fbpx

อะโดลา คินาบาลู : เมื่อสาวไทยแบกหัวใจไปพิชิตยอดเขาสูงของมาเลเซีย

มีคนเคยบอกว่าการขึ้นสู่ยอดเขาคินาบาลู เป็นเรื่องที่โหด และหินมาก เพราะต้องเดินเท้าจากจุดเริ่มต้นที่เชิงเขาไปถึงยอดเขาเป็นระยะทางประมาณ 8.5 กิโลเมตร บนเส้นทางที่แทบจะไม่เจอทางราบเลย ทั้งชันและคดเคี้ยวสุดลูกหูลูกตา  แต่ก็ไม่ทำให้ความตั้งใจของเราที่จะพิชิตยอดเขาแห่งนี้ สักครั้งในชีวิต สั่นคลอนได้

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับยอดเขาแห่งนี้คร่าวๆ กัน

ยอดเขาคินาบาลู มีความสูง 4,095 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ในรัฐซาบาฮ์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเขาที่สูงที่สุดบนเกาะบอร์เนียว  ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 20 ของโลก เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกของประเทศมาเลเซีย ใครที่เคยไปประเทศมาเลเซียจะเห็นรูปของยอดเขาแห่งนี้บนแบงค์  100 ริงกิต ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวมาเลเซียเลยทีเดียว

ก่อนออกเดินทาง
ทริปนี้เป็นทริปที่ค่อนข้างหนักหน่วงเพราะต้องใช้กำลังกายบวกกำลังใจอย่างสูง การจะหาเพื่อนร่วมทีมดูเหมือนจะยาก แต่พอลองชวนดูเล่นๆ กลับกลายเป็นว่าเรา 3 คนตอบตกลงอย่างง่ายดายโดยไม่คาดคิด อาศัยว่ารู้จักกันมาตั้งแต่ ม.ต้น และร่วมงานกันมาหลายปี เมื่อทุกอย่างลงตัวเราเลยต้องรีบเตรียมทุกอย่างให้พร้อม เพราะจากการหาข้อมูลคร่าวๆ ต้องใช้เวลาในการจองและเตรียมร่างกายอย่างน้อย 3 เดือน ทุกอย่างเลยต้องดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว

การจองทริป
จากการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เราสามารถจองโดยตรงกับทางอุทยาน หรือจะจองผ่านเอเยนซี่ก็ได้ แต่ทีมเราลงความเห็นว่าจะจองกับทางอุทยานโดยตรง เพราะน่าจะสะดวกกว่า ไม่ต้องมีขั้นตอนหลายอย่าง ซึ่งก็ถือว่าตัดสินใจได้ถูกต้องเพราะสะดวกมาก ค่าใช้จ่ายแพ็คเกจนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ปีนเขา การซื้อแพ็คเกจจากอุทยานจะมีบริการรับส่งจากโรงแรมถึงอุทยานทั้งขาไปและกลับ (ถึงในเมืองระยะทางประมาณ 100 กม.) อาหารทุกมื้อ ไกด์นำทาง ที่พัก ประกาศนียบัตร (ข้อมูลหาได้จาก http://www.mountkinabalu.com/)

ทริปปีนเขาที่นี่จองค่อนข้างยาก แต่อัลฮัมดุลิลลาห์(ขอบคุณพระเจ้า) ในที่สุดเราก็สามารถจองได้ หลังจากนั้นก็จัดการจองที่พักในเมืองและเที่ยวบินหลังจากได้รับการยืนยันวันปีนเขาที่แน่นอน ซึ่งไม่มีเที่ยวบินที่บินตรงจากกรุงเทพฯไปโกตาคินาบาลู  ทุกเที่ยวบินต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งสิ้น

อุทยานจะจำกัดจำนวนคนขึ้นเขาแต่ละวันเพียง 130 คนโดยประมาณ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน

การเตรียมตัวและเตรียมใจ
ความพร้อมทางร่างกายสำคัญมาก เคยอ่านเจอประโยคที่ว่า “ใจถึงก็ไปถึง” พอมาเจอจริงๆ มันก็ไม่ใช่เสมอไปนะคะ เพราะการขึ้นที่สูงจะมีอาการหนึ่งที่เรียกว่า AMS (โรคแพ้ที่สูง) อาการคือปวดหัว มึน หอบ หัวใจเต้นแรง ตาเบลอ อาจมีอาการนอนไม่หลับ ถ้าไกด์เห็นว่าลูกทัวร์มีอาการค่อนข้างมากเขาจะห้ามปีนต่อทันที ซึ่งอาการนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดกับใครบ้าง ต้องลองเสี่ยงดูบนยอดเขาเท่านั้น  ดังนั้นสิ่งที่พวกเราทำได้ตอนนี้คือการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เพราะทริปนี้ต้องเดินเท้าเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 18 ชม. ในระยะเวลา 2 วัน ตามแต่สมรรถภาพร่างกายของแต่ละคน สิ่งที่แนะนำโดยทั่วๆ ไปคือ วิ่ง+เดิน ให้ได้วันละประมาณ 1 ชม.และท่าบริหารขา เช่น การสควอท เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อขาอย่างหนักโดยเฉพาะขาลง ส่วนการเตรียมใจนั้น คือการเตรียมใจที่จะสู้กับตัวเองในทุกๆ ก้าวที่เดินขึ้นเขาเพราะจากที่อ่านมาเกือบทั้งหมด พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโหดมาก  เหนื่อยมาก เดินๆ แล้วท้อมาก

เสื้อผ้าและอุปกรณ์ปีนเขาก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะการใช้อุปกรณ์ปีนเขาโดยเฉพาะจะช่วยให้การปีนเขาปลอดภัยและสะดวกขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรองเท้าปีนเขา ที่ต้องเกาะหินเกาะพื้นได้ดีไม่ลื่นง่าย ไม้ปีนเขาก็สำคัญไม่แพ้กันเพราะช่วยประคองตัวเราให้ปีนเขาได้ง่ายขึ้น และอื่นๆ เช่น เสื้อแจ็คเกต เสื้อกันฝน ไฟฉายคาดหัว ฯลฯ

เตรียมแพ็คของที่จะขึ้นเขา

เริ่มต้นการเดินทางในวันที่ 1 ระยะทาง 6 กม.แรก ใช้เวลา 5-7 ชั่วโมง
เราเลือกที่จะพักผ่อนก่อนวันปีนเขา 1 วันเพื่อออมพลังงานอย่างเต็มที่ เช้าวันปีนเขามีรถมารับเราจากโรงแรมซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก เดินทางประมาณ 15 นาทีก็ถึงที่ทำการอุทยาน มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายืนรอรับป้ายแขวนคอที่ต้องห้อยคอตลอดเวลาที่เดินขึ้นเขา กรอกเอกสารต่างๆ รับอาหารเที่ยง และแนะนำไกด์ที่จะพาเราเดินตลอดทั้ง 2 วันนี้

ได้รับบัตรห้อยคอกันแล้ว

เมื่อจัดการทุกอย่างเรียบร้อยก็นั่งรถไปที่ Timpohon Gate เพื่อเริ่มการปีน  แค่เห็นประตูก็เริ่มรู้สึกตื่นเต้น เพราะมีนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด

ถ่ายรูปกับนักปีเขาชาวเกาหลีกันหน่อย

พวกเราเริ่มเดินตั้งแต่ 9 โมงเช้า แบกของใส่เป้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นเช่น เสื้อกันฝน น้ำดื่ม อาหารและขนมให้พลังงานต่างๆ ส่วนที่เหลือก็จ้างไกด์หาบโดยคิดราคาเป็นกิโล

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือไกด์ที่รูปร่างผอมบางสามารถแบกเป้ที่หนัก 10 กิโลกรัม ขึ้นเขาได้สบายๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อยสักนิด และที่น่าทึ่งมากกว่านั้น ระหว่างทางเราจะเห็นชาวบ้านที่รับจ้างมาเป็นลูกหาบแบกถังแก๊ส แบกอาหารเป็นลังๆ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 30 กิโลกรัม เต็มหลังเดินขึ้นลงอย่างรวดเร็ว แถมบางคนมีวิ่งโชว์ด้วย

ลูกหาบ หาบของขึ้นเขาสบายๆ

เมื่อเริ่มเดินซักพัก สมาชิกในทีมก็จะเริ่มเดินตามความเร็วของตัวเอง (ใครฟิตมากก็จะนำหน้าไปก่อน) เรามีกันสามคน ก็สามเลเวล ส่วนไกด์นั้นได้แจ้งกับเราตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะเดินรั้งท้ายคนที่เดินช้าที่สุด

ระหว่างทางก็จะเจอเพื่อนร่วมทางมากมายทั้งคนที่เดินขึ้นเขาและลงเขา ทักทายให้กำลังใจกันทำให้รู้สึกดีและสนุกที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ เพราะแต่ละคนก็จะเดินเกาะกลุ่มไปกับคนอื่นๆ ที่มีความเร็วเท่าๆ กัน ทำให้กลายเป็นเพื่อนร่วมทางกันโดยปริยาย มีการพูดคุยให้กำลังใจกัน เพื่อนร่วมทางนั้นมีทั้งคนอาเซียน เอเชีย ยุโรป ทุกกลุ่มอายุ ในวันที่เราเดินนั้นมีตั้งแต่ 7-8 ขวบ ถึง 50-60 ปี

สิ่งที่ช่วยทำให้เราลืมเหนื่อยตอนปีนเขาก็คือธรรมชาติอันแปลกตาและความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่รอบตัวเรา

หม้อข้าวหม้อแกงลิงใบใหญ่ๆ

ไส้เดือนป่าตัวยักษ์โผล่มาตอนฝนตก

พืชพรรณไม้บนเขาแห่งนี้มีความหลากหลายมาก ช่วงแรกๆ สองข้างทางเป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้ขึ้นแน่น มีเสียงน้ำตกให้ได้ยินตลอดทาง ผ่านกิโลเมตรที่ 4 ภูมิประเทศก็เปลี่ยนไปทันตา กลายเป็นป่าโปร่งๆ ที่มีต้นไม้แปลกตา สวยไปอีกแบบ

ป่าดิบชื้น

ป่าโปร่งๆ ต้นไม้แปลกๆ เหมือนเดินในเทพนิยาย

เริ่มเดินทางได้ซักพักฝนก็เริ่มโปรยปราย ต่างคนก็รีบสวมเสื้อกันฝน การเดินทางเริ่มยากขึ้น ไหนจะฝนแอ่งน้ำตลอดทาง ขั้นบันไดที่กลายเป็นขั้นน้ำตก ทางก็ลื่นมากขึ้นโดยเฉพาะบันไดไม้ เวลานี้แหละที่รู้สึกว่ารองเท้าปีนเขาและไม้ปีนเขาช่วยได้มาก ไม่อย่างนั้นคงได้ลื่นกันไม่รู้กี่ตลบ

ฝนตกแล้ววว

ลุยฝนขึ้นเขา

ระหว่างทางที่เดินขึ้นก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยาน (Park Ranger) 6 คน หามนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บบนแคร่วิ่งลงเขาอย่างรวดเร็ว ทำเอาเราทั้งสามคนสตั๊นท์ไปชั่วขณะสอบถามจากไกด์จึงรู้ว่า นักท่องเที่ยวคนนั้นกลิ้งตกเขาตอนขาลง สถานการณ์ตอนนั้นทุกคนดูตึงเครียดกันไปหมด เลยยิ่งต้องระวังทุกก้าวที่เดินให้มากขึ้น

ทุกจุดแวะพักข้างทาง นักท่องเที่ยวเริ่มดูเหนื่อยมากขึ้น เพราะยิ่งสูงอากาศยิ่งเบาบางและหนาว บวกกับฝนที่เทลงมาอย่างไม่ขาดสายยิ่งทำให้ทุกคนเหนื่อยง่าย เป็น 6 กิโลเมตรแรกของวันที่ยาวนานกว่าจะถึงที่พักบนเขา เพราะทางเริ่มเดินยากขึ้น แต่เมื่อเห็นหลังคาโรงแรมก็เริ่มยิ้มออก แม้ว่าขาจะก้าวได้ทีละก้าวแบบยากลำบากก็ตาม

ถึงแล้ว…ที่พักของเรา ก้าวต่อไปฮึบๆ

การเดินขึ้นจากปากประตูไปยังโรงแรมที่พัก Laban Rata จะใช้เวลาอย่างมากที่สุดประมาณ 8 ชม. ขึ้นกับกำลังขาของแต่ละคน เมื่อถึงที่พักก็ Check-in รับกุญแจห้องพักและรอเวลารับประทานอาหารเย็นตั้งแต่ 16.30 น. เมื่อสมาชิกทีมของเรามาครบก็ไปห้องพัก เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกโชก อาบน้ำ (ที่เย็นสุดขั้วเพราะระบบโซลาร์เซลไม่ทำงานเนื่องจากฝนตก) และลงมารับประทานอาหาร

ที่พักอบอุ่น

กำลังใจเต็มผนัง

บรรยากาศในห้องอาหารเป็นไปอย่างครึกครื้น แต่สักพักไกด์ก็เดินมาบอกข่าวร้ายกับเราว่าถ้าคืนนี้ฝนยังตกอยู่  เราจะไม่สามารถปีนขึ้นยอดได้เหมือนนักท่องเที่ยวชุดก่อนหน้าเรา เพราะฝนที่ตกหนักจะทำให้มีน้ำไหลจากยอดเขาลงมาแรงมาก พวกเราก็เริ่มรู้สึกหมดหวังเพราะฝนก็ยังคงตกอยู่

บรรยากาศในห้องกินข้าวที่แสนอบอุ่นของนักปีนเขา…เหนื่อยนะ..แต่ทุกคนอยากเม้าท์

การเดินทางรอบที่ 2 มุ่งสู่ยอดเขา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 ชั่วโมง
เพราะมันไม่ใช่เวลานอนปกติเราจึงนอนไม่หลับ เมื่อนาฬิกาปลุกตอนตี 1 แต่ละคนจึงลุกออกจากเตียงด้วยสภาพมึนๆ ไปล้างหน้าล้างตาเตรียมตัวหยิบอุปกรณ์ครบมือพร้อมไฟฉายคาดหัวลงมารับประทานอาหารเพิ่มพลังงาน และนั่งรอลุ้นอากาศ ระหว่างที่รอทุกคนในห้องอาหารดูมีความพร้อมมากและหวังว่าฝนจะหยุดตก

จนกระทั่งเกือบตี 3 ไกด์ก็เดินมาบอกข่าวดีว่าฝนหยุดตกแล้วและเราสามารถปีนขึ้นไปได้ นักท่องเที่ยวทุกคนออกไปยืนรอเป็นแถวเรียงหนึ่ง ไฟฉายที่คาดหน้าผากพร้อม อากาศก็หนาวจับใจ ทุกคนต่างเดินขึ้นตามบันไดไปเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ

ออกเดินทางตอนตีสอง..หนาวควันออกปาก

เพียงแค่ระยะทางสั้นๆ ก็มีคนต้องเดินลงเพราะอาการปวดหัว บางคนนั่งหอบ บางคนเริ่มหยุดเดินถี่ขึ้น พวกเราต้องเดินไปที่ Check point ให้ทันก่อนตี 5 ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เดินขึ้นต่อ เพราะจะไม่ทันเวลาพระอาทิตย์ขึ้น (ประมาณ 6 โมงเช้านิดๆ) และจะต้องเดินลงเขาอีกหลายชั่วโมง

นอกจากต้องแข่งกับตัวเองแล้วยังต้องแข่งกับเวลาด้วย เพราะต้องถึงจุด check point ก่อนตี 5

เมื่อเดินผ่านจุด Check point แล้ว พวกเราก็ต้องเดินต่อไปอีก ทางเริ่มเดินยากขึ้น หลายคนเริ่มเก็บไม้เท้าเพราะต้องจับเชือกดึงตัวขึ้นไป ทางเริ่มชันขึ้นการปีนเริ่มใช้ทั้งมือทั้งเท้า เพราะไม่มีขั้นบันไดแล้ว บ้างก็เป็นทางลาดเอียงประมาณ 45 องศา บ้างก็เป็นกองหินที่ต้องปีน มองขึ้นมองลงก็เห็นแสงไฟฉายยาวเป็นทางรู้สึกท้ออย่างบอกไม่ถูกว่าเมื่อไรจะถึงสักที

โอยยย อีกนิดเดียวว

กว่าจะถึงยอดหยุดพักถี่มาก เพราะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ แต่เมื่อเห็นเห็นคนเริ่มถึงยอดกันแล้วเราก็มีกำลังใจ รวบรวมแรงปีนขึ้นไปจนถึงยอดสำเร็จ

ถึงยอดแล้วว ดีใจน้ำตาไหล หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

รู้สึกดีใจมาก แม้ว่าอากาศจะหนาวมากถึงขั้นติดลบ ลมแรงมากจนต้องหลบตามก้อนหิน ทุกคนรอเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อถ่ายรูปแล้วก็เริ่มทยอยเดินลง เพราะต้องรีบไปรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมและ check out ก่อน 10.30 น.

ระหว่างทางเดินลงรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่ขามากกว่าตอนเดินขึ้นอย่างที่อ่านมาจริงๆ เพราะต้องเกร็งขาไม่ให้ลื่นไถลลงไป บวกกับร่างกายที่ถูกใช้งานอย่างหนักตลอด 10 กว่าชั่วโมงที่ผ่านมา แถมเมื่อคืนก็นอนไม่หลับกันถ้วนหน้า ขาจึงอ่อนแรง เข่าทรุดเป็นระยะๆ

โอ้….ทางลงชันสุดลูกหูลูกตา

โอ้….ทางลงชันสุดลูกหูลูกตา

โอ้….ทางลงชันสุดลูกหูลูกตา

พอฟ้าสว่างทำให้เห็นว่าทางเดินขึ้นมันชันมากขนาดไหน แต่ละคนต้องเดินเลี้ยวไปมาเพื่อรักษาสมดุล ถ้าเดินลงไปตรงๆอาจกลิ้งได้ง่าย

ตามทางจะมีไกด์คอยเดินคุมห่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไกด์กรุ๊ปไหนก็จะคอยช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยวกรุ๊ปอื่นๆ ด้วย เพราะตามทางจะมีคนลื่นล้มตลอด

ถึงจะอันตรายแต่วิวบนยอดเขาระหว่างทางที่เดินลงมาสวยคุ้มค่าจริงๆ นี่ถ้าฟ้าฝนไม่เป็นใจทำให้เราไม่ได้ขึ้นมาคงเสียดายแย่

พอเดินมาถึงที่พัก พวกเราก็ทานอาหารเช้า เก็บของและ Check out ระหว่างทางเดินลงเส้นทางเดิม แต่ความรู้สึกกลับไม่เหมือนเดิมเพราะความล้าที่ขาทำให้เดินลำบากมากๆ แถมยังมีฝนตกลงมาอีกตลอดทางเหมือนตอนขาขึ้น

ระหว่างทางที่เดินลงเราจะเจอกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่เดินสวนขึ้นมา คงเป็นเหมือนภารกิจที่ไม่ต้องมอบหมาย คนลงเขาจะคอยให้กำลังใจคนที่ขึ้นเขา เพราะรู้ว่าทางข้างหน้ามันลำบากมากขนาดไหน ขณะที่กำลังเดินอย่างเหนื่อยล้าขาลาก พวกลูกหาบก็ทำให้ทึ่งอีกแล้ว เพราะพวกเราเจอลูกหาบที่เดินสวนเราขึ้นไป และเดินกลับลงเขาแซงพวกเราหน้าตาเฉย

พอเดินถึงประตูทางออกทุกคนก็ต้องเช็คชื่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่านักท่องเที่ยวทุกคนกลับมากันครบ เมื่อเช็คชื่อเรียบร้อยทุกคนก็นั่งรถกลับไปที่ทำการอุทยานเพื่อรับประกาศนียบัตรว่าเราได้พิชิตยอดเขาแล้ว หลังจากนั้นรถตู้ของอุทยานก็พาพวกเราไปส่งที่โรงแรมในตัวเมืองซึ่งใช้เวลาเกือบ  2 ชม. ตอนนี้ทุกคนยกขาแทบไม่ได้ แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่สามารถทำสิ่งที่คิดว่ายากมากๆได้สำเร็จ

จบการเดินทางอันหฤโหด
จากความมุ่งมั่นที่จะชนะใจตัวเองให้ได้ ทำให้รู้ว่าเรามีพลังมากแค่ไหนถ้าหากตั้งใจจริง หลายช่วงที่ต้องเดินคนเดียวท่ามกลางฝนและป่าทั้ง 2 ด้าน ต้องดุอาอ์(ขอพรจากพระเจ้า)ตลอดทางเพราะไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง และอัลฮัมดุลลิลลาห์(ขอบคุณพระเจ้า)ที่พวกเราทุกคนปลอดภัยตลอดจนจบการเดินทาง และอีกสิ่งที่สำคัญคือมิตรภาพที่เกิดขึ้นในทริปนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในทีม หรือเพื่อนร่วมปีนเขาทุกคนที่เจอ ไกด์คนอื่นๆ หรือแม้แต่ลูกหาบ คนที่ไม่รู้จักกันจับมือแสดงความยินดีกัน เดินทักทายกันตลอดทาง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็รู้สึกประทับใจมากจนอยากกลับไปอีกครั้งจริงๆ

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

kamariah Ismael

นักแปลผู้มีผลงานตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม รู้และเข้าใจหลายภาษา ทั้งอังกฤษ มลายู และอาหรับ วาดหวังไว้ว่าจะพาผู้อ่าน Halal Life Magazine เปิดพรมแดนทางความรู้และความใจจากเรื่องราวของมุสลิมที่กระจายอยู่ทั่วโลก