fbpx

ชะตากรรมเด็กน้อยในซีเรีย – ชีวิตที่ต้องเติบโตท่ามกลางสงครามของพวกผู้ใหญ่

การโจมตีทางอากาศบริเวณชานเมืองดามัสกัสของซีเรียยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ย่นย่อ แม้การประกาศหยุดยิงชั่วคราวจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี่เอง แต่ซากอาคารบ้านเรือนที่พังพินาศด้วยแรงระเบิดคือสิ่งที่เหลือให้เห็นบนท้องถนนที่ดูร้างน่าสะพรึงกลัว หลายร้อยชีวิตถูกสังเวยไปกับภัยสงครามภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ นับตั้งแต่ที่รัฐบาลซีเรียประกาศโจมตีชานเมืองกูเตาะห์ตะวันออก ในจำนวนชีวิตที่สูญเสียเหล่านั้นล้วนเป็นภาพเด็กน้อยไร้เดียงสาที่นอนตายอย่างน่าอนาถภายใต้ซากอาคารบ้านเรือนที่ทับถมกันด้วยแรงระเบิดจากจรวดขีปนาวุธ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ Zeid Ra’ad al-Hussein ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ถือได้ว่าเป็น “หนึ่งในการโจมตีที่ไร้ซึ่งความเมตตาที่สุดของสงครามกลางเมืองที่ยาวนานและโหดเหี้ยมตลอดช่วงที่ผ่านมา”

หลายครอบครัวต้องพากันอพยพไปอยู่ในห้องใต้ดินหรืออุโมงค์ที่อับชื้น บ้างก็หอบหิ้วเตาทำอาหารขนาดเล็ก, แป้งสาลี และเสื้อกันหนาวตัวหนา บรรดาเด็กๆ ที่เกิดมากับภาวะสงครามไม่ลืมที่จะหอบหิ้วของรักของหวงของแต่ละคนมาด้วย มันคือของเล่นและตุ๊กตาที่พวกเขาหวงแหนและรู้สึกอยากปกป้องดูแล

Maya หนูน้อยวัย 5 ขวบคือหนึ่งในบรรดาเด็กๆ ที่พ่อแม่พามาลี้ภัยในห้องใต้ดิน เธอหอบตุ๊กตาเพื่อนรักและตุ๊กตาแมวตัวโปรดที่เธอตั้งชื่อว่า Tiki ติดมือมาด้วย เธอกลัวว่าจรวดขีปนาวุธที่ชอบมาคุกคามชีวิตของเธอจะพรากชีวิตตุ๊กตาแสนรักของเธอไปด้วย เด็กบางคนหอบหิ้วบล๊อคตัวต่อ, หมากกระดานเล่นเกมส์เศรษฐี, และรถคันจิ๋วติดตัวมาด้วย เพื่อไว้เล่นคลายความกังวลในขณะที่ผู้ใหญ่กำลังง่วนอยู่กับการหยิบยืมไม้ฟืนเพื่อก่อไฟหุงอาหาร และพยายามป้อนข้าวให้เด็กทารกตัวน้อยที่ต้องเผชิญกับสภาวะขาดสารอาหารเรื่อยมา

และนี่คือเรื่องราวของบรรดาชีวิตเด็กน้อยผู้บริสุทธิ์ที่สามารถเอาชนะความตายมาได้  บางส่วนของเรื่องราวบอกเล่าได้จากของเล่นที่พวกเขาถือติดมือมา และบางส่วนของเรื่องราวที่มาจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ผ่านทางโทรศัพท์และข้อความทางอินเตอร์เน็ต ที่มาแบ่งปันให้พวกเราได้รับรู้ถึงชะตากรรมชีวิตของเด็กๆ ซีเรียในภาวะสงคราม

Maya หนูน้อยวัย 5 ขวบ

เด็กผู้หญิงคนนี้กอดตุ๊กตาตัวโปรดไว้แน่น นัยน์ตาสีน้ำตาลคมลึกของเธอจดจ้องแต่เพียงใบหน้าของตุ๊กตาแสนรัก แม่ของเธอ Nivin Hotary จึงเก็บภาพความทรงจำนั้นไว้ …

“ตุ๊กตาทุกตัวของเธอมีชื่อที่เธอตั้งเองหมดเลยนะ และเธอก็รักพวกมันมากซะด้วย” Hotary คุณแม่วัย 38 เล่าให้ฟัง “พอฉันบอกเธอให้เก็บตุ๊กตาพวกนี้ไว้ที่บ้าน…เธอไม่ยอม…เธอขอร้องให้ช่วยพาพวกมันไปอยู่ในห้องใต้ดินด้วยกัน”

สัปดาห์ก่อนขณะที่กำลังอพยพหลบหนี  Hotary รีบคว้าตัวลูกๆ ของเธอและหยิบสิ่งของจำเป็นบางอย่างติดตัวไปด้วย Maya ซึ่งเห็นแม่ทำเช่นนั้นจึงเลียนแบบท่าทางด้วยการรีบคว้าบรรดาตุ๊กตาตัวโปรดของเธอติดมือมาด้วยเช่นกัน

“มันคือหน้าที่ความรับผิดชอบของฉันที่จะต้องปกป้องเด็กๆ ให้รอดพ้นจากระเบิดนั้นให้ได้” Hotary เล่าให้ฟัง “Maya ก็เลยดูมุ่งมั่นอยากจะปกป้องตุ๊กตาแสนรักของเธอเหมือนฉันด้วย”

“แต่ฉันก็บอกเธอไม่ได้เลยว่า ตุ๊กตาแสนรักของเธอจะอยู่รอดปลอดภัยหรือเปล่า…” Hotary เล่าด้วยเสียงที่แผ่วลง

Maya เป็นเด็กผู้หญิงที่เกิดมาในภาวะสงครามหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบเพิ่งเริ่มต้นได้เพียงสองปี ชะตาชีวิตในแต่ละวันของเด็กน้อยมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบข้างเป็นตัวกำหนด แม่ของ Maya เล่าให้ฟังว่า Maya มีพี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า Qusay อายุ 11 ปี ซึ่งแม้จะพอเข้าใจกับอะไรที่เกิดขึ้น แต่ก็คงไม่เข้าใจว่าทำไม…

ณ ตอนนี้สิ่งเดียวที่พวกเด็กๆ จดจ่อคือห้องใต้ดินที่เป็นจักรวาลของพวกเขา ห้องใต้ดินอันแสนแออัดที่มีเพื่อนบ้านรอบตัวเป็นเพื่อนเล่นเพื่อนร่วมชะตากรรม ระหว่างที่นั่งลงบนเสื่อแผ่นบางที่พอจะห่อหุ้มความเย็นจากพื้นคอนกรีตได้บ้างนั้น Maya กำลังยุ่งอยู่กับการตระเตรียม “อาหารเย็น” ให้เพื่อนตุ๊กตาของเธอ ด้วยของเล่นพลาสติกที่เธอหอบหิ้วติดตัวมา

“เธอคงกำลังพยายามทำทดแทนในสิ่งที่ชีวิตของเธอขาดหายไป ด้วยการเป็นผู้หยิบยื่นสิ่งนั้นให้แทน” Hotary พูดถึงลูกของเธอให้ฟัง “ฉันดีใจที่เธอสามารถหาทางต่อสู้กับความอ่อนแอ กับความหวาดกลัว และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เธอมีชีวิตอยู่ได้” เธอเล่าด้วยรอยยิ้มอย่างมีความหวัง …

Ahmad หนุ่มน้อยวัย 2 ขวบ

ณ ห้องใต้ดินแห่งหนึ่งของเมือง หนูน้อย Ahmad กำลังร้องไห้งอแงและอ้อนวอนให้แม่ช่วยกลับไปหยิบรถของเล่นชิ้นโปรดของเขาที่บ้านให้ที

หลายวันแล้วที่ Maram หญิงวัย 24 ปีซึ่งเป็นมารดาของ Ahmad พยายามหาทางออกไปเอาของเล่นชิ้นนั้นโดยไม่ที่ต้องเสี่ยงกับชีวิต  Maram เล่าว่า ตอนแรกเธอคิดว่าคงไม่ต้องเอารถของเล่นติดตัวมา ด้วยเพราะสภาพหลุมหลบภัยที่เต็มไปด้วยผู้คนกว่า 150 ชีวิตที่ต้องแออัดอยู่ด้วยกันในพื้นที่ที่ไร้หน้าต่าง เธอจึงคิดว่าลูกคงไม่มีเวลาหรือมีพื้นที่พอให้นั่งเล่นรถของเล่น แต่ลูกๆ ของเธอกลับไม่ยอมลดราวาศอกและจะเอาของเล่นนั้นให้ได้

หนูน้อย Ahmad กับ Omar น้องชายทารกวัยแปดเดือนของเขา ติดกับอยู่ในหลุมหลบภัยแห่งนี้มานานหลายวันแล้ว และยิ่งไปกว่านั้น Omar ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยฟันเริ่มงอก หนูน้อยจึงมีอาการงอแงและหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา แม่ของ Omar สังเกตเห็นฟันซี่แรกเริ่มโผล่ขึ้นมาในช่วงที่พวกเขากำลังหลบภัยในห้องใต้ดินนั้น

หลังจากที่ต้องทนใช้ชีวิตในห้องใต้ดินมานานร่วมสัปดาห์ ทันทีที่การโจมตีทางอากาศเริ่มชะลอลง Maram จึงตัดสินใจเสี่ยงชีวิตรีบกลับไปเอาของเล่นให้ลูกทันที

แรงระเบิดทำให้หน้าต่างและประตูบ้านของเธอได้รับความเสียหาย แต่เธอก็ขุดคุ้ยจนพบรถของเล่นชิ้นโปรดของลูกเธอ พร้อมกับเสื้อผ้าสะอาดที่ยังพอใช้ได้ของเด็กๆ และยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการงอแงจากฟันงอกของลูกคนเล็กไว้ได้

แต่กระนั้น ลูกคนหนึ่งที่งอแงเพราะฟันงอกกับอีกคนที่งอแงอยากได้ของเล่นกลับเป็นสิ่งที่เธอกังวลใจน้อยที่สุด เพราะสิ่งที่น่ากลัดกลุ้มยิ่งกว่าคือปัญหาว่าเธอจะเอาอะไรให้ลูกๆ กิน? เธอจะเลี้ยงดูลูกๆ ให้รอดพ้นจากการป่วยไข้ในสภาพของหลุมหลบภัยที่ไม่มีห้องน้ำเช่นนี้ไปได้อย่างไร?

เธอต้องพาครอบครัวออกไปเสี่ยงภัยข้างนอกเป็นครั้งคราวเพื่อไปขอใช้ห้องน้ำในร้านขายของชำใกล้ๆ แต่ภาวะขาดแคลนอาหารก็ยังคงเป็นสิ่งที่เธอกังวลมากที่สุด Ahmad มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนลูกคนเล็กยังดื่มนมแม่แต่ก็ไม่เพียงพอ เธอจึงต้องป้อนนมขวด ซึ่งนมขวดที่เธอหมายถึงคือน้ำผสมกับแป้งสาลีและน้ำตาล เพียงเพื่อให้ดูว่าเป็นนมเท่านั้น…

“ฉันไม่รู้ว่าจะให้ลูกกินอะไรดี เราไม่มีวิตามินเสริมหรืออาหารดีๆ ให้ลูกกินเลย” Maram กล่าว

ร้านรวงทั่วเมืองก็ปิดหมด แม้แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดการโจมตีได้ไม่นาน บนหิ้งของแต่ละร้านก็แทบไม่ค่อยมีของวางขายเลย

“เด็กๆ ได้แต่ร้องไห้งอแง พวกเขาอยากกินขนม” Maram เล่าให้ฟัง …

Yasmina หนูน้อยวัย 6 เดือน

แม้แต่ราษฎรอายุน้อยสุดของเมืองกูเตาะห์ตะวันออกก็ไม่สามารถหนีพ้นพิษสงครามอันแสนโหดร้าย แม้ว่าพ่อแม่ของเด็กๆจะพยายามสร้างบรรยากาศให้ดูเป็นปกติเพียงใดก็ตาม

โดยปกติ Marwan Habaq และลูกสาวทารกน่าเอ็นดูวัย 6 เดือนชื่อ Yasmina มักใช้เวลาอยู่กับบ้านจ้องมองดูเหล่าปลาตัวน้อยว่ายวนเวียนอยู่ในตู้ปลาเป็นชั่วโมง Habaq ซื้อปลาพวกนี้ก่อนสงครามจะมาเยือน จนเมื่อเสบียงอาหารในเมืองเริ่มขาดแคลน อาหารปลาก็เริ่มหายากไปด้วย จนสุดท้ายเหลือปลาเพียง 9 ตัวที่รอดชีวิตจากความหิวโหยมาได้

“ผมและลูกสาวรักปลาพวกนี้มาก แม้แต่ภรรยาของผมยังเคยบ่นอิจฉาเพราะเรามักจะให้เวลากับปลามากกว่าเธอ”  Habaq เล่าติดตลก

และ Yasmina ก็รักตุ๊กตาตัวโปรดของเธอเช่นกัน มันคือตุ๊กตาผึ้งสีแดงสดใสที่พ่อของเธอซื้อมันมา

“โดยปกติเด็กทารกจะชอบของเล่นที่มีสีสันสดใส Yasmina ก็ชอบเช่นกัน” Habaq เล่าให้ฟัง

ตอนนั้นที่การโจมตีทางอากาศเริ่มรุนแรง Habaq และภรรยารีบคว้าตัวลูกสาวแล้ววิ่งหลบหนีเข้าไปที่ห้องใต้ดิน ทิ้งตู้ปลาแสนรักและตุ๊กตาผึ้งสีแดงตัวโปรดของลูกไว้ที่ชั้นบนของบ้าน

จนกระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ บ้านของพวกเขาก็โดนระเบิดจนพังยับเยิน เสียงของ Habaq เริ่มสั่นเครือเมื่อเล่าถึงความสูญเสียตรงนั้น

“ผมรักทุกส่วนทุกมุมในบ้านหลังนั้น แต่ตุ๊กตาของ Yasmina คือสิ่งที่ผมเสียดายที่สุด” เขากล่าว

Habaq เจอตุ๊กตาผึ้งสีแดงนั้นบนซากปูน บางส่วนของลำตัวสีแดงเปลี่ยนเป็นรอยไหม้สีดำตะโก

ในส่วนของตู้ปลาแสนรักนั้น เขาเล่าว่า “ผมเจอปลาแค่ตัวเดียวในสภาพไหม้เกรียมอยู่ใต้ซากปูน ที่เหลือคงกลายเป็นเถ้าถ่านไปหมดแล้ว”

….

 

ชะตากรรมของเด็กน้อยในซีเรีย  

ในสภาวการณ์แห่งความขัดแย้งจากภัยสงคราม ชีวิตเด็กผู้บริสุทธิ์มักจะกลายเป็นเหยื่อที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตซึ่งมีมูลค่าและราคาแพงที่สุด เด็กๆ เป็นกลุ่มเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นรอบตัวได้น้อยที่สุด ความไม่มั่นคงที่สงครามยัดเยียดให้กับชีวิตเด็กๆ ตลอดหกปีที่ผ่านมา ยิ่งกลายเป็นแผลร้ายที่ทำให้เด็กๆ ไม่มีวันรู้สึกปลอดภัยหรือรู้สึกดีขึ้นกับชีวิตเลย

สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียทำให้เด็กน้อยไร้เดียงสากว่าแสนชีวิตต้องขาดโอกาสทางการศึกษา กว่าล้านชีวิตต้องจากบ้านเกิดอพยพออกไปอยู่ต่างแดนอย่างไร้จุดหมายปลายทาง บ้างก็ต้องยอมเสี่ยงชีวิตกับการไปตายเอาดาบหน้า ในขณะที่บางส่วนที่จำเป็นต้องอยู่ต่อไปก็ต้องยอมแลกด้วยความเสี่ยงกับภัยระเบิดทางอากาศที่ตกลงมาอย่างไม่เคยบอกกล่าว กับห่ากระสุนจากทุกทิศทางที่จ่อชีวิตใครก็ตามที่เดินผ่าน และสภาพดินถล่มบ้านเรือนพังทลายที่เจ้าของบ้านไม่มีสิทธิ์เรียกร้องความเสียหายจากใครได้เลย

องค์การยูนิเซฟคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กน้อยไร้เดียงสาในซีเรียกว่า 5.8 ล้านชีวิตที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และในจำนวนนี้มีเด็กที่ติดกับอยู่ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงหรือพื้นที่เสี่ยงภัยมากกว่า 2 ล้านคน เด็กๆ ต้องเผชิญกับสภาวะทุพโภชนาการและเป็นโรคขาดสารอาหารกันเป็นจำนวนมาก สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่ยังบริสุทธิ์เหล่านี้ต้องมารับชะตากรรมที่ยัดเยียดโดยผู้ใหญ่เห็นแก่ตัวบางกลุ่ม โดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับความปลอดภัยซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีของมนุษย์ทุกคนได้เลย ….

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับเด็กน้อยในซีเรีย ด้วยการร่วมบริจาคสมทบกองทุนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องซีเรียที่ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี หรือ Ummatee Thailand และมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า

 

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา :

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร