fbpx

ชุมชนชาวจาม ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูบนแผ่นดินเวียดนาม

รู้หรือไม่ว่าดินแดนทางใต้ของประเทศเวียดนามเคยเป็นอาณาจักรที่ปกครองโดยมุสลิม ก่อนจะพ่ายแพ้สงครามให้กับราชวงศ์เวียดนามและสูยเสียดินแดนไปกระทั่งปัจจุบัน

นี่คือบันทึกเรื่องราวการเดินทางของ Simone Doenvang มุสลิมใหม่จากเดนมาร์ค ที่รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้พบเจอเพื่อนร่วมศาสนิกในอีกฟากหนึ่งของโลก ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้คนต่างความเชื่อและศรัทธา และนี่คือเรื่องราวของ “ชุมชนมุสลิมชาวจาม” ที่เธอพบเจอในประเทศเวียดนาม

เมื่อครั้งที่ไปเยี่ยมเยียนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ฉันถึงกับต้องประหลาดใจเมื่อได้พบว่าดินแดนที่ฉันเห็นข้างหน้านี้มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ด้วย พวกเขาคือมุสลิมชาวจาม มาสร้างถิ่นฐานตั้งรกรากในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้กับเขตแดนกัมพูชา

เรือเล็กที่ฉันและกลุ่มนักท่องเที่ยวร่วมโดยสารกันมาเริ่มจอดเทียบท่า พวกเราต้องทยอยลงจากเรือกันทีละคนเพื่อเดินข้ามสะพานไม้แคบๆ ที่ดูเหมือนเริ่มจะผุพังตลอดทางยาวข้างหน้า ภาพแรกที่เราเห็นคือเด็กๆ ไม่สวมรองเท้าเดินเข้ามาหาเราอ้อนให้ซื้อขนมในมือ บ้างก็เดินตามเราไปจนถึงหมู่บ้านเลยก็มี

ที่นั่งอยู่ไม่ไกลจากตรงนั้นเราเห็นชาวบ้านผู้ชายกลุ่มหนึ่ง สวมเสื้อแขนยาวนุ่งผ้าโสร่งที่เรียกว่า “บาติก ลูงิ” รวบขึ้นเป็นปมนูนที่เอว บนศีรษะสวมหมวกสีขาว พวกเขากำลังเจรจาพาทีกับผู้ใหญ่อาวุโสท่านหนึ่งที่สวมเสื้อคลุมยาวขาวสะอาด บนศีรษะโพกผ้าสะระบั่นดังเช่นที่เห็นเป็นภาพชินตาเมื่อเจอมุสลิมทั่วไป

บ้านแต่ละหลังของที่นี่ถูกสร้างขึ้นแบบยกพื้นบนไม้หรือเสาค้ำแบบคอนกรีตที่มีความสูงจากพื้นประมาณ 2-3เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำโขงท่วมเข้าบ้านในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่ใต้ถุนของบ้านหลังหนึ่งบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน เราได้เห็นชาวบ้านผู้หญิงมุสลิมสวมฮิญาบกลุ่มหนึ่งกำลังสาธิตวิธีการทอผ้า และนำเสนอผ้าที่ถักทอด้วยลวดลายสวยงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนจามปาแห่งนี้

หากย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาวจามเราจะพบว่า ครั้งหนึ่งเมื่อคริศต์ศตวรรษที่ 2-17 ดินแดนทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามเคยตกเป็นของอาณาจักรจามปา ซึ่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งจากกลุ่มเชื้อสายมลายูโปลีเนเซียน ความรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรจามปาแห่งนี้ส่วนใหญ่มีรายได้เข้ามาจากการขายแรงงานทางทะเล และการค้าไม้หอมหรือไม้จันทน์ สันนิษฐานกันว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจุดกำเนิดของการเข้ารับศาสนาอิสลามในเวียดนามที่เริ่มมีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 กษัตริย์เจ้าเมืองจามปาได้เข้ารับอิสลามอย่างเป็นทางการ จากนั้นท่านได้ทำการเผยแพร่คำสอนศาสนาอิสลามให้กับราษฎรที่อาศัยในดินแดนทางตอนใต้ ก่อนที่ราชวงศ์เวียดนามจะเข้ามายึดอำนาจครอบครองดินแดนดังกล่าวภายในเวลาต่อมา การถูกรุกรานและต้องพ่ายแพ้ให้กับเวียดนามในครั้งนั้นจึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ช่วยอธิบายได้ดีว่า เหตุใดหลักคำสอนศาสนาอิสลามจึงไม่เข้าถึงชาวจามที่อาศัยอยู่ในเมืองแถบภูมิภาคตอนกลางของประเทศเวียดนามเท่าใดนัก ที่นั่นประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูหรือพุทธเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากที่มีการบุกรุกยึดดินแดนในอาณาเขตทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ชาวจามมุสลิมส่วนใหญ่ได้หลบหนีไปพำนักอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาจนได้สถาปนาดินแดนแห่งนั้นให้กลายเป็นที่เรียกกันว่า “Kampong Cham” หรือแปลว่า “หมู่บ้านชาวจาม” บางส่วนก็หลบหนีพำนักอาศัยอยู่ที่รัฐตรังกานูประเทศมาเลเซีย และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ยังคงปรากฏให้เห็นตามบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงของเวียดนามจนถึงปัจจุบัน

จากปากทางเข้าหมู่บ้านเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ไกด์นำเที่ยวได้พาเราเดินขึ้นบันไดจนไปเจอทางเดินไม้กระดานที่เชื่อมต่อบ้านเสาค้ำของชาวบ้านแต่ละหลังเข้าด้วยกัน เสียงเอี๊ยดอ๊าดจากไม้กระดานดังขึ้นเกือบทุกก้าวที่เราเดินเข้ามาตลอดทาง ขณะที่เดินผ่านตามบ้านเหล่านั้นเราชำเลืองเห็นผู้หญิงและเด็กๆ ที่คอยแอบมองจากในบ้าน จ้องดูชาวต่างชาติที่ดูแปลกหน้าสำหรับคนในละแวกนี้

ชุมชนจามปามีพลเมืองอาศัยอยู่ประมาณ 300-400 ชีวิต ชาวบ้านผู้ชายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงหรือทำงานในบ่อปลาใกล้บริเวณแม่น้ำโขง ส่วนผู้หญิงก็ทำงานทั่วไปในหมู่บ้าน เช่นงานทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองจาม บ้างก็ประกอบอาชีพค้าขายในตลาดชุมชน เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ในเวียดนาม ชาวจามมุสลิมที่นี่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ พวกเขามักถูกจ้างให้ทำงานระดับล่างที่มีค่าแรงค่อนข้างต่ำ ส่วนผู้หญิงที่ต้องทำงานข้างนอกก็มักถูกสังคมบังคับให้ถอดฮิญาบเพื่อไม่ให้ดูแบ่งแยก ความเป็นอยู่ที่แตกต่างของชุมชนที่นี่จึงเป็นปัญหาท้าทายอีกอย่างหนึ่งต่อการปฏิบัติตามหลักศรัทธาที่พวกเขายึดถือ โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ต้องออกไปทำงานข้างนอกชุมชน

กลุ่มนักท่องเที่ยวของเราเดินออกจากหมู่บ้านเข้าสู่ถนนยางมะตอยเส้นหลักของชุมชน แค่ข้ามถนนไปอีกฟากก็จะเห็นมัสยิดสีขาวสะอาดตาเด่นตระหง่านสะท้อนแสงอาทิตย์เจิดจ้า ข้างๆ กันนั้นมีโรงเรียนสอนศาสนาขนาดเล็กตั้งอยู่ไม่ไกลออกไป มัสยิดแห่งนี้เพิ่งแล้วเสร็จจากการบูรณะซ่อมแซมเมื่อไม่นานมานี่เอง ซึ่งในการบูรณะหรือสร้างมัสยิดขึ้นใหม่แต่ละครั้งชาวจามมุสลิมจำเป็นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากมุสลิมนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะได้รับการบริจาคจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย สองประเทศนี้เป็นแหล่งที่ผู้รู้มุสลิมในเวียดนามส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนและได้ใบปริญญากลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง การผลิตหรือแจกจ่ายคัมภีร์อัลกุรอานและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่างๆ ยังถือเป็นเรื่องต้องห้ามในประเทศเวียดนาม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราได้เห็นการผสมผสานกันระหว่างพิธีกรรมทางศาสนาพุทธปะปนกับหลักคำสอนศาสนาอิสลาม จนกลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่สืบทอดเรื่อยมาตามกาลเวลา

ปัจจุบันประชากรมุสลิมในประเทศเวียดนามมีทั้งสิ้นประมาณ 65,000 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชาวจาม และกลุ่มใหญ่รองลงมาคือกลุ่มเชื้อสายเวียดนามที่เข้ารับอิสลาม แม้ว่าอิสลามจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในประเทศแห่งนี้ แต่ชาวมุสลิมจามก็ยังคงรู้สึกห่างเหินกับกลุ่มเชื้อสายเวียดนามอยู่อีกมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะเศษเสี้ยวแห่งความขุ่นเคืองในอดีตที่ผ่านมา ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่เคยเป็นผู้ปกครองเมืองกับอีกฝ่ายหนึ่งที่เคยเป็นผู้พิชิตเข้ามาครอบครองดินแดน มันคงเป็นความรู้สึกที่ยังคงครุกรุ่นในใจทั้งสองฝ่ายเรื่อยมาจนยากจะลืมเลือน”

โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อที่พวกเจ้าจะได้รู้จักกัน” (อัลกุรอาน 49:13)

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา : Only Few Know Of The Cham Muslims – Vietnam’s Isolated Islamic Community

 

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร