เขาไม่ได้มีใบปริญญา ไม่ได้มีตำราให้อ้างอิงหรือมีอินเตอร์เน็ตไว้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ เขามีแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจบวกกับความสามารถในการซ่อมแซมที่เป็นพรสวรรค์ติดตัว ด้วยต้นทุนชีวิตเพียงเท่านี้ชาวนาแสนธรรมดาอย่าง “รอซิด” กลับกลายเป็นฮีโร่ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนในชุมชน ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่เป็นต้นทุนธรรมชาติซึ่งอยู่คู่หมู่บ้านมาช้านาน
ตอนแรกที่คิดจะสร้างใครๆ ต่างก็หาว่าเขานั้นเพ้อเจ้อ ความคิดของผู้ชายไร้การศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชุมชนด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าคือสิ่งที่อาจฟังดูไม่เข้าท่าและไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันแม้กระทั่งการไฟฟ้าแห่งชาติของอินโดนีเซียยังหันมาสนใจ และขอซื้อระบบสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำของชาวนาแสนธรรมดาคนนี้ด้วยซ้ำ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากความฝันของผู้ชายคนหนึ่งที่เพียงอยากเห็นผู้คนในชุมชนของตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
รอซิด วัย 48 ปีเป็นชาวนาชนบท หมู่บ้าน Andungbiru ที่เขาอาศัยอยู่ตั้งอยู่ในแถบภูเขาไฟ Argopuro เมืองชวาตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย แม้ภูเขาไฟแห่งนี้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่นเดียวกับภูเขาไฟเพื่อนบ้านอย่าง Bromo เท่าใดนัก แต่ที่นี่ก็มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว มีต้นน้ำลำธารหลายสาย มีดินและแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง
การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรอซิดนี้ สั่งสมจากความฝันในวัยเด็กของเขาเองที่เคยใฝ่ฝันอยากมีไฟฟ้าใช้ในบ้าน ด้วยชีวิตที่ยากจนข้นแค้นในวัยเรียนทำให้เขาตั้งปณิธานกับตนเองอย่างมุ่งมั่น ว่าจะต้องทำให้หมู่บ้านของตนเองมีไฟฟ้าใช้ให้ได้ในสักวัน เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชนบทให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
รอซิดเล่าให้ฟังว่า เขารักบ้านเกิดของเขามาก แต่การขาดโอกาสและสิ่งอำนวยความสะดวกคือสิ่งที่บ้านเกิดของเขามักหยิบยื่นให้จนเขารู้สึกผิดหวังมาโดยตลอด รอซิดเคยเป็นเด็กที่รักการอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้ และชอบไปโรงเรียน แม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ไกลออกไปถึง 6 กิโลเมตรและเขาต้องใช้เวลาในการเดินทางไปกลับครั้งละชั่วโมงกว่าๆ ในแต่ละวัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือเป็นปัญหาใหญ่มากเท่ากับการที่เขาไม่มีไฟฟ้าใช้ในบ้าน โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวต้องทำการบ้านส่งครูหรือเมื่อต้องเรียนอัลกุรอานในเวลาค่ำคืน
“เมื่อก่อนเราใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด และมันก็ทำให้สายตาของผมอ่อนล้าได้ง่ายนัก ยิ่งวันไหนลมพัดแรงเราก็จะไม่มีโอกาสอ่านหนังสือหรือทำการบ้านได้เลย เราต้องเก็บการบ้านไปทำตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นก่อนไปโรงเรียน” รอซิดเล่าย้อนอดีตให้ฟัง
และเนื่องจากตะเกียงน้ำมันก๊าดเองก็ไม่ได้มีราคาถูก ครอบครัวของเขาไม่มีเงินมากพอที่จะหาซื้อน้ำมันก๊าดได้ทุกวัน มันจึงยิ่งปลุกความมุ่งมั่นให้เด็กชายรอซิดอยากทำให้หมู่บ้านของตนเองมีไฟฟ้าใช้ในอนาคตมากยิ่งขึ้น และทางเดียวที่จะทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้ก็คือการตั้งใจเรียนหนังสือ “เพื่อว่าวันหนึ่งผมจะได้นำเอาความรู้ที่ร่ำเรียน มาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญต่อไป” รอชิดเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น
ความยากจนไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางให้รอซิดต้องหยุดเรียนรู้ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาเขาตัดสินใจจากบ้านเกิดด้วยเสื้อผ้าไม่กี่ตัวใส่ถุงพลาสติกใบเล็กพร้อมคำอวยพรจากพ่อแม่บรรจุใส่หัวใจ เพื่อมุ่งหน้าไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนการอาชีพแห่งหนึ่งต่างเมือง ที่นั่นทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาวิชาเบื้องต้นเกี่ยวกับวิศวกรรมเครื่องกล เขาใฝ่ฝันอยากเปิดร้านซ่อมจักรยานเมื่อเรียนจบ และในระหว่างเรียนรอซิดก็ทำงานหาเงินส่งเสียค่าเล่าเรียนให้กับตนเอง เขาทำงานทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินค่าจ้าง นับตั้งแต่กวาดขยะ ล้างห้องน้ำไปจนถึงลากรถเข็นโดยไม่เกี่ยงงานแต่อย่างใด
แต่แล้วชะตาชีวิตก็ไม่เอื้อให้รอซิดสามารถจบการศึกษาได้ดังหวัง เมื่อโรครากสาดใหญ่เกิดการระบาดอย่างหนักทั่วประเทศจนทำให้เขาต้องหยุดงานและหยุดเรียนในวัยเพียง 19 ปี เขาต้องเลือกกลับมาบ้านเกิดเป็นเกษตรกรช่วยพ่อแม่ปลูกพืชผักเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว การไม่ได้เรียนต่อชั้นมัธยมปลายในครั้งนั้นคือสิ่งรอซิดรู้สึกเสียดายเสมอมาจนถึงทุกวันนี้
ประกายแห่งแรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจในการสร้างโรงปั่นไฟพลังน้ำของรอซิดเริ่มจุดประกายขึ้นในวันหนึ่งของปี 1992 เมื่อเขาได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของคุณลุงในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่เมือง Jember ซึ่งไกลออกไปจากหมู่บ้านของเขาประมาณ 50 กิโลเมตร แม้ที่นี่จะไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่ต่างจากหมู่บ้านของรอซิด แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นคือเสาไฟฟ้าที่ส่องสว่างตามข้างถนนในหมู่บ้าน ด้วยความสงสัยเขาจึงสอบถามคุณลุงจนได้ทราบว่า เสาไฟฟ้าข้างถนนเหล่านั้นได้รับกระแสไฟจากกังหันปั่นไฟพลังงานน้ำที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยเมื่อชาวดัชต์เข้ามาล่าอาณานิคมกว่าสองพันปีที่แล้ว โดยในตอนแรกกังหันซึ่งทำจากโลหะตัวนี้ถูกสร้างให้เป็นเครื่องโม่ข้าว แต่ต่อมาภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนประยุกต์เป็นกังหันปั่นไฟด้วยพลังงานน้ำเรื่อยมาถึงปัจจุบัน รอซิดเกิดความสนใจต่อไอเดียกังหันน้ำนี้มาก เขาจึงศึกษาข้อมูลด้วยการกะเกณฑ์แบบคาดคะเนคร่าวๆ และพยายามจดจำลักษณะกังหันปั่นตัวนั้นในหัวสมองให้ได้มากที่สุด เขาบอกกับตัวเองว่ามันไม่น่าจะยากและคิดว่าตนเองน่าจะทำได้ ครั้งนั้นเขาจึงกลับบ้านพร้อมความหวังและความมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมเครื่องปั่นไฟฟ้าเพื่อชุมชนของเขาเอง
เปลี่ยนคำดูหมิ่นเป็นพลังผลักดัน
เมื่อถึงบ้านเขาตื่นเต้นที่จะบอกเล่าให้คนรอบข้างฟังมากๆ ว่าเขากำลังจะสร้างเครื่องปั่นไฟพลังงานน้ำ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อมั่นว่าเขาจะทำได้ หลายคนต่างก็พากันหัวเราะเยาะเย้ยและหาว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ที่คนไร้การศึกษาอย่างเขาจะทำอะไรเกินตัวได้ขนาดนั้น
“คนไม่มีการศึกษาอย่างแกเนี่ยนะจะผลิตไฟฟ้า?” “ดูน้ำหน้าแกสิ บ้านเองก็ยังไม่มีให้อยู่ งานการก็ไม่มีให้ทำ แกจะมาเพ้อเจ้ออะไรนักหนา?” รอซิดนึกทบทวนถึงคำดูหมิ่นดูแคลนจากชาวบ้านและคนรอบตัว
แต่เขาเล่าต่อไปว่า “หากคุณยอมแพ้เพราะคำพูดของคนอื่น มันจะยิ่งทำให้คุณดูโง่เขลากว่าคนพวกนั้นอีก การที่คนอื่นดูถูกเย้ยหยันเรา มันยิ่งต้องทำให้เราฮึดสู้ขึ้นไปอีก”
แล้วเขาก็เริ่มลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนดู สิ่งเดียวที่เขามีคือภาพในหัวที่เขาพยายามจดจำมาเท่านั้น ไม่มีตำราหรือข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งใดเลย จากนั้นเขาก็เริ่มมองหาตำแหน่งน้ำผ่านจากลำธารในสวนที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด และเพื่อให้มีเงินลงทุนทำโครงการในฝัน เขาจึงตัดสินใจขายวัวของตัวเองไปสองตัวเพื่อนำเงินไปซื้อไม้และอุปกรณ์ประดิษฐ์กังหันน้ำ นอกจากนี้เขายังคิดปรับโครงสร้างเดิมที่เห็นจากต้นแบบกังหันน้ำของชาวดัตช์มาประยุกต์เป็นแผ่นไม้แทนแผ่นโลหะเพื่อลดต้นทุน และเปลี่ยนตำแหน่งสัมผัสน้ำจากด้านล่างเป็นด้านบนเพราะเชื่อว่าน่าจะได้พลังงานจากแรงตีน้ำมากขึ้น ในส่วนของมอเตอร์กำเนิดไฟฟ้าที่มีราคาสูงนั้นเขาแก้ปัญหาด้วยการซื้อของเก่ามาซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทุกกระบวนขั้นตอนล้วนเกิดจากภูมิปัญญาและความมุ่งมั่นตั้งใจที่แน่วแน่ด้วยกันทั้งสิ้น
จนในที่สุดปี 1994 โรงปั่นไฟฟ้าพลังงานน้ำของรอซิดก็สร้างขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ เขาสามารถแจกจ่ายไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงให้กับบ้านเรือนได้กว่า 75 ครอบครัว จากชีวิตที่ไม่เคยมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อมีไฟฟ้าใช้ในบ้านชาวบ้านก็สามารถมีตู้เย็นไว้เก็บอาหารคงความสดได้นาน มีโทรทัศน์ไว้รับข้อมูลข่าวสารและให้ความบันเทิง เด็กๆ สามารถอ่านหนังสือทำการบ้านในเวลากลางคืนได้ และที่สำคัญพวกเขาสามารถเรียนวิชาอัลกุรอ่านในช่วงค่ำได้นานมากขึ้นกว่าเดิม
“ตั้งแต่มีไฟฟ้าใช้เด็กๆ สามารถเรียนอัลกุรอานได้นานขึ้น เราหวังว่านั่นจะทำให้พวกเขามุ่งมั่นตั้งใจมากยิ่งขึ้น เพื่อว่าวันหนึ่งเด็กๆ จะได้เป็นอะไรอย่างที่พวกเขาใฝ่ฝันกัน” อุซตาซไซฟุลซึ่งเป็นครูสอนศาสนาในหมู่บ้านได้เล่าให้ฟัง
มีเงินจ่ายด้วยเงิน มีไข่จ่ายด้วยไข่ หรือหากไม่มีให้ก็ใช้ฟรี
สถานที่สาธารณะของชุมชนอย่างมัสยิด คลินิก และโรงเรียนจะได้รับกระแสไฟฟ้าจากรอซิดฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ นอกจากนี้หากมีการจัดงานบุญต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่นงานแต่งหรืองานศพ ก็จะได้รับยกเว้นไม่เสียค่าไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เพราะรอซิดเชื่อเสมอว่า “หากไม่ใช่ประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ แล้ว ใครอีกล่ะจะมาช่วยชุมชนของเราเอง”
“ผมเพียงหวังอยากให้การศึกษาของลูกหลานในชุมชนถูกยกระดับและพัฒนาขึ้น เพื่อว่าคนรุ่นใหม่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและก้าวหน้าต่อไป” รอซิดกล่าวอย่างมีความหวัง
ในช่วงปีแรกๆ รอซิดเก็บค่าธรรมเนียมไฟฟ้าเพียงครัวเรือนละ 7,000 รูเปียห์หรือ 0.50 ดอลล่าร์เท่านั้น แต่หากบ้านไหนไม่มีเงินจ่ายเขาก็ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ หรือสามารถจ่ายด้วยอะไรก็ได้ที่พอจะมี “คุณจะจ่ายด้วยผลไม้หรือด้วยกาแฟก็ได้ หรืออะไรก็ได้ที่มีมูลค่า จะจ่ายด้วยไก่หรือไข่ก็ยังได้ ไข่หนึ่งฟองคิดเป็น 1,000 รูเปียห์ ถ้าสิบฟองก็ 10,000 รูเปียห์ แค่นั้นก็พอแล้ว หรือจะจ่ายด้วยแพะด้วยแกะก็ยังได้”
“แต่หากชาวบ้านคนไหนที่ไม่มีปัญญาจ่าย เราก็ยกเว้นไป เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะผมจำได้ดีเสมอว่าผมเองก็เคยจนมาก่อน แม้แต่จะซื้อข้าวยังไม่มีปัญญาเลย ผมไม่อยากให้มันเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับใคร ผมอยากให้ชาวบ้านมีความสุข”
ต่อมาในปี 1999 เมื่อโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของรอซิดเริ่มเป็นที่ต้องการของชุมชนมากยิ่งขึ้น เขาจึงจำเป็นต้องขยับขยาย เขาเริ่มศึกษาวิธีสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพบว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงในการซื้อเครื่องมือเครื่องจักร เขาจึงตัดสินใจยอมขายรถบรรทุกของครอบครัวเพื่อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่มีมูลค่าราว 50,000 ดอลล่าร์ขึ้นมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภรรยาที่เป็นห่วงว่าลูกๆ อาจไม่มีทรัพย์สินมรดกใดๆ ต่อไปหากโครงการดังกล่าวไม่สำเร็จ แต่รอซิดก็ยังเชื่อมั่นว่าการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมน่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อลูกหลานของเขาเองด้วยเช่นกัน
การก่อสร้างโรงไฟฟ้ายุคปรับปรุงครั้งนี้จึงไม่ใช่แรงกายของเขาคนเดียวอีกต่อไป เมื่อชาวบ้านต่างช่วยกันลงแรงร่วมมือจนสามารถสร้างขึ้นได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ปัจจุบันโรงปั่นไฟฟ้าพลังน้ำของรอซิดสามารถจ่ายกระแสไฟให้มากถึง 600 ครัวเรือนใน 4 หมู่บ้านเลยทีเดียว
คืองานที่ต้องเสี่ยงกับชีวิต
แม้ฝนจะตกแดดจะร้อนเพียงใด แม้จะเช้าหรือค่ำมืดแค่ไหนรอซิดและทีมงานก็ยังทุ่มเทแรงกายและสละเวลาออกไปตรวจสอบโรงปั่นไฟทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหา แม้แต่ไฟดับในยามค่ำคืนเขาก็ยังเลือกที่จะลุยป่าไปซ่อมไฟท่ามกลางความมืด รอซิดบอกว่าเขาจะรู้สึกผิดมากหากเลือกที่จะปล่อยให้เด็กๆ ร้องไห้ในความมืด งานของเขาจึงต้องอาศัยการอุทิศเวลาและเสี่ยงต่อชีวิต
ครั้งหนึ่งรอซิดเคยประสบอุบัติเหตุโดนไฟฟ้าดูดจนหมดสติ ขาข้างขวาของเขาถูกเฉือนด้วยสายพานจนหวิดเอาตัวไม่รอด เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลและไม่มีเงินรักษา แต่ด้วยความที่เคยช่วยเหลือและมีน้ำใจกับใครๆ ในหมู่บ้านมาโดยตลอด วันนั้นชาวบ้านต่างร่วมใจกันบริจาคเงินคนละเล็กละน้อยเพื่อสมทบค่ารักษาพยาบาลให้รอซิด และพากันมาเยี่ยมเยียนเขาที่โรงพยาบาลเต็มรถบรรทุก รอซิดรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งที่การช่วยเหลือเพื่อส่วนรวมของเขาตลอดที่ผ่านมาได้ออกดอกผลเป็นน้ำใจตอบแทนในวันที่ชีวิตของเขาตกทุกข์ได้ยาก
วิสัยทัศน์เพื่ออนาคต
รอซิดเล่าว่า เมื่อสองปีก่อนทางการไฟฟ้าแห่งชาติของอินโดนีเซียสนใจไอเดียสร้างกระแสไฟพลังงานน้ำของเขา และเสนอจะจ่ายให้เขา 4,000 ดอลล่าร์ต่อเดือนซึ่งมากกว่ารายได้ที่เขาในปัจจุบันกว่าสิบเท่า แต่รอซิดเลือกที่จะปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า “หากผมเลือกที่จะตอบรับข้อตกลงของทางการ ผมคงไม่มีโอกาสใช้สมองคิดแก้ปัญหาต่างๆ อีกต่อไป เรามักจะเจอกับความท้าทายที่แตกต่างไปในแต่ละวัน และความท้าทายเหล่านี้แหละที่ทำให้เราได้ใช้สมองคิดอยู่ตลอดเวลา”
และเพื่อเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น รอซิดมีแผนจะขยับขยายโครงการปั่นไฟฟ้าพลังงานน้ำนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ
“เป้าหมายของผมคือการพัฒนาสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของคนจน คือการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน”
นอกจากโครงการปั่นไฟฟ้าพลังงานน้ำนี้แล้ว ในอนาคตข้างหน้ารอซิดตั้งใจจะพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมในหมู่บ้านให้ดียิ่งขึ้น เขาอยากให้ชาวบ้านมีอินเตอร์เน็ตใช้ อยากสร้างโอกาสให้เด็กๆ ในชุมชนได้ค้นพบศักยภาพในตนเอง และไม่ต้องเจออุปสรรคในการศึกษาดังเช่นที่เขาเคยเจอมาแล้วในอดีตที่ผ่านมา
“ผมฝันอยากสร้างห้องแล็บให้กับเด็กนักเรียนประถมและมัธยมในหมู่บ้าน อยากให้พวกเขาได้เรียนกันฟรีๆ ผมหวังอยากให้การศึกษาทำให้เด็กๆ ฉลาดขึ้น นั่นคือแผนที่ผมวางไว้ในอนาคต”
แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา : This farmer gave 600 homes cheap electricity that the power company couldn’t