fbpx

Al-Idrisi บิดาแห่งภูมิศาสตร์ ผู้เปลี่ยนมุมมองให้โลก

             หากกล่าวถึง “บิดา” ผู้เชี่ยวชาญและเป็นอัจฉริยะแห่งศาสตร์ต่างๆ ในโลกใบนี้ ก็คงมีชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์มากมายที่ถูกนึกถึง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า “มุสลิม” เรานั้นก็เป็นผู้มีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงโลกด้วยเช่นกัน   วันนี้เราจะพามารู้จักกับผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งภูมิศาสตร์” เจ้าแห่งการเดินทางท่องโลก “Al-Idrisi”

ยุคสมัยอดีต มีกลุ่มคนที่สนใจและพยายามศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโลก ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ รูปแบบการเคลื่อนตัวของโลก ลักษณะทางชาติพันธุ์ของมนุษย์ และอีกหลายศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เราเรียกคนกลุ่มว่าเป็น “นักภูมิศาสตร์” ซึ่งโลกในยุคกลางนั้นถือเป็นยุคทองแห่งการค้นคว้าและการสำรวจ บุคคลที่ถูกขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งนักภูมิศาสตร์ เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นอย่างมากในศาสตร์นี้ก็คือ Muhammad ibn Muhammad al-Idrisi หรือที่รู้จักกันในชื่อ al-Sharif al-Idrisi

Al-Sharif al-Idrisi เกิดเมื่อปี ค.ศ.1100 ในแคว้นซับตะฮ์ของอันดาลูเซีย (หรือที่รู้จักกันในชื่อ เซวตา เขตปกครองตนเองที่ขึ้นกับประเทศสเปนในปัจจุบัน) และเสียชีวิตเมื่อปีค.ศ. 1165/1166 ในซิซิลีหรือซับตะฮ์ (ที่ใดที่หนึ่ง) ท่านมีเชื้อสายสืบสกุลมาจากท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) บรรพบุรุษของตระกูลท่านคือ ฮัมมูดีส (Hammudids) ทายาทของราชวงศ์อิดรีสีส (Idrisids) ราชวงศ์โมร็อคโคที่อ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจาก ท่านฮะซัน อิบนุ อาลี ผู้มีศักดิ์เป็นหลานชายคนโตของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของท่านในแคว้นเซวตาเท่าใดนัก สิ่งเดียวที่ประวัติศาสตร์บอกเราก็คือท่านสำเร็จการศึกษาด้านศาสนาจากที่นั่นเพียงเท่านั้น

ในช่วงวัยรุ่นท่าน Al-Idrisi มีโอกาสได้เยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญต่างๆ มากมายในทวีปแอฟริกาเหนือและแถบอันดาลูเซีย และท่านก็ได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจากดินแดนทั้งสองที่ได้ไปเยือน ในตอนนั้นท่าน Al-Idrisi เลือกที่จะพำนักในเมืองคอร์โดบาเพื่อศึกษาหาความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ และเจาะจงเฉพาะทางในด้านเกี่ยวกับภูมิศาสตร์โดยตรง  ต่อมาหลังจากสำเร็จการศึกษาท่านจึงตัดสินใจจากเมืองคอร์โดบาเพื่อออกเดินทางท่องโลกไปยังดินแดนต่างๆ ในแถบยุโรปตะวันตก ทางสเปนตอนเหนือ โปรตุเกส ฝรั่งเศสแถบฝั่งแอตแลนติก ดินแดนทางอังกฤษตอนใต้ และประเทศในแถบเอเชียน้อย โดยในขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น จากนั้นไม่นานท่านก็เริ่มเดินทางท่องโลกต่อไปเรื่อยๆ ท่านรอนแรมไปตามดินแดนต่างๆ ทั่วโลก และทุกครั้งที่เดินทางท่านมักจะพกพาสองสิ่งสำคัญไปด้วยเสมอ นั่นก็คือปากกาและกระดาษเพื่อจดบันทึกสิ่งที่ท่านพบเห็นและได้เรียนรู้ในทุกๆ สถานที่ที่ท่านเคยเยี่ยมเยือน

Al-Idrisi กับภารกิจรับใช้กษัตริย์โรเจอร์ที่ 2

ในปี ค.ศ.1145 ถือเป็นช่วงปีที่ชีวิตการทำงานของท่านได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เมื่อท่านได้รับคำเชิญจากกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 แห่งแคว้นซิซิลีผู้ซึ่งเลื่องลือในความอัจฉริยภาพด้านต่างๆ มากมาย พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ลงทุนว่าจ้างผู้รู้ให้แปลผลงานด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาจากภาษาอาหรับและกรีกให้กลายมาเป็นภาษาละตินด้วย และเมื่อกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 ได้ทราบถึงกิตติศัพท์ของ Al-Idrisi ผู้มีประวัติการเดินทางท่องโลกอย่างโชกโชนและรอบรู้ในด้านภูมิศาสตร์ พระองค์จึงได้สั่งให้นายทหารส่งจดหมายอันเชิญไปยัง Al-Idrisi เพื่อให้ท่านมาเยือนและพำนักอาศัยที่แคว้นซิซิลี จากนั้น Al-Idrisi จึงได้เข้าเฝ้ากษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 และตอบรับข้อเสนอของพระองค์ทันที

Al-Idrisi ใช้วิธีอธิบายตำแหน่งของโลกในอวกาศแก่พระมหากษัตริย์ด้วยการใช้ไข่แทนลักษณะของโลก ท่านได้เปรียบเทียบโลกให้เป็นเสมือนไข่ที่ห่อหุ้มด้วยใยสีขาว ดังเช่นโลกที่ล้อมรอบด้วยกาแล็กซี ในครั้งนั้นกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 ได้ไหว้วานให้ Al-Idrisi ช่วยวาดรูปแผนที่โลกให้กับพระองค์ โดยรับปากว่าจะอำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอน Al-Idrisi ได้ตอบตกลงรับข้อเสนอที่น่าสนใจนั้นและเริ่มเล็งเห็นถึงความยิ่งใหญ่ในภาระหน้าที่ที่ตนได้รับครั้งนั้น ท่านจึงบรรจงลงมือปฏิบัติภารกิจนั้นอย่างละเมียดละไมเพื่อให้ได้ผลงานสมความคาดหวังที่พระมหากษัตริย์ให้มา

สิ่งแรกที่ Al-Idrisi ลงมือทำคือการสร้างทีม (ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ชาย 12 คน) ที่พอจะช่วยให้ท่านสามารถทำงานสำเร็จลุล่วงได้ ท่านได้เลือกเฟ้นผู้ชำนาญการในด้านต่างๆ เช่น ด้านเทคโนโลยีการเดินเรือสมัยใหม่ ด้านคณิตศาสตร์ และด้านการเขียนแผนที่ บุคคลคุณภาพทั้ง 12 คนนี้ทำงานภายใต้การควบคุมดูแลของท่าน โดยทุกคนต้องทำหน้าที่ศึกษาทุกองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเดินเรือสมัยใหม่แล้วจึงทำการจดบันทึก จากนั้นจึงนำไปคิดคำนวณแล้วรวบรวมข้อมูลเป็นลำดับต่อไป

นอกจากรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการเดินทางแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ท่าน Al-Idrisi ได้ลงมือทำคือการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์กะลาสีเรือที่ท่านเคยได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในขณะที่เยี่ยมเยือนแต่ละสถานที่ แต่กระนั้นทั้งหมดข้างต้นก็ยังไม่เป็นที่พอพระทัยของกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 เท่าใดนัก จนในที่สุดพระองค์จึงตัดสินใจส่งเรือของพระองค์ออกไปสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่มีการเข้าถึง Al-Idrisi จึงรับหน้าที่นำทีมกะลาสีผู้กล้าหาญอดทนพร้อมทีมช่างเขียนแบบเหล่านั้นออกเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆ รอบโลก เมื่อพวกเขากลับมาจากทวีปตะวันออกกลาง ทวีปตะวันออกไกล ยุโรปเอเชีย แอฟริกา และจาก “เมืองฤดูหนาวที่มีเพียงหิมะตกลงมาจากฟากฟ้าและไร้ซึ่งตะวันทอแสง” (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไอซ์แลนด์หรือกรีนแลนด์) พวกเขาก็ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 เพื่อถวายบังคมอธิบายถึงรายละเอียดของสิ่งที่เห็นพร้อมถวายภาพวาดไว้เป็นผลงาน รายละเอียดแผนที่ทั้งหมดได้ถูกทำการจดบันทึกโดยผู้ช่วยทรงคุณวุฒิทั้ง 12 คนนั้น และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานโดย Al-Idrisi ที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

มรดกอันล้ำค่าน่าชื่นชม

Al-Idrisi ได้เริ่มต้นงานด้านภูมิศาสตร์ด้วยการเก็บรวบรวมแผนที่โลกและตำราภูมิศาสตร์อย่างที่โลกไม่เคยได้ประจักษ์มาก่อน หน้าที่การงานของท่านในแคว้นซิซิลีได้ก่อกำเนิดซึ่งผลงานด้านภูมิศาสตร์ถึง 3 ผลงานภายในช่วงเวลาเพียง 15 ปี หนึ่งในนั้นคือแผนที่บอกตำแหน่งดวงดาวสีเงินที่มีรูปแผนที่โลกแยกออกเป็น 70 ส่วนย่อย และแยกส่วนฝั่งตอนเหนือของโลกที่มีเส้นศูนย์สูตรแบ่งออกเป็น 7 ส่วนเขตภูมิอากาศที่มีขนาดความกว้างเท่ากัน โดยแต่ละส่วนได้แบ่งออกเป็นปลีกแยกย่อย 10 เส้นลองติจูดที่เท่ากัน และลงท้ายด้วยสลักอักษรทางภูมิศาสตร์ที่เขียนกำกับไว้ให้เป็นกุญแจไขสู่ข้อมูลแผนที่บอกตำแหน่งดวงดาวอย่างชัดเจน

ผลงานชิ้นเอกด้านภูมิศาสตร์เชิงพรรณนาของ Al-Idrisi นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ Kitāb Rujār หรือ Al-Kitāb ar-Rujārī (แปลว่า “ตำราแห่งโรเจอร์” หรือที่เรียกในภาษาละตินว่า “Tabula Rogeriana”) แต่น่าเสียดายที่แผนที่บอกตำแหน่งดวงดาวสีเงินนั้นได้สูญหายไปแล้ว ปัจจุบันยังคงดำรงไว้เพียงแผนที่และตำราเท่านั้น นอกจากนี้แล้วท่านยังได้พยายามรวบรวมองค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์เชิงพรรณนาและภูมิศาสตร์เชิงดาราศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย และเพื่อเป็นเกียรติให้กับวีรบุรุษนักภูมิศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านงานเขียนแผนที่โลกผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ องค์กรนาซ่าจึงให้เกียรติเรียกพื้นที่อวกาศบนดาวพลูโตด้วยชื่อว่า “Al-Idrisi Mountains”

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Master of Geography: Al-Idrisi Changed How The World Was Perceived

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร