fbpx

เมาลานา ซัยยิด อบุล หะซัน อะลี อัน-นัดวีย์

 

ชื่อของเมาลานา อบุล หะซัน อัน-นัดวีย์ ประทับอยู่ในความทรงจำของการเคลื่อนไหวอิสลามตลอดปลายศตวรรษที่ 20 ไม่เฉพาะในอินเดียบ้านเกิดของท่านเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทั้งโลกอาหรับและดินแดนมุสลิมทุกหนแห่ง ท่านไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะทางความคิดแต่ยังได้ผลิตนักทำงานเพื่ออิสลามแถวหน้าจำนวนมากให้แก่อุมมะฮฺอิสลาม จนเป็นหนึ่งในตำนานนักฟื้นฟูอิสลามร่วมสมัยในระดับโลก

เมาลานา อบุล หะซัน อัน-นัดวียฺ เกิดวันที่ 5 ธันวาคม 1913 รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในครอบครัวผู้รู้อิสลามที่มีชื่อเสียงและสืบเชื้อสายจากท่านหะซัน บุตรของท่านอะลี (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ท่านจึงมักมีคำเรียกนำหน้าชื่อว่า “ซัยยิด” ด้วยเหตุผลว่าเป็น “อะหฺลุลบัยตฺ” หรือครอบครัวของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม

ท่านได้รับการศึกษาที่บ้านเกิดของท่านในเมือง ราอิบาเรลี รัฐอุตรประเทศ ของอินเดีย แม่ของท่านเป็นผู้สอนอัลกุรอานให้แก่ท่านในวัยเด็ก และต่อมาท่านได้ศึกษาภาษาอาหรับและเปอร์เซีย นอกเหนือจากภาษาอูรดูที่เป็นภาษาแม่ของท่าน

เมื่อท่านอายุได้ 9 ขวบ พ่อของท่านคือ หะกีม ซัยยิด อับดุล ฮัยยฺ ปราชญ์คนสำคัญของอินเดีย ได้เสียชีวิตลง (ปี 1928) ท่านจึงได้รับการศึกษาภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแม่ของท่านและพี่ชายของท่านที่เป็นผู้รู้คนสำคัญของสังคมอินเดียยุคนั้น คือเมาลานา หะกีม ซัยยิด อับดุล อะลี หะสะนีย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์และสำเร็จการศึกษาจากสถาบันนัดวะตุลอุละมาอ์

ด้วยเหตนี้ เมาลานา อบุล หะซัน จึงได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันนัดวะตุลอุละมาอ์ ที่นี่เองท่านศึกษาวรรณกรรมอาหรับ อุรดู อังกฤษ เทววิทยา และอิสลามศึกษา ท่านได้เรียนจากปราชญ์ของสถาบันนัดวาฯ สมัยนั้นหลายท่าน ต่อมาในปี 1927 ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลัคเนาเป็นเวลา 3 ปี (ระดับป.โท) ที่นี่เองทำให้ท่านมีความชำนาญในการใช้งานวิชาการในภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

ท่านยังท่องไปในทะเลแห่งความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่านมุ่งไปสู่การศึกษาคำอธิบายอัลกุรอานเป็นการเฉพาะ ในปี 1923 ท่านศึกษา “ตัฟซีร” (การอธิบายอัลกุรอาน) จากเมาลานา คอลีล อะหฺซัน และเมาลานา อะหฺมัด อะลี แห่งลัคเนา จนจบทั้งเล่ม ในปีเดียวกันท่านได้ใช้เวลาสองสามเดือนที่ดารุล อุลูม แห่งเดียวบัน เพื่อศึกษาตำราหะดีษบุคอรียฺและติรมิซีย์เป็นการเฉพาะ

ไม่แปลกที่เมื่อท่านเริ่มการเคลื่อนไหวทางความรู้ ท่านจึงแตกต่างจากผู้รู้คนอื่นในยุคร่วมสมัย ท่านมีความสามารถเชื่อมโยงศาสตร์จากอดีตเข้าสู่การอธิบายปรากฏการณ์ในบริบทร่วมสมัยได้ งานชิ้นแรก ๆ ในวัยหนุ่มของท่านที่ทำให้ท่านรู้จักกันดีไปตลอดโลกมุสลิม เป็นงานที่ท่านเขียนด้วยภาษาอาหรับ เป็นงานวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อิสลามในชื่อว่า “มาซา เคาะซิร็อล อะละมุ บิ อินฮิฏอฏิล มุสลิมีน (โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของมุสลิม) หรือชื่อในภาษาอักฤษว่า Islam and the World

หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่ขายดี และทรงอิทธิพลต่อความคิดต่อคนหนุ่มสาวมุสลิมและขบวนการอิสลามเป็นอย่างยิ่ง มีการตีพิมพ์นับสิบครั้ง นักคิดคนสำคัญของโลกอาหรับสมัยนั้น คือท่านซัยยิด กุฏบฺ ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า

“นี่เป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งจากหนังสือในแนวนี้ที่ข้าพเจ้าได้อ่านนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ มีลักษณะพิเศษที่ยอดเยี่ยมคือการเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อรายละเอียดทั้งหมดของสปิริตแห่งอิสลามในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ หนังสือนี้ไม่เพียงมีความยอดเยี่ยมในรูปแบบการวิจัยทางศาสนาและสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงรูปแบบทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนจากมุมมองของอิสลาม”

ความเป็นผู้คงแก่เรียนที่ทุ่มเท มีความเข้าใจต่อศาสนาที่ลึกซึ้งของท่าน ทำให้การเคลื่อนไหวของท่านแพร่ขจายไปสู่ระดับนานาชาติ

  • ปี 1956 ท่านได้เป็นสมาชิกของ Arabic Academy ที่ดามัสคัส
  • ปี 1962 ท่านเป็นเลขาธิการของการประชุมครั้งแรกในการจัดตั้ง “สันนิบาตโลกมุสลิม” (World Muslim League) ที่มักกะฮฺ
  • ปี 1963 ท่านได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของสภาที่ปรึกษามหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮฺ
  • ปี 1980 ท่านได้รับรางวัล King Faisal Award สาขาการรับใช้อิสลาม
  • ปี 1980 ท่านเป็นประธาน Islamic Centre Oxford
  • ปี 1981 ท่านได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคชเมียร์
  • ปี 1999 ท่านได้รับรางวัล ‘The personality of the year’ (บุคคลแห่งปี) จัดโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • ปี 1999 ท่านได้รับรางวัล “Sultan Brunei Award” จัดโดย Oxford Islamic Center เนื่องจากงานวิชาการของท่านที่ชื่อว่า ‘Tareekh Dawat-o-Azeemat’

ท่านยังเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ก่อตั้งองค์กรที่มีอิทธิพลในโลกมุสลิมคือสันนิบาตโลกมุสลิม (Al Rabita Al ‘Alam Al Islami) อีกด้วย นอกเหนือจากงานประจำของท่านคือการเข้ามารับตำแหน่งอธิบการบดีของสถาบันนัดวะตุลอุละมาอ์ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งมายาวนานจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

เมาลานา อบุล หะซัน ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ที่บ้านเกิดของท่านเอง ด้วยอายุ 86 ปี มีผู้เข้าร่วมละหมาดญะนาซะฮฺของท่านมากกว่า 200,000 คน และยังมีการละหมาดฆออิบที่มัสญิดหะรอมและมัสยิดนะบะวียฮฺ ด้วยความผูกพันของอุละมาอ์ที่นั่นมีต่อท่าน

โดย Ummah Islam
ที่มา Halal Life Magazine ฉบับที่ 20

[bws_related_posts]

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน