เมื่อพูดถึง “บ้านพักคนชรา” หรือ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” มันอาจฟังดูไม่สอดคล้องกับบริบทของอิสลามเท่าใดนัก เพราะหากว่ากันตามหลักการศาสนาแล้ว คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างบ้านพักคนชราขึ้นมาเป็นกิจจะลักษณะในสังคมมุสลิม ด้วยเพราะหลักคำสอนในอิสลามที่เน้นย้ำถึงการดูแลปรนนิบัติบุพการียามแก่เฒ่า การให้ความสำคัญต่อความกตัญญูของบุตรหลานที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ท่านทั้งสองคอยเลี้ยงดูจนเติบโต หลักการต่างๆ เหล่านี้ทำให้บ้านพักคนชราในสังคมมุสลิมเป็นสิ่งไม่จำเป็น
แต่ความเป็นจริงที่เราพบเห็นในปัจจุบันคือ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในสังคมมุสลิมที่ต้องใช้บั้นปลายชีวิตโดยลำพัง บ้างไร้บุตรหลานญาติมิตร บ้างก็ยังมีคนใกล้ชิดแต่ถูกละเลยทอดทิ้งไม่ใส่ใจ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในสังคมต้องนอนป่วยบนเตียงอยู่ในบ้านเพียงลำพังเนื่องจากลูกหลานไม่ค่อยมีเวลาจะปรนนิบัติดูแล บางคนมีเพียง ‘ความเหงา’ เป็นเพื่อนสนิทในแต่ละวันที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเหงาๆ คนเดียวในบ้านราวกับคนที่รอเพียงวันหมดลมหายใจ
อาจปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ด้วยภารกิจในหน้าที่การงานและความรับผิดชอบที่คนส่วนใหญ่ต้องแบกเพื่อจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัว หลายคนไม่สามารถเลือกทางเดินชีวิตเพื่อให้ตนเองมีเวลามากพอที่จะอยู่ดูแลเป็นเพื่อนคุยกับบุพการีที่แก่เฒ่าได้ บางครอบครัวจำเป็นต้องทำงานนอกบ้านทั้งสามีและภรรยา ลูกหลานที่ต้องออกไปเรียนหนังสือตั้งแต่เช้ายันค่ำ สิ่งที่ผู้สูงอายุทำได้คงเป็นการอยู่บ้านด้วยความเดียวดาย และนี่คือความเป็นจริงของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“บ้านพักคนชรา” กับมุมมองของมุสลิม
สำหรับบางคน นิยามของคำว่า “บ้านพักคนชรา” อาจสร้างความรู้สึกในเชิงลบที่ทำให้คุณค่าในความเป็นบุพการีลดน้อยลงไป บางคนมองว่าการส่งบุพการีไปอาศัยที่บ้านพักคนชราสื่อถึงความอกตัญญูไม่สำนึกคุณ แต่หากมองจากมิติของสังคมในปัจจุบันเราจะพบว่า บางครั้งการที่คนหนึ่งเลือกที่จะเลี้ยงดูบุพการีผู้แก่เฒ่าด้วยตัวเองอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป คนที่แทบไม่มีเวลาปรนนิบัติดูแลพ่อแม่เนื่องจากภาระหน้าที่ที่ต้องแบกเอาไว้ คนที่ไม่มีความชำนาญการเฉพาะทาง คนที่ไม่มีตัวเลือกอื่นในชีวิตนอกจากต้องทำงานต่างถิ่นต่างแดนอันไกลบ้าน การให้บุพการีอยู่ในความดูแลของตนเพียงเพื่อจะแสดงถึงความกตัญญูทั้งๆ ที่ไม่มีเวลาดูแลใส่ใจนั้นจึงอาจดูไม่เหมาะสมกับบริบทของคนกลุ่มนี้
เมื่อโลกได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่ขัดแย้งกับวิถีเดิมในอดีต การเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ที่สร้างประโยชน์และก่อเกิดคุณงามความดีได้มากกว่าจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เช่นเดียวกับปัญหาคนชราในสังคมมุสลิมที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกปัจจุบัน การจัดสร้างศูนย์ดูแลคนชราสำหรับมุสลิมขึ้นมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะจึงน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่อาจรองรับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันได้
ตอบโจทย์ช่องว่างในสังคม
ที่ประเทศออสเตรเลีย ชาวมุสลิมที่นั่นได้เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ จึงได้จัดตั้งองค์กรเพื่อรับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในสังคมที่ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตัวผู้สูงอายุเองเช่นกัน ปัจจุบันมีสถิติรายงานว่าผู้สูงอายุเกือบ 400 ชีวิตในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยทั่วประเทศออสเตรเลียนั้นนับถือศาสนาอิสลาม ผู้สูงอายุชาวมุสลิมเหล่านี้ประสบความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับสังคมต่างจุดยืนที่อาจยังไม่เข้าใจในหลักศรัทธาและการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขา ชาวมุสลิมในออสเตรเลียได้มองเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลคนชรา Gollipoli Home ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตในศูนย์ดูแลคนชรา
Dr. Ibrahim Hammoud หนึ่งในผู้บริหารศูนย์ดูแลคนชรา Rahma Aged Care เปิดเผยว่า ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรมุสลิม การเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่และวิถีชีวิต และลักษณะโครงสร้างทางครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป เหล่านี้ได้ส่งผลให้ครอบครัวมุสลิมจำนวนมากในปัจจุบันไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ดูแลบุพการีสูงอายุได้เองที่บ้านอีกต่อไป ตลอดจนปัญหาจากศูนย์ดูแลคนชราทั่วไปที่พบว่าไม่สอดคล้องและไม่เอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นชาวมุสลิม จึงทำให้องค์กรมุสลิมในออสเตรเลียเริ่มมองเห็นแนวทางและความจำเป็นในการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในแบบอิสลามขึ้นมา
Gollipoli Home บ้านแห่งศรัทธาใกล้มัสยิด
Gollipoli Home คือศูนย์ดูแลผู้สูงวัยหรือบ้านพักคนชราแห่งแรกของออสเตรเลียที่สร้างขึ้นมาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักศรัทธาของชาวมุสลิมโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อเดิมว่า Rahma Aged Care บ้านพักคนชราแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยชาวมุสลิมในออสเตรเลียที่มีความตั้งใจและปรารถนาอยากมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้สูงอายุในสังคม Gollipoli Home ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนมุสลิมออสเตรเลีย สร้างติดกับมัสยิด Auburn-Gollipoli ซึ่งเป็นมัสยิดชื่อดังแห่งเมืองซิดนีย์ตะวันตก เพื่อให้ความรู้สึกประหนึ่งว่าผู้สูงอายุคือศูนย์รวมจิตใจของชุมชนที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึง “เราะห์มะฮ์” หรือความเมตตา
“เหตุผลที่เราเลือกสร้างบ้านพักคนชราใกล้กับมัสยิดเพราะเราต้องการให้พวกเขาอยู่กลางหัวใจของชุมชน เราอยากให้พวกเขารู้สึกมีความสุข” Dr. Abdurrahman Asaroglu ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Gollipoli Home กล่าว
“สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากโครงการนี้คือเราได้มีโอกาสทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในสังคม เราต้องการให้คนกลุ่มนี้ได้รับการเคารพให้เกียรติ เราไม่อยากให้ใครมาใช้วาจาไม่ดีหรือแสดงท่าทีไม่ให้เกียรติกับพวกเขาเหล่านี้” Dr. Asaroglu กล่าวเสริม
นอกจากนี้ จุดเด่นของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Gollipoli Home คือที่นี่มีอาหารฮาลาลคอยบริการให้กับผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่มุสลิมตลอดวัน มีห้องละหมาดตามแต่ละชั้น มีห้องโถงโปร่งสบายที่แยกชายหญิงชัดเจนเป็นสัดส่วน ศูนย์คนชราแห่งนี้ถูกออกแบบด้วยกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมอิสลามที่ลงตัว บริเวณลานใจกลางตัวอาคารเป็นสวนดอกไม้และน้ำพุสไตล์ออตโตมันที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ห้องนอนทุกห้องมีห้องน้ำภายในตัวและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเตรียมไว้ครบครัน เตียงนอนทุกเตียงถูกวางให้หันไปทางกิ้บลัตหรือทิศละหมาดเพื่อเอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจของคนชราขณะอยู่บนเตียง ห้องนอนบางห้องมีมัสยิด Auburn-Gollipoli เป็นวิวข้างหน้าต่าง ให้ความรู้สึกอุ่นใจแก่ผู้สูงวัยที่ต้องการใกล้ชิดพระเจ้าในบั้นปลายชีวิตได้เป็นอย่างดี ทำเลที่ตั้งถัดจากมัสยิดจึงเป็นจุดเด่นสำคัญของสถานอำนวยความสะดวกเพื่อคนชราแห่งนี้
Gollipoli Home เพรียบพร้อมไปด้วยทีมงานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ครบครัน อีกทั้งยังมีแพทย์ที่เป็นมุสลิมคอยเยียวยาให้กำลังใจแก่ผู้สูงอายุในแบบอิสลาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักหาได้ยากจากศูนย์คนชราที่มีอยู่ทั่วไป
Gollipoli Home สามารถรองรับผู้สูงวัยได้มากถึงหนึ่งร้อยกว่าราย เป็นบ้านพักคนชราที่ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติศาสนกิจของผู้สูงวัยชาวมุสลิมในรูปแบบที่สร้างสรรค์และใส่ใจต่อความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอย่างลงตัว Dr. Asaroglu อธิบายว่า “กลุ่มผู้สูงอายุต้องการปฏิบัติศาสนกิจดั่งเช่นเหมือนอยู่ในบ้าน เราจึงต้องจัดเตรียมสิ่งนั้นให้พวกเขา และนี่คือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำเรื่อยไป”
คือบ้านพักที่อบอุ่นด้วยความเมตตา
ปรัชญาหลักในการดำเนินงานของทางศูนย์ฯคือการเป็น “เพื่อนแท้แห่งความเมตตา” Gollipoli Home ปรารถนาอยากให้ผู้สูงอายุมีคนคอยดูแลใส่ใจอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมองเห็นความสำคัญของความแตกต่างด้านพื้นฐานทางวัฒนธรรมของผู้สูงวัยที่มาจากหลายชาติพันธุ์ เช่น ตุรกี เลบานอน อินเดีย อียิปต์ อิหร่าน ซีเรีย อัฟกานิสถาน อิรัก ปากีสถาน และบังคลาเทศ ที่นี่จึงมีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่และพยาบาลสามารถพูดได้หลายภาษาและเข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมและศาสนาของผู้สูงวัยทุกคน ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ต้องรู้จักนำคอนเซปต์ของ เราะห์มะฮ์ หรือ “ความเมตตา” ไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในศูนย์ฯอีกด้วย เจ้าหน้าที่ของที่นี่จึงได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักและเคารพหลักศรัทธาและศาสนปฏิบัติในอิสลามกันทุกคน ผู้จัดการฝ่ายโครงการ Andi Richardson กล่าวว่า “เราไม่ได้เลือกเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานที่นี่ตามทักษะความชำนาญเพียงอย่างเดียว แต่เราจะดูที่ทัศนคติและหัวใจของเขามากกว่า เพราะนั่นคือสิ่งที่จะช่วยสร้างสังคมและจะช่วยให้เราสามารถดูแลผู้สูงอายุในแบบที่พวกเขาควรได้รับการดูแลได้”
โดยปกติทางศูนย์ฯจะทำงานร่วมมือกับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของผู้สูงอายุอยู่เสมอ โดยลูกหลานหรือญาติมิตรจะต้องมาเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบตลอดสัปดาห์ หรือหากเมื่อใดที่ทางครอบครัวไม่สามารถมาได้ด้วยตัวเองก็จะต้องหาคนมาเข้าเยี่ยมแทน
บ้านพักคนชรากับมุมมองของมุสลิม
แน่นอนว่ามุสลิมบางกลุ่มอาจที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะต้องมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุขึ้นมาในสังคม เนื่องจากอิสลามเน้นย้ำและให้ความสำคัญต่อการดูแลปรนนิบัติบุพการียามแก่เฒ่าเป็นอย่างยิ่ง ในประเด็นนี้ Muhamad Hoblos นักดาอีย์ชื่อดังของออสเตรเลียอธิบายให้ฟังว่า
“เราจะต้องชัดเจนตรงนี้ด้วยว่า ศูนย์ดูแลคนชราแห่งนี้ไม่ใช่แหล่งกำจัดขยะที่เราไม่ต้องการ เพราะผมเชื่อแน่นอนว่ามุสลิมบางคนอาจคิดไปว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติมุสลิมสมัยนี้ที่เราถึงขนาดต้องสร้างศูนย์ดูแลคนชราขึ้นมาเช่นนี้? ไม่..อันนี้ไม่ใช่อย่างที่คิด เราไม่ได้เปิดศูนย์ฯเพื่อเป็นแหล่งรองรับให้มุสลิมทิ้งขว้างสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการแล้ว แต่เรากำลังเปิดประตูให้กับมุสลิมที่คิดว่าเขาไม่สามารถดูแลคนที่เขารักมากที่สุดในชีวิตให้ดีที่สุดได้ ที่นี่สามารถรองรับเพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจได้ว่า เราจะดูแลบุพการีผู้เป็นที่รักของเขาประหนึ่งว่าเป็นบุพการีของเราเอง”
ศูนย์คนชราแห่งนี้ใช้งบประมาณในการจัดสร้างทั้งสิ้น 33 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและได้จากการร่วมใจกันบริจาคของชาวมุสลิมเอง ใช้เวลากว่าห้าปีในการสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์จนสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มันคือหนึ่งความตั้งใจในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมของชาวมุสลิมในออสเตรเลีย ที่เชื่อมั่นเสมอว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะงอกเงยออกดอกผลให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่างและนำไปปฏิบัติสืบต่อไป เพราะพวกเขาเชื่อมั่นกับคำสอนของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ที่กล่าวว่า “หากคนหนึ่งเคารพให้เกียรติคนชราในช่วงวัยของเขา อัลลอฮจะประทานให้มีคนมาเคารพให้เกียรติเขาในวันที่เขาแก่ตัวลงเช่นกัน” (รายงานโดย อัตติรฺมีซีย์)
แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา :
- Sydney Gets First Muslim Aged-Care Center
- https://www.gallipolihome.org.au
- HOW GALLIPOLI HOME WILL DIFFER TO OTHER AGED CARE FACILITIES
- Australian Muslim community to build $20 million aged care facility