fbpx

Mohammad Dollie ชายผู้สร้างมัสยิดแห่งแรกในกรุงลอนดอน

เราอาจคิดกันว่า ในดินแดนที่เป็นดั่งต้นทางอารยธรรมตะวันตกอย่างเช่นอังกฤษ กลิ่นอายของความเป็นอิสลามคงหาดูได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่โลกยังไม่เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์และสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปิดกว้างต่อความเป็นพหุวัฒนธรรมมากนัก

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในกรุงลอนดอนเมืองหลวงของประเทศอังกฤษกลับมีมัสยิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1895 ซึ่งถือเป็นมัสยิดแห่งแรกที่สร้างขึ้นโดยชายหนุ่มจากแอฟริกาใต้ผู้มีนามว่า Mohammad Dollie  หนึ่งในบรรพชนมุสลิมรุ่นบุกเบิกที่ช่วยปูพื้นฐานอิสลามให้กับสังคมมุสลิมในยุโรป ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1906 ตรงกับวันที่ประเทศอังกฤษประกาศว่าเป็น “วันเยือนมัสยิดแห่งชาติ” พอดี

Mohammad Dollie เกิดที่เมืองเคปทาวน์ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี ค.ศ.1846 มีพ่อเป็นชาวสก็อตและแม่เป็นชาวมาเลย์ ท่านเป็นผู้ที่สร้างมัสยิดแห่งแรกของเมืองเคปทาวน์เมื่อปี ค.ศ.1880 พร้อมกับชาวดัชต์ท่านหนึ่งที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม

ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1895 Mohammad Dollie ได้ย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษและตั้งรกรากบริเวณถนนอัลเบิร์ตในกรุงลอนดอน พร้อมกับลูกชายอีกสองคน เนื่องจากการศึกษาในแอฟริกาใต้ยังคงเป็นเรื่องยากลำบากในสมัยนั้น

Mohammad Dollie เป็นฮาฟิซ (บุคคลที่สามารถท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานได้ทั้งเล่ม) ชาวมุสลิมในลอนดอนซึ่งมีกันอยู่ประมาณ 200-300 คนในสมัยนั้นจึงขอร้องให้ท่านช่วยสอนอัลกุรอานให้กับลูกหลานมุสลิม ท่านตอบตกลงและตัดสินใจเปลี่ยนห้องวาดรูปในบ้านของท่านให้กลายเป็นมัสยิดของชุมชนตั้งแต่นั้นมา

Mohammad Dollie มักจะเดินทางไปยังชุมชนในท้องถิ่นหลายแห่งเพื่อทำการละหมาดให้แก่ผู้เสียชีวิต ในขณะที่มัสยิดที่เป็นบ้านของท่านเองก็มีการละหมาดอยู่เป็นประจำด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งเทศกาลอีดหรือวันเฉลิมฉลองในอิสลามก็ยังมีการละหมาดกันที่มัสยิดในบ้านของท่าน วันรื่นเริงอย่างวันอีดมักจะเห็นภาพชาวมุสลิมในลอนดอนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติของแต่ละคนสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นที่สะดุดตาแก่เพื่อนบ้านในละแวกนั้นยิ่งนัก

Mohammad Dollie ยังได้เปิดสอนศาสนาเพื่อคอยชี้แนะแนวทางให้กับชาวอังกฤษผิวขาวที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม  อีกทั้งยังใช้บ้านมัสยิดของท่านไว้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสมรสให้กับคู่รักต่างชาติต่างวัฒนธรรมอีกด้วย บ้านของท่านได้กลายเป็นแหล่งพบปะของบรรดามุสลิมในชุมชนแห่งยุควิกตอเรีย เป็นศูนย์กลางสำหรับจัดประชุมเมื่อสมาชิกในชุมชนเห็นควรว่าจำเป็นต้องปรึกษาหารือร่วมกัน เช่นเมื่อต้องการถกประเด็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิมอย่างอาณาจักรออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) หรือเมื่อต้องทำพิธีสวดขอพรให้กับหัวหน้ารัฐอิสลามอย่างกษัตริย์อับดุลฮามิดที่สอง ก็ยังต้องใช้บ้านของท่านเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและเป็นจุดนัดพบเพื่อหารือ บ้านของท่านจึงกลายเป็นแหล่งรวมพลังเสียงแห่งความสามัคคีของมุสลิมในชุมชนเมื่อยุคสมัยวิคตอเรียได้เป็นอย่างดี

ต่อมาราวช่วงปีค.ศ. 1899 Mohammad Dollie และครอบครัวได้ย้ายออกไปตั้งรกรากกันอยู่ที่ถนนยูสตัน (แหล่งที่ตั้งของ Wellcome Collection ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการย้ายไปพร้อมกับบ้านมัสยิดของชุมชนด้วยเช่นกัน มีการสันนิษฐานว่าท่านน่าจะตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่นั่นเนื่องจากตั้งใจจะให้อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟยูสตันมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้มุสลิมวิคตอเรียที่อาศัยอยู่ในเมืองลิเวอร์พูลสมัยนั้นสัญจรไปมาสะดวกยิ่งขึ้น รวมไปถึงลูกชายของท่านที่ชื่อ Omar ด้วยเช่นกัน

ครั้งหนึ่งมีนักข่าวท่านหนึ่งต้องการทราบแหล่งที่ตั้งของบ้านมัสยิด นักข่าวคนนี้ต้องพยายามสืบค้นข้อมูลด้วยการสอบถามจากตำรวจ จากบุรุษไปรษณีย์ และไปสอบถามแม้กระทั่งที่สถานทูตตุรกีและร้านอาหารฮอลบอร์นในสมัยนั้นกันจนแทบพลิกแผ่นดิน เมื่อได้ข้อมูลที่อยู่แหล่งที่ตั้งของบ้านมัสยิดแล้ว นักข่าวคนนี้จึงออกไปสืบหาตำแหน่งจริง แล้วเขาก็ถึงกับอึ้งเมื่อปรากฏว่าสถานที่ที่เขาพยายามค้นหานั้นเป็นเพียงบ้านธรรมดาหลังหนึ่งที่ไม่มีแม้แต่ป้ายเขียนกำกับไว้เลย โชคดีที่วันนั้นนักข่าวคนดังกล่าวได้พบกับท่านโดยบังเอิญที่นั่น เขาจึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านถึงชีวิตความเป็นมาไปจนถึงแผนการที่วางไว้ในอนาคตสำหรับสังคมมุสลิม

นักข่าวท่านนี้ได้บันทึกถึงความเป็นกังวลของ Mohammad Dollie ที่มีต่อเยาวชนมุสลิมที่อพยพเข้ามาใช้ชีวิตในอังกฤษและต้องเผชิญกับบททดสอบศรัทธาจากสังคมตะวันตกต่างๆ นานา ในความคิดของท่าน ท่านเชื่อว่าการสร้างมัสยิดจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้เยาวชนมุสลิมได้รับแนวทางชี้แนะที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ในสังคมได้ ท่านได้พูดประโยคกินใจประโยคหนึ่งว่า “หากเด็กน้อยอายุเจ็ดขวบคนหนึ่งมีความรู้ในหลักศรัทธาเพียงน้อยนิด อันนี้ถือเป็นเรื่องเศร้า แต่ถ้าหากชายหนุ่มอายุสี่สิบคนหนึ่งหลงลืมศาสนาและไม่รู้วิธีละหมาดกราบไหว้พระเจ้าแล้วล่ะก็—อันนี้จบเห่กันพอดี !” ท่านกล่าวและยกมือขึ้นสูงเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก

ตำแหน่งที่ตั้งของมัสยิดขนาด 50 เมตรที่ท่านตั้งใจสร้างขึ้นมานั้นน่าจะตั้งอยู่ในบริเวณจตุรัสรัซเซลล์ (Russell Square) แต่เนื่องจากเหตุผลบางประการที่ทำให้ท่านต้องถูกถอดถอนจากสมาคมพ่อค้าของประเทศจนท่านไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ท่านจึงตัดสินใจเขียนจดหมายความยาวสามหน้ากระดาษไปยังสุลต่านแห่งออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) เพื่อขอรับบริจาคทุนเพื่อสร้างมัสยิดแห่งนั้นขึ้นมาแทน

มีรายงานว่าชีวิตในช่วงหลังของท่านอาจไม่ค่อยประติดประต่อ ข้อมูลเดียวที่เรารับรู้คือท่านได้ทำงานเป็นช่างตัวถังรถยนต์ใน Shepherd’s Bush Arches เมื่อช่วงปี ค.ศ.1902 และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1906 ณ บ้านหลังสุดท้ายของท่านในเมือง West Ealing ด้วยอายุ 60 ปี ท่านถูกฝังตามพิธีกรรมทางศาสนา ณ สุสาน New Willesden ในเมือง Brent  ของกรุงลอนดอน

ในพินัยกรรมที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้กับลูกหลานชี้ให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของท่านต่อการใฝ่หาวิชาความรู้ ท่านได้ทิ้งทรัพย์สินจำนวนหนึ่งไว้เป็นมรดกเพื่อการศึกษาให้กับลูกชายทั้งสองคน

เป็นที่ประจักษ์กันดีว่า Mohammad Dollie ไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาวิชาสามัญเพื่อโลกนี้เท่านั้น แต่ท่านยังให้น้ำหนักความสำคัญแก่การศึกษาวิชาศาสนาเพื่อโลกหน้า ด้วยการส่งลูกชายของท่านที่ชื่อ Omar ไปร่ำเรียนวิชากับท่าน Sheikh Abdullah Quilliam ที่เมืองลิเวอร์พูลอีกด้วย ลูกชายของท่านจบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์จาก University College London (UCL) ในปี 1906 เป็นผลงานที่ท่าน ได้ฝากไว้เป็นมรดกให้แก่สังคมมุสลิมรุ่นหลัง นอกเหนือจากการสอนอัลกุรอานและการสร้างมัสยิดอีก 2 แห่งให้กับชุมชนมุสลิมใน 2 ภูมิภาคทวีปที่แตกต่างกันและไกลโพ้นออกไป

ขออัลลอฮทรงประทานสรวงสวรรค์แก่ท่าน Mohammad Dollie และประสาทวิชาความรู้ให้กับลูกหลานเยาวชนของเราทั้งในโลกนี้และโลกหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยเถิด อามีน

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ที่มา : Hadji Mohammad Dollie – The Man Who Founded London’s First ‘Mosque’

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร