fbpx

Voices from Al-Amal hospital ความในใจของผู้คนในสงครามกลางเมืองซีเรีย

โรงพยาบาล Al-Amal ตั้งอยู่ในเขตชายแดนเมือง Reyhanli ประเทศตุรกี ที่ห่างออกไปจากชายแดนซีเรียเพียง 50 ฟุตโดยประมาณ  เป็นโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของสมาคมแพทย์ซีเรีย-อเมริกันซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนของซีเรีย และเป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลตุรกีให้สร้างขึ้นเพื่อเยียวยาเหยื่อภัยสงครามที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย

ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยและญาติเดินทางข้ามชายแดนเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ขาดสาย แพทย์และเจ้าหน้าที่ของที่นี่เป็นอาสาสมัครเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่บางคนก็เป็นเพียงผู้ลี้ภัยในตุรกีที่มีจิตอาสาต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ตั้งแต่ปีค.ศ.2011 จนถึงปัจจุบัน สงครามกลางเมืองในซีเรียได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 465,000 ราย อีกหลายล้านชีวิตได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่กว่า 12 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพหนีออกจากประเทศของตนเอง

 

รายงานขององค์กร PHR (Physicians for Human Rights) ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในซีเรียตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลและแหล่งบำบัดรักษาทางการแพทย์เคยตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มกองกำลังทหารรัฐบาลซีเรียมาแล้วถึง 492 ครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือทางการแพทย์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อเอาชีวิตรอด บ้างจึงมาเป็นอาสาสมัครตามศูนย์บริการทางการแพทย์ต่างๆ ดังเช่นที่โรงพยาบาล Al-Amal แห่งนี้ คอยให้การรักษาแก่ผู้ป่วยที่ไม่รู้จะพึ่งพาและเยียวยาจากแห่งใด

และนี่คือเรื่องราวของแพทย์, เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และผู้ป่วยในโรงพยาบาล Al-Amal ที่จะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตท่ามกลางสงครามและความรุนแรง กับภาพความเจ็บปวดของตนเองและผู้คนรายล้อมที่ต้องแขวนชีวิตไว้กับชะตากรรมอันโหดร้าย

Dr. Hisham Bismar

Dr. Hisham เป็นแพทย์ในทีมซีเรีย-อเมริกันประจำการอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเดินทางไปประเทศตุรกีในฐานะอาสาสมัครเพื่อเป็นแพทย์ศัลยกรรมให้กับโรงพยาบาล Al-Amal เขาได้เล่าว่า:

“มันเป็นเพราะภาพที่พ่อคนหนึ่ง ต้องอุ้มลูกชายที่บาดเจ็บในขณะที่ตนเองนั้นแขนพิการ มันเป็นจุดที่กระตุกหัวใจให้ผมรู้สึกอยากติดต่อกับทางสมาคมแพทย์ฯขึ้นมาทันที จากนั้นเขาก็ติดต่อกลับและให้ผมมาประจำการที่ศูนย์ในตุรกีแห่งนี้

เมื่อมาถึงครั้งแรกเขาให้ผมดูแลคลินิก แล้วผมก็เริ่มมีคนไข้เข้ามาเรื่อยๆเลย ตอนแรกผมมีความรู้สึกเอ่อล้นกับจำนวนคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา ที่มาพร้อมกับปัญหาหนักๆ มาพร้อมกับความทุกข์ในใจ คนไข้ส่วนใหญ่มักจะมีเบื้องหลังของความเจ็บปวด มันจึงยิ่งเพิ่มระดับความเครียดให้ผมเข้าไปอีก…แน่นอนว่าเราคงไม่อยากให้อารมณ์มาครอบงำการตัดสินใจรักษาของเรา…

 

สิ่งที่ทิ่มแทงหัวใจและทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุด คือการต้องทนเห็นชะตากรรมของเด็กน้อยไร้เดียงสา การที่มันเริ่มกระทบกับชีวิตเด็กทำให้ผมรู้สึกว่ามันชักจะมากไปแล้ว ในสงครามครั้งนี้คุณได้เห็นภาพของผู้คนทั้งยุคสมัยต้องมาทนกับแผลบอบช้ำทางใจอันแสนสาหัส ซึ่งมันจะกระทบกับวิถีการเติบโตของพวกเขา กระทบวิถีทางความคิดของพวกเขาต่อไปในอนาคตแน่นอน

ลูกๆ ของผมไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ ครั้งหนึ่งลูกๆ เคยถามผมว่า “ทำไมที่นั่นต้องมีสงครามด้วย?” ผมบอกลูกๆ ไปว่า ‘บางครั้งคนเราก็คิดแต่จะสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้อื่น พ่อจึงพยายามมองหาช่องทางที่พอจะช่วยทำให้มันดีขึ้นได้บ้าง’ ทุกครั้งที่ผมมองดูลูกๆ ของผม มันกลับทำให้ผมรู้สึกจำเป็นต้องกลับไปที่นั่นยิ่งขึ้นไปอีก…

…เราทำผิดกันแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งที่เซรเบรนิก้า, ที่รวันดา, ดาร์ฟูร์, และตอนนี้ที่ซีเรีย… มันคือปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และเราก็ไม่ได้ทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมเลยซักนิด…

ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรที่พิเศษและมากไปกว่าปกติ แต่ผมเชื่อเพียงว่า สิ่งเล็กๆ ทุกสิ่งสามารถช่วยอะไรบางอย่างได้ ผมรู้ดีว่า ถ้าสมมุติผมต้องตกอยู่ในสภาวการณ์แบบนั้น ผมคงอยากให้ใครสักคนยื่นมือมาช่วยเหลือ วันนี้ผมโชคดีแค่ไหนแล้วที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ แม้ว่ามันจะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยเพียงใดไม่สำคัญ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมคือตอนนี้ผมได้ทำอะไรบางอย่างไปแล้ว”

Mohammed (นามสมมุติ)

Mohammed เป็นนักรบกลุ่มปลดแอกซีเรีย เขาเข้ามารับการรักษาหลังจากได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่นิ้วมือ

“ตอนนั้นผมพยายามปกป้องเพื่อนของผมอีกคน แต่แล้วกระสุนปืนก็ตรงเข้ามาที่มือผมพอดี … ผมต้องใช้เวลาเดินทางมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นเวลา 4 วัน เพราะถ้าผมไปโรงพยาบาลในซีเรีย พวกนั้นต้องฆ่าผมตายแน่ถ้าจับผมได้ เพื่อนของผมเคยโดนมาหลายคนแล้ว”

หากทหารหรือพรรคพวกของอัซซาดรู้จักชื่อสกุลจริงของผม พวกเขาต้องไปเล่นงานและฆ่าพ่อแม่ผมทิ้งแน่ เพราะผมเป็นศัตรูที่พยายามต่อสู้กับพวกนั้น

ตอนช่วงแรกๆ ที่พวกเราเริ่มปฏิวัติกัน เราไม่มีปืนไม่มีอาวุธใดๆ เลยนะ พวกเราแค่เขียนข้อความบนกระดาษลัง เดินประท้วงโบกธงชาติและตะโกนพลางว่า “อัซซาดออกไปๆ” – แค่นั้นเอง แล้วพอไม่นานก็มีจรวด, ระเบิด, รถถัง, ห่ากระสุนมาเล่นงานเราจากทั่วสารทิศเลย

ลูกระเบิดถูกปล่อยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์กลางอากาศ ทหารของอัซซาดถล่มระเบิดลงมากลางตลาดในชุมชนอย่างไม่ปราณี ทั้งๆ ที่ประชาชนแค่ออกไปจับจ่ายซื้ออาหารแล้วกลับบ้านเท่านั้นเอง

ผมเห็นชิ้นส่วนมนุษย์กระจายเต็มถนนมากับตา เห็นขนมปังเปื้อนเลือด เห็นผักผลไม้เปื้อนเลือด แต่ละศพเละกระจุยกระจายเป็นชิ้นส่วนทั่วถนนเลย แล้วพอรถพยาบาลเข้ามารับผู้บาดเจ็บ พวกนั้นก็ยิงจรวดปรมาณู MiG (ระเบิดจรวดที่ผลิตโดยรัสเซีย) ซ้ำลงมาอีก ทีมผู้ช่วยในรถพยาบาลตายกันหมด …

พวกเราไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าชีวิตนี้จะต้องกลายเป็นนักรบ พวกเราเป็นแค่พลเมืองธรรมดา พวกเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าจะยังไงเราก็ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ทุกคนควรต้องเข้าใจว่าพวกเราแค่อยากปกป้องตนเอง แค่นั้นเองจริงๆ…”

Promise

Promise เริ่มเข้ามาทำงานอยู่ฝ่ายบริหารจัดการที่โรงพยาบาล Al-Amal ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 หลังจากที่เดินทางมาถึงตุรกีในฐานะผู้ลี้ภัยภายในปีเดียวกัน และทุกวันนี้เธอยังคงมีหวังอยู่เสมอว่าเธอคงจะได้กลับบ้านเกิดสักวัน

“ตอนนั้นปี 2011 เป็นช่วงที่ฉันกำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบระดับปริญญาตรี การประท้วงเริ่มขึ้น แล้วเราก็เข้าร่วมประท้วงด้วย พวกเราติดต่อสื่อสารกันทางระบบเครือข่าย และฉันก็ทำหน้าที่ช่วยกระจายข่าวผ่านเครือข่ายออกไป

เพื่อนๆ บอกว่ามีชื่อของฉันที่จุดตรวจรักษาความปลอดภัยด้วย สิ่งที่ฉันกังวลและกลัวมากที่สุดคือตอนที่พวกนั้นจับเด็กผู้หญิงที่ด่านตรวจบนถนน แล้วพยายามทำร้ายร่างกายและจับตัวไปคุมขัง ฉันยอมตายด้วยลูกกระสุนดีกว่าต้องมาถูกจับกุมโดยกลุ่มทหารชั่วเหล่านั้น  …

ฉันใส่กำไลที่ข้อมือเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติ มันช่วยย้ำเตือนว่าเราจะยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันคืออิสรภาพ…”

‘Z’ (นามสมมุติ)

Z เป็นแพทย์ศัลยกรรมอาสาที่โรงพยาบาล Al-Amal ตลอดช่วงเวลาการทำงานเขาเคยรักษาเด็กน้อยที่ได้รับผลกระทบมานับครั้งไม่ถ้วน

“ภาพที่เราเห็นจากเด็กๆ ที่มา ทุกคนมีสีหน้าที่บ่งบอกถึงความเจ็บปวดและความบอบช้ำทางใจกันทั้งนั้น พวกเด็กๆ มีสภาพอิดโรยขาดสารอาหารอย่างเห็นได้ชัด รอยยิ้มสดใสหายไปหมด มันยากที่จะทำให้พวกเด็กๆ เหล่านี้โต้ตอบกับคุณ และผมพูดได้เลยว่า การจะทำให้พวกเขาเชื่อใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย …

มีเด็กชายตัวน้อยคนหนึ่งถูกกระสุนจากปืนดักยิงเจาะลึกเข้าไปในกระดูกสันหลัง จนไม่มีโอกาสรักษาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีกต่อไป ทำให้เด็กน้อยคนนี้ต้องใช้ชีวิตบนเก้าอี้รถเข็นไปตลอดกาล …

สิ่งที่ติดใจผมมากที่สุดคือไอ้ผู้ชายคนนั้นที่ยิงเด็กน้อยคนนี้ด้วยปืนซุมยิง มันบ่งบอกถึงความเลือดเย็น คนๆ หนึ่งสามารถใช้สายตาตัวเองจ้องไปที่เด็กน้อยผ่านกล้องส่องทางไกล ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าเขากำลังยิงเด็กน้อยที่อายุเพียง12 ขวบ มันช่างเลือดเย็นสิ้นดี…

มีบางครั้งที่พวกนั้นตั้งใจเล็งเป้าเพื่อสังหารสตรีมีครรภ์ ตั้งใจเล็งสังหารชีวิตเด็กทารก เด็กทารกในท้องมันเกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งทางการเมือง? เด็กน้อยไร้เดียงสาพวกนี้เคยไปขู่เข็ญทำร้ายชีวิตใครมาหรือ?” …

A Y

A Y เป็นนักธุรกิจชาวตุรกีที่อาสาคอยขับรถข้ามเขตแดนวันละไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เพื่อไปรับผู้บาดเจ็บเข้ามารักษาในตุรกี

“พอผมอายุ 20 ผมเริ่มตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายของการมีชีวิต ผมจึงบอกกับตัวเองว่า ‘ผมอยากช่วยคนที่เดือดร้อน’

ผมตื่น 6 โมงเช้า ขับรถตรงไปที่ชายแดน Atma (ด่านพรมแดนซีเรีย-ตุรกีใกล้เมือง Afrin) ผมขนผู้ป่วย 7 คน และญาติผู้ป่วยอีก 7 คน ผมเป็นเหมือนสะพานที่ข้ามจากซีเรียไปตุรกี เป็นสะพานที่มีรถพยาบาล

ผมไม่เคยต้องจ่ายส่วยหรือยัดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนของตุรกีเลยนะ ผมมักจะพูดประมาณว่า ‘คุณเป็นคนดี..ปล่อยพวกเขาไปเถอะนะ ดูผู้ป่วยพวกนี้สิ คุณไม่สงสารพวกเขาบ้างหรือ? ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ให้เขาได้เข้าไปเถอะนะ’

‘หากคุณเชื่อในพระเจ้า ผู้ป่วยคนนี้คือพี่น้องมุสลิมร่วมสายเชือกของคุณ ให้เขาได้เข้าไปเถอะ… แต่หากคุณเป็นคนคริสต์ ก็ถือซะว่าทำดีเพื่อพระเยซู หรือถ้าหากคุณเป็นคนยิว ก็ถือซะว่าทำดีเพื่อโมเสส…ปล่อยเขาไปเถอะ…ให้เขาได้เข้าไปรักษาเถอะนะ’ อะไรประมาณนี้

การได้ทำหน้าที่ตรงนี้มันทำให้ผมสุขใจ ผมไม่เคยเจออะไรที่ทำให้ผมสุขใจเท่านี้มาก่อน” ….

แม่ของ ด.ช.อัลดุลลอฮ

แม่ของ ด.ช.อัลดุลลอฮพาลูกชายวัยห้าขวบมาที่โรงพยาบาล Al-Amal หลังจากได้รับบาดเจ็บด้วยกระสุนดาวกระจาย ครอบครัวของอัลดุลลอฮตั้งใจจะกลับซีเรียหลังจากเขาเข้ารับการผ่าตัดแล้ว

“วันนั้นเป็นวันศุกร์ ฉันกำลังสาละวนอยู่กับลูกๆ ในบ้าน  อัลดุลลอฮได้ยินเสียงเด็กๆ กำลังเล่นกันที่ถนน เขาจึงออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ด้วย

ฉันไม่แน่ใจว่าลูกชายโดนระเบิดชนิดไหน แต่ตอนนั้นมีระเบิดถล่มลงมาและเสียงดังมาก แขนซ้ายของ Abdullah ใช้งานไม่ได้แล้ว บริเวณขาซ้ายและลำตัวของเขาเต็มไปด้วยสะเก็ดระเบิดดาวกระจาย ฉันคุมความรู้สึกของตัวเองไม่ได้เลย…

ฉันหวังว่าพระเจ้าจะช่วยเยียวยาอัลดุลลอฮและเด็กๆ ทุกคน และช่วยเยียวยาให้ซีเรียปลอดภัยจากสถานการณ์เหล่านี้…”

….

‘A S D

A S D เป็นอาสาสมัครที่เพิ่งเข้ามาทำงานในโรงพยาบาล Al-Amal โดยก่อนจะมาลี้ภัยที่ตุรกีเขาเคยเป็นแพทย์ศัลยกรรมที่ซีเรียและต้องเจอเหตุโจมตีอยู่บ่อยครั้ง

“ครั้งหนึ่งพวกนั้นเคยมาจอดรถระเบิดไว้ใกล้โรงพยาบาล แล้วถล่มระเบิดจนโรงพยาบาลพังยับเยิน พวกนั้นบอกว่า ‘เราจะถล่มระเบิดใส่โรงพยาบาลของคุณ ถ้าคุณยังรักษาพวกกบฏทรราชอีก’

ถ้าพวกนั้นระเบิดโรงพยาบาลได้ นั่นแสดงว่าไม่มีการขีดเส้นจำกัดใดๆ อีกต่อไปแล้ว พวกนั้นฆ่าได้ทุกคน”

เมื่อผมเริ่มรู้สึกว่าเราไม่สามารถปกป้องตัวเองในฐานะแพทย์ผู้ให้การช่วยเหลือได้อีกต่อไป ผมจึงไม่สามารถอยู่ในซีเรียได้อีกแล้ว

ครั้งหนึ่งเคยมีการทิ้งระเบิดลงมาบนถนน แล้วมีผู้ชายคนหนึ่งถูกหามส่งโรงพยาบาลมาสภาพม้ามทะลักออกมาข้างนอก ผมทำการผ่าตัดม้ามในขณะที่ผู้ป่วยคนนั้นต้องนอนบนเตียงในสภาพที่ไม่มียาสลบใดๆ ช่วยเลย ไม่มียาชาหรือยาสลบ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ผมพยายามผูกหลอดเลือดแดงที่ติดกับม้ามแล้วตัดม้ามออก แม้ว่าตอนที่ทำผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวดีก็ตาม ผมต้องทำเช่นนั้น เพราะผมต้องช่วยชีวิตเขาไว้ …

เราเห็นผู้ป่วยถูกส่งมาในสภาพขาขาด แขนขาด แผลเหวอะหวะที่ช่องท้อง ที่หน้าอก แม้กระทั่งสภาพหน้าอกเปิดออกเห็นทะลุเข้าไปข้างในก็เคย คุณจะไม่มีวันลบภาพเหล่านี้ออกไปจากความทรงจำได้เลย”

ติดตามสารคดีฉบับเต็มที่สะกิดหัวใจให้ลุกตื่นได้ที่นี่  : 

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา : Syria’s civil war: Voices from Al-Amal hospital

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร