหญ่มาจากต่างเมือง จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่ร้านซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง รวมถึงรสชาติอาหารตำรับราชสำนักที่อร่อยจนเกิดการบอกต่อปากต่อปาก นั่นทำให้ฮัจญีการีมุดดีนตัดสินใจเปิดร้านอาหารขึ้นเป็นกิจจะลักษณะในอีกสองปีถัดมา และตั้งชื่อร้านแห่งนี้ว่า Karim’s

ร้าน Karim’s นั้นตั้งอยู่ในตรอกเล็กๆ หน้าทางเข้ามัสยิดญามาในเขตเดลีเก่า เป็นหนึ่งในร้านอาหารเก่าแก่ที่สุดของอินเดียที่เปิดขายมาแล้ว 100 กว่าปี ชื่อเสียงของร้านนั้นกระจายไปทั่วทั้งอินเดีย กลายเป็นหนึ่งในร้านอาหารอินเดียที่ทุกคนคาดหวังว่าต้องไปกินให้ได้สักครั้งในชีวิต และเป็นหนึ่งในร้านที่ชาวอินเดียแนะนำให้คนต่างถิ่นได้มาลิ้มลอง

ชื่อเสียงของร้าน Karim’s ยิ่งดังขึ้นไปอีกเมื่อสื่อใหญ่ระดับโลกหลายสำนักต่างก็นำเสนอเรื่องราวของพวกเขา ทั้ง Time Magazine, BBC World, National Geographic และ Netflix

ภาพคุ้นตาของร้าน Karim’s สาขาแรกใกล้กับมัสยิดญมา (Source : Karim Hotel)

“เหตุผลที่ทำให้เราได้รับความนิยมเป็นเพราะ อาหารของเราเป็นสูตรเดียวกันกับอาหารของจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์” ซาอีมุดดีน กล่าวและยังบอกอีกว่า เหตุผลที่ผู้คนชอบมาที่นี่ก็เพราะรสชาติอาหารแบบร้านของเขาไม่สามารถหาได้จากร้านอื่นในเดลี

อาหารตำรับราชสำนักโมกุลที่ร้าน Karim’s นำมาเสิร์ฟให้กับลูกค้ามีตั้งแต่ เคบับเนื้อแพะหมัก (Burrah Kebab) สตูเนื้อแกะนิฮารี (Mutton Nihari) ซีคเคบับ (Seekh Kebab) และแกงกุรุหม่า (Korma) กินคู่กับข้าวบิรยานี หรือแป้งโรตีหลากหลายแบบ นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาอีกมากกว่า 40 เมนู.ถึงแม้ว่าในอินเดียจะเรียกอาหารของร้าน Karim’s ว่าอาหารมุสลิม แต่ซาอีมุดดีนบอกว่า 90% ของลูกค้าที่ร้าน Karim’s ไม่ใช่คนมุสลิม เพราะชาวฮินดูส่วนใหญ่ไม่ชอบปรุงอาหารด้วยเนื้อสัตว์ในบ้านของตนเอง แต่ชอบออกมาทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ที่ร้านอาหาร

อาหารตำรับราชสำนักโมกุลของร้าน Karim’s (Source : Karim Hotel)

และถึงแม้ปัจจุบัน Karim’s จะขยายออกไปหลายสาขา แต่สูตรอาหารของพวกเขายังคงเป็นความลับที่ส่งต่อให้แค่เพียงผู้เป็นลูกชายของครอบครัวเท่านั้น พนักงานในแต่ละสาขาจะรู้แค่เพียงขั้นตอนและวิธีในการปรุงอาหาร แต่เครื่องเทศและสัดส่วนของส่วนผสมต่างๆ นั้นจะรู้ได้แค่เพียงสมาชิกในครอบครัว และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Karim’s Restaurant ยืนระยะความนิยมของธุรกิจมาจนมีอายุมากกว่า 100 ปี ท่ามกลางความดุเดือดในสมรภูมิการแข่งขันของร้านอาหารอินเดีย

และนอกจากสูตรอาหารที่เป็นความลับแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวการถือกำเนิดของร้านที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของอดีตจักรวรรดิอันเกรียงไกรก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ร้าน Karim’s Restaurant ควรค่าแก่การไปลิ้มลอง

เพราะเราเชื่อว่าอาหารไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจจัยยังชีพที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดเท่านั้น แต่อาหารยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ ทุกครั้งที่เรากินอาหาร โปรดระลึกไว้เสมอว่าเรากำลังดื่มด่ำประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้เข้าไปด้วย

เรียบเรียงโดย : Halal Life Magazine


อ้างอิง :

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Furqan Ismael

บรรณาธิการ Halal Life Magazine ผู้นิยมการเขียนมากกว่าพูด และมีช่วงชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างบ้านนอกกับสังคมเมือง รวมไปถึงด้านมืดและด้านสว่างของชีวิต