Budu Little หรือ ซุลกิฟลี กาแม เป็นนักร้องนักดนตรีที่ได้รับความนิยมในเป็นอย่างมากหมู่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเจ้าของบทเพลงภาษามาลายูอย่าง Sebalik Kegelapan ที่พูดถึงความหวังหลังจากความยากลำบาก
แต่ก่อนจะกลายมาเป็น Budu Little ที่หลายคนรู้จักในบทบาทนักร้องนักดนตรีชื่อดังในพื้นที่ชายแดนใต้ ซุลกิฟลีในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีเคยถูกจับและถูกควบคุมตัวด้วยหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน ซุลกิฟลีถูกควบคุมตัวอยู่ 3 วันในฐานะผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ในข้อหาวางระเบิดจ่าเพียร พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา นายตำรวจชื่อดัง และได้รับการปล่อยตัวหลังเพื่อนนักกิจกรรมรวมตัวกันไปกดดันเจ้าหน้าที่
บทบาทการเป็นนักร้องดนตรีเพื่อสังคมของซุลกิฟลีเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2555 หลังเกิดเหตุการณ์ชาวโรงฮิงญาหนีภัยจากบ้านเกิดลงเรือลอยลำกลางทะเลมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย “ผมเป็นเพื่อนกับนักเขียนนักกวีในพื้นที่คนหนึ่งชื่อ อับดุลเลาะห์ หวันอะฮ์หมัด แกเขียนกวีบทหนึ่งเกี่ยวกับโรฮิงญาลงในเฟสบุ๊คตัวเอง พอได้อ่านผมก็คิดทันทีเลยว่าบทกวีนี้เป็นเพลงได้”
ซุลกิฟลีไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อน ตัวโน๊ตก็ไม่รู้จัก แต่เมื่อได้อ่านบทกวีชิ้นนี้เขารู้สึกทันทีว่ามันสามารถทำเป็นเพลงที่กระตุ้นเตือนให้คนตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นชาวโรฮิงญาได้
“ที่จริงผมไม่ได้เป็นนักดนตรี ไม่ได้จับกีตาร์ร้องเพลงทุกวัน แต่วันนั้นพอดีมันมีกีตาร์ของน้องฝากไว้ที่ออฟฟิศ เราก็เลยจับกีตาร์ขึ้นมาแล้วเอาบทกวีนั้นมาทำเป็นเพลงเลย เพลงนั้นชื่อ เซาดารากู โรฮิงญา (Saudaraku Rohingya) เพลงมันพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับพี่น้องโรฮิงญา การถูกกระทำที่เหมือนกับไม่ใช่มนุษย์ มันตั้งคำถามว่าทำไมเขาต้องถูกกักขัง ถูกรังแก โดยไม่มีเหตุผล ทำไมคนภายนอกถึงทำเป็นมองไม่เห็น มันคืออะไรกันแน่”
ถึงแม้ในปัจจุบันตัวเขาและบทเพลงของเขาจะเป็นที่นิยม แต่ซุลกิฟลีก็ยังต้องเผชิญความกดดัน เพราะการจับกีตาร์ขึ้นร้องเพลงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่มุสลิมส่วนใหญ่ในชายแดนใต้ไม่ยอมรับ
“ตอนแรกผมก็กังวลนะว่าสังคมจะมองเรายังไงที่จับกีตาร์ เครื่องดนตรีสำหรับคนที่นี่มัน Sensitive (อ่อนไหว) นะ คนจะมองว่ามันไม่ดี มันไม่สุภาพ มันผิดหลักศาสนา ผมก็กังวลตรงนั้น แต่ผมคิดว่าเพลงที่เราคิดที่เราทำมันช่วยสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนหันมาสนใจสังคม แล้วก็หันมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดี ผมตั้งใจว่าจะใช้เพลงเพื่อเป้าหมายนี้”
ซุลกิฟลี บอกว่าเขามองเพลงเป็นเหมือนเครื่องมือชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาบรรลุเป้าหมายในการเรียกร้องผู้คนให้สนใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมบ้านเกิด
“ถ้าคิดว่าเพลงมันเป็นเครื่องมือ ผมว่ามันก็ไม่ต่างจากเครื่องมืออื่นๆ อย่างเช่นบางคนมีมีดเอาไว้ทำอาหาร แต่บางคนอาจเอาไปทำเป็นอาวุธก็ได้ แต่ถ้าเอาเครื่องมืออะไรสักอย่างไปใช้ในทาง Positive (แง่บวก) มันก็เป็น Positive ได้เหมือนกัน”
ซุลกิฟลีไม่ได้แค่ทำเพลงปล่อยให้ฟังกันในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่เขายังออกเดินสายขับกล่อมหลายบทเพลงเพื่อสันติภาพในหลายพื้นที่ของชายแดนภาคใต้ และนั่นทำให้ชื่อ Budu Little ของเขายิ่งเป็นที่รู้จัก
“ผมเคยเป็นนักกิจกรรมเยาวชนมาก่อนก็เลยมีเครือข่ายกับเยาวชนในพื้นที่ แต่พอผมมาทำเพลง เวลาไปทำกิจกรรมกลุ่มเยาวชนก็อยากให้เราเล่นเพลงให้ฟัง หลังจากนั้นก็เลยได้ไปเล่นตามงานตามโครงการที่เราไปร่วมตลอด แต่ผมก็ไม่เล่นสุ่มสี่สุ่มห้านะ อย่างเช่นในโรงเรียน(เอกชนสอนศาสนา)ผมก็ไม่เล่น ผมให้เกียรติ เว้นแต่ว่าอุสตาซ(อาจารย์) บอกว่า โอเคเล่นได้ ผมถึงจะเล่น เมื่อก่อนในชุมชนก็ไม่ได้ไปเล่นเหมือนกัน ถ้ากลุ่มเยาวชนที่ไหนอยากฟัง ผมจะบอกให้พวกเขารวมตัวกันไปทำกิจกรรมที่ไหนสักที่นอกชุมชนแล้วผมจะไปเล่น เพราะผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนในชุมชนที่เราอยู่จะรับได้นะที่เราเล่นกีตาร์”
ถึงแม้จะได้รับเชิญไปเล่นในหลายที่ แต่ซุลกิฟลีก็เข้าใจและยอมรับสถานการณ์และความเป็นจริงของพื้นที่ “ผมคิดว่าจะทำแค่นี้ไม่อยากจะเกินเลยไปกว่านี้ ถ้าสังคมไม่ยอมรับ ก็ไม่ใช่ว่าผมจะทิ้งมันไม่ได้นะ ผมก็พร้อมจะรับฟังสังคม ผมไม่ดื้อ”
“ผมเพิ่งเข้าไปเล่นในชุมชนไม่กี่ปีมานี่เองเพราะมีคนเชิญไป แต่ผมก็พยายามอธิบายและอยากฟังคำอธิบายของเขาด้วยว่าเขารับได้แค่ไหน ชุมชนรับได้แค่ไหน เขาสามารถปกป้องเราได้ไหม เขาสามารถอธิบายให้ชุมชนเข้าใจเราได้ไหม ถ้าเขาอธิบายให้เราเข้าใจได้ ชุมชนรับได้ทั้งเรื่องเนื้อเพลงและเรื่องอุปกรณ์ ผมก็ยินดีไปเล่น แล้วช่วงปีสองปีหลังนี้ผมได้ไปเล่นบ่อยขึ้น”
“ครั้งหนึ่งผมไปเล่นในวันรายอ เล่นตอนกลางคืน ผมก็ถามความแน่ใจเขาก่อนว่าไปเล่นได้ใช่ไหมนี่เป็นงานรายอนะ เป็นงานเฉลิมฉลองทางศาสนานะ ชาวบ้านจะรับได้ไหม แต่เขาบอกว่าชาวบ้านอยากจะฟังมาหลายปีแล้ว ผมก็โอเค”
จากเคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยวางระเบิด ซุลกิฟลีนำพาตัวเองมาอยู่ในจุดที่หลายคนเรียกเขาว่านักกิจกรรมที่จับกีตาร์ขับกล่อมบทเพลงเพื่อสันติภาพ ทั้งหมดทั้งมวลเขาไม่ได้คาดหวังสิ่งใดมากไปกว่าการเห็นผู้คนออกมาทำประโยชน์เพื่อสังคม
“ผมทำเพลงแค่อยากให้คนฟังแล้วรู้สึกอยากทำอะไรเพื่อสังคมมากกว่านี้ คุณไม่จำเป็นต้องออกมาร้องเพลงหรอกแค่คุณเอาความสามารถที่คุณมีในแต่ละด้านมาทำอะไรเพื่อสังคม ตรงนี้มากกว่าที่ผมอยากจะสื่อสารจริงๆ”
“อยากจะบอกว่าที่ผมกล้าทำตรงนี้ อาจต้องถูกฟีดแบ๊คจากสังคมที่มันไม่ดีมันก็เป็นการลงทุน คุณต้องกล้า ผมว่าถ้าคุณกล้าทำมันไม่มีอะไรเสียหายหรอก ผมไม่ได้อยากจะดัง ไม่ได้อยากเป็นนักดนตรี ทักษะด้านดนตรีก็มีน้อยมาก แค่อยากจะให้ทุกคนนำความสามารถที่มีมาใช้ประโยชน์มาทำเพื่อสังคม”