fbpx

จิตป่วยไม่ใช่เรื่องเลวร้าย : คำโอดครวญของผู้ป่วยจิตเวชมุสลิมที่ต้องเผชิญการตีตราจากสังคม

เครียด เศร้า หมองหม่น และจิตตก เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเรื่องชวนเครียดและสร้างความวิตกกังวลในจิตใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากปัญหาส่วนตัว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง การปะทะกันทางความคิดของผู้คนที่มีความเชื่อแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าใครก็ล้วนมีโอกาสที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตขึ้นได้ทั้งนั้น

ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ สถิติระบุชัดว่าจำนวนผู้มีอาการป่วยทางจิตพุ่งสูงขึ้น นั่นทำให้เราทุกคนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือการเจ็บป่วยทางจิตที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว แต่หากหันกลับมามองที่สังคมมุสลิม สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าจำนวนผู้ป่วยคือทัศนคติและความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เรามีต่ออาการเจ็บป่วยทางจิตและผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตมุสลิม

อาการเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากอะไร?

มุสลิมหลายคนมักเชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตล้วนเกิดจากการครอบงำของญิน สิ่งมีชีวิตอีกประเภทที่พระเจ้าสร้างขึ้น ซึ่งถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า “และฉัน (พระเจ้า) ไม่ได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใดเว้นแต่เพื่อนมัสการพระองค์” (อัลกุรอาน 51:56) น่าเสียดายที่หลายครั้งความเชื่อนี้หยุดยั้งมุสลิมที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตไม่ให้ไปขอความช่วยเหลือและการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และเลือกที่จะติดต่อผู้รักษาทางจิตวิญญาณแทน

ตีตราและตัดสิน

การถูกตีตราและตัดสินจากสังคมเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มุสลิมระมัดระวังในการเข้าหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หลายคนกังวลและกลัวจะถูกมองด้วยสายตาอคติจากผู้คนในสังคมที่มักตีตราและตัดสิน ไม่เพียงแต่คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังเหมารวมไปถึงครอบครัวของคนเหล่านั้นอีกด้วย ครั้งหนึ่งท่านศาสนทูตมุฮัมมัดเองก็เคยเผชิญกับการตีตราตัดสินจากผู้คนหลังจากได้รับวิวรณ์ (วะฮ์ยู Revelation) ท่านถูกตราหน้าว่าเป็น “คนบ้า” ที่อ้างว่าทูตสวรรค์นำวิวรณ์จากพระเจ้ามาให้แก่ท่าน

และผู้คนก็ยังมักเข้าใจผิดว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้นเกี่ยวข้องกับความ “อ่อนแอ” แต่ในความเป็นจริงแล้วความเจ็บป่วยทางจิตไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอเลยแม้แต่น้อย

การเข้าถึงการช่วยเหลือ

นอกจากนี้มุสลิมยังมีความรู้สึกว่าแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ไม่ใช่มุสลิมมักจะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวมุสลิม และเป็นเรื่องผิดที่จะขอความช่วยเหลือจากพวกเขาเหล่านั้น แถมยังมีความกังวลในเรื่องการใช้ยาที่อาจผิดหลักการศาสนาเนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมึนงงและเซื่องซึม

ซึ่งที่จริงแล้วการเข้าถึงการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตไม่ได้หมายถึงการละทิ้งคำสอนของพระเจ้า แต่เป็นการก้าวไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาวะและการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุน อย่างที่ท่านศาสนทูตได้กล่าวว่า “ใช้ประโยชน์จากการรักษาพยาบาล เพราะอัลลอฮ์ไม่ได้ทำให้ป่วยโดยไม่ได้กำหนดวิธีการรักษา” (อบูดาวุด)

บางครั้งยาอาจทำให้เกิดอาการเซื่องซึมและผลข้างเคียงอื่นๆ แต่ประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่าผลเสีย ประสบการณ์การใช้ยาของทุกคนแตกต่างกัน ดังที่อัลลอฮ์กล่าวว่า “มีเครื่องดื่มที่มีสีสันต่างๆ ออกมาจากท้องของมัน(ผึ้ง) ในนั้นมีสิ่งบำบัดแก่ปวงมนุษย์ แท้จริงในการนั้น แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่กลุ่มชนผู้ตรึกตรอง” (อัลกุรอาน 16: 69) แสดงให้เห็นถึงการแนะนำให้ผู้ศรัทธาใช้น้ำผึ้งเป็นยา และชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาไม่ได้เป็นเรื่องผิดหลักการศาสนา

ในอดีตหอผู้ป่วยจิตเวชที่เก่าแก่ที่สุดบางแห่งถูกสร้างขึ้นในโลกอิสลาม โดยมีแหล่งข้อมูลบ่งชี้ว่าก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่แบกแดดในช่วงศตวรรษที่ 9 ภายใต้การปกครองของคอลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีด แสดงให้เห็นว่าศาสตร์ด้านจิตเวชนั้นช่วยส่งเสริมศาสนาอิสลามได้จริง

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่มักเชื่อว่า วิธีรักษาอาการป่วยทางจิตคือการมีอีหม่านและทำอิบาดะห์ให้มากขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็อาจไม่ถูกทั้งหมดด้วยเช่นกัน เพราะครั้งหนึ่งท่านศาสนทูตมุฮัมมัดเคยกล่าวว่า “จงผูกอูฐของท่าน แล้วมอบหมายต่อพระเจ้า” (อัต-ติรมิซีย์) ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้เราต้องมอบหมายต่อพระเจ้า แต่เราก็ต้องใช้ความพยายามด้วยเช่นกัน

อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมขอดุอาอฺไปพร้อมกับการมองหาความช่วยเหลือทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น หากมีใครคนหนึ่งแขนหักเขาจะต้องไปหาหมอเพื่อให้แน่ใจว่ากระดูกได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และก็ขอดุอาอฺต่อพระผู้เจ้าให้ช่วยทำให้เขาหายดี ซึ่งตัวอย่างนี้ใช้กับความเจ็บป่วยทางจิตได้ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่เราควรทำ

มุสลิมจำเป็นต้องได้รับความรู้และความเข้าใจในคำสอนของศาสนาอิสลามที่หมากหลายและครอบคลุมมากขึ้น เพราะองค์ความรู้จากคำสอนของอิสลามนั้นกว้างขวาง เต็มไปด้วยคำวินิจฉัยในทุกสถานการณ์ที่มุสลิมอาจต้องพบเจอ และหากเป็นไปได้มุสลิมควรสร้างความรู้และความใจในอิสลามให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเข้าถึงมุสลิมได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนทัศนคติของคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในกรณีนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนในสังคมมุสลิมต้องช่วยกันทำ ผู้นำและนักวิชาการมุสลิมต้องช่วยกันให้ความรู้ สื่อต้องช่วยกันเผยแพร่ เพื่อลดอคติและการตีตราตัดสิน อาหารเจ็บป่วยทางจิตไม่ใช่เรื่องเลวร้ายและเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการไปพบจิตแพทย์นั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการไปหาหมอเพื่อรักษาความเจ็บป่วยทางร่างกาย

“และเมื่อฉันป่วย พระองค์คือผู้ที่ทำให้ฉันหายป่วย” (อัลกุรอาน 26:80)

บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจากบทความของมุสลิมชาวอังกฤษคนหนึ่ง ที่เคยเป็นผู้ป่วยด้านจิตเวชและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนานนับสิบป


เรียบเรียงโดย : Halal Life Magazine
ที่มา : https://bit.ly/3hX9hbW

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน