fbpx

10 ประเด็นที่เราคิดว่าสำคัญในโลกมุสลิม ประจำปี 2017

ในแต่ละปีมีเรื่องราวทั้งดีและร้ายที่เกี่ยวข้องกับโลกมุสลิมเกิดขึ้นมากมาย (โดยส่วนใหญ่จะหนักไปทางร้ายๆ ซะมากกว่า ???? ) จนหลายเรื่องราวสำคัญอาจหลุดหายไปจากความทรงจำของเรา ด้วยเหตุผลของการพัฒนาของเทคโนโลยีที่นำพาข่าวสารมาให้เราได้รับรู้กันอย่างรวดเร็วและท่วมท้น จนหลายเรื่องราวสำคัญอยู่ในความสนใจของผู้คนเพียงแค่เวลาไม่นาน

ในปี 2017 ก็เช่นเดียวกันที่โลกมุสลิมเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าเศร้า ชวนหดหู่ แต่กระนั้นก็ยังมีบางเรื่องที่พาให้เราๆ ทั้งหลายหัวใจพองโต Halal Life จึงคัดสรรประเด็นที่เราคิดว่าสำคัญพอที่จะกลับมาอ่านทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นกันอีกครั้ง

          หวังว่า 10 ประเด็นที่เราคัดสรรรวมถึงทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโนโลกมุสลิมตลอด 2017 ที่กำลังจะผ่านไปในอีกไม่กี่ชั่วโมง ไม่ว่าเรื่องดีหรือร้าย จะเป็นดั่งบทเรียนช่วยให้เรามองเห็นปัญหาที่โลกมุสลิมกำลังเผชิญ

 

1- ดร.สมบัติ จิตหมวด พ่อผู้ให้อภัยฆาตกรที่ฆ่าลูกชายตัวเอง

“การให้อภัยคือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอิสลาม” คำพูดของ ดร.สมบัติ จิตต์หมวด ชาวมุสลิมอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ให้อภัยฆาตกรที่ฆ่าลูกชายตัวเอง กลายเป็นข่าวสร้างความซาบซึ้งไปทั่วโลก

ซอลาฮุดดีน จิตต์หมวด ลูกชายของ ดร.สมบัติ ถูกปล้นชิงทรัพย์ และถูกแทงด้วยมีดจนเสียชีวิตเมื่อปี 2015 โดย Trey Alexander Relford ผู้ก่อเหตุถูกศาลตัดสินจำคุกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และได้ทำการรับสารภาพส่งผลให้ต้องรับโทษหนักและอาจถึงขั้นประหารชีวิต แต่การให้อภัยของบิดาผู้เสียชีวิตกลับสร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนที่เป็นสักขีพยานในชั้นศาล

เหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ของความรักและการให้อภัย ที่สามารถเปลี่ยนช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดให้กลายเป็นบทเรียนที่ประทับใจให้กับทุกคนได้อย่างมากมาย และสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของอิสลามศาสนาที่ส่งเสริมให้ผู้คนให้อภัยต่อกัน

 

ภาพจาก : YATEEM TV

2- ดาบตำรวจมุสลิมฮีโร่ ใช้ความรักสยบความรุนแรง

          ฮีโร่มุสลิมไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก “ดาบตำรวจ อนิรุธ มะลี” ผู้บังคับหมู่ฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ที่ทำหน้าที่เกลี้ยกล่อมชายถือมีดบุกขึ้นโรงพักโดยใช้คำพูดอ่อนโยนและอ้อมกอดที่จริงใจจนสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านทางคลิปวิดีโอจนถูกกล่าวขาน และได้เสียงชื่นชมไปทั่วโลก พลังแห่งคำพูดที่ดีและอ้อมกอดที่จริงใจนั้นสามารถทำให้เรื่องร้ายๆ จบลงได้ด้วยดี

โดยดาบตำรวจ อนิรุธ ให้สัมภาษณ์หลังเหตุการณ์ว่าเพราะอิสลามสอนให้มีความรักความเมตตาต่อทุกคน “ผมเป็นมุสลิม เป็นอิสลาม ศาสนาผมสอนให้โอบกอดกัน สอนให้มีความรักความเมตตาต่อทุกคน”

 

ภาพจาก : CNN

3- กวาดล้างโรฮิงญา รุนแรงดั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

          วิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังคงเป็นปัญหาหนักตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แม้ว่านางอองซาน ซูจี จะออกมาการันตีว่าจะปกป้องพลเมืองภายใต้กฎหมาย แต่ในความเป็นจริงกลับมีชาวโรฮิงญากว่า 400,000 คน หลั่งไหลออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ เนื่องจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการปราบปรามโรฮิงญาของทหารเมียนมาร์ในพื้นที่รัฐยะไข่ ที่รุนแรงจนถูกหลายฝ่ายขนานนามว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การอพยพลี้ภัยของชาวโรฮิงญาไปยังบังคลาเทศเกิดเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ที่สุด สหประชาชาติหรือยูเอ็นเตือนให้เมียนมาร์ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีการส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาอยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อหวังว่าวิกฤตการคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์นี้จะหยุดติลงเสียที

 

 

ภาพจาก : Time

4- สหรัฐอเมริการับรอง เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล

          กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตา หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ออกจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม โดยทรัมป์บอกว่า “ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่า นี่เป็นเวลาที่จะรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประธานาธิบดีคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้แต่สัญญาแต่ไม่สามารถทำตามได้”

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองสถานะเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยจากผู้นำส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยในการประชุมฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม ประเทศสมาชิกสหประชาชาติลงคะแนนเสียงท่วมท้น 128 ต่อ 9 เสียง ไม่ยอมรับการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลตามที่สหรัฐอเมริกาเสนอ แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ตัดความช่วยเหลือด้านการเงินต่อประเทศที่สนับสนุนมตินี้ก็ตาม

เยรูซาเลมเป็นสถานที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญสามแห่งของสามศาสนา คือ อิสลาม ยิว  และคริสต์ โดยอิสราเอลได้ทำการเข้ายึดครองพื้นที่ด้านตะวันออกของเมืองรวมถึงเขตเมืองเก่าจากปาเลสไตน์ ในช่วงสงครามหกวัน เมื่อปี 50 ปีก่อน แต่การยึดครองดังกล่าวของอิสราเอลไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

 

 

ภาพจาก : mintpressnews.com

5- สงครามเยเมน ความสูญเสียที่โลกแสร้งทำเป็นลืม

          ขณะที่โลกต่างให้ความสนใจสงครามและความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของภูมิภาคอาหรับ โดยเฉพาะในซีเรีย อิรัก และปาเลสไตน์ แต่กลับมีบางเหตุการณ์บางความสูญเสียที่เรารู้สึกว่าโลกมักไม่พูดถึง นั่นคือสงครามในเยเมน

สงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่าสองปี ส่งผลให้ชาวเยเมนหลายครัวเรือนต้องเผชิญกับความยากจนและความเศร้าโศก องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า ปัจจุบันชาวเยเมนราว 17 ล้านชีวิตกำลังประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เป็นผลจากการถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยด่วนจากประชาคมทั่วโลก

เยเมนถูกโจมตีจากกลุ่มชาติอาหรับที่นำโดยซาอุดิอาระเบียทุกรอบด้านเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลเยเมน สงครามยังดำเนินไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด เช่นเดียวกับจำนวนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องเสียชีวิตลงไปอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครสนใจ

 

 

ภาพจาก : foreignpolicy.com

6- สงครามซีเรีย ความรุนแรงยังคงต่อเนื่อง

          การสู้รบในซีเรียยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 7 นับเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลต่อร้ายแรงต่อประชาชนชาวซีเรียผู้บริสุทธิ์กว่า 14 ล้านชีวิตที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่าสามแสนราย โดยสำนักข่าวบีบีซีประเมินว่าเราอาจต้องใช้เวลาถึง 19 ชั่วโมงในการอ่านรายชื่อเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมด

ถึงแม้ในขณะนี้สถานการณ์การสู้รบจะดูเบาบางลง แต่ตลอดปีที่ผ่านมาก็ยังคงมีความสูญเสียและความเลวร้ายขั้นรุนแรงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองอิดลิบฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏซีเรีย เมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาลโจมตีด้วยอาวุธเคมี ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิต 70 ราย

สงครามซีเรียเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 หลังประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วยความสงบ กระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมยกระดับจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ก่อนที่หลายชาติจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแต่ละฝ่ายจนกลายเป็นสงครามตัวแทนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจนถึงทุกวันนี้

 

 

ภาพจาก : vox.com

7 – ซาอุฯ ยุคใหม่ สร้างเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา

นับตั้งแต่การขึ้นสู่ตำแหน่งมกุฎราชกุมารของ มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน โอรสวัย 31 ปีของ ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ กษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย โลกก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายกับประเทศที่เป็นดั่งศูนย์กลางของโลกมุสลิมในยุคนี้

เริ่มต้นจากการเป็นผู้นำในการตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค การจับกุมเจ้าชายและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ไม่ต่ำกว่า 10 คนในข้อหาคอรัปชั่น การจับกุมอุลามาอฺหรือนักวิชาการศาสนาชื่อดังหลายท่าน นอกจากนี้มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในซาอุฯ ตัวอย่างเช่น นโยบายการผ่อนปรนด้านศาสนาหลายอย่าง เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ เข้าชมการแข่งขันกีฬา การอนุญาตให้เปิดโรงหนังอีกครั้ง การเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงแผนการสร้างเมืองใหม่ที่ว่ากันเป็นเมืองอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในโลก และที่ฮือฮาที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นข่าวการมอบสถานะพลเมืองให้กับหุ่นยนต์

 

ภาพโดย Kowit Phothisan จาก Unsplash

8- ความหวังของผู้คนชายแดนใต้

ถึงแม้จะยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรง ความสูญเสีย และการคุกคามที่มุ่งทำร้ายชีวิตผู้คนอยู่ต่อเนื่อง แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีที่ผ่านมามีหลายเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่ความคืบหน้าเรื่องการพูดคุยสันติภาพ การปล่อยตัว “อันวาร์” ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ที่มีภาพของการเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่อสันติภาพของคนในพื้นที่ การลุกขึ้นมาทำกิจกรรมทางสังคมในหากหลายมิติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ อาทิเช่น สายบุรีลุคเกอร์ มลายูลีฟวิ่ง และอีกหลายกลุ่ม ที่พยามเปลี่ยนภาพลักษณ์ความรุนแรงในสายตาของใครหลายคน รวมถึงรื้อฟื้นบรรยากาศความสุขความสงบให้เกิดขึ้นกับพื้นที่บ้านเกิดของพวกเขาอีกครั้ง นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงยังลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงครั้งใหม่ในปี 47 อีกด้วย

หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ความสุขความสงบจะกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง

 

ภาพจาก : trend.az

9- เกลียดชังอิสลาม โรคร้ายที่เกาะกินหัวใจผู้คนในหลายพื้นที่

เป็นอีกปีที่เราได้รับรู้ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดจากภาวการณ์เกลียดชังและหวาดกลัวอิสลาม หรือ ISLAMOPHOBIA กันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้คนหมู่มาก ตัวอย่างเช่น ในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเมียนมาร์ที่เปิดปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างเหี้ยมโหด การขับรถเข้าพุ่งชนชาวมุสลิมช่วงเดือนรอมฎอนในกรุงลอนดอน การถูกลิดรอนสิทธิของชาวมุสลิมบางพื้นที่ในประเทศจีน หรือการที่สหรัฐอเมริกาแบนชาวมุสลิมห้ามเข้าประเทศ

นอกจากนี้ภาวะความเกลียดชังอิสลามยังถูกแสดงออกในระดับความสัมพันธ์ของผู้คน เราจึงได้ยินข่าวมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติ ถูกด่าทอ หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกาย กันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ที่ความเกลียดชังและหวาดกลัวอิสลามทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายกรณี อาทิเช่น การสร้างมัสยิด และโครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล

นักวิชาการระบุว่าโรคเกลียดชังและหวาดกลัวอิสลาม หรือ ISLAMOPHOBIA เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 แต่เติบโตขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์โจมตีตึกเวิล์ดเทรดเมื่อ 11 กันยา 2011 จากนั้นได้ลุกลามไปยังผู้คนในหลายพื้นที่จากหลายเหตุการณ์ร้ายที่ถูกระบุว่าก่อเหตุโดยชาวมุสลิม

 

10- สูญเสีย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุคลากรสำคัญของสังคมมุสลิม

          นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของสังคมมุสลิมและประเทศไทย กับการจากไปของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุคลากรมุสลิมคุณภาพ ที่ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันเมื่อวัน 30 พฤศจิกายน 2560

ดร.สุรินทร์ เป็นมุสลิมที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศรวมถึงในระดับนานาชาติ เป็นตัวอย่างของเยาวชนที่มีความมุ่งมั่นและมุมานะจนสำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ท่านเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะลงสู่สนามการเมืองและได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนท่านมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างชาติอาเซียน

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน