fbpx

การต่อสู้เพื่อหาจุดกึ่งกลาง ความในใจของชายมุสลิมที่ถูกสังคมเรียกว่า “เกย์”

ช่วงปลายปี 90 ขณะที่ผู้นำมุสลิมแถบอเมริกาเหนือชื่อดังท่านหนึ่งกำลังบรรยายต่อหน้าฝูงชนในห้องประชุมใหญ่ นักบรรยายท่านนั้นได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์และความรู้สึกขยะแขยงที่ต้องนั่งข้างผู้ชายเกย์คนหนึ่งบนเครื่องบิน

ในห้องประชุมวันนั้น เด็กหนุ่มมุสลิมวัย 18 ปีคนหนึ่งที่มีสภาวะชอบเพศเดียวกัน (same sex attraction) ร่วมฟังบรรยายอยู่ด้วย และไม่มีใครรู้เลยว่า คำพูดของนักบรรยายท่านนั้นสร้างบาดแผลในหัวใจให้กับเด็กหนุ่มคนนี้ เป็นเหมือนดั่งห่ากระสุนที่ทิ่มแทงอย่างถาโถม และฝังลึกอยู่ในห้วงความคิดของเขาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ …

เด็กหนุ่มนั้นชื่อ ยูซุฟ และนี่คือความในใจของเขา

ผมชื่อยูซุฟครับ วันนี้ผมมีเรื่องจะมาเล่าให้คุณฟังในฐานะมุสลิมคนหนึ่งที่ต้องเจอสภาวะรักเพศเดียวกันมานานตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม แต่ปัจจุบันผมแต่งงานมีลูกมีครอบครัวแล้วครับ อัลฮัมดุลิลลาฮ์ (ขอบคุณอัลลอฮ์) ความสนใจต่อเพศเดียวกันในตัวผมที่แม้ตอนนี้มันยังมีอยู่บ้าง แต่มันก็ลดลงจากเดิมไปมากจนแทบไม่น่าเชื่อ ผมรู้สึกโชคดีที่ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภรรยาที่ผมรักมาก (อนึ่งขอกล่าวนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่งครับว่า แม้การแต่งงานจะเป็นตัวเลือกที่ใช่ที่สุดสำหรับผม แต่มันอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับชายรักเพศเดียวกันท่านอื่นครับ อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณ ไม่มีกฎตายตัวสำหรับเรื่องนี้ในแต่ละคนครับ) นอกจากนี้ผมยังเป็นผู้ดำเนินรายการให้กับกลุ่มสร้างกำลังใจสำหรับมุสลิมที่มีสภาวะรักเพศเดียวกันในรายการออนไลน์หนึ่งที่ชื่อว่า Straight Struggleมาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมได้เปลี่ยนแปลง เติบโต และพัฒนาความคิดเรื่อยมา โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักเพศเดียวกันในอิสลาม อัลฮัมดุลิลลาฮ์ …

ประเด็นสำคัญที่ควรรู้ 

ก่อนอื่นเลย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องบอกและเน้นย้ำกันตรงนี้คือ ผมไม่เชื่อว่าอาการรักเพศเดียวกันในตัวผมคือตัวตนของผมครับ ผมเชื่อว่าอารมณ์ชอบเพศเดียวกันคือความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ผมและใครอีกหลายคนอาจมีลึกๆ ซึ่งผมเองก็ต้องต่อสู้กับมันในแต่ละวันตลอดเส้นทางที่ผมเดินเข้าหาอัลลอฮ มันไม่ได้ทำให้ผมแตกต่างจากมุสลิมคนอื่นเลย ด้วยเหตุนี้ผมจึงคัดค้านความคิดที่ว่า มุสลิมรักเพศเดียวกันควรได้รับการขนานนามหรือควรเรียกตัวเราเองว่า “LGBT” หรือ “เกย์” หรือเรียกตามอาการ “รักเพศเดียวกัน” หรือ “กะเทย” ผมเชื่อว่าวาทกรรมเหล่านี้มันสร้างความแปลกแยกให้คนรู้สึกเช่นนั้น และเท่าที่ผมสังเกตบางครั้งมันเหมือนกับจะบังคับให้พวกเขาต้องพยายามปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เป็นไปตามนั้น แม้ว่าลึกๆ แล้วบางคนไม่ได้อยากเป็นเช่นนั้นก็ตาม

และอีกอย่าง คำจำกัดความเหล่านี้มันมีผลต่อการกระตุ้นความต้องการทางเพศ (หรือที่เรียกว่า “ชะฮาวาต”) จนอาจหล่อหลอมตัวตนบางคนให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมสังคมที่ว่าด้วย “แก่นแท้ของความเป็นฉัน” จนพวกเขายอมรับว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นในที่สุด นี่เป็นสิ่งที่ดูไร้เหตุผลสำหรับผมมาก มันเป็นสิ่งยากที่จะหาเหตุผลมาทำให้ตัวเองเข้าใจในมุมของอิสลาม ทั้งในแง่ของความชอบธรรมทางหลักการและจิตวิญญาณ

พูดตรงไปตรงมานะครับ จริงๆ แล้วไม่มีคำว่าฮารอมหรือน่ารังเกียจสำหรับคนที่ “มีสภาวะ” ชอบเพศเดียวกัน (SSA: same-sex attractions) แต่สิ่งที่ต้องห้ามหรือฮารอมในอิสลามคือการ “ออกตัวหรือมีพฤติกรรม” ชอบเพศเดียวกัน (SSE: same-sex encounters and behaviors) เท่าที่ผมเจอคนที่มีสภาวะนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครที่เลือกหรืออยากจะเป็นคนชอบเพศเดียวกันเลยสักคน ขอพูดซ้ำอีกครั้งนะครับว่า “ไม่มีใครสักคน ในบรรดาคนเป็นร้อยเป็นพันที่ผมเคยได้พบปะพูดคุย ที่อยากเกิดเป็นคนชอบเพศเดียวกัน หรือเลือกที่จะเป็นคนชอบเพศเดียวกัน” นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจและใส่ใจเป็นอย่างมากเมื่อพูดถึงพี่น้องร่วมศรัทธาที่เจอประเด็นเหล่านี้ และต้องอยู่ในสภาวะต่อสู้กับเรื่องแบบนี้ 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ สังคมมุสลิมเราจะต้องทำความเข้าใจในประเด็นของความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่าง “สภาวะ”ชอบเพศเดียวกัน (SSA) กับ “การออกตัวตนหรือแสดงพฤติกรรม” ชอบเพศเดียวกัน (SSE) มันคือเรื่องระหว่างความสนใจกับการกระทำ ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วทุกสิ่งในหลักการศาสนาขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสองสิ่งนี้ ไม่เพียงแค่มิติประเด็นทางเพศเท่านั้น โดยหลักการแล้วผมจะไม่ถูกตัดสินจากความรู้สึกภายใน (ตราบใดที่มันอยู่เหนือการควบคุมของผม) แต่ผมจะถูกตัดสินในสิ่งที่ผมเลือกทำหรือไม่ทำกับความรู้สึกนั้นๆ มนุษย์คนหนึ่งจะไม่ใช่บุคคลถูกสาปแช่ง หรือน่ารังเกียจ หรือเป็นคนบาป เพียงเพราะเขามีสภาวะชอบเพศเดียวกันหรือ SSA

คำว่าฮารอมคือฮารอมที่ “การกระทำ” ไม่ใช่ “ตัวบุคคล” พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นเหมือนคนอื่นทั่วไปที่ต้องเผชิญกับปัญหาหรือเจอบททดสอบในชีวิตไม่ต่างกัน ต้องต่อสู้และพยายามพยุงชีวิตและความศรัทธาให้ดีที่สุดเหมือนคนอื่นไม่ต่างกัน พวกเขามีวันที่สำเร็จและล้มเหลวเหมือนคนทั่วไป ซึ่งหากเราใส่ความต่างระหว่าง “ความรู้สึก” กับ “การกระทำ” ให้กับชีวิตแล้ว คงต้องยอมรับว่าคนที่มีสภาวะ SSA หรือชอบเพศเดียวกันอย่างเราๆ บางครั้งความรู้สึกเหล่านั้นมันก็หนักเกินต้านจริงๆ แต่มันก็เหมือนความรู้สึกทางเพศทั่วไปที่เราไม่สามารถจะเอามันมาเป็นข้ออ้างหรือหาความชอบธรรม ในการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างที่คัดค้านกับหลักการและคำสั่งของอัลลอฮ์ได้อยู่แล้ว

พี่น้องของเราที่ต้องต่อสู้กับสภาวะชอบเพศเดียวกันหรือ SSA คือใครบ้าง ? 

ผมคิดหนักและคิดมานานมากครับว่าจะเขียนประเด็นนี้อย่างไรดี มันเป็นสิ่งที่ผมเก็บสะสมมานานนับปีก่อนจะมาเขียนเรื่องราวทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าผมควรเล่าให้ฟังถึงเคสตัวอย่างของพี่น้องเราทั้งชายและหญิงที่ผมเจอตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทำงาน ณ จุดนี้ ผมอยากเล่าให้คุณฟังถึงผู้ชายคนหนึ่งที่ตั้งแต่เป็นหนุ่มน้อยจนกระทั่งหนุ่มใหญ่ เขาถูกกระทำชำเราทางเพศโดยเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ผมอยากเล่าให้คุณฟังว่า เด็กผู้ชายคนนั้นต้องแบกรับความรู้สึกผิดเรื่อยมาเมื่อเขาเริ่ม “รู้สึกดี” จากการถูกกระทำดังกล่าว จนทำให้เขารู้สึกอยากได้เรื่อยมา ผมอยากเล่าให้คุณฟังถึงเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่พยายามฆ่าตัวตายถึงสองครั้ง ตั้งแต่ครอบครัวของเขาเริ่มรู้ความจริงว่าเขามีสภาวะชอบเพศเดียวกัน หรือเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องตกงานเพียงเพราะข่าวลือที่ว่าเธอมีสภาวะชอบเพศเดียวกัน หรือเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ติดเชื้อเอดส์เพราะพฤติกรรมชอบเพศเดียวกัน  

และผมก็อยากพาคุณท่องไปในอีกโลกอีกใบ ให้ได้รู้จักเรื่องราวของอีหม่ามหรือผู้นำศาสนาท่านหนึ่ง ที่ยอมเลือกความศรัทธามากกว่าความปรารถนาของตัวเอง เขาต้องต่อสู้พยายามพยุงตัวเองให้อยู่ในหนทางของอัลลอฮ์ คอยสอน ปฏิบัติ และใช้ชีวิตตามหลักการในฐานะมุสลิมที่ดี แม้ว่าจะต้องคอยข่มความปรารถนาของตัวเองให้อยู่ในการควบคุมอย่างยากลำบากแค่ไหนก็ตาม หรือพาไปรู้จักชีวิตของผู้นำสังคมท่านหนึ่งที่ยอมครองชีวิตโสดไปพร้อมๆ กับเรียนรู้และสอนศาสนาให้กับคนอื่นในสังคม หรือพาไปรู้จักชีวิตผู้ชายคนหนึ่งที่เคยเลือกใช้ไลฟ์สไตล์รักเพศเดียวกันกับคู่ครองของเขา แต่สุดท้ายยอมที่จะทิ้งทั้งหมดนั้นเพื่ออัลลอฮ์ และเข้ารับอิสลามอย่างยอมจำนน หรือเล่าถึงชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัย ชีวิตของหมอคนหนึ่ง หรือชีวิตจากอีกหลายวิชาชีพที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง เลือกอัลลอฮ์เหนือสิ่งอื่นใดและหวังรางวัลอันยิ่งใหญ่ของชีวิตจากพระองค์ พี่น้องเหล่านี้ทั้งชายและหญิงรวมถึงตัวผมเอง เราล้วนยืนหยัดที่จะคัดค้านความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่คอยพยายามปรับคำสอนศาสนาให้สอดคล้องกับความต้องการและปรารถนาของตนเอง แทนที่จะเลือกต่อสู้กับตัวเองเพื่อเดินตามหลักการและคำสอน และใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความศรัทธาที่ตนปฏิญาณ 

อะไรคือสาเหตุของความชอบเพศเดียวกัน และมันเปลี่ยนกันได้หรือไม่ ?

หากถามว่าอะไรคือสาเหตุที่คนหนึ่งมีสภาวะ SSA หรือชอบเพศเดียวกัน? มีการถกประเด็นดังกล่าวและงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมากมาย แต่เอาเข้าจริงไม่มีใครรู้แท้แน่นอนครับ ซึ่งความจริงน่าจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ที่ล้วนแตกต่างไปในแต่ละคน รวมไปถึงธรรมชาติและความเข้มข้นของสภาวะรักเพศเดียวกันในแต่ละคนก็หลากหลายแตกต่างกันไป สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันยาวนานคือ ไม่มีใครเหมือนกันเป๊ะๆ ครับ บางคนมีสภาวะ SSA สนใจต่อเพศเดียวกันเป็นหลัก แต่ไม่ได้รู้สึกรังเกียจเพศตรงข้าม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสมีคู่ชีวิตเป็นเพศตรงข้ามได้ในอนาคต หากพวกเขาเจอกับคนที่ใช่และมีเงื่อนไขที่ยอมรับกันได้ บวกกับมีความสามารถในจัดการสภาวะ SSA ของตนเอง ให้อยู่ภายใต้การควบคุมและมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ถลำสู่การกระทำหรือพฤติกรรมอันเกิดจากรักชอบเพศเดียวกัน (หรือ SSE ) ภายหลังจากแต่งงานแล้ว ซึ่งจริงๆ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ตรงของผมเองและอีกหลายคนที่ผมเคยรู้จักครับ ส่วนกลุ่มที่สองคือคนที่ไม่มีความรู้สึกสนใจต่อเพศตรงข้ามเลย แถมยิ่งรู้สึกหงอและห่อเหี่ยวทุกครั้งเมื่อนึกถึงภาพตัวเองมีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับเพศตรงข้าม ยิ่งการแต่งงานตามธรรมเนียมปฏิบัติยิ่งไม่ต้องพูดถึงสำหรับคนกลุ่มนี้ เราจึงไม่แนะนำให้การแต่งงานเป็นทางเลือกสำหรับคนกลุ่มนี้ หรืออย่างน้อยก็ควรจะรอจนกว่าสภาวะของพวกเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

บางคนอาจรู้สึกจำเป็นต้องหาสาเหตุเจาะลึกไปถึงก้นบึ้งของการมีสภาวะชอบเพศเดียวกัน ด้วยการพยายามทำความเข้าใจและค้นหาให้ได้ว่ามันคืออะไร? มาจากไหน? ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น? และมันแปลว่าอะไร? ในขณะที่บางคนก็ไม่ได้สนใจว่ามันไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร หรือทำไมเป็นแบบนั้น แต่พวกเขาเลือกที่จะโฟกัสกับวิธีการจัดการอย่างไรให้ได้ผลและสามารถใช้ชีวิตอย่างไรให้ปกติสุขได้มากกว่า ซึ่งโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าตัวเองค่อนไปทางกลุ่มที่สองครับ ตอนสมัยหนุ่มๆ ผมเองก็เคยหมดเวลาไปกับการพยายามหาคำตอบว่าทำไมผมเป็นแบบนี้หรือมีอะไรที่ “ผิดปกติ” ในตัวผม แต่ในที่สุดผมก็หยุดไล่ล่าคำตอบ เพราะผมเริ่มเข้าใจตัวเองว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า “ทำไม” แต่เราควรจะหันมาใส่ใจกับการรับมือ “อย่างไร” มากกว่า หรือแม้แต่คำตอบของคำว่ารับมือ “อย่างไร” เองผมก็ไม่สามารถอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจได้เสียทีเดียว ผมรู้เพียงแต่มันเป็นวิธีที่ใช้ได้ดีมานานนับปีสำหรับผม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการผ่านหลักปฏิบัติทางซุนนะห์ของท่านนบี ผ่านการเรียนรู้วิธีเอาชนะอารมณ์ตัวเอง ผ่านการตัซกียะฮฺหรือขัดเกลาจิตใจ และผ่านการลองผิดลองถูกรูปแบบเดิมๆ ที่บอกต่อกันมาว่าดี ทั้งหมดนี้พาเราไปสู่อีกคำถามที่พบบ่อยทั่วไปก็คือ “สภาวะชอบเพศเดียวกัน” รักษาหายได้หรือไม่? 

หากคำว่า “รักษาหาย” ของคุณแปลว่าหายเกลี้ยงและกลายเป็นคนปกติที่ชอบเพศตรงข้าม 100% อันนี้ก็ไม่น่าจะใช่ ซึ่งโดยทางสถิติแล้วเป็นไปได้ยากที่คนหนึ่งมีสภาวะหรือค่อนไปทางชอบเพศเดียวกัน แต่เมื่อผ่านพ้นวัยรุ่นและช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตแล้วเขาจะมีสภาวะไวต่อความชอบเพศเดียวกันเป็น 0 หรือกลายเป็นคนปกติที่ชอบเพศตรงข้ามไปเลยโดยสิ้นเชิง แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปถึงเป้าหมายไม่ได้ (สำหรับคนส่วนใหญ่) และผมก็เชื่อว่าประเด็นนั้นไม่จำเป็นเสมอไป หนำซ้ำเท่าที่ผมรู้ไม่มีหลักการใดในอิสลามที่บอกว่าผมต้อง “ชอบต่างเพศ” หรือ “heterosexual” (ความจริงไม่มีคำนี้ในศาสนาเราด้วยซ้ำ) เพียงแต่ผมต้องรู้จักยับยั้งตนเองไม่ให้ถลำเข้าสู่การกระทำทางเพศที่ต้องห้าม (ซึ่งอันนี้ศาสนามีระบุเฉพาะชัดเจน) ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่นักวิชาการในอดีตมีทัศนะที่แตกต่างกันต่อประเด็น  “ชายที่บรรลุนิติภาวะแล้วรู้สึกหลงใหลในความหล่อเหลาของเด็กหนุ่ม (โดยเฉพาะเด็กหนุ่มไร้เคราหรือที่เรียกว่า ”อัมรัด”)“ ว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในศาสนาหรือไม่ บางทัศนะก็มองว่าความหวั่นไหวทางจิตใจต่อกรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ในขณะที่ทัศนะส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นไร ตราบใดที่คนนั้นไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ฮารอมหรือต้องห้ามออกมา 

ประเด็นที่กล่าวถึงการหลีกเลี่ยงการกระทำต้องห้ามนี่แหละ ที่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่นักวิชาการศาสนาส่วนใหญ่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ยืนยันได้ว่าทำไมเราจึงต้องตระหนักเรื่องการแยกแยะให้ออกระหว่าง “ความรู้สึก” กับ “การกระทำ” ในฐานะมุสลิมเรารู้ดีว่าอัลลอฮ์จะสอบสวนในเรื่องที่พระองค์บรรจุให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ซึ่งแน่นอนว่านั่นครอบคลุมถึงการกระทำต่างๆของเรา รวมไปถึงความคิดหรือจินตนาการต่างๆ ที่เราสามารถควบคุมไม่ให้มันโลดแล่นได้  การ “ตักลีฟ” (รับผิดชอบต่อบาปบุญ) จะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าหากอัลลอฮ์ไม่ได้ให้ขอบเขตอำนาจในการควบคุมการกระทำหรือปล่อยให้เรารับผิดชอบมันด้วยตัวเอง

แน่นอนว่าต้องมีวันที่เราทำผิดและพลาดบ้างตลอดเส้นทางที่พยายามใช้ชีวิตให้อยู่ในหลักการ แม้เราจะเป็นคนที่เจอบททดสอบเรื่องรักเพศเดียวกันหรือเป็นคนธรรมดาทั่วไปก็ตาม และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอัลลอฮ์ถึงสร้างประตูเตาบะห์ (โอกาสในการกลับเนื้อกลับตัว) หรือกำหนดให้มีการกลับตัวกลับใจเมื่อสำนึกผิด เพราะอะไรอัลลอฮ์จึงเรียกพระองค์เองว่า “พระเจ้าผู้ทรงให้อภัยและเมตตา” มากถึง 8 ครั้งในอัลกุรอาน และยังทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็นผู้ทรงเมตตาที่รอการกลับมาของบ่าวที่สำนึก ไม่น้อยกว่า 72 ครั้งในอัลกุรอาน ซุบฮานัลลอฮ์ !

ดังนั้น จึงไม่มีบาปใดที่เกินปริมาณต่อการให้อภัยของอัลลอฮ์ หรือเป็นเหตุให้ใครคนหนึ่งต้องรู้สึกสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ ขณะเดียวกันโอกาสที่เราจะได้รับความช่วยเหลือและได้รับความพอใจอันสูงสุดจากพระองค์ก็ย่อมมีมากกว่า หากเราพยายามประคับประคองให้บาปของเราน้อยลงเท่าที่เราสามารถจะทำได้ 

หากย้อนกลับไปที่คำถามเดิมว่าเปลี่ยนได้ไหม? ความจริงที่เจอคือ คนที่มีสภาวะชอบเพศเดียวกันจำนวนไม่น้อยสามารถก้าวข้ามผ่านและค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความหมายต่อชีวิตพวกเขาได้ครับ ทั้งหมดล้วนผ่านกาลเวลาและการต่อสู้กับความเข้มข้นของแรงปรารถนาและการฉุดรั้งจากสภาวะชอบเพศเดียวกันที่มีอยู่ในตัวพวกเขาเอง คลุกเคล้าไปกับอารมณ์ความรู้สึกและแรงดึงดูดทางเพศที่เล่นเกมส์กับชีวิตและตัวตนของพวกเขา ทั้งหมดนี้เป็นไปของมันเอง แต่บางครั้งมันก็มาจากผลของการฝึกวินัยทางจิตวิญญาณและการข่มจิตใจที่หมั่นทำอย่างต่อเนื่อง และบางครั้งมันก็มีผลจากการย้อนกลับไปตอบชุดคำถามที่ว่า คุณให้นิยามตัวเองและมีมุมมองต่อความรู้สึกของคุณและคนอื่นอย่างไร ? โดยเฉพาะกับเพื่อนเพศเดียวกัน และบ่อยครั้งที่พัฒนาการของคนหนึ่งต่อการรับมือกับสภาวะชอบเพศเดียวกันเป็นผลจากการนำเทคนิคและรูปแบบที่ผสมผสานกันมาปฏิบัติ บ้างก็ได้ประโยชน์จากการปรึกษานักบำบัดวิชาชีพที่เป็นมิตรต่อหลักศรัทธา ในการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและเข้าถึงความต้องการทางเพศต่อเพื่อนเพศเดียวกัน ตลอดจนประเด็นทางอารมณ์และสุขภาพจิตใจที่ชาวรักเพศเดียวกันส่วนใหญ่ต้องเผชิญและต่อสู้กับมัน บ้างก็ค้นพบว่าตนเองได้ประโยชน์จากการศึกษาอ่านตำรา จากการเข้าร่วมอบรมและจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่จัดขึ้นสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่อสอนการรับมือ ทำความเข้าใจ บริหารจัดการ หรือการลดความรุนแรงของสภาวะชอบเพศเดียวกันของตนเอง เป็นต้น 

(อนึ่ง ค้นพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่สามารถใช้งานจริง ถูกต้องตามหลักการ และกระตุกความคิดมักมาจากฐานความเชื่อของศาสนาคริสต์ แต่ในส่วนที่ตรงตามหลักการทั่วไปของศาสนาอิสลามที่มุสลิมสามารถได้ประโยชน์ก็มีปรากฎเช่นกัน เช่นตามเว็บไซต์ของ www.samesexattraction.org หรือ www.peoplecanchange.com

แต่ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า โดยส่วนตัวสำหรับผมแล้วเป้าหมายที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนความรู้สึกจาก “รักเพศเดียวกัน” เป็น “รักต่างเพศ” แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันคือการพยายามเข้าถึงความรู้สึกของคำว่าพอใจ การถูกเติมเต็ม และความรู้สึกสงบใจที่เราพึงมีต่ออัลลอฮ์ ต่อตนเอง และคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้มากกว่าที่ควรเป็นเป้าหมายที่เราต้องไปถึงให้ได้ 

อิสลามคือทางสายกลาง: พึงหลีกเลี่ยงวาทกรรมสุดโต่ง

ระหว่าง “ฉันมันอสูรกายเดินดิน และอัลลอฮ์ก็เกลียดการมีชีวิตอยู่ของฉัน!” กับ “มั่นหน้าต่อไปอย่างภูมิใจเถอะ  เป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องน่าเสียหายอะไร!” 

ผมเชื่ออย่างหนึ่งครับว่า ก้าวสำคัญในการเข้าถึงความสมดุลในการรู้จักรับมือกับสภาวะชอบเพศเดียวกัน คือการเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงความสุดโต่งของสองขั้วนี้ : หนึ่งคือความสุดโต่งที่สอนให้ดูหมิ่นตัวเองหรือมองข้ามว่ามันเป็นแค่ความปรารถนาและแรงดึงดูดที่เราเองไม่ได้เรียกร้อง กับอีกหนึ่งขั้วคือการยอมรับ “อัตลักษณ์” ของตัวเองจากความปรารถนาเหล่านี้ว่ามันคือนิยามของความเป็นตัวเราในฐานะมนุษย์และมุสลิมคนหนึ่ง 

อย่าลืมว่าอิสลามคือทางสายกลางเสมอครับ และเราจะรู้สึกถึงอิสรภาพมากขึ้นหากเราเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านค่านิยมจอมปลอมที่วัฒนธรรมร่วมสมัยได้พยายามป้อนให้เรายอมรับ พึงตระหนักเสมอครับว่า ความจริงการต่อสู้ทางศีลธรรมที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้มีแก่นสารที่ไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้ทางศีลธรรมที่มุสลิมทั่วไปต้องเผชิญเช่นกัน หากคิดเช่นนี้ได้ เราก็จะเริ่มเห็นว่าตัวเราเองไม่ได้แย่หรือดีไปกว่าใครเลย เราไม่ได้มีฐานทางเดินชีวิตที่แตกต่างจากบ่าวคนอื่นๆของพระองค์บนหน้าแผ่นดินนี้ ทุกคนล้วนต้องต่อสู้กับชีวิตอย่างสุดหัวใจด้วยกันทั้งนั้น 

พูดถึงประเด็นสุดโต่งที่ไม่มีความเป็นอิสลามนี้ทำให้ผมต้องหยิบยกอีกประเด็นขึ้นมาบอกกล่าวเช่นกันคือ ปัจจุบันมุสลิมที่ต้องรับมือกับสภาวะชอบเพศเดียวกันจำนวนไม่น้อยต้องรู้สึกติดกับระหว่างแรงต่างสองขั้ว นั่นก็คือ ขั้วฝั่งซ้ายที่เป็นประเด็นพิพาทมานาน แต่ดีที่ปัจจุบันถูกปฏิเสธอย่างชัดเจนในวงการสอนศาสนาว่าไม่ถูกต้อง คือกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “มุสลิมก้าวหน้า” ที่ตั้งตัวอธิบายความหมายอัลกุรอานอย่างบิดเบือน กลุ่มนี้ปฏิเสธการใช้หลักฐานจากวรรจนะของท่านศาสดาและจากของนักวิชาการส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อทำให้ประเด็นพฤติกรรมรักเพศเดียวกันไม่ว่าจะเรื่องของการกระทำ การแสดงตัวตนและความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันให้กลายเป็นที่อนุญาตในอิสลาม กลุ่มนี้มักเป็นที่ชื่นชอบของบรรดามุสลิมรักเพศเดียวกันที่ต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย” เนื่องจากมันเอื้อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยและแสดงตัวตนได้สะดวกขึ้น แน่นอนครับว่าผลลัพธ์ที่ตามมาที่น่ากลัวที่สุดคือไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ของมุสลิมกลุ่มนี้มักส่อไปทางพฤติกรรมผิดบาป

ซึ่งผมจำเป็นต้องพูดให้ชัดเจนตรงนี้อีกครั้งว่า : ผมและมุสลิมที่มีสภาวะชอบเพศเดียวกันอีกหลายคนที่ผมรู้จักตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นด้วยและขอคัดค้านต่อความพยายามที่จะดัดแปลงศาสนาเพื่อให้ “เอื้ออำนวย” ต่อความต้องการ “ทางเพศ” ของเราหรือคนกลุ่มใดก็ตามด้วยประการทั้งปวง เราขอคัดค้านใครก็ตามที่สร้างความกดดันหรือบูลลี่สังคมมุสลิม ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน มัสยิด โรงเรียน หรือองค์กรใด ด้วยการพยายามให้สังคมยอมรับในสิ่งที่พระเจ้าทรงประกาศห้ามชัดเจน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นไปในนามของความหวังดี ด้วยคำจำกัดความเช่น “เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย” “คือการประกาศยืนยันตน” “คือการยอมรับ” “คือการอยู่ร่วมกัน” “คือความแตกต่างที่หลากหลาย” หรือถ้อยคำสวยหรูอื่นใดก็ตามที่มักใช้เอ่ยอ้างเพื่อการนี้ เราขอคัดค้านสิ่งเหล่านี้ด้วยประการทั้งปวง 

ความหมายของคำว่าอิสลามคือการ “ยอมจำนน” ครับ ซึ่งการยอมจำนนของผมต่ออัลลอฮ์และต่อความศรัทธาย่อมต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด รวมถึงความชอบความปรารถนาของผมเองทั้งในเรื่องเพศหรือเรื่องอื่นใดก็เช่นกัน สิ่งที่เกิดมันคือบททดสอบที่อัลลอฮ์เลือกให้ผม และผมก็น้อมรับมันจากพระองค์ด้วยความหวังเปี่ยมล้นว่าจะได้รับความโปรดปรานและรางวัลอันยิ่งใหญ่จากพระองค์ อินชาอัลลอฮ์

อัลลอฮได้ระบุในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ 2:155-157 ว่า 

“และแน่นอน เราจะทดลองพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวและด้วยความสูญเสีย(อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด 

คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์ 

ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขาและชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง”

อ้างอิงจากตัฟซีรของอายะห์นี้ทำให้เราเข้าใจว่า บททดสอบจากอัลลอฮ์นั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมกำกับมันได้ อัลลอฮ์เท่านั้นที่สามารถเลือกจะให้บททดสอบเหล่านี้ออกมาเป็นรูปแบบใด สิ่งเดียวที่เราสามารถควบคุมได้คือวิธีการรับมือของเราต่อบททดสอบนั้น ว่าเราจะยอมจำนนต่อสิ่งยั่วยวนหรือไม่? เราจะยอมแพ้หรือเปล่า? หรือเราจะรับมือกับมันด้วยความอดทน และย้ำเตือนตัวเองถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ตลอดเส้นทางกลับไปหาอัลลอฮในครั้งนี้? หากเราทำได้เช่นนั้น อัลลอฮ์จะนับเราให้เป็นหนึ่งในบรรดา “มุฮตะดีน” หรือผู้ได้รับทางนำที่ควรคู่ต่อความจำเริญและความเมตตาจากพระองค์ 

ทีนี้เรารู้ได้อย่างไรล่ะว่าเราจะถูกทดสอบแม้ว่าเราศรัทธาแล้ว? ว่าแท้จริงบททดสอบในชีวิตนั้นมีไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราศรัทธาจริง? อัลกุรอานระบุไว้ในซูเราะห์ อัลอังกะบูต 29:2-7 ว่า

“มนุษย์คิดหรือว่า พวกเขาจะถูกทอดทิ้งเพียงแต่พวกเขากล่าวว่าเราศรัทธา และพวกเขาจะไม่ถูกทดสอบ กระนั้นหรือ

และโดยแน่นอน เราได้ทดสอบบรรดาก่อนหน้าพวกเขาแล้ว ดังนั้นอัลลอฮฺจะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้สัตย์จริง และจะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้กล่าวเท็จ

หรือบรรดาผู้กระทำความชั่วทั่งหลายคิดว่าพวกเขาจะรอดพ้นไปจากเรา ชั่วช้าแท้ ๆ สิ่งที่พวกเขาตัดสินกัน

ผู้ใดหวังที่จะพบอัลลอฮฺ ดังนั้นแท้จริงกำหนด ของอัลลอฮฺย่อมมาถึงแน่นอน และพระองค์เป็นทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้

และผู้ใดต่อสู้ดิ้นรน แท้จริงเขาย่อมต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตัวของเขาเอง แท้จริงอัลลอฮฺนั้น แน่นอน ทรงมั่งมีเหนือประชาชาติทั้งหลาย

และบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายนั้น แน่นอนเราจะลบล้างความชั่วทั้งหลายของพวกเขาไปจากพวกเขา และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาสิ่งที่ดียิ่ง ซึ่งพวกเขาได้กระทำไว้”

อายะฮ์เหล่านี้ชัดเจนในคำสอนว่า ความศรัทธานั้นมาพร้อมกับบททดสอบ การยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้คือบททดสอบแล้วพยายามต่อสู้กับมันเพื่ออัลลอฮ์ คือสิ่งสำคัญที่สุดต่อการตอกย้ำคำปฏิญาณตนและหลักศรัทธาที่เรามีต่อพระองค์ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การได้พบอัลลอฮ์คือสิ่งที่เราทุกคนล้วนต่างมองหาในวันปรโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ไหวหวั่นต่อความทุกข์ยากใดๆ ที่ต้องเจอในชีวิตระหว่างการเดินทางกลับไปหาพระองค์ 

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราเห็นด้านหนึ่งคือกลุ่มคนที่พยายามบิดเบือนศาสนาด้วยการดัดเปลี่ยนคำสอนที่ประจักษ์ชัดเจน และอีกด้านหนึ่งคือวัฒนธรรมเกลียดชังและการตีตราบาปในสังคมมุสลิมด้วยกันเองต่อคนที่มีสภาวะชอบเพศเดียวกัน ในความเป็นจริงประเด็นนี้ดูเหมือนไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกัน จนทำให้มุสลิมที่ต้องรับมือกับเรื่องนี้รู้สึกเหมือนตัวลำพัง เหมือนอยู่ในฟองสบู่กลางอากาศ และเด็กหนุ่มที่มีสภาวะนี้จำนวนไม่น้อยคิดว่าพวกเขาเป็นเพียงไม่กี่คนบนโลกที่ต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ 

หากจะบอกว่าประเด็นนี้มี “การถกและพูดถึง” กันอยู่แล้ว ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงการพูดถึงของบรรดาผู้นำศาสนาที่ออกมาอธิบายว่า “บทลงโทษของคนรักเพศเดียวกันคือตายสถานเดียว” หรือพูดถึงความชั่วช้าต่ำตมของบรรดาชนกลุ่มนบีลูฏ หรืออีกรูปแบบหนึ่งของการ “ถกกัน” คือเอามาคุยเป็นเรื่องตลกหรือดูหมิ่นกับความเป็น “เกย์” เสียมากกว่า (แม้ว่าหลายคนจะไม่แสดงอาการชอบเพศเดียวกันและคัดค้านการเรียกตัวเองว่า “เกย์” แต่เรายังคงรู้สึกว่าสังคมมักเอาคนแบบเรามาเป็นประเด็นสนทนาในเรื่องทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง) จากประสบการณ์ของผมในหลายปีเท่าที่จำได้มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่ผมได้ยินคนพูดถึงประเด็นรักร่วมเพศในอิสลามด้วยสำนวนเมตตาและพร้อมจะเข้าใจ พยายามทำให้สังคมรับรู้ว่าคนเหล่านี้คือพี่น้องร่วมศรัทธาของเรา พวกเขาต้องการกำลังใจและการช่วยเหลือจากพวกเราในสังคม สิ่งดีๆ แบบนี้ได้ยินเพียงสองครั้งถือว่าน้อยไป มันควรจะเป็นสาระสำคัญที่สังคมสื่อสารกันในวงกว้างและเน้นย้ำให้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประเด็นนี้ 

ความรับผิดชอบร่วมของสังคม 

ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดยอมรับให้ประเด็นนี้ถูกกวาดเก็บไปอยู่ใต้พรม (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่สมควรทำเช่นนี้ตั้งแต่แรกเลย) เราสูญเสียพี่น้องของเราเพียงเพราะความละเลยของบรรดาผู้อยู่ในอำนาจหน้าที่ เพียงเพราะการทำตัวกลมกลืน เพราะความละเลยไม่ใส่ใจของคนทั่วไปในสังคมมามากพอแล้ว คุฏบะฮ์หรือคำสอนที่หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยกันอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมเกิดความเข้าใจที่ตรงตามหลักการอิสลาม อยู่ที่ไหน? ผู้นำศาสนาและนักวิชาการที่ช่วยออกมาอธิบายให้สังคมได้รู้ว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นไม่ใช่บาปในตัวของมันเอง มีบ้างไหม? ใครบ้างที่จะช่วยออกมาแยกประเด็นให้สังคมเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า “การชอบเพศเดียวกัน” และ “LGBT” ? หรือแยกแยะความแตกต่างระหว่าง SSA และ SSE ตามหลักการศาสนาอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา? ใครบ้างที่จะช่วยออกมาตักเตือนสังคมให้ระวังลิ้นและวาจาเมื่อพูดถึง “เกย์หรือเลสเบี้ยน” และ “คนรักร่วมเพศ” (แม้จะพยายามต่อต้านชื่อเรียกเหล่านี้และตักเตือนสังคมไม่ให้ใช้คำเหล่านี้ที่นิยามขึ้นโดยวัฒนธรรมไร้ศาสนา แต่เราก็ยังถูกเรียกด้วยชื่อเหล่านี้บ่อยครั้ง) ใครบ้างที่จะช่วยระมัดระวังคำพูดที่อาจทำให้พี่น้องร่วมศรัทธารู้สึกแย่หรือเจ็บปวดข้างในเพียงลำพัง ? ไหนกันนะงานวิจัยที่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ช่วยอบรมสั่งสอนลูก ให้ลูกได้กล้าเข้าหาและขอคำปรึกษาหากต้องเจอสภาวะเหล่านี้ ?

หากสังคมมุสลิมกระแสหลักไม่ร่วมกันหาทางออกให้คนที่มีปัญหาสภาวะชอบเพศเดียวกัน ไม่ร่วมกันสร้างแวดล้อมที่ปลอดภัย ร่วมสร้างสังคมที่คอยเอาใจใส่และรักใคร่เกื้อกูลกัน หากสังคมไม่เปิดใจพร้อมช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม เราอาจต้องสูญเสียพี่น้องมุสลิมร่วมศรัทธาอีกมากมายให้กับความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากสัจธรรม หรือทิ้งศาสนาไปโดยสิ้นเชิง หรือเลือกที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย 

แต่กระนั้น ผมไม่ได้หมายความว่ามุสลิมเราจะต้องลุกขึ้นมาโบกธงสีรุ้ง ใส่เข็มกลัดสีชมพูรูปสามเหลี่ยม หรือออกมาประกาศความชอบเพศเดียวกันอย่างโจ่งแจ้งหน้าสาธารณชน อะไรทำนองนั้น แต่สิ่งที่ผมหมายถึงก็คือเราจะต้องจบการแบ่งแยกหรือการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นความชอบเพศเดียวกันเสียที ผู้นำศาสนาควรออกมาเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงความแตกต่างในหลักการศาสนา ระหว่างความรู้สึก (SSA)และการกระทำ (SSE) ของการเบี่ยงเบนทางเพศ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ตลอดจนผู้ปกครองเด็กควรได้เข้าถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการรับมือและช่วยเหลือในกรณีที่เด็กเดินเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากเราไม่สามารถพึ่งพาผู้นำชุมชนและสังคมเพื่อค้ำจุนความเป็นหนึ่งในศรัทธา บนพื้นฐานของสติปัญญาและดุลยพินิจที่รอบคอบและความเห็นอกเห็นใจกันในบททดสอบที่อัลลอฮ์เลือกให้พี่น้องร่วมศรัทธาที่มีสภาวะ SSA ต้องเจอ พวกเขาเหล่านี้จะต้องหันไปพึ่งพาใคร? 

อนึ่ง ผมขอบอกตรงนี้ครับว่าผมไม่ได้เขียนเพื่อเรียกร้องให้ใครสงสาร แต่สิ่งที่ผมขอคือความเห็นอกเห็นใจกัน คือการเห็นใจที่มีรากเหง้าจากการบ่มเพาะคำสอนของอิสลาม ที่เน้นย้ำถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมุสลิมทั้งโลกนี้และโลกหน้า เมื่อมีใครคนหนึ่งโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวได้ยินคำพูดเช่น “พวกเกย์มันต้องถูกฆ่าทิ้ง” หรือ “พวกเกย์มันน่ารังเกียจ” ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าเถียงถึงผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากคำพูดเหล่านั้น ที่มันอาจฝังลึกในจิตใจของคนที่สับสนและเปราะบางในชีวิตไปอีกยาวนาน ไม่แปลกใจเลยครับหากเราจะเห็นเยาวชนของเรามากมายพร้อมใจกันทิ้งศาสนาเพราะเรื่องแบบนี้ หรือไม่ก็ร่วมขบวนไปกับกลุ่มคนที่สนับสนุนและเห็นผิดเป็นชอบกับตัวตนและไลฟสไตล์ความเป็นเกย์ สังคมมุสลิมเราควรรู้สึกเศร้าและรู้สึกผิดกับสิ่งเหล่านี้ 

นอกจากประเด็นความเห็นอกเห็นใจเยี่ยงท่านนบี ผู้เป็นที่สุดแห่งความเมตตาในหมู่มนุษยชาติแต่ไม่เคยผ่อนปรนในการตักเตือนผู้คนไม่ให้ละเมิดหลักการและคำสั่งของอัลลอฮ์ นอกจากประเด็นนั้นแล้วผมขอเสริมเติมตรงนี้เรื่องการให้เกียรติครับ เพราะการให้เกียรติและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันถือเป็นสิทธิอันพึงมีที่เราทุกคนควรได้รับจากพี่น้องร่วมศรัทธาด้วยกัน ซึ่งรวมไปถึงการให้เกียรติและช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมชายที่อาจมีความเป็นหญิงในพฤติกรรม หรือแม้แต่พี่น้องมุสลิมหญิงที่อาจมีความเป็นชายในพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดใดๆของตัวพวกเขาเองเลย ให้เกียรติกันเถิดครับ เราทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเกียรติจากกันและกันยิ่งนัก

ท่านอีหม่ามนาวาวีเคยกล่าวถึงผู้ชายที่มีจริตความเป็นหญิง (มุค็อนนาซ) ในส่วนของประเด็นเบี่ยงเบนทางเพศไว้ว่า :

“ผู้รู้ได้กล่าวว่ามุค็อนนาซมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือคนที่เกิดมาเป็นเช่นนั้นแต่กำเนิด ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจเลียนแบบบุคลิกความเป็นหญิงทั้งทางภาพลักษณ์หรือกิริยาวาจา แต่มันคือลักษณะดั้งเดิม (คิลเกาะฮ์) ที่อัลลอฮ์สร้างเขามาเช่นนั้น สำหรับคนประเภทนี้ถือว่าไม่เป็นที่ตำหนิหรือน่ารังเกียจ เป็นบาปหรือต้องลงโทษ เขาจะได้รับการยกเว้นในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเขา ส่วนประเภทที่สองคือมุค็อนนาซที่ไม่ได้เกิดมามีลักษณะดั้งเดิม (คิลเกาะฮ์) เช่นนั้น แต่เขาตั้งใจเลียนแบบบุคลิกความเป็นหญิง ทั้งในด้านกิริยาวาจา ภาพลักษณ์ และการแต่งกาย อันนี้คือสิ่งต้องห้ามและมีรายงานจากฮาดิษที่ถูกต้องอย่างชัดเจนว่าเป็น (พฤติกรรม) น่ารังเกียจ ซึ่งสัมพันธ์กับความหมายในฮาดิษอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า “อัลลอฮ์นั้นทรงสาปแช่งชายที่ตั้งใจเลียนแบบหญิง และหญิงที่ตั้งใจเลียนแบบชาย” 

ท่านอีหม่ามนาวาวีชี้ชัดเจนว่าไม่เป็นที่น่าตำหนิแต่อย่างใดสำหรับคนที่มีความโน้มเอียงไปอีกฝั่งหากมันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้หรือทำได้ยากมาก (นักวิชาการเห็นพ้องว่าคนที่มีกริยาวาจาไม่สอดคล้องกับเพศสภาพของเขา ควรพยายามจัดการกริยาวาจาของเขาเท่าที่สามารถทำได้ แต่เขาจะไม่เป็นที่ตำหนิในสิ่งที่พ้นขีดความสามารถของเขาในบริบทดังกล่าว) ตราบใดที่คนหนึ่งไม่ได้กระทำการใดฮารอมหรือต้องห้าม (หรือแม้แต่พลาดพลั้งทำลงไป) พวกเขาก็ยังคงถือว่าเป็นพี่น้องร่วมศรัทธาที่เราทุกคนไม่มีสิทธิ์จะไปหยามเกียรติหรือด้อยค่าพวกเขาด้วยการบูลลี่ให้รู้สึกต่ำตม ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้พยายามสร้างความชอบธรรมหรือทำให้พฤติกรรมฮารอมเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ หรือพยายามออกมาเรียกร้องต่อสาธารณชน พวกเขาควรได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏิบัติด้วยดีเหมือนเช่นคนธรรมดาทั่วไป 

คำแนะนำสำหรับมุสลิมที่มีสภาวะชอบเพศเดียวกัน

ผมอยากให้คำแนะนำแก่บรรดาพี่น้องมุสลิมทั้งชายหญิงที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะชอบเพศเดียวกันที่เราต่างไม่ได้ร้องขอเหมือนเช่นผม อันดับแรกเลยคือ คุณต้องรู้ว่าคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีคนอีกมากมายในสังคมที่เป็นเหมือนคุณที่รู้ดีมากๆ ว่าคุณกำลังเจอความสับสน ความเจ็บปวด ความแปลกแยกในชีวิต เราจะอยู่ด้วยกันครับ เราจะคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กันด้วยคำแนะนำที่ช่วยเติมเต็ม ด้วยใจที่พร้อมรับฟัง และพลังใจจากพี่น้องของเราที่พร้อมเชียร์ให้คุณไปต่อกับชีวิต ที่เราเข้าใจได้ดีจากประสบการณ์ว่ามันไม่ง่ายเลย 

อันดับที่สอง พึงทราบว่าความช่วยเหลือและทุกแรงผลักดันนั้นมาจากอัลลอฮ์ทั้งสิ้น ผมจึงอยากเน้นย้ำกับพวกเราว่าการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าผู้สร้างเรานั้นสำคัญมาก จงเชื่อมั่นในอัลลอฮ์ พยายามใกล้ชิดพระองค์ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แม้ว่าเราจะพลาดมากี่รอบหรือล้มไม่เป็นท่ามากี่ครั้งในการจัดการกับความต้องการทางเพศของตัวเองแล้วก็ตาม 

อนึ่ง แม้ว่าจะมีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่จะช่วยให้เรารับมือกับกับสภาวะนี้อย่างได้ผลตามที่ได้บอกกล่าวมาข้างต้น แต่หากพูดจากประสบการณ์จริงผมขอยืนยันเลยครับว่า สิ่งเดียวที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด คือความศรัทธาที่เรามีต่ออัลลอฮ์ และความศรัทธาที่ไม่ไหวหวั่นในการต่อสู้เพื่อยืนหยัดในหลักคำสอนของพระองค์ ซึ่งหากไม่มีองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ผมเชื่อเลยครับว่าตัวผมเองคงไม่มีโอกาสมาไกลถึงจุดที่ผมยืนอยู่ทุกวันนี้ อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 

และสุดท้าย ผมขอเน้นตรงนี้อีกครั้งครับว่า ไม่มีคำว่า “ทางเดียว” สำหรับการต่อสู้กับพฤติกรรมชอบเพศเดียวกัน และเราต่างก็มีปลายทางของชีวิตที่ไม่เหมือนกันเสมอไป ทุกคนต้องเดินบนเส้นทางของตัวเอง และทุกคนจะต้องใช้ชีวิตตามทางเลือกของตัวเอง ความจริงอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ ไม่มีใครหรือแม้แต่ตัวผมเองที่มีทางออกเบ็ดเสร็จครบวงจรม้วนเดียวจบกับการจัดการสภาวะนี้ แต่ข่าวดีอย่างหนึ่งคือ เท่าที่ผมได้สัมผัสและผ่านประสบการณ์มา เราไม่จำเป็นต้อง “หาทางออก” ให้กับเรื่องนี้เพียงเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติหรือได้ทำหน้าที่ของตัวเองเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน แต่สิ่งที่เราต้องมีคือปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญ และกุญแจสำคัญนั้นก็คือ “อัลลอฮ์สร้างเรามาเพื่อเป็นบ่าวของพระองค์” เราจะถูกทดสอบศรัทธาด้วยกับสิ่งที่แตกต่างออกไปในแต่ละคน

อัลลอฮ์นั้นทรงห่วงใยเราทุกคนและพระองค์ก็หวังเหลือเกินที่อยากจะให้เราประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เรากำลังเดินกลับไปหาพระองค์ อัลลอฮ์จึงได้กำหนดให้การกระทำบางอย่างฮาลาล และบางอย่างฮารอม พระองค์จึงมอบของขวัญเป็นแรงจูงใจทางศีลธรรมให้แก่เรา และทำให้เราได้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง และพระองค์ก็ได้สัญญาไว้ในอัลกุรอานหลายครั้งว่าพระองค์ “จะไม่ทำให้คนหนึ่งคนใดต้องแบกรับสิ่งที่เกินความสามารถของตัวเอง” เราจึงต้องพยายามมองหาช่องทางที่พระองค์จัดสรรให้เรา ตามความถนัดของแต่ละคน มาช่วยควบคุมการกระทำและพฤติกรรมของเราให้ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบตัวเอง ณ พระองค์ และจากนั้นจึงค่อยหาทางรับมือและจัดการประเด็นต่างๆ ในชีวิตให้สุดความสามารถของเรา ชีวิตของเราแต่ละคนจะจบลงเช่นใด อัลลอฮ์ได้เตรียมอะไรให้เราแต่ละคนไว้ ณ ที่นี่แล้ว (และแน่นอนว่า “ที่นั่น” ด้วย) ขอเพียงเราพยายามต่อสู้อย่างยืนหยัดอดทนในหนทางของพระองค์ ด้วยศรัทธาและความเชื่อมั่นในพระองค์ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์พระเจ้าผู้เป็นนายของเราแล้ว ผู้ซึ่งกล่าวไว้ในอัลกุรอานเพื่อบอกแก่เราว่า “ไม่มีใครล่วงรู้ถึงความสุขที่ถูกเก็บซ่อนไว้เป็นรางวัลตอบแทน ต่อการงานที่เขาได้ทำไว้“ (ซูเราะห์ซัจญดะฮ์:17) 

ยืนหยัดบนเส้นทางเที่ยงตรง 

สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าเราทุกคนล้วนต้องไปต่อกับสองสิ่งนี้ครับ : คือการรู้จักควบคุมตัวเอง และ การรู้จักมีวินัยในตัวเอง แน่นอนผมไม่ได้หมายความว่าให้เรา “ดุอาอ์ให้หายเป็นเกย์” แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ฝึกเรียนรู้วิธีการจัดการนัฟซู (อารมณ์) ของตนเองให้อยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อไม่ให้มันมาคอยบงการการกระทำของเรา แค่นี่แหละที่อัลลอฮ์ต้องการจากเรา ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านี้ ส่วนอะไรที่นอกเหนือไปกว่านี้เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ตามบริบทที่พระองค์ได้กำหนดไว้

บางคนอาจเห็นว่าการแต่งงานเป็นทางเลือกที่ตัวเองไปต่อได้ในอนาคต ก็จงเลือกไปต่อทางนั้น หรือบางคนอาจเลือกจะเป็นโสด ก็จงเลือกไปต่อกับเส้นทางนั้น บางคนอาจใช้เวลาและพรสวรรค์ที่มีในตัวเอง เติมเต็มความรู้ศาสนาหรือทำงานจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ก็จงเลือกไปต่อกับเส้นทางนั้น เพราะทุกเส้นทางกลับไปหาอัลลอฮของเราแต่ละคนล้วนพิเศษและแตกต่างกัน แต่เราจะเชื่อมั่นจับใจในวรรจนะที่พระองค์ได้ให้สัญญากับเราไว้ว่า “ใครก็ตามที่ต่อสู้เพื่อเรา แน่นอนเราจะชี้นำเขาสู่แนวทางของเรา แท้จริงพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างบรรดาผู้ทำความดี” (ซูเราะห์อัลอังกะบูต:69) 

สิ่งหนึ่งที่มุสลิมเราทุกคนยึดมั่นคือการได้เดินบนเส้นทางของอัลลอฮ์ ที่เราต่างวิงวอนขอให้พระองค์ชี้นำเราสู่เส้นทางนั้นไม่ต่ำกว่า 17 ครั้งต่อวันในการละหมาดของเรา มันไม่ใช่อื่นใดนอกไปจากเส้นทางที่เราเรียกว่า “เส้นทางอันเที่ยงตรง” (อัศศิรอฏอลมุสตะกีม) และนี่คือเหตุผลที่พวกเราในฐานะมุสลิมที่ได้รับบททดสอบสภาวะชอบเพศเดียวกันเรียกการต่อสู้ของพวกเราว่า “การต่อสู้บนเส้นทางเที่ยงตรง” (Straight Struggle) ซึ่งเอาเข้าจริงมุสลิมทุกคนต่างก็ต้องต่อสู้บนทางเที่ยงตรงนี้กันทั้งนั้น มันคือการต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่บนทางเที่ยงตรงของพระเจ้าผู้สร้างเรา เราแต่ละคนล้วนมีปัญหาและความท้าทายที่ต้องรับมือ มีอุปสรรคที่ต้องเอาชนะตลอดการเดินทาง แต่เส้นทางของเราทุกคนล้วนบรรจบ ณ จุดเดียวกัน คือพระองค์ผู้เป็นหนึ่งเดียว 

เป้าหมายของเราทุกคนล้วนเป็นหนึ่งเดียว คืออัลลอฮ์เพียงองค์เดียว

สำหรับมุสลิมทุกคน สิ่งที่ผมอยากฝากตรงนี้คือ เวลาของการเริ่มต้นจัดการกับประเด็นนี้คือเมื่อวานครับ ฉะนั้นเราต้องรีบลงมือแล้ว เพราะผมอาจเป็นคนนั้้นที่ยืนละหมาดข้างคุณในมัสยิด ผมอาจเป็นเพื่อนร่วมงานคนนั้นของคุณ เป็นสหายคนนั้นของคุณ เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดคนนั้นของคุณ หรือเป็นคู่สมรสคนนั้นของคุณ ผมอาจเป็นลูกหรือพ่อแม่คนนั้นของคุณ 

และใครจะไปรู้ ผมอาจเป็นคุณ … 


แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา : From a Same-Sex Attracted Muslim: Between Denial of Reality and Distortion of Religion

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร