fbpx

ชีวิต ความคิด และความฝัน ของนักออกแบบชาวมุสลิม “ณัฐศรุต มะแส”

            “ทุกงานเหนื่อยหมด… เราติดสมุดอยู่เล่มนึง ก่อนนอนทุกวันเราจะเขียนว่าพรุ่งนี้จะเจออะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง สร้างเป้าหมายให้ตัวเองทุกวัน  และจะมีช่วงเวลาที่มานั่งเปิดสมุด คุยกับตัวเองสั้นๆ… อายุ 26 อยากเป็นอะไร อายุ 27 อยากทำอะไร… ถ้าเหนื่อยมากๆ ก็บอกกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันคือบันไดไปสู่เป้าหมายของเรานะ มันเลยทำให้เรามีแรงสู้ต่อไป…”

แนวคิดในการใช้ชีวิตวัยทำงานของสถาปนิกหนุ่มมุสลิม “ณัฐศรุต มะแส” ผู้รักในงานออกแบบ และสามารถทำงานที่ตนรักได้อย่างมีความสุขในทุกๆ วัน  เพราะเขามีแบบแผนชีวิตและเป้าหมายที่ชัดเจนเสมอ   ถึงแม้สายอาชีพนี้จะมีผู้คนมากมายใฝ่ฝัน แต่อะไรกันที่ทำให้เขาคนนี้มาถึงจุดที่ตั้งใจไว้ได้

“เริ่มจากตอนเด็กๆ เราชอบวาดรูป เราเห็นพ่อวาดรูปเก่ง เลยอยากเก่งเหมือนพ่อ มีความฝันว่าอยากทำงานอะไรก็ได้ที่จับปากกาวาดรูป แต่ที่บ้านไม่ค่อยอยากให้มาทางศิลปะมากนัก เพราะหลายๆ อย่างขัดกับหลักศาสนา พอโตมาจึงรู้ว่าสถาปัตย์มันเป็นศิลป์ครึ่งนึง วิทย์ครึ่งนึง เลยเลือกมาเรียนตรงนี้”

เมื่อได้เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผลงานของเขาโดดเด่นจนมีบริษัทโปรดักชันชื่อดังมาทาบทามให้ไปร่วมงาน ซึ่งเขารู้ดีว่าหากเข้าไปทำงานตรงนั้น จะต้องอยู่ในวงล้อมแห่งแสงสีที่อาจนำพาชีวิตให้ห่างไกลจากความเป็นมุสลิม ด้วยกับความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ เลยทำให้เขามีโอกาสได้ตัดสินใจ

“พอเรียนจบ ที่บ้านก็ให้ของขวัญโดยการให้เราไปทำอุมเราะห์ เลยเป็นโอกาสที่เราจะไปขอดุอาต่ออัลลอฮฺ ได้อะไรหลายอย่างในช่วงสั้นๆ ที่อยู่มักกะห์ เราสื่อสารบางอย่างกับอัลลอฮฺ เราไม่รู้ว่างานไหนพระองค์เลือกให้ เพราะตอนนั้นติดต่อเข้ามาเยอะมาก เลยตัดสินใจว่าถ้าเรากลับมาจากอุมเราะห์นี้ งานไหนติดต่อมาอันแรกก็จะเอาเลย พอเครื่องถึงสนามบินเปิดโทรศัพท์ก็มีบริษัทมุสลิมติดต่อเข้ามาทั้งๆ ที่เราไม่ได้สมัคร คืออัลลอฮฺให้เราจริงๆ ให้เราเริ่มต้นก้าวแรกด้วยกับอิสลาม”

เขาได้เล่าถึงการวางตัวและการใช้ชีวิตในสังคมต่างศาสนิก ที่ต้องเจอพบเจออยู่ตลอดเวลา “เราเป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำ เราทำกิจกรรมตลอด และสถาปัตย์เป็นคณะที่บันเทิง สังคมในคณะคือการร้องเล่นเต้นรำ สังคมนอกคณะคือการไปสังสรรค์ เราอยู่กับเพื่อนตลอด แต่เราไม่ทิ้งละหมาด เรารู้เรื่องศาสนา เรารู้ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ต้องเลี่ยง พอเป็นวัยทำงาน การปรับตัวเลยไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเรามีพื้นฐานการใช้ชีวิตจากในมหาวิยาลัยมาแล้ว”

“ศาสนิกอื่นเขาจะถามเราไม่กี่อย่าง เช่น ทำไมไม่กินหมู เราก็จะมีวิธีบอกให้เขาเข้าใจง่ายๆ คือ หนึ่งพระเจ้าสั่งห้าม เพราะพระเจ้าทดสอบนะ และอะไรที่พระเจ้าห้ามมันคือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ทีนี้เราก็มาอธิบายว่า เพราะเนื้อหมูมันมีสารที่ไม่ดียังไงบ้าง ยกหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มา พยายามตอบให้ครอบคลุมทั้งศรัทธาของเราและเหตุผลที่พิสูจน์ได้ เพราะคนสมัยนี้เชื่อวิทยาศาสตร์ มันทำให้คำตอบเราดูหนักแน่นและฉลาด  พระเจ้าของเราห้ามแต่สิ่งที่ไม่ดี ยังไม่มีอะไรที่พระเจ้าห้ามแล้วมันดีเลยในอิสลาม มันพิสูจน์ได้หมด เราพยายามตอบให้เขาคิดตามได้”

หลักง่ายๆ ในการทำงานของเขาคือ การมีความสุขกับงานและไม่แข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย   “เราซื่อสัตย์และตั้งใจ มุสลิมจะซีเรียสเรื่องที่ว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ เราจะกลัวบาปหากทำสิ่งที่ผิด เราเองไม่ได้นึกถึงเงินเป็นหลัก แต่นึกถึงสิ่งที่ได้จากการทำงาน มันจึงทำให้เราไม่เกี่ยงงาน และทุกครั้งที่ได้รับเงินมาเราจะแบ่งไปบริจาคเสมอ เราไม่ได้คิดถึงแค่โลกนี้อย่างเดียว เราวางแผนไปถึงโลกหน้าด้วย”

ด้วยบุคลิกของการเป็นนักออกแบบที่มีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา เทคนิคสำคัญที่เขาใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองคือ การตั้งเป้าหมาย “ทุกงานเหนื่อยหมด เราเป็นคนไม่เชื่อในอารมณ์ปัจจุบันมาก  เป็นคนชอบวางแผน เราติดสมุดอยู่เล่มนึง ก่อนนอนทุกวันเราจะเขียนว่าพรุ่งนี้จะเจออะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง สร้างเป้าหมายให้ตัวเองทุกวัน  พอตื่นมาก็รันชีวิตไปตามที่เขียนไว้ เป็นคนกึ่งหุ่นยนต์หน่อยๆ มันทำให้เราไม่เบื่อและไม่งงกับชีวิต เรามองล่วงหน้าไปหนึ่งวันเสมอ มองวันพรุ่งนี้ในระดับที่คาดคะเนได้     เมื่อก่อนติดเพื่อนมาก แต่ตอนนี้รักตัวเองมาก ทุกๆ วันจะช่วงเวลาที่มานั่งเปิดสมุดและคุยกับตัวเองสั้นๆ อายุ 26 อยากเป็นอะไร อายุ 27 อยากทำอะไร ถ้าเหนื่อยมากๆ ก็บอกกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันคือบันไดไปสู่เป้าหมายของเรานะ มันทำให้เรามีแรงสู้ต่อไป”

ถึงแม้จะอยู่ในสายงานออกแบบมาตลอด แต่เขาอยากจะทำงานรับใช้ศาสนาเช่นกัน   “อัลลอฮฺให้คนมาหลากหลาย ถ้าคนทำงานศาสนาทั้งโลกก็คงไม่มีคนบริจาค อิสลามคงไม่ไปไหน หรือถ้ามีแต่คนทำงานหาเงินแต่ไม่มีคนที่มีความรู้ไปพัฒนาศาสนา มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องควบคู่กันไป เราเป็นคนสองโลก ด้วยความเป็นมนุษย์เราก็ยังยึดติดกับโลกนี้อยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดเราอยากทำงานเพื่อศาสนาในรูปแบบที่เราถนัด อยากเป็นผู้ช่วยเหลือแบบจริงจัง อยากเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง”

เมื่อถามถึงอนาคตของนักออกแบบคนนี้ ว่าอยากจะมีชีวิตไปในทิศทางไหน   “เราอยากลดบทบาททางโลกให้เร็วที่สุด พยายามเค้นตัวเองออกมาว่าสามารถช่วยงานด้านศาสนาได้มากแค่ไหน อยากไปทำงานศาสนาในแบบที่เราถนัด   ส่วนตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องการลงทุน แบบไหนที่ฮาลาล ที่อิสลามเราทำได้ หาช่องทางมาซับพอร์ทตัวเองและครอบครัว เรารู้สึกว่าวัยนี้มันเหนื่อยได้ อยากเหนื่อยให้เต็มที่ไปเลย หากแต่งงานแล้วคงเหนื่อยกว่านี้ไม่ได้ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกและผู้นำที่ดีให้กับครอบครัว เราพยายามเตรียมความคิดให้พร้อมตลอดเวลา เราเชื่อว่าถ้าเงินทองพร้อม อาจจะอยู่ได้สักสองสามปี แต่ถ้าความคิดพร้อม เราจะอยู่ได้ตลอดชีวิต”

การทำงานออกแบบนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องห่างไกลจากความเป็นมุสลิม เพราะงานออกแบบนั้นช่วยพัฒนาความคิดในทุกๆ ด้าน และยังสามารถนำส่งเสริมงานศาสนาได้เช่นกัน

“วงการสถาปนิกยังขาดมุสลิม อยากให้มุสลิมเรียนสายนี้เยอะๆ อาวุธเด็ดของอิสลามคือความจริง ซึ่งบางครั้งมันเป็นดาบ คอยทิ่มแทงคนที่เข้ามาถ้าเราสื่อสารกับเขาไม่เข้าใจ   หากมีคนที่ทำงานสายครีเอทีฟมาแปลงความจริงนี้ให้ออกมาอย่างสร้างสรรค์ ย่อยความจริงให้มันละเอียดอ่อน สร้างลูกล่อให้เขาสนใจ มันจะทำให้คนมองภาพอิสลามเปลี่ยนไป”

สุดท้าย คือเรื่องความเป็นอยู่ในสังคมของครีเอทีฟที่หลายๆ คนอาจจะเป็นกังวล   “ต้องเข้าใจว่าสังคมนี้สนุกสนาน ต้องโดนทดสอบเยอะแน่นอน อย่างแรกขอให้ชัดเจนไปเลยว่าเราคือมุสลิม หากเราไม่มั่นใจในการแสดงออกเขาจะรับรู้ว่าสิ่งที่เราเป็นมันไม่ดี จงภูมิใจและมีจุดยืนตามหลักศาสนา พยายามแสดงออกในสิ่งที่ศาสนาสอน เช่นมารยาทที่ดี มนุษย์สัมพันธ์ที่ดี   หากเป็นมุสลิมะฮฺให้คลุมฮิญาบ เพราะฮิญาบนั้นกรองทุกอย่างได้จริงๆ ที่สำคัญคือตั้งใจสร้างผลงาน ทำให้เขาเห็นว่า ถึงแม้เราจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่เหมือนศาสนิกอื่น แต่เรามีความสามารถไม่แพ้พวกเขาแน่นอน”

ไม่ใช่เป็นเพียงนักออกแบบงานสร้างสรรค์ แต่เขาคือนักออกแบบความฝัน และเราเชื่อว่า เขายังเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับใครหลายๆ อีกแน่นอน

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก