fbpx

ปาเลสไตน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้ ดินแดนแห่งไร่ส้ม ดงมะกอก และอินทผาลัมหวาน

โลกอาหรับ เป็นโลกที่มีชีวิตและมีลมหายใจเป็นท่วงทำนอง ใจกลางของมันตั้งอยู่ระหว่างประเทศเลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอียิปต์ ที่คอยเชื่อมโยงหัวใจและสานสายใยให้ผู้คนเป็นหนึ่งเดียว ผืนดินของมันถูกเติมเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งต้นมะกอกและส้ม Jaffa ที่ถูกรดน้ำพรวนดินด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่จากชาวสวนชาวไร่ที่เป็นชาวปาเลสไตน์เอง หาใช่ใครอื่นใดเลย …

ในขณะที่ฉันกำลังค้นหาความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในประเทศที่ปกคลุมไปด้วยเลือดที่ไหลนองอย่างซีเรียและอิรักนั้น ฉันได้เจอใครคนหนึ่งที่อยากแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของเขาในดินแดนปาเลสไตน์ให้เราฟัง

Mohammed Daou ทำให้ฉันคิดถึงปาเลสไตน์ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปที่นั่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างกรุงเยรูซาเล็ม ไปจนถึงหัวเมืองต่างๆ ในดินแดนปาเลสไตน์ Mohammed ได้สัมผัสด้วยตัวเองมาหมดแล้ว และนี่คือเรื่องราวที่เขาเล่าให้เราฟัง

“เมื่อเอ่ยถึงปาเลสไตน์ สิ่งที่ใครๆ นึกได้โดยอัตโนมัติคือภาพดินแดนที่เอ่อนองไปด้วยเลือดและน้ำตามานานหลายสิบปี คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเพียงกาซ่า เมืองที่ตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุด และเขตเวสต์แบงก์ที่ชาวปาเลสไตน์อยู่อาศัยภายใต้การยึดครองของอิสราเอล แต่ที่จริงแล้วปาเลสไตน์มีอะไรมากกว่านั้น ปาเลสไตน์ถือเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนายิวและคริสต์ เป็นสถานที่ที่โมเสส(นบีมูซา)นำสาวกของท่านมาพำนักพักพิงเพื่อความปลอดภัย เป็นสถานที่ที่พระเยซู(นบีอีซา)ถือกำเนิดและเติบโต จนท่านได้เป็นศาสดาเผยแพร่คำสอนที่มุ่งเน้นให้คน “รักกันและกัน”

ผู้คนในปาเลสไตน์มักจะตื่นนอนในยามเช้าด้วยเสียงปลุกดังระงมจากโทรโข่งของพ่อค้าขายแตงโม เสียงที่แม้อาจจะฟังดูน่ารำคาญแต่ก็น่ารักน่าหลงใหลยิ่งนัก และคนที่นี่มักจะถูกกล่อมในราตรีกาลด้วยเสียงดนตรีที่บรรเลงเคล้าคลอจากงานวิวาห์ในละแวกใกล้เคียง

หากพูดถึงเรื่องการละหมาดในปาเลสไตน์ นาฬิกาปลุกและตารางบอกเวลาละหมาดไม่ใช่สิ่งจำเป็นอะไรเลยสำหรับที่นี่ เพราะก่อนถึงเวลาละหมาดในแต่ละครั้ง ความเงียบจะถูกสลายด้วยเสียงอาซานเพื่อเรียกผู้คนให้มาเข้าเฝ้าพระเจ้า และคุณจะเป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกเชิญให้ไปร่วมแถวละหมาดยืนชิดไหล่กันในมัสยิดท้องถิ่นละแวกใกล้เคียงนั้น

บ้านเรือนและหัวใจของคนที่นั่นมักยินดีต้อนรับใครต่อใครเสมอ แผ่ซ่านไปด้วยความเป็นมิตรไมตรีและจิตใจดีของผู้คนที่รักและใส่ใจกันทุกเวลา อย่างตัวผมเองก็ได้รับความรักที่ไร้เงื่อนไขจากครอบครัวของผมครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นกัน

เมือง Tamra แห่งปาเลสไตน์

แม่ของผมเกิดที่เมือง Nazareth ซึ่งเป็นเมืองอาหรับที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรอาศัยอยู่ที่นั่นมากถึง 65,000 คนด้วยกัน เรายังคงอ้างถึงคำว่าปาเลสไตน์ทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงชื่อนี้ แม้ว่ามันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลหลังจากเกิดสงครามประกาศเอกราชของพวกเขาในครั้งนั้นแล้วก็ตาม

ความจริงแล้ว ไม่ว่ายังไงผมก็จะยังคงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าปาเลสไตน์ตลอดไป เวลาที่เราจัดกระเป๋าขึ้นเครื่องบินเตรียมออกเดินทาง เราก็มักจะพูดว่าจุดหมายปลายทางของเราคือปาเลสไตน์ เวลาที่เราถึงสนามบินแล้วได้กอดและหอมแก้มคนรักที่นั่น เราถือว่าเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในปาเลสไตน์ เวลาที่เราขับรถมุ่งหน้าไปยังเมือง Tamra แล้วถูกต้อนรับด้วยเสียงบีบแตรอันจอแจของรถราบนท้องถนนในบ้านเกิดที่ตกแต่งอย่างสวยงามของคุณปู่ของผม เวลาที่เราได้ยินเสียงเด็กๆ ตะโกนดังไปทั่วว่า “พวกเขามาถึงแล้ว!” มันก็ยังคงเป็นปาเลสไตน์ ดินแดนที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนเป็นอื่นใดเลย

ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับคุณปู่เป็นสิ่งที่ผมจะเก็บจารึกไว้ในใจตลอดไป ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมท่านที่บ้าน ท่านมักจะพาผมเดินทัวร์รอบสวนที่เต็มไปด้วยแมกไม้และต้นมะกอก แสงแดดอันร้อนแรงจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันไม่ได้เจิดจ้าเท่ากับดวงตาที่ลุกวาวของท่าน ทุกครั้งที่ท่านได้บอกเล่านำเสนอผลงานอันน่าภูมิใจเหล่านั้นให้ผมฟัง ดินแดนแห่งนี้ ทุกเม็ดธุลีดินที่นี่ ท่านนี่แหละคือคนที่คอยดูแลมัน ท่านคอยรดน้ำพรวนดินดูแลรักษาต้นไม้เหล่านั้น ท่านคอยเก็บเกี่ยวผลไม้สุกหวานจากต้นและแบ่งปันให้แขกเหรื่อได้ลิ้มลอง ด้วยอัญมณีแห่งธรรมชาติที่ท่านคอยทะนุบำรุงเรื่อยมา

Nazareth ถิ่นกำเนิดของพระเยซู

หลายคนมักไม่ค่อยรู้จักกลุ่มคนที่เราเรียกกันว่า “ชนอาหรับอิสราเอล” ที่หมายถึงประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของเมือง Galilea ทางตอนเหนือของอิสราเอล พวกเขามักจะอาศัยอยู่ในเมืองอาหรับต่างๆ เช่นเมือง Akka, um al-Fahm, Shefa’Amr และ Tamra

ในจำนวนประชากรชาวปาเลสไตน์เหล่านั้นก็มีกลุ่มชาวคริสต์รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย มันเป็นภาพที่งดงามเมื่อได้เห็นชาวมุสลิมและชาวคริสต์ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข ที่เมือง Nazareth นี้ผมเคยได้มีโอกาสเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ในบริเวณลานโบสถ์ของชาวคริสต์ด้วย จึงเห็นได้เลยว่า ประเด็นความขัดแย้งในปาเลสไตน์นั้นไม่น่าจะเป็นความขัดแย้งด้านศาสนาดังที่สื่อทั่วไปมักจะกล่าวอ้างกัน

ซากปรักหักพังและมรดกทางวัฒนธรรมในเมือง Akka และ Jaffa แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศของความปรองดองทางศาสนาได้ชัดเจนยิ่งนัก หากย้อนกลับไปในช่วงยุคอาณาจักรออตโตมัน เราจะเห็นสถานที่สักการะบูชาต่างๆ ของแต่ละศาสนาก็ถูกสร้างไว้ใกล้ๆ กัน”

ข้อความจาก “หลักประกันคำมั่นของท่านอุมัร” ที่จารึกโดยท่านคอลีฟะฮ์อุมัร อิบนุ ค็อตต๊อบ ในยุคสมัยที่อิสลามพิชิตดินแดนเยรูซาเล็มในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เขียนไว้ว่า :

“ด้วยพระนามของพระเจ้าผู้ทรงกรุณาปราณี  นี่คือหลักประกันความปลอดภัยที่บ่าวแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่มีนามว่า “อุมัร” หัวหน้าบัญชาการแห่งชนผู้ศรัทธาได้มอบไว้แด่ชาวเมืองเยรูซาเล็ม ท่านได้ให้ไว้ซึ่งหลักประกันความปลอดภัยต่อตัวราษฎรเอง ต่อทรัพย์สินของพวกเขา ต่อโบสถ์สักการะและไม้กางเขนของพวกเขา ต่อชาวเมืองผู้ป่วยไข้หรือผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ดี และต่อพิธีกรรมสักการะทางศาสนาของพวกเขาทั้งปวง โบสถ์จะไม่มีวันถูกครอบครองโดยชาวมุสลิมหรือถูกทำลายออกไป พวกเขาจะไม่ถูกบังคับให้เข้ารับอิสลาม”

เยรูซาเล็มตะวันออก

ปาเลสไตน์พำนักอยู่ใกล้หัวใจของใครหลายคน บางคนมีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์โดยตรง บางคนรู้สึกมีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์เพราะความเป็นอาหรับ ในขณะที่หลายคนค้นพบความแตกต่างของดินแดนนี้และรู้สึกหลงใหลไปกับมนต์เสน่ห์แห่งความงามจนยากจะถอนตัวก็มี

การต่อต้าน การยึดครอง และความอยุติธรรมได้ครอบงำภาพลักษณ์ของปาเลสไตน์ในห้วงความคิดของเรา  ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ผิดไปเสียทั้งหมด แต่มันก็ไม่ถูกที่เราจะนิยามปาเลสไตน์เพียงแค่สามคำนี้ การได้รู้จักถึงความงามของประเทศหนึ่งนั้นมีความสำคัญมากพอกับการรู้จักเรื่องราวของการยึดครอง และเพื่อเป็นการปกป้องความชอบธรรมของประชาชนที่นั่น เราจำเป็นต้องทำความรู้จักเรื่องราวของพวกเขา ว่าผู้คนที่นั่นเป็นคนจิตใจอ่อนโยนและน่ารัก และเพื่อเป็นการพูดถึงพวกเขา เราจำเป็นต้องรู้จักภาษาที่พวกเขาใช้สื่อสาร ว่าชาวปาเลสไตน์นั้นนิยมพูดกันเป็นภาษาบทกวี ภาษาแห่งดาร์วิช ภาษาของศาสนาและคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อเป็นการปกป้องประเทศนี้ เราจำเป็นต้องทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์แต่โบราณกาล ประเพณีความเชื่อ ไปจนถึงมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่คู่กับดินแดนแห่งนี้มานานแสนนาน

เราลองมาดื่มด่ำไปกับบทกวีแห่งความหวังที่ประพันธ์โดย Nizar Qabbani และมาร่วมอวยพรให้กับปาเลสไตน์ไปพร้อมๆกัน

Jericho

โอ้เยรูซาเล็มที่รัก
พรุ่งนี้ต้นมะนาวจะเบ่งบาน
และกิ่งก้านของมะกอกจะปรีดา   

ดวงตาของเจ้าจะระบำสำราญ
เหล่าพิราบที่รอนแรมจะกลับมา
สู่หลังคาอันศักดิ์สิทธิ์นิรันดร

โอ้เมืองเก่าแห่ง Akka
เหล่าเด็กน้อยจะได้เล่นกันอีกครั้ง
พ่อและลูกจะได้พบโอบกอดกัน
ณ ขุนเขาแห่งกุหลาบอันเบ่งบาน

ณ ที่นั่น เยรูซาเล็มตะวันออก
เมืองที่รักของฉัน
เมืองแห่งสันติภาพและต้นมะกอกสะพรั่งบาน

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Palestine as You’ve Never Seen it Before: Guardian of The Jaffa Oranges, Olive Trees and Sweet Dates

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร