fbpx

คลอรีนกลายเป็นอาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรียได้อย่างไร ?

ปัญหาสารคลอรีนในซีเรีย : การสูญเสียของมนุษย์จากเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีจากสารคลอรีน ในสงครามกลางเมืองซีเรียตลอดหกปีที่ผ่านมา

วันนั้น Mohamed Tennari แพทย์หนุ่มชาวซีเรียไปร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านซาร์มินในประเทศซีเรีย เขาต้องการซ่อมอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ใช้การไม่ได้มาหลายวัน ร้านซ่อมแห่งนี้เป็นร้านมิตรสหายของเขาที่ชื่อ Waref Taleb นายแพทย์ Tennari ฝากอุปกรณ์ดังกล่าวไว้กับทางร้านแล้วค่อยเข้ามารับกลับในวันถัดไป ช่าง Taleb ซ่อมแซมให้เขาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เลย และนั่นก็คือการพบกันครั้งสุดท้ายของสหายชาวซีเรียสองท่านนี้

สองเดือนต่อมา ทั้งคู่ได้มีโอกาสพบกันอีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม 2015 จากเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีในหมู่บ้านซาร์มิน แต่การพบกันครั้งนั้นกลับเป็นภาพที่นายแพทย์หนุ่มต้องเห็นเพื่อนรักนอนบนเตียงผ่าตัดในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลท้องถิ่นเมืองซาร์มิน Taleb อยู่ในสภาพไอและสำลักอากาศไม่หยุด น้ำลายเป็นฟองฟูมปาก และดูเหมือนจะรอดชีวิตยาก ทั้งหมดเกิดขึ้นจากคืนนั้นที่เฮลิคอปเตอร์ได้ปล่อยระเบิดบาร์เรลที่มีส่วนผสมของสารคลอรีนตรงตำแหน่งบ้านของ Taleb พอดี

“เราช่วยชีวิตเขาไว้ไม่ได้เพราะเขาสูดปริมาณสารคลอรีนเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมาก” นายแพทย์ Tennari วัย 36 ปี ผู้ซึ่งทำงานเป็นแพทย์ในซีเรียมาตั้งแต่ปี 2007 เล่าย้อนกลับไป

ครอบครัวของ Taleb ต่างพากันหนีตายและหลบไปอยู่ชั้นใต้ดินด้วยความชุลมุนวุ่นวาย ก๊าซพิษอันตรายดังกล่าวได้เล็ดลอดเข้าไปทางช่องระบายอากาศของตัวบ้าน แล้วคร่าชีวิตสมาชิกในบ้านทุกคน ตั้งแต่แม่ของ Taleb เอง รวมไปถึงภรรยาของเขาและลูกทั้งสามวัย 3, 2, และ 1 ขวบตามลำดับ

“พวกเขาเสียชีวิตกันยกบ้าน มันเป็นความรู้สึกแย่มาก ๆ ที่เราไม่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้” แพทย์หนุ่มกล่าว “และด้วยเพราะ Taleb เป็นเพื่อนรักของผม ผมจึงยิ่งรู้สึกแย่ขึ้นไปอีก”

นายแพทย์ Tennari ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นฝีมือของรัฐบาลซีเรียที่ปล่อยระเบิดก๊าซพิษอันตรายลงมา ในคืนนั้นเขาคำนวณคร่าว ๆ ได้ว่า เขาและทีมแพทย์ต้องทำการรักษาผู้ป่วยมากถึง 120 ราย

“พวกเขากำลังหลบอยู่ในห้องใต้ดิน แล้วทันใดนั้นสารเคมีดังกล่าวก็คืบคลานลงไปด้านล่างของตัวบ้าน จนผู้คนต้องรีบพากันหนีขึ้นมาด้านบนเนื่องจากด้านล่างเริ่มเต็มไปด้วยสารเคมี”

นายแพทย์ Tennari เล่าให้ฟังว่า Taleb เป็นผู้ชายที่นิสัยดีคนหนึ่ง “เขาเป็นคนดี เป็นคนเงียบ แต่เป็นมิตรกับทุกคน เขามีครอบครัวที่อบอุ่น และเขาเป็นคนที่รักครอบครัวมาก”

สภาพความเสียหายของบ้านครอบครัว Taleb หลังจากที่ระเบิดคลอรีนตกลงมาบนตัวบ้านเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2016

ครบรอบการจากไปของครอบครัว Taleb ในสองปีต่อมา ค่ำคืนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความโหดร้ายยังคงหลอกหลอนความรู้สึกของหมอซีเรียท่านนี้อยู่ไม่จางหาย “เฮลิคอปเตอร์บินว่อนทั่วฟ้าตลอดเวลา เราได้ยินเสียงตลอดเวลา และเราก็ไม่รู้เลยว่ามันจะจู่โจมโรงพยาบาลของเราตอนวินาทีไหน” Tennari  กล่าวขณะถอนหายใจเฮือกใหญ่

“เราไม่รู้จะทำอย่างไรกันดี ในสภาพที่ผู้ป่วยนอนเจ็บกันอยู่บนเก้าอี้ บ้างก็นอนบนพื้นห้อง บ้างก็บนพื้นดิน ทุกที่เต็มไปหมด ในหนึ่งนาทีผมต้องรักษาผู้ป่วยหลายคนพร้อมกัน เราไม่มีเวลาดูแลใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ บรรยากาศตอนนั้นเสียงดังวุ่นวายมาก”

ถึงแม้การโจมตีจากอาวุธเคมีจะเป็นเพียงแค่ชั่วขณะ แต่อานุภาพของอาวุธเคมีได้หว่านโรยความน่ากลัวลงบนสงครามกลางเมืองของประเทศมายาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว

นายแพทย์ Tennari ได้ปฎิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในซีเรียมาตั้งแต่ปีค.ศ.  2007 [Courtesy of Sarmin field hospital/Al Jazeera]

อาวุธเคมีได้กลายเป็นเชิงอรรถที่ต้องการคำอธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์นองเลือดในสงครามกลางเมืองของประเทศซีเรีย มันได้พรากชีวิตผู้คนมาแล้วนับหมื่นนับพัน ในขณะที่อีกกว่า 11 ล้านชีวิตต้องระเห็จระเหินอพยพหลบหนีไปตั้งรกรากที่อื่น แต่กระนั้นในบรรดาการใช้อาวุธเคมีทั้งหมดในซีเรียเราจะพบว่าเป็นก๊าซพิษซารีนที่มีอานุภาพทำลายระบบประสาทเสียเป็นส่วนใหญ่ ตามมาด้วยก๊าซมัสตาร์ด ที่ยังคงเพิ่มวรรคเพิ่มตอนให้กับเรื่องราวสงครามในซีเรียที่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

หลังจากที่มีการใช้ก๊าซพิษซารีนในปริมาณ 1,300 ตันและสารตั้งต้นของมันได้ถูกถอดถอนออกจากซีเรียไปแล้ว การโจมตีด้วยอาวุธเคมีของที่นั่นก็ยังคงดำเนินการต่อไปหลังจากนั้นนานเป็นเวลาถึงสี่ปี แต่ที่เห็นกันส่วนใหญ่ในยุคต่อมามักจะเป็นในรูปแบบของก๊าซคลอรีน ที่ปัจจุบันได้เริ่มกลายเป็นอาวุธเคมีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในสงคราม

“เราพบว่าสารคลอรีนกลายมาเป็นอาวุธสงครามในซีเรียเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา” Ole Solvang ผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายฉุกเฉินแห่งศูนย์พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) กล่าว

“สิ่งที่ท้าทายคือ ในซีเรียนั้นมีเรื่องราวอันแสนโหดร้ายเกิดขึ้นมากมาย และแต่ละเรื่องราวก็มักจะถูกกลืนหายไปกับอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอีกที่”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Solvang และทางองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้เขียนรายงานถึงเหตุการณ์ตัวอย่าง 8 กรณีศึกษาของการใช้คลอรีนโดยทหารรัฐบาลซีเรียในสงครามอเลปโปช่วงระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน จนถึง 13 ธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา โดยผู้สังเกตการณ์ขององค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากการวิเคราะห์เทปบันทึกภาพเบาะแสและร่องรอย วิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐานทางโทรศัพท์ การสัมภาษณ์รายบุคคล ตลอดจนข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย

รายงานดังกล่าวระบุว่า การโจมตีด้วยอาวุธคลอรีนได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 9 รายซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 4 ราย และอีกประมาณ 200 รายคือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ รายงานระบุอีกด้วยว่าการโจมตีดังกล่าวได้กลายเป็นอาชญากรรมสงครามในที่สุด

“แน่นอนว่านี่คือเรื่องสะเทือนใจอย่างยิ่งเพราะมันเป็นการละเมิดข้อตกลงของอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีที่ซีเรียเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิก” Solvang อธิบายให้ฟัง “มันคือความน่ากลัวสำหรับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย และน่ากลัวเพราะมันได้ล่วงละเมิดหนึ่งในข้อห้ามร้ายแรงว่าด้วยการใช้อาวุธตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอีกสิ่งหนึ่งที่เรากังวลมาก ๆ คือ หากรัฐบาลยังคงดำเนินการใช้อาวุธเคมีในการโจมตีเช่นนี้ต่อไป นั่นอาจทำให้ข้อห้ามดังกล่าวนี้ขาดประสิทธิภาพและลดระดับลงจนหลายประเทศอื่นหันมาใช้สารคลอรีนเป็นอาวุธสงครามด้วยก็เป็นได้”

อะไรคือบทบาทของสารคลอรีนในสงครามกลางเมืองที่ซับซ้อนและยาวนานของซีเรีย? และอะไรคือความสูญเสียของมนุษย์ตลอดที่ผ่านมา?

องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ได้ทำการเก็บข้อมูลการโจมตีด้วยคลอรีนเป็นจำนวน 24 กรณีตั้งแต่ปี 2014 ที่ระบุว่ามีอัตราการเสียชีวิตจำนวน 32 รายและได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย แต่กระนั้น Solvang ก็ตระหนักดีว่าจำนวนดังกล่าวน่าจะเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าค่าความจริงอยู่มาก

“มันคืออาวุธที่น่าหวาดกลัวสำหรับคนส่วนใหญ่” Solvang กล่าว

คลอรีนคือสารที่ก่อให้เกิดการสำลัก ควันจากก๊าซสีเหลืองอมเขียวที่คลุ้งออกมาจะส่งผลให้เกิดอาการหายใจติดขัด หายใจลำบาก เกิดภาวะหายใจล้มเหลว มีอาการแสบตา อาเจียน และบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้

องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการโจมตีด้วยคลอรีนเป็นจำนวน 24 กรณีศึกษานับตั้งแต่ปีค.ศ.2014 ที่มีรายงานการเสียชีวิต 32 รายและได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย

นอกจากนี้ ผลกระทบของสารคลอรีนยังส่งผลในเชิงจิตวิทยา สารเคมีดังกล่าวจะสร้างความตื่นตระหนกและหวาดผวาในแบบที่อาวุธอื่นที่ใช้กันทั่วไปในอดีตไม่สามารถทำได้ ในกรณีของอเลปโป Solvang สงสัยว่าทหารฝ่ายรัฐบาลน่าจะใช้คลอรีนเป็นกลยุทธ์ในการบังคับให้ผู้คนอพยพหลบหนีออกจากพื้นที่นั้น

“สถานที่ที่เราเคยคิดว่าปลอดภัยกลับกลายเป็นที่ ๆ ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เมื่อมีการนำคลอรีนเข้ามาใช้เป็นอาวุธ” Solvang กล่าว “ปกติเมื่อผู้คนพยายามหลบซ่อนตัวเองให้พ้นจากการโจมตีของจรวดและระเบิดทั่วไป พวกเขามักจะลงไปหลบอยู่ชั้นใต้ดิน เพราะที่นั่นคือที่ ๆ ถือได้ว่าปลอดภัยที่สุด แต่คลอรีนเป็นก๊าซที่มีมวลน้ำหนักมากกว่าอากาศ ดังนั้นมันจึงจมดิ่งลงไปในชั้นใต้ดินได้ง่ายกว่า จนชั้นใต้ดินเหล่านั้นกลายเป็นกับดักแห่งความตายในที่สุด”

คำบอกเล่าของ Solvang สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของครอบครัว Taleb ในเมืองซาร์มิน การตายที่เกิดจากการได้รับปริมาณก๊าซคลอรีนมากเกินปกติหลังจากที่เข้าใจผิดว่าห้องใต้ดินคือที่พำนักอันปลอดภัย

“มันคือเรื่องราวที่แสนหดหู่หากคุณเป็นแพทย์คนหนึ่งที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ เต็มไปด้วยผู้ป่วยนับร้อยพันชีวิตที่กำลังหายใจไม่ออก แล้วคุณไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับสิ่งที่คุณเห็นตรงหน้านั้น” Zaher Sahloul อดีตประธานสมาคมแพทย์ชาวซีเรียอเมริกัน (SAMS) ผู้ซึ่งดั้งเดิมเป็นชาวเมืองฮอมส์แต่ปัจจุบันรับหน้าที่ในเมืองชิคาโกกล่าว

เช่นเดียวกัน ทางสมาคม SAMS ได้ติดตามความเคลื่อนไหวกรณีการโจมตีด้วยอาวุธคลอรีนในซีเรีย และค้นพบว่ามีสถิติการโจมตีทั้งสิ้นถึง 109 ครั้งนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2011

“เหตุผลหลักของการใช้คลอรีนเพื่อการสงครามในซีเรียคือเพื่อจะสร้างความตื่นตระหนกและบังคับผู้คนให้หลบหนีออกไป และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลายครั้งของการโจมตี” Sahloul กล่าวเพิ่มเติม

สารคลอรีนถูกนำมาใช้เป็นอาวุธครั้งแรกโดยชาวเยอรมันเพื่อปราบปรามกองกำลังทหารของฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาภายหลังจากนั้นเป็นเวลาสิบปีจึงได้มีการร่างกฎหมายระหว่างประเทศสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้อาวุธเคมีในการสงครามขึ้นมาเป็นครั้งแรก

แต่ถึงแม้ว่าสารคลอรีนจะมีอานุภาพทำลายล้างที่รุนแรงถึงชีวิต กระนั้นมันก็ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทเดียวกันกับก๊าซซารีนหรือมัสตาร์ดแต่อย่างใด คลอรีนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสีเทาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันและจะถูกพิจารณาว่าเป็นอาวุธเคมีหากนำไปใช้เพื่อเจตนาที่ไม่ดี ด้วยสถานะที่คลุมเครือในวงการอาวุธเคมีจึงทำให้สารคลอรีนสร้างความกังขามากมายให้กับนิยามของคำว่าสงครามเคมี ยกตัวอย่างเช่น ทำไมสารเคมีร้ายแรงบางชนิดจึงเป็นที่ต้องห้ามระหว่างประเทศในขณะที่บางชนิดไม่ได้เป็น? เป็นต้น

“ข้อแตกต่างระหว่างก๊าซคลอรีนกับก๊าซซารีนคือ คลอรีนนั้นสามารถหาได้ง่ายทั่วไป” Sahloul อธิบาย “คลอรีนถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายแนวทางด้วยกัน เช่นใช้ในการบำบัดและเพิ่มความสะอาดให้น้ำ คลอรีนจึงเป็นที่นิยมแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมฝ่ายทหารซีเรียมักนำมาใช้ผลิตอาวุธสงคราม นั่นก็เพราะว่ามันหากันได้ไม่ยากและเอามาทำเป็นอาวุธกันได้ง่าย”

ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีการผลิตคลอรีนที่มากถึงสิบล้านตัน ด้วยเพราะเหตุผลที่คลอรีนเป็นส่วนผสมที่นิยมกันในหลายวงการอุตสาหกรรม นับตั้งแต่การบำบัดน้ำไปจนถึงการผลิตยาในวงการเภสัชกรรม เช่นยาฆ่าเชื้อ หรือในวงการผลิตผ้าทอ การฟอกสีกระดาษ หรือใช้เพื่อการแยกโลหะต่าง ๆ รวมไปถึงเคมีภัณฑ์ในครัวเรือนเช่นกระดาษกาว เป็นต้น จึงทำให้การควบคุมการใช้คลอรีนมาผลิตเป็นอาวุธเคมีเป็นไปได้ยาก และยังคงเป็นที่แพร่หลายกันอยู่มากในสงครามกลางเมืองของซีเรีย

“แน่นอนมันสร้างความตื่นตระหนกและสะพรึงกลัวให้กับพลเมือง มันยากที่จะขจัดให้หมดสิ้นไป เราไม่สามารถขอร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐมาชี้แจงจำนวนสต็อคคลอรีนที่มีอยู่ทั่วประเทศได้” Uzumcu ผู้บริหารทั่วไปแห่งองค์กรต่อต้านการใช้อาวุธเคมีระหว่างประเทศกล่าว

เมื่อได้เห็นถึงความยากลำบากในการควบคุมและยับยั้งการใช้คลอรีนในการสงคราม Sahloul จึงอยากวิงวอนร้องขอให้ประธานาธิบดีอัซซาดหยุดการโจมตีด้วยอาวุธคลอรีนอันโหดร้ายเหล่านี้ให้สิ้นไป

“ผมอยากให้อัซซาดได้มาเห็นสภาพใบหน้าของเด็ก ๆ ที่ต้องตื่นมากลางดึกเนื่องจากสำลักก๊าซพิษ” เขาอ้างไปถึงกรณีการเสียชีวิตของครอบครัว Taleb ในเมืองซาร์มิน

“ผมอยากให้เขาลองจินตนาการถึงสภาพใบหน้าที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวของครอบครัว Taleb ในห้องใต้ดินที่พวกเขาต้องทนทรมานกับกลิ่นคลอรีน และตอนที่ลูก ๆ ของพวกเขาเริ่มหายใจไม่ออก ตอนที่พวกเขาต้องรีบพากันไปส่งที่โรงพยาบาล และตอนที่พวกเขาต้องมาจบชีวิตลงในที่สุด”

เช่นเดียวกับนายแพทย์ Tennari แห่งเมืองซาร์มินที่เคยประจักษ์ถึงภาพความโหดร้ายของการโจมตีทางเคมีก่อนใครในโลกนี้ ชาวซีเรียทั่วไปต่างก็เชื่อว่าความยุติธรรมอาจเป็นเรื่องที่สายเกินไปเสียแล้ว  Tennari ยังคงโศกเศร้ากับจากไปของเพื่อนรักและครอบครัวที่ต้องมาจบชีวิตด้วยสารเคมีเป็นพิษเมื่อสองปีที่แล้วจนทุกวันนี้

“ผมเฝ้าวิงวอนขอให้ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป ภาพที่จะต้องมาเห็นเพื่อนชักดิ้นเสียชีวิตต่อหน้าโดยที่ผมทำอะไรไม่ได้เลย” นายแพทย์ Tennari กล่าว พร้อมกับยืนยันว่าเขาจะยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาชีวิตคนในซีเรียต่อไป ตราบใดที่สงครามกลางเมืองยังไม่สิ้นสุดลง

“ผมรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถช่วยชีวิตครอบครัว Taleb ได้ ผมจะรู้สึกแย่ทุกครั้งที่นึกถึงวันนั้นที่ผมช่วยเหลือพวกเขาไม่ได้จนพวกเขาเสียชีวิตในที่สุด ผมรู้สึกตนเองอ่อนแอทุกครั้ง และผมไม่อยากให้ใครต้องมายืนตรงที่ผมยืนและเห็นในสิ่งที่ผมเห็น เพราะมันช่างโหดร้ายเหลือเกิน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสงครามทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในสักวัน” นายแพทย์ Tennari กล่าว

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : How chlorine gas became a weapon in Syria’s civil war by Dorian Geiger

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร