Nora Marzouqa เด็กหญิงวัย 17 ปีจากเมือง Bethlehem ในปาเลสไตน์จดจำความฝันของเธอได้ไม่เคยลืม ว่าเมื่อโตขึ้นเธอฝันอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างฮาร์เวิร์ดและได้เป็นแพทย์ช่วยเหลือชีวิต แต่ในขณะเดียวกันสาวน้อยผู้มุ่งมั่นคนนี้ก็เติบโตมากับความเชื่อหนึ่งที่ว่า ความใฝ่ฝันของเธอนั้นมันเป็นเรื่องที่ไกลเกินตัวเหลือเกิน
Nora ได้เล่าให้ Al Jazeera ฟังว่า เธอเห็นญาติพี่น้องของเธอที่ออกไปศึกษาต่อต่างประเทศต้องเผชิญกับปัญหาด้านทุนทรัพย์กันเสียส่วนใหญ่ และด้วยคุณภาพการสอบวัดระดับการศึกษาของปาเลสไตน์ มันยิ่งทำให้กลายเป็นอุปสรรคมากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่งไม่ค่อยให้การยอมรับกับมาตรฐานการสอบวัดระดับ Tawhiji ของปาเลสไตน์
“มันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับฉัน ฉันไม่รู้กระบวนการขั้นตอน และไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง” เธอเล่าให้ฟัง
จนกระทั่งเธออายุได้ 14 ปีเมื่อเธอเริ่มเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย Nora ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับโครงการใหม่ของประเทศที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้ภาคพิเศษเป็นเวลาสามปี ในการฝึกทักษะเตรียมความพร้อมเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
โครงการภายใต้งบประมาณ 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐนี้มีชื่อว่า “Bridge Palestine” จัดตั้งโดยองค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของปาเลสไตน์ที่ชื่อว่า Taawon ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของปาเลสไตน์ที่มีเป้าหมายในการเติมเต็มช่องโหว่ด้านการศึกษาของประเทศ ด้วยการเปิดห้องเรียนภาคพิเศษเพื่อกวดวิชาหลังเลิกเรียนให้กับเด็กระดับหัวกะทิที่มีความโดดเด่นด้านการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต่อไป
จากจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 3,350 คนทั่วประเทศ Nora คือหนึ่งในจำนวนนักเรียน 400 คนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ เมื่อเธอได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี เธอก็สามารถสานฝันตัวเองให้เป็นจริงได้ในที่สุด เมื่อเธอได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดให้เข้าศึกษาต่อคณะแพทย์ศาสตร์พร้อมทุนการศึกษาได้ดังที่ตั้งใจ
“มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนฝันมากเลยนะ” เธอเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มที่ได้ทราบข่าวดีนั้นในวันเกิดปีที่ 17 ของเธอพอดี
สาวน้อยผู้มีความทะเยอทะยานสู่ความฝันคนนี้เคยเป็นกัปตันนำทีมโต้วาที และเป็นตัวแทนของปาเลสไตน์เข้าแข่งขันโต้วาทีระดับประเทศมาแล้ว 2 สมัย เธอเคยเข้าร่วมประชันวาทะบนเวทีแข่งขันระดับโลกมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่สิงคโปร์ เยอรมัน และสโลเวเนีย
“ฉันได้มีโอกาสพบปะกับใครมากมายที่ได้ลงเอยด้วยการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยดังเช่นเดียวกัน การเข้าร่วมแข่งขันบนเวทีระดับโลกเช่นนั้นทำให้ฉันได้ประจักษ์ว่า ตัวฉันเองไม่ได้แตกต่างไปจากคนที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังเหล่านั้นอย่างใดเลย”
และนั่นก็เป็นเป้าหมายเดียวกันกับที่โครงการ “Bridge Palestine” ได้พยายามมุ่งมั่นตั้งใจ นั่นคือการบอกโลกให้รู้ว่า “เด็กนักเรียนชาวปาเลสไตน์ก็ทำได้เช่นกัน” …
คือการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับปาเลสไตน์
นักเรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านด่านสุดหิน 3 ด่านหลักคือ การสอบวัดความถนัด การสอบสัมภาษณ์จากกรรมการเป็นกลุ่มและแบบตัวต่อตัว และการสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาและความท้าทาย ซึ่งถึงแม้ว่าทางโครงการจะคัดเลือกผู้เข้ารอบได้จำนวน 400 คนในขั้นแรก แต่นักเรียนทุกคนก็ยังคงต้องผ่านการทดสอบทักษะความสามารถต่างๆ ตลอดช่วงปี เพื่อคัดกรองเฉพาะนักเรียนที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของโครงการมากที่สุด จนในที่สุดเหลือผู้เข้ารอบเพียง 110 คนที่จบการศึกษาจากโครงการ และสามารถเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่อไปได้
ปัจจุบันมีนักเรียนจากโครงการสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Stanford University, King’s College London และ University of Manchester มาแล้วจำนวน 50 คน ในขณะที่อีก 60 คนที่เหลือกำลังรอลุ้นข่าวดีอีกรอบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
Tafeeda Jarbawi ผู้บริหารทั่วไปขององค์กร Taawon เล่าว่า ทางโครงการได้ขยายโอกาสให้กับเด็กนักเรียนหญิงและนักเรียนผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณบุคลากรเฉพาะกลุ่มให้กับสังคม
“เราได้สอนให้เด็กๆ รู้จักวิธีการเขียนเรียงความ สอนวิธีการพูดเวลาสอบสัมภาษณ์ สอนวิธีการวางตัวในฐานะพลเมืองที่ดี สอนทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร สอนวิธีการใช้ตรรกะเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์ สอนคำถามทั่วไปที่ต้องเจอบ่อยๆ สอนวิธีการฝึกเป็นคนที่ใจกว้างและเปิดใจยอมรับความแตกต่าง อะไรเหล่านี้เป็นต้น” Jarbawi เล่าให้ Al Jazeera ฟัง
โดยปกติช่วงฤดูร้อนทางโครงการจะส่งตัวแทนนักเรียนไปเข้าร่วมอบรมที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อเรียนรู้และทำความรู้จักกับระบบการศึกษาของที่นั่น ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวเกี่ยวกับวิชาชีพต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในอนาคต
“ในแต่ละวันทางทีมงานจะพาเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้ามาแนะแนววิชาชีพ เช่นพาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบปะพูดคุยกับพวกเราประมาณหนึ่งชั่วโมงเพื่อตอบคำถามในทุกข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของเจ้าหน้าที่คนนั้น” Akram Sbeih นักเรียนหนุ่มไฟแรงที่เพิ่งได้รับหนังสือตอบรับจาก Stanford University เมื่อไม่นานมานี้เล่าให้ Al Jazeera ฟัง
Jarbawi อธิบายให้ฟังต่อว่า “การที่นักเรียนคนหนึ่งจบการศึกษาแล้วได้ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่ได้กลับไปปาเลสไตน์แล้วทำงานด้านการเมืองการปกครองเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมหรือการเมือง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้การลงทุนเหล่านี้คุ้มค่าและก่อเกิดเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับปาเลสไตน์และโลกอาหรับทั้งหมด”
เธอเชื่อว่าโครงการดังกล่าวนี้จำเป็นต่อการช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของประเทศได้อย่างมาก ที่ครอบคลุมไปถึงปัญหาที่เกิดจากการครอบครองอาณาเขตของอิสราเอล อย่างเช่นข้อจำกัดด้านหลักสูตรและด้านทุนทรัพย์ทางการศึกษาที่ชาวปาเลสไตน์ต้องประสบ
เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป
Yahya Hijazi นักวิจัยด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย Al-Quds ให้สัมภาษณ์ว่า โรงเรียนในปาเลสไตน์โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีพื้นที่ทางการศึกษาให้เด็กๆ ได้เตรียมตัวเพื่อรับมือกับการสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เขาได้บอกกับ Al-Jazeera ว่า “ปัญหาหลักคือระบบการศึกษาของประเทศที่ยังคงเดิมและล้าหลังอยู่อีกมาก ชาวปาเลสไตน์ไม่มีแหล่งข้อมูลข่าวสาร และไม่มีใครที่จะมาช่วยจุดประกายความเป็นเลิศทางปัญญาหรือความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ”
“ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของนักเรียน, ความสามารถในการตัดสินใจ, การบอกเล่าความรู้สึก, การสร้างความเปลี่ยนแปลง, การเป็นผู้นำ, การมีส่วนร่วมในการถกประเด็นต่างๆ หรือการโต้วาที, การรู้จักเขียนให้น่าอ่าน, ตลอดจนการนำเสนอความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ น่าเสียดายที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีปรากฏในตำราเรียน มันจึงทำให้เด็กนักเรียนที่มีศักยภาพส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการค้นพบทักษะความสามารถของตนเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพนั้นให้โดดเด่นต่อไป” เขากล่าวเพิ่มเติม
เปิดกองทุนเพื่อการศึกษา
แม้โครงการ “Bridge Palestine” จะเป็นช่องทางที่ช่วยให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศกันมากขึ้น แต่ทางโครงการก็ยังไม่สามารถสนับสนุนด้านทุนการศึกษาได้อย่างเต็มที่อันเนื่องจากข้อจำกัดทางการเงิน แต่กระนั้นทางองค์กรก็ไม่ได้ปล่อยปะละเลยให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นต้องเผชิญอุปสรรคด้านทุนทรัพย์เพียงลำพัง จึงได้มีการริเริ่มก่อตั้งกองทุนบริจาคเพื่อการศึกษาขึ้นมา
“สิ่งนี้คือประเด็นที่เรามักหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในช่วงแรกของการเข้าร่วมโครงการ แต่อย่างไรเสียก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือการที่เราสามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ พวกเราเป็นชาวปาเลสไตน์ พวกเราอยู่ภายใต้การถูกครอบครองมายาวนาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกเราขาดโอกาสที่ดีทางการศึกษา แต่ตอนนี้พวกเราก็ได้พิสูจน์ให้โลกรู้เห็นแล้วว่า พวกเราสามารถเอาชนะความจริงตรงนั้นไปได้แล้ว” Jarbawi กล่าว
“ฉันเชื่ออย่างจับใจว่า หากเด็กพวกนี้ได้กลับมายังบ้านเกิดของตัวเองในปาเลสไตน์ในอนาคต พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาจะต้องได้กลับมาเป็นผู้นำในมาตุภูมิแห่งนี้” Jarbawi กล่าวอย่างมีความหวัง
เมื่อได้พูดคุยกับเด็กนักเรียนก็ทำให้รู้ว่า พวกเขาเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาอุทิศตนเพื่อดินแดนปาเลสไตน์เช่นกัน
Akram เด็กหนุ่มที่ได้เข้าศึกษาต่อด้าน Computer Science ในมหาวิทยาลัย Stanford เชื่อว่า บริษัทด้านโปรแกรมมิ่งจะสามารถสร้างรายได้อันมหาศาลให้กับปาเลสไตน์ได้ในอนาคต ด้วยการสร้างโปรแกรมแล้วส่งออกไปขายให้กับต่างประเทศ
เช่นเดียวกันกับ Marah Akhdar เด็กสาวที่มุ่งมั่นอยากเป็นหมอศัลยกรรมหัวใจได้ให้สัมภาษณ์ว่า เธอจะช่วยพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานด้านหัวใจของปาเลสไตน์ให้ได้
“หากฉันได้มีโอกาสใช้ชีวิต 6-7 ปีในต่างประเทศเพื่อร่ำเรียนวิชาความรู้ ฉันจะกลับมาบ้านเกิดของตัวเองเพื่อช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ให้ได้”
“มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมันช่วยให้คุณรู้สึกว่าคุณได้พลังอะไรไปบางอย่าง มันช่วยสอนให้คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อที่คุณจะได้เอาไปปรับใช้กับบ้านเกิดของคุณในอนาคตต่อไป” เด็กสาวผู้เป็นอนาคตของปาเลสไตน์เล่าให้ฟังอย่างมุ่งมั่นและมีความหวัง ….
เพราะการหยิบยื่นแห-อวนและสอนให้คนหนึ่งรู้จักวิธีออกหาปลานั้น ดีงามและยั่งยืนกว่าการหยิบยื่นปลาให้เขาได้รับประทาน
เพราะการให้โอกาสทางการศึกษาคือการลงทุนที่สามารถให้ผลิตผลไว้เก็บเกี่ยวกินได้ในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถแบ่งปันผลิตผลเหล่านั้นเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้คนรอบข้างได้อีกมากมาย …
แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr