fbpx

อิสลามและญี่ปุ่น : การเดินทางอันยาวนานของอิสลามสู่แดนอาทิตย์อุทัย

ในอดีต ญี่ปุ่นถือเป็นดินแดนไกลโพ้นอันเร้นลับสำหรับนักเดินทาง นักสำรวจ พ่อค้าพาณิชย์ และนักปราชญ์จากทั่วทุกมุมโลกมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ ความไกลสุดหล้าของดินแดนแห่งนี้ทำให้บางคนใฝ่ฝันที่จะโอกาสทำความรู้จักและเยี่ยมเยือนสักครั้งในชีวิต

และสำหรับมุสลิมก็เช่นกัน แม้ว่าอิสลามจะแผ่กิ่งก้านในจีนแผ่นดินใหญ่และหลายพื้นที่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอิสลามกลับเพิ่งเริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 และยังคงอยู่ในช่วงแบเบาะ แต่กระนั้นโลกมุสลิมต่างก็คุ้นเคยกับคำว่า “al-Yaban” (หรือ“Chāpun”) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวมุสลิมใช้เรียกประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งอดีต ในขณะที่เกาะซึ่งเป็นตัวเมืองของประเทศก็มีปรากฏอยู่ในสาระบบแผนที่ของมุสลิม ว่าอยู่ทางฝั่งตะวันออกไกลมาตั้งแต่ปี 1430 โดยถูกบันทึกจารึกไว้โดยนักปราชญ์ชาวเปอร์เซียที่มีนามว่า Hāfiz-i Abrū

บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีปรากฏว่านักประวัติศาสตร์ชาวออตโตมันได้สาธยายถึงชาวญี่ปุ่นว่าเป็น “ชนชาติที่รักการอาบน้ำเย็น และมีมารยาทงดงามยิ่ง”

 

al-Yaban หรือ “Chāpun เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมใช้เรียกประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งอดีต

 

เป็นไปได้ว่า ในอดีตชาวญี่ปุ่นอาจคุ้นเคยกับมุสลิมด้วยการรู้จักมักจี่กับพ่อค้าหรือนักการทูตมุสลิมมานานหลายพันปี แม้ในช่วงแรกจะไม่ค่อยมีปรากฎว่าชาวมุสลิมเข้ามาปักหลักในดินแดนซากุระเท่าใดนักก็ตาม จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อสองกระแสโลกสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มุสลิมและญี่ปุ่นเกิดความสนใจต่อกัน นั่นคือ 1) กระแสจักรวรรดินิยมของยุโรปในโลกมุสลิม และ 2) การปรากฏตัวของประเทศญี่ปุ่นในฐานะประเทศเอกราชที่ทันสมัย และเป็นอิสระจากประเทศมหาอำนาจในยุโรปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นรัฐอิสลามรัฐเดียวที่ถืออำนาจด้านการต่างประเทศในช่วงปี 1889 ทรงมีรับสั่งให้ส่งเรือรบหลวง Ertugrul ออกเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยมีลูกเรือร่วมเดินทางไปด้วยจำนวน 609 ชีวิต พร้อมเครื่องบรรณาการเพื่อทูลถวายให้กับมหาจักรพรรดิเมจิแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้พระเชษฐาของมหาจักรพรรดิเมจิได้เคยมาเยือนประเทศตุรกีมาแล้วเมื่อสองปีที่ผ่านมา

เรือหลวง Ertugrul เข้าเทียบท่าเมืองญี่ปุ่นอย่างภาพปลอดภัยและได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ แต่แล้วต้องประสบเหตุเคราะห์ร้ายขณะเดินทางกลับในปี 1890 เมื่อพายุไต้ฝุ่นเข้าซัดกระหน่ำจนเป็นเหตุให้เรือต้องอับปาง ทำให้สูญเสียลูกเรือเกือบทั้งลำ เหลือที่รอดชีวิตมาได้เพียง 69 นายเท่านั้น แม้ว่าการเดินทางจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่การกระชับความสัมพันธ์ในครั้งนั้นก็สามารถสานความสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดิออตโตมันและญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้นสองปี Yamada Torajirō ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นผู้มีการศึกษาดีได้เดินทางมายังเมืองอิสตันบูล เพื่อนำเงินที่ได้จากการบริจาคของชาวญี่ปุ่น มอบให้กับครอบครัวของลูกเรือออตโตมันที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปางเมื่อสองปีก่อนหน้า Yamada ได้ออกเดินทางไปเรี่ยไรเงินบริจาคตามเมืองหลักต่างๆ ในญี่ปุ่น และการรณรงค์ของเขาได้ผลตอบรับดีเกินคาด เมื่อทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมบริจาคทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปัจจุบัน ให้ Yamada นำไปมอบให้กับครอบครัวเหยื่อผู้ประสบภัยในเมืองอิสตันบูลด้วยเช่นเดียวกัน

Yamada Torajirō ภาพจาก Wikimedia Commons

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ประเทศโลกมุสลิมต่างหันมาชื่นชมในความเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจของมหาจักรพรรดิเมจิ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อภายหลังปี 1905 ญี่ปุ่นสามารถรบเอาชนะประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นได้อย่างราบคาบ โลกมุสลิมต่างทึ่งกับความปรีชาญาณของประเทศเล็กๆ และไม่เป็นที่รู้จักอย่างญี่ปุ่น ที่สามารถกำราบยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียที่คอยรุกรานชาวมุสลิมในเขตเอเชียกลางมาตลอดหลายปีได้อย่างสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์

บรรดาปราชญ์และนักวิชาการมุสลิมต่างลุกขึ้นมาชื่นชมสรรเสริญถึงกิตติคุณความดีของญี่ปุ่นกันถ้วนหน้า บ้างก็แอบชื่นชมอยู่ไกลๆ ในขณะที่บางคนถือโอกาสทำความรู้จักกับญี่ปุ่นด้วยการเข้าไปเยี่ยมเยือนประเทศและศึกษาวิชาความรู้ ดังเช่น Ahmad Fadhli เจ้าหน้าที่ทหารของอียิปต์ที่เข้าร่วมฝึกทหารเกณฑ์กับชาวญี่ปุ่นในเมืองโตเกียวในปี 1905 Ahmad Fadhli ปักหลักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นนานเป็นเวลาหลายปีจนได้แต่งงานมีครอบครัวกับหญิงชาวญี่ปุ่น

ในปี 1907 นักวิชาการศาสนาชาวอียิปต์อีกท่านนามว่า Ali Jaljawi ก็ได้เข้าประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมงานประชุมศาสนาระดับโลกที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียวเช่นเดียวกัน ตามด้วย Maulvi Barkatullah มุสลิมจากอินเดียที่ได้เข้ามาประเทศญี่ปุ่นในฐานะครูสอนภาษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว

ในปี 1909 Abd al-Rashid Ibrahim นักปราชญ์ชาวรัสเซียได้เดินทางมาประเทศญี่ปุ่นเพื่อขออยู่อาศัยและลี้ภัยจากการคุกคามตามล่าของรัฐบาลรัสเซีย และด้วยความที่ท่านเป็นคนเคร่งครัดในศาสนาท่านจึงถือโอกาสเผยแพร่อิสลาม จนได้กลายเป็นนักดาอีย์คนแรกในญี่ปุ่น งานเขียนด้านศาสนาของท่านทำให้ชาวพื้นเมืองในญี่ปุ่นมากมายเข้ารับอิสลามในเวลาต่อมา

ในปี 1715 ผู้รู้ญี่ปุ่นชาวเมือง Tokugawa นามว่า Arai Hakuseki ได้ตีพิมพ์หนังสือที่หยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และอธิบายถึงเนื้อหาโลกมุสลิมต่างๆ เป็นภาษาญี่ปุ่น ต่อมาปลายปี 1870 ได้มีการแปลหนังสือชีวประวัติของศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) เป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยเช่นเดียวกัน

ในปี 1920 ได้เกิดการหลั่งไหลของผู้อพยพชาวมุสลิมจากฝั่งเอเชียกลางสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และในปีนี้เองที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการจัดพิมพ์โดยนักวิชาการชาวพุทธชื่อ Sakamoto

มัสยิดในโตเกียว ภาพจาก News Halal

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1905 ญี่ปุ่นเริ่มมีมัสยิดแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักโทษชาวรัสเซียที่ตกเป็นเชลยสงคราม และต่อมาในปี 1914 มัสยิดแห่งที่สองก็ถือกำเนิดขึ้นอีกในเมืองโกเบด้วยการสนับสนุนของนักธุรกิจชาวอินเดียและอาหรับ ในปี 1938 มัสยิดในโตเกียวถือกำเนิดขึ้นตามมา และเป็นมัสยิดแห่งแรกที่ครบครันไปด้วยโรงเรียนสอนศาสนา โรงพิมพ์และแหล่งผลิตนิตยสาร และตลอดหลายสิบปีในช่วงนั้นก็ได้มีการตีพิมพ์อัลกุรอานฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเวอร์ชั่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ โดยมีหนังสือและวารสารศาสนามากมายกว่า 100 ฉบับถูกเผยแพร่ในญี่ปุ่นช่วงปี 1935 และ 1943

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตให้อิสลามเผยแพร่ศาสนาในประเทศมุสลิมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง โดยในการประชุมเมื่อเมษายนปี 1943 ญี่ปุ่นได้ประกาศตัวขอรับหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ให้กับศาสนาอิสลามจากการรุกรานของชาวคริสต์ในภูมิภาคที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาวมุสลิมมายาวนาน ซึ่งผู้นำศาสนาของโลกมุสลิมในสมัยนั้นต่างเห็นพ้องกับจุดยืนของญี่ปุ่นทั้งสิ้น ครั้งหนึ่งเมื่อปี 1942 Abdurreshid Ibrahim อิหม่ามมัสยิดกรุงโตเกียวได้กล่าวว่า “บทบาทของญี่ปุ่นในสงครามแห่งมหาเอเชียบูรพานั้นสูงส่งยิ่ง และในความนอบน้อม อาจเทียบได้กับสงครามปราบปรามบรรดาชนนอกรีตในสมัยท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) เลยทีเดียว”

ภายหลังสงครามโลก สังคมมุสลิมในญี่ปุ่นยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ความสนใจต่ออิสลามในญี่ปุ่นนั้นถูกปลุกกระแสด้วยเหตุสำคัญสองประการคือ 1) ยุควิกฤติน้ำมันโลกในปี 1973 ที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเริ่มหันมาสนใจมุสลิมในประเทศแหล่งน้ำมันกันมากขึ้น  และ 2) เหตุการณ์ปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี 1979

การถือกำเนิดของโทรทัศน์ก็มีบทบาทสำคัญในการเปิดโลกทัศน์ให้ญี่ปุ่นรู้จักวัฒนธรรมอิสลามมากขึ้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของอียิปต์อย่าง al-Azhar ก็มีบทบาทในการเปิดประตูต้อนรับชาวญี่ปุ่นที่สนใจอิสลามรับทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนรู้ศาสนาและใช้ชีวิตในประเทศอียิปต์ ส่วนองค์กรมุสลิมอย่าง ญะมาอัต ตับลีฆ ในอินเดียและปากีสถานก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่น เพื่อเผยแพร่สาส์นสัจธรรมแห่งอิสลามให้กับผู้คนในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

แม้ว่าปัจจุบันมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอาจต้องประสบปัญหาความท้าทายในรูปแบบใหม่มากมาย แต่นั่นก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดอย่างใดนัก เพราะจะว่าไปแล้วอิสลามเข้าถึงดินแดนอาทิตย์อุทัยอันไกลโพ้นแห่งนี้ค่อนข้างช้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือสังคมมุสลิมในญี่ปุ่นที่เติบโตขึ้นทุกวัน มีความตื่นตัวและคอยพยายามสานสัมพันธ์มิตรไมตรีกับมุสลิมจากหลายมุมโลกอยู่ตลอดเวลา

จึงกล่าวได้ว่า การมาถึงของอิสลามอาจเป็นประวัติศาสตร์สำหรับหลายประเทศทั่วโลก แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้ว อิสลามกำลังอยู่ในช่วงสร้างปรากฏการณ์เพื่อเก็บบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญ ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ต่อไปในภายภาคหน้า

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา : At World’s End: Islam’s Long Journey to Japan
ภาพเปิดเรื่องจาก : Help Bring Islam to JAPAN

คุณอาจสนใจเรื่องนี้

Okoso-Zukin ฮิญาบฤดูหนาวของหญิงชาวญี่ปุ่นในอดีต

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร