fbpx

“ดั่งสวรรค์บนดิน” ซีเรีย ในสายตาของเหล่านักเดินทางในอดีต

มาทำความรู้จัก อิบนุบัตตูเตาะห์ (Ibn Battuta)  กันก่อน

อิบนุบัตตูเตาะห์ เป็นนักกฎหมายวิชาชีพชาวมุสลิมจากเมือง Tangier ประเทศโมร็อคโคมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 14 เมื่ออายุได้เพียง 20  ปีในคริสต์ศักราช 1325 อิบนุบัตตูตาได้ออกเดินทางไกลกับกลุ่มผู้แสวงบุญเพื่อไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองมักกะห์  การเดินทางครั้งแรกในชีวิตครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความกระหายใคร่รู้ของเขา อันนำมาสู่แรงจูงใจให้เขาออกเดินทางไกลเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 24  ปีรวมระยะทางกว่า 75,000 ไมล์ (ไกลกว่ามาร์โค โปโลที่เดินทางไกลเพียง 15,000 ไมล์) หนังสือบันทึกเรื่องเล่าแห่งการเดินทางของเขาที่ใช้ชื่อว่า The Travels เต็มไปด้วยเกร็ดประวัติท้องถิ่นอันน่าสนใจมากมายและถือว่าเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราววิถีชีวิตของคนท้องถิ่นในเมืองต่างๆ ที่ท่านเดินทางผ่านในช่วงเวลานั้น และข้อมูลในบทความชิ้นนี้ได้มาจากหนังสือเล่มดังกล่าว

แผนที่การเดินทางของ อิบนุบัตตูเตาะห์

 

หากเราลองค้นหาคำว่า “ซีเรีย” ในกูเกิ้ล ผลลัพธ์แทบทั้งหมดที่เราเจอมักจะเป็นภาพสงครามและความสูญเสีย แต่ภาพ ซีเรีย ในอดีตหาเป็นเช่นนั้นไม่

อิบนุบัตตูเตาะห์เดินทางถึงประเทศซีเรีย (หรือที่เรียกกันว่าเมืองชามในสมัยนั้น) ในช่วงยุคการปกครองอันเรืองรองของสุลต่านมัมลูค (คริสต์ศักราช 1250-1382) ด้วยความพยายามของนักรบผู้กล้าหาญอย่างกษัตริย์ซอลาฮุดดีนแห่งศตวรรษที่ 12 ที่สร้างอาณาเขตแห่งนี้ให้กลายเป็นดินแดนที่มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วางรากฐานให้รัชสมัยอัยยูบีและมัมลูคสามารถก่อตั้งรัฐสันติภาพได้เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา บัตตูเตาะห์เริ่มการเดินทางในช่วงเดือนแรกๆ จากกรุงไคโรยาวต่อเนื่องไปจนถึงเมืองกาซ่าแห่งกรุงเยรูซาเล็มและเฮบร็อน เป้าหมายของเขาคือต้องการที่จะให้ทันหนึ่งในขบวนคาราวานของกลุ่มผู้แสวงบุญที่สนับสนุนโดยรัฐ ที่กำลังเดินทางจากกรุงดามัสกัสไปยังเมืองมักกะห์ในขณะนั้น

ฮามา หรือ เมืองฮอมส์

กังหันวิดน้ำในเมืองฮามาที่ยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

อิบนุบัตตูเตาะห์พำนักอยู่ในเมืองฮามาของประเทศซีเรียในช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1326 เขาได้กล่าวถึงเมืองนี้ว่าเป็น “ศูนย์กลางมหานครอันภูมิฐาน…ที่เผยความงดงามเหลือคณานับ…ห้อมล้อมไปด้วยมวลหมู่ไม้พันธุ์นานาชนิดและเรือกสวน อุดมด้วยกังหันวิดน้ำอันเด่นตระหง่านชวนมอง” ด้วยคำพรรณนาง่ายๆ ของเขาสามารถทำให้เราเห็นภาพวาดสมบูรณ์แบบของน้ำพุกลางทะเลทรายอันแสนคลาสสิก และภาพที่พำนักอาศัยอันแสนปลอดภัยสำหรับนักเดินทางและชาวบ้านละแวกนั้น ปัจจุบันยังคงมีกังหันวิดน้ำบางแห่งหลงเหลือให้เราได้ชมกันอีก และนักเดินทางก็มักจะรู้สึกตระการตาไปกับโครงสร้างกังหันยักษ์ที่ใช้สำหรับลำเลียงน้ำจากแม่น้ำโอร็อนเตสในทุกครั้งที่ได้เห็น นอกจากนี้อิบนุบัตตูเตาะห์ยังได้โปรดปรานผลไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แอพริค็อทอัลมอนด์” เป็นพิเศษ มันคือลูกแอพริค็อทชนิดหนึ่งที่มีอัลมอนด์รสหวานซ่อนตามธรรมชาติอยู่ในเมล็ดของมัน

อะเลปโป หรือ ฮะลับ

ป้อมอาเลปโปหนึ่งในป้อมปราการที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด (ศตวรรษที่ 3) ที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน

อิบนุบัตตูเตาะห์เรียกเมืองอะเลปโปว่าเป็น มหานครอันกว้างใหญ่ไพศาล และได้บรรยายถึงป้อมปราการว่า “ไร้ซึ่งความกลัวต่อความกระหาย” ด้วยเพราะมี “บ่อถึงสองแห่งที่มีน้ำจุนเจือมาจากแหล่งน้ำพุธรรมชาติ” โครงสร้างอันน่าอัศจรรย์ของเมืองถูกสร้างให้แข็งแกร่งด้วยกำแพงสองข้างฝั่งที่มีร่องน้ำคั่นกลางบรรจงสร้างโดยพระชายาของกษัตริย์ซอลาฮุดดีน มันยังคงยืนเด่นตระหง่านอยู่เช่นนั้นจนทุกวันนี้ ประหนึ่งมงกุฎจรัสเจิดจ้าบนหน้าผากซีเรียที่ประกาศชัยชนะจากการโจมตีของกองทัพมองโกลและแทมเมอร์เลนถึงสองครั้งในยุคกลางของประวัติศาสตร์  นอกจากนี้เขายังได้บอกเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของเมืองอีกว่า “เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความรุ่งโรจน์มากที่สุด….ที่ไร้ซึ่งคู่แข่งด้านความงามของผังเมืองและความสมบูรณ์แบบของตำแหน่งการจัดวาง และในด้านความโอ่อ่ากว้างขวางและการจัดสมดุลอันลงตัวของตลาด” ที่มีหลังคาไม้คอยบังแดดให้ร่มเงา เขาได้อ้างอิงถึงกาพย์สัมผัสจากนักกวีแห่งศตวรรษที่ 11 ท่านหนึ่งที่กล่าวว่า

หากความเจ็บป่วยของฉัน ไร้ซึ่งเยียวยาสุดจะหา    

โปรดจงหยิบลมแห่งฮะลับ(อเลปโป)มา ชมโชยให้ฉันได้หายใจ

ดามัสกัส

ตลาดในเมืองดามัสกัส (Artist’s illustration). (Gross, 2014)

ไม่มีเมืองใดที่จะพิชิตความคลั่งใคล้ของอิบนุบัตตูเตาะห์ที่มีต่อเมืองดามัสกัสได้อีกแล้ว ดามัสกัสทำให้เขาถึงกับพูดไม่ออกและเห็นด้วยกับคำพูดอันเจิดจรัสของอิบนูญูบัยร์ผู้ซึ่งเคยเยี่ยมเยียนเมืองดามัสกัสเมื่อสองศตวรรษก่อนหน้าที่บอกว่า “นางคือสวรรค์แห่งตะวันออก….คือตราประทับแห่งดินแดนอิสลามที่เราเคยเสาะแสวง…..และคือเจ้าสาวแห่งหลายหมู่เมืองที่เราเคยได้เผยโฉมยลความงาม” ครั้งหนึ่งดามัสกัสเคยเป็นเมืองหลวงแห่งยุคสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่ปกครองในระบอบเคาะลีฟะห์มุสลิมแบบสืบทอดรัชทายาทยุคแรกในช่วงศตวรรษที่ 7 โดยมีรูปแบบการปกครองที่ถืออำนาจบารมีของกษัตริย์เป็นสำคัญ และถึงแม้ว่าราชวงศ์อับบาซีย์จะโยกย้ายเมืองหลวงไปตั้ง ณ กรุงแบกแดดในเวลาต่อมา กระนั้นเมืองดามัสกัสก็ไม่เคยสูญเสียความโชติช่วงแห่งราชวงศ์ไปแต่อย่างใด อิบนูบัตตูตาได้เคยไปเยี่ยมเยียนสุสานของพระนาง อุมมู ฮาบีบะห์ (หนึ่งในภรรยาของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซ.ล.), ท่านบิลาล (ผู้ประกาศเสียงอาซานในยุคสมัยศาสดามูฮัมหมัด ซ.ล.), พระนางซัยหนับ (บุตรธิดาของอาลี บิน อาบูตอลิบ) และท่านมูอาวิยะห์ (เคาะลีฟะห์ท่านแรกแห่งราชวงศ์อุมัยยะห์) นอกจากนี้เขายังได้บอกเล่าถึงวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในเมืองดามัสกัสที่แยกแยะแตกต่างตามลัทธิออกไปแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ด้วยเพราะต่างก็คอยมีส่วนร่วมในการถกถึงประเด็นปัญหาและความคืบหน้าในด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กายภาพของประเทศไปด้วยกัน

อิบนุบัตตูเตาะห์ยังได้บอกเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางสังคมที่มีต่อพลเมืองดามัสกัสอีกด้วยว่า “มีกองทุนบริจาคทั่วไปที่มีไว้สำหรับจัดเตรียมชุดวิวาห์ให้กับเจ้าสาวที่ครอบครัวขัดสนและไม่สามารถจุนเจือสิ่งนั้นได้ อีกทั้งยังมีกองทุนบริจาคไว้สำหรับปลดปล่อยนักโทษผู้ต้องขัง มีกองทุนบริจาคไว้สำหรับนักเดินทาง….โดยพวกเขาจะได้รับอาหาร เสื้อผ้าและค่าใช้จ่ายบางส่วนในการเดินทาง และยังมีกองทุนบริจาคเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาถนนหนทาง ด้วยเพราะถนนทุกเส้นในเมืองดามัสกัสนั้นมีฟุตบาทริมทางด้านใดด้านหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางเท้า ในขณะที่ผู้ขับขี่พาหนะก็สามารถใช้ถนนตรงกลาง” (Gibb H.A., Syria, 1958)

แผนผังเมืองดามัสกัสในช่วงที่อิบนุบัตตูเตาะห์เดินทางไปถึง

ในส่วนของมัสยิด Grand Umayyad Mosque แห่งเมืองดามัสกัสนั้น ท่านอิบนุบัตตูเตาะห์ได้กล่าวไว้ว่า “นี่คือมัสยิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอันโดดเด่นในด้านความโอ่อ่าสง่างาม…สุดยอดของความวิจิตรงดงามแห่งความสำเร็จ” ครั้งหนึ่งท่านเคาะลีฟะห์ Walid bin Abdul Malik ได้เคยไหว้วานให้พระจักรพรรดิโรมัน ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ส่งช่างผู้มีฝีมือและทักษะชำนาญการเพื่อสร้างมัสยิดแห่งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อพิสูจน์ชัดแจ้งถึงการให้ความสนับสนุนของกษัตริย์ที่มีต่องานศิลปหัตถกรรมในบ้านเมือง จนมุสลิมบางท่านจัดมัสยิดแห่งนี้ว่าเป็นสถานศักการะอันศักดิ์สิทธิ์อันดับสี่ของโลกเลยทีเดียว และมันจึงกลายเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ยังคงโดดเด่นสวยตระหง่านอยู่จนทุกวันนี้

ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าชั่วโมงแห่งความเรืองรองผ่องใสได้ค่อยๆ บินหายไปจากดามัสกัสและซีเรีย แต่กระนั้นก็ยังคงมีความหวังต่อสันติภาพและวันเวลาที่ดีกว่าเสมอ ขออวยพรให้เหล่ามวลมนุษย์ค้นพบสันติภาพในตัวเอง เพื่อที่จะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้และเอาชนะความต่ำต้อยในตัวเองและร่วมกันเชิดชูมนุษยธรรมเหนือสิ่งอื่นใด

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : For Famous Travellers, Syria Was Once a Paradise On Earth

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร