fbpx

ทำความรู้จัก ‘กูเตาะห์’ เมืองที่เต็มไปด้วยความงดงาม ก่อนสงครามจะมาเยือน

ถ้าพูดถึง “เมืองกูเตาะห์” ของประเทศซีเรีย หลายคนอาจเพิ่งคุ้นหูกับคำนี้เมื่อไม่นานนัก โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผ่านมาเมื่อข่าวคราวโศกนาฏกรรมสงครามของพี่น้องชาวซีเรียในเมืองกูเตาะห์ เริ่มมีให้เห็นและได้ยินให้สลดสะเทือนใจกันแทบทุกวัน

หลายคนอาจรู้จักชื่อนี้ด้วยจินตนาการในหัวสมองเป็นภาพเมืองร้างที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน ภาพดินแดนที่ถูกแต้มด้วยเฉดสีเทาครึ้มของโขมงควันระเบิดที่ถูกปล่อยลงมาจากน่านฟ้า ภาพประชาชนที่มีสีหน้าทุกข์ระทมเนื่องจากไม่มีอาหารให้ตกถึงท้องมาหลายวัน เชื่อว่าคงไม่มีใครจินตนาการมองเห็นสีสันอื่นใดนอกไปจากสีขาวดำและเทาครึม เพราะนั่นคือภาพเมืองกูเตาะห์ในปัจจุบันที่เราเพิ่งได้มีโอกาสรู้จักในวันที่มันบอบช้ำหมดสภาพแล้ว จนไม่เหลือความสวยงามดั้งเดิมในอดีตดังเช่นที่มันถูกสรรค์สร้างมา

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนจะกลายมาเป็นสีเทา ‘กูเตาะห์’ คือเมืองที่อุดมไปด้วยสีเขียวและสีสันแห่งพันธุ์ผลไม้หลากหลาย คือเมืองที่แต่งแต้มด้วยรอยยิ้มของผู้คนที่เต็มไปด้วยความสุขจากอาหารที่มาจากธรรมชาติ คือเมืองที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องชาติบ้านเมืองอันแข็งแกร่ง ไม่ใช่ผู้ถูกรังแกที่อ่อนแรงหมดสภาพและรอวันมอดมลายเช่นทุกวันนี้

เรื่องเล่าจากศาสตราจารย์ Karen Pinto นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แห่ง Boise State University จะพาเราไปย้อนรอยชมประวัติศาสตร์อันงดงามของเมืองกูเตาะห์ในอดีต ที่เราคงไม่มีวันได้เห็นภาพนั้นด้วยประสาทสัมผัสทางตาอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน และมันอาจจะเป็นได้เพียงสิ่งที่คงไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ทำความรู้จัก…ด้วยเพียงจินตนาการ

 

กูเตาะห์’ กับวันนี้ที่แสนบอบช้ำ   

กูเตาะห์เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนโอเอซิสแห่งดามัสกัสกำลังถูกทำลายลงอย่างพังพินาศ ชะตากรรมของ กูเตาะห์ในวันนี้กำลังถูกระเบิดถล่มเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกโจมตีด้วยอาวุธทางเคมีที่ร้ายแรงถึงชีวิต ภาพประชาชนที่ร่ำไห้เพราะความหิวโหย สภาพศพที่เรือนร่างแหลกสลายจนไม่เหลือชิ้นดี และภาพการอพยพหนีภัยของฝูงชนที่ดูกี่ครั้งก็สะเทือนหัวใจ

ด้วยพิกัดที่อยู่ห่างจากราชวังของบัชชารฺ อัลอัซซาดออกไปเพียง 7 ไมล์ กูเตาะห์ถือเป็นดินแดนเล็กๆ ผืนสุดท้ายที่ยังคงเหลืออยู่ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล กูเตาะห์ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงอย่างดามัสกัส ที่ที่ซึ่งกลุ่มกองกำลังทหารเผด็จการของครอบครัวอัซซาดได้ยึดครองอำนาจมายาวนานถึง 47 ปี

ขบวนการปฏิวัติแห่งซีเรียที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อนได้ประสบกับความล้มเหลว และยอดผู้เสียชีวิตในดินแดนกูเตาะห์ตะวันออกที่ไต่สูงขึ้นในแต่ละวันได้กลายเป็นเพียงลมหายใจเฮือกสุดท้ายที่กำลังรอวันตายจากไป แต่สิ่งหนึ่งที่ข้อเท็จจริงทางการเมืองอันขุ่นมัวไม่เคยได้บอกกล่าวกับเราคือเรื่องราวฉบับเต็มของเมืองกูเตาะห์ เรื่องราวของจารึกประวัติศาสตร์และความสวยงามอีกด้านของเมืองกูเตาะห์ที่โลกกำลังถูกทำให้ลืม

ฉันคือนักวิชาการประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับแผนที่อิสลาม โดยเรียบเรียงจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางภูมิศาสตร์ที่ถูกบันทึกกันมาตั้งแต่อดีต ฉันเคยไปเยือนเมืองกูเตาะห์ที่เปรียบเสมือนชานเมืองของดามัสกัส ที่ซึ่งเป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรม ฉันเคยพบปะกับชาวกูเตาะห์และเคยมีความสุขกับภาพบรรยากาศ กับเสียงรอบข้าง กับกลิ่นอายและกับรสชาติอาหารของที่นั่น

และในขณะที่โลกกำลังเฝ้าดูข่าวคราวความหายนะรายวันที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยสูงส่งสง่างามแห่งนี้ ฉันคิดว่ามันจึงสำคัญไม่น้อยที่เราจะต้องได้รับรู้ถึงอดีตที่งดงาม เมื่อครั้งที่เมืองกูเตาะห์แห่งนี้เคยถูกเรียกขานว่าเป็น “ดั่งรัศมีอันเขียวขจีแห่งเมืองดามัสกัส”

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2018 โขมงควันจากระเบิดทำลายล้างครอบคลุมทั่วเมืองกูเตาะห์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลออกไปจากเมืองดามัสกัสของซีเรีย

 

กูเตาะห์’ เมืองโอเอซิสอันเขียวขจี   

เมืองกูเตาะห์หรือ Ghouta ( غوطة دمشق / Ghūṭat Dimashq) เมื่อครั้งก่อนอดีตเคยเป็นถนนวงแหวนแห่งดามัสกัสเมืองหลวงของซีเรียที่มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์มาก กว่าหลายสิบศตวรรษที่เมืองอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้เป็นแหล่งต้นกำเนิดผลิตพืชผักผลไม้นานาพันธุ์ให้กับเมืองดามัสกัสเรื่อยมา โดยเฉพาะผลไม้อย่างทับทิมของเมืองกูเตาะห์นั้น มักจะเป็นที่เลื่องลือกันว่ามีรสชาติอร่อยที่สุดกว่าทับทิมจากที่อื่นใด

ภาพแห่งความทรงจำของเมืองดามัสกัสเมื่อปี 1903 ที่สามารถมองเห็นเรือกสวนเขียวขจีของเมืองกูเตาะห์ได้จากระยะไกล

หากไม่มีเมืองกูเตาะห์เป็นแหล่งอาหารคอยหล่อเลี้ยง ก็คงไม่มีทางที่เมืองดามัสกัสจะยืนหยัดอยู่รอดปลอดภัยและกลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงอันคึกคักที่เก่าแก่ที่สุดของโลกได้ถึงทุกวันนี้ เมื่อย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์เราจะเห็นได้ว่า เมืองดามัสกัสมีลักษณะเสมือนระเบียงที่ทอดยาวตลอดที่ราบเอียงทางตอนใต้ของภูเขา Qasiyun ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศซีเรียกับเลบานอน โซนป่าเขียวขจีของเมืองกูเตาะห์ที่ชอุ่มชุ่มฉ่ำด้วยสายน้ำจากแม่น้ำ Barada ถือได้ว่าเป็นแนวชายแดนด่านสุดท้ายของเมืองหลวงดามัสกัส ก่อนที่ได้จะเจอภาพดินแดนทะเลทรายผืนใหญ่ของซีเรียเป็นทิวทัศน์ถัดไป

กูเตาะห์เป็นเมืองเลื่องลือด้วยชื่อเสียงเรียงนามที่เมื่อผันตามชื่อสกุลอาหรับแล้วได้ความหมายว่า “ดินแดนเกษตรสมบูรณ์อันชุ่มชอุ่มมั่งคั่งที่รายล้อมรอบนอกด้วยทะเลทรายอันแห้งแล้ง”  พื้นที่วิเศษแห่งนี้ช่างมีอิทธิพลต่อจิตวิญญาณแห่งอาหรับยิ่งนัก เมื่อชื่อของเมืองนี้ได้รับเกียรติให้กลายเป็นรากศัพท์ในภาษาอาหรับเพื่อใช้เรียกหรือกล่าวถึงความเขียวขจี คลังศัพท์ในพจนานุกรมภาษาอาหรับ-อังกฤษรุ่นคลาสสิคแห่งปี 1877 ของ Edward Lane ได้บัญญัติให้คำว่า “กูเตาะห์” มีความหมายว่า “สถานที่ที่อุดมไปด้วยน้ำและพืชพันธุ์รากไม้” Edward Lane เจาะจงอ้างอิงถึงคำว่า “Ghūṭa of Dimashq” ซึ่งในภาษาอังกฤษแปลว่า “เมืองกูเตาะห์แห่งดามัสกัส” ไว้โดยเฉพาะ พร้อมอธิบายความหมายกำกับว่าเป็น “สถานที่ที่อุดมไปด้วยน้ำและต้นไม้”

นักภูมิศาสตร์อย่าง al-Muqaddasi ผู้ซึ่งเคยเยือนดินแดนกูเตาะห์เมื่อปลายศตวรรษที่10 ได้จัดอันดับให้เมืองกูเตาะห์เป็นหนึ่งในสามของสถานที่ที่น่าอยู่ที่สุดในโลกมุสลิม พร้อมกับหุบเขาแห่งซาร์มาคัน (Valley of Samarqand) และปากแม่น้ำแห่งไทกริส (estuary of the Tigris) อีกทั้งยังพบว่าในขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวมุสลิมก็ยังจัดให้เมืองกูเตาะห์แห่งดามัสกัส เป็นหนึ่งในสถานที่ในไม่กี่แห่งที่มีความเป็นเมืองสวรรค์บนดินอีกด้วย

ภาพออกแบบพื้นที่จาก ‘Civitates orbis terrarum’ ของ Georg Braun บ่งบอกให้เห็นถึงเมืองดามัสกัสที่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจีของเมืองกูเตาะห์ ที่ให้ภาพจินตนาการเสมือนเป็นรัศมีสีเขียวล้อมรอบเมือง

 

กูเตาะห์เมืองแห่งด่านปราการ

นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ได้บอกเล่าให้เราได้รู้ว่าดินแดนเขียวชอุ่มแห่งเมืองกูเตาะห์นี้ได้เคยทำหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือการปฏิบัติหน้าที่เสมือนปราการคอยปกป้องเมืองหลวงดามัสกัส มีหลักฐานจารึกโดยนักบันทึกประวัติศาสตร์อาหรับได้เล่าว่า ตั้งแต่ช่วงแรกสุดของประวัติศาสตร์อิสลาม ในยุคสมัยของคอลีฟะฮ์ อัรรอชิดูน (คอลีฟะฮ์สี่คนแรกของอิสลาม) ช่วงกลางศตวรรษที่ 7 สวนผลไม้ในเมืองกูเตาะห์ได้ทำหน้าที่เสมือนกำแพงเมืองที่คอยเป็นกำบังให้เมืองดามัสกัสรอดพ้นจากการโจมตีของเหล่าศัตรู และนี่คืออีกหนึ่งจารึกที่กูเตาะห์ได้ทำให้เมืองดามัสกัสสามารถอยู่รอดปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาตลอดระยะเวลาสามพันปี  บทบาทของกูเตาะห์ในฐานะผู้ปกป้องภัยสงครามของเมืองดามัสกัสยังได้ถูกจารึกไว้เป็นความทรงจำในวจนะของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) อีกด้วยว่า :

“ท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) เคยกล่าวว่า : แหล่งรวมตัวของชาวมุสลิมในภาวะสงครามจะเป็น ‘กูเตาะห์’ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ดามัสกัส’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ดีที่สุดของซีเรีย”

นักเดินทางส่วนใหญ่มักนิยมใช้เส้นทางผ่านกูเตาะห์เมื่อต้องเดินทางไปเมืองดามัสกัส และมักจะได้แรงบันดาลใจอยากเขียนพรรณนาถึงความสวยงามของสถานที่แห่งนั้น ชาวเมืองอันดาลุสแห่งศตวรรษที่12 อย่าง Ibn Jubayr ผู้ซึ่งเคยเดินทางจากเมือง Cordoba ของสเปนไปยังเมืองมักกะฮ์ประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์เมื่อปี 1184 ก็เคยใช้เส้นทางกลับสเปนผ่านประเทศซีเรียและเมืองซิซิลี ท่านได้เขียนพรรณนาถึงเรือกสวนในเมืองกูเตาะห์ว่า  “งดงามเหนือคำบรรยาย” และด้วยเพราะกูเตาะห์เป็นเมืองที่ล้อมรอบดามัสกัส ท่านจึงเขียนพรรณนาถึงกูเตาะห์ว่า  “เปรียบเสมือนรัศมีที่ล้อมรอบดวงจันทร์” ที่ล้อมเมืองอย่างงดงามราวกับ “แฉกกลีบเลี้ยงของดอกไม้”

นักกวีชาวซีเรียชื่อดังอย่าง  Muhammad Kurd Ali ผู้เป็นทั้งนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ที่ใช้ชีวิตในช่วงปี 1876-1953 ได้ประพันธ์บทกวีร้อยกรองเขียนเป็นหนังสือทั้งเล่มอุทิศเฉลิมฉลองแด่เมืองกูเตาะห์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแม้กระทั่งความเชื่อยอดนิยมที่ว่าเมืองกูเตาะห์นั้นดั้งเดิมเคยตั้งอยู่บนสรวงสวรรค์ ต่อมาพระเจ้าได้ประทานให้เมืองแห่งนี้มาจุติบนโลกตามคำขอของอาดัมบุรุษคนแรกแห่งมวลมนุษยชาติ

ทิวทัศน์อันสวยงามของเมืองกูเตาะห์และฟาร์ม Al Kiswah

 

ในฐานะนักวิชาการแผนที่ประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่กำลังนั่งมองดูความพังพินาศจากมุมไกล ฉันเห็นเสมือนกับว่าตอนนี้ดามัสกัสกำลังทำลายแขนข้างหนึ่งของตนเองไปอย่างไร้ความปราณี มันคือโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายสุดจะพรรณนาสำหรับเมืองกูเตาะห์ ที่นับวันรันแต่จะมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ‘กูเตาะห์’ คือสวรรค์ที่หายสาบสูญไปนาน ที่เพียงนับวันรอจุดจบอันเลวร้ายมาเยี่ยมเยือน…

 

แปลและเรียบเรียง :  Andalas Farr
ที่มา : https://theconversation.com/bombed-into-oblivion-the-lost-oasis-of-damascus-92643

 

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก