fbpx

Melayu Living พื้นที่สร้างสรรค์ ณ สามจังหวัดชายแดนใต้

ภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเป็นอะไรที่ไม่สวยงามนักสำหรับคนนอกพื้นที่ สำหรับบางคนสถานที่แห่งนี้อาจมีภาพจำที่ติดลบถึงขั้นที่ไม่มีความคิดอยากจะมาเยือน แต่ใครจะรู้ว่าในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้เอง คือดินแดนที่รวมผู้คนน่าสนใจเอาไว้เอาไว้อย่างมากมาย และนั่นทำให้ความพยายามในการเผยแพร่ความงดงามที่ซ่อนอยู่ ณ ที่แห่งนี้ให้ผู้คนภายนอกได้รับรู้ ควรได้รับการสนับสนุน

คอลัมน์ Voice from South เดือนนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งกลุ่มคนในพื้นที่ชายแดนใต้ พวกเขาเรียกตัวเองว่า Melayu Living” กลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์สังคม ณ ใจกลางเมืองปัตตานี

“Melayu Living คือการรวมตัวกันของสถาปนิก ช่างภาพ และกราฟฟิกดีไซเนอร์ ที่มีจุดร่วมเดียวกันคือทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมตามแนวทางที่สายอาชีพเราถนัด และเพื่อเป็นการบอกกล่าวกับสังคมภายนอกว่า ในพื้นที่ที่คนภายนอกมองว่าอันตรายและน่ากลัวนั้น เราสามารถที่จะใช้พลังสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ได้”  ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living อธิบายเรื่องราวของกลุ่มให้ฟัง

Melayu Living ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2558 แรกเริ่มเดิมที Melayu Living คือกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณเขตภาคใต้ตอนล่าง (อาจารย์วิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการฯ คนปัจจุบัน) ภายใต้การดูแลของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งมีสถาปนิกเป็นหลัก จากนั้นมีวิชาชีพอื่นที่เข้าร่วมอาสาทำงานตามที่ตัวเองถนัด ทั้งสถาปนิก ช่างภาพ และกราฟฟิกดีไซเนอร์

เมื่อตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อกลุ่มโดยใช้คำที่เรียกง่ายและฟังดูเข้ากับบริบท จึงเป็นที่มาของ Melayu Living (มลายู ลิฟวิ่ง) ซึ่งแปลว่าห้องรับแขกของมลายู เพราะพวกเขาต้องการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมาเยี่ยมเยียนและใช้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ได้   Melayu Living ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากจากคุณปิยวัชร วัฒนายากร เป็นบ้านโบราณ 2 ห้องติดกับแม่น้ำปัตตานี ให้ใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม

และหากใครได้ติดตามข่าวสารและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว ก็อาจจะได้เห็นอีเว้นท์เล็กๆ แต่เต็มเปลี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านตามาบ้าง คุณราชิตได้เล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของ Melayu Living ให้เราฟังว่า

“ในปีแรกเนื้อหางานจะเน้นหนักไปในทางสถาปัตยกรรมเป็นหลัก มีการเชิญวิทยากรจากบริษัทวัสดุก่อสร้างต่างๆ มาให้ความรู้กับสถาปนิกในพื้นที่ งานที่เป็นไฮไลท์คืองาน Hello Future เราเชิญสถาปนิกที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลมากมายคือ คุณแจ๊ค ปิตุพงษ์ เชาวกุล แห่ง SUPERMACHINE STUDIO มาบรรยายให้กับทั้งสถาปนิกและผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง นอกจากความรู้ที่เราได้จากวิทยากรแล้ว เรายังได้ต้อนรับคุณแจ๊ค โดยการปั่นจักรยานชมมัสยิดกลางปัตตานี มัสยิดกรือเซะ และปั่นเข้าไปดื่มชาในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการบอกกล่าวกับสังคมภายนอกว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้น่ากลัวเหมือนข่าวที่ถูกนำเสนอไป

ในปี 2017 ที่ผ่านมา ทางเราเริ่มมีกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น ต้นปีมีกิจกรรม MELAYU RAMA เป็นการฉายหนังสั้นจากคุณไรอัน แอนเดอร์สัน นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่ปั่นจักรยานทั่วโลกเพื่อถ่ายทำหนังสั้นไปฉายยังเมืองต่างๆ ที่แวะพัก จากนั้นก็เป็นกิจกรรมเปิดบ้านนายอากร เราพูดถึงการเชิดชูให้สังคมทราบถึงประวัติของบ้านหลังที่ Melayu Living ใช้ทำกิจกรรม และมีนิทรรศการของ 10 อย่างที่สำคัญของปัตตานีร่วมในงานนี้

กลางปี 2017 เป็นกิจกรรม NAYU NAYU (นายู น่าอยู่) นิทรรศการภาพถ่ายจาก Soray Deng ช่างภาพแนววิถีชีวิต คนหนุ่มจากกรือเซะ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในพื้นที่เองและจากคนภายนอก 2 กิจกรรมสุดท้ายของปีนี้คือการเชิญสถาปนิกจากบริษัทสถาปนิกอันดับ 1 ของประเทศไทย คือคุณชนะ สัมพลัง แห่ง A49 มาบรรยายให้ความรู้กับสถาปนิกและผู้สนใจเข้ารับฟัง   และงานล่าสุดคือกิจกรรม อา รมย์ ดี งานแผนที่ย่านชุมชนหัวตลาด เป็นการออกแบบแผนที่สำหรับการเดินชุมชนหัวตลาด ชุมชนที่มีความสำคัญในอดีต พร้อมทั้งอธิบายจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในแผนที่ และเราได้รับเกียรติจากเจ้าของบ้านโบราณหลายหลังในพื้นที่ ที่ให้ทีมงานและผู้สนใจเข้าชมภายในบ้าน”

ถึงแม้กิจกรรมทั้งหมดที่พวกเขาทำจะให้ความรู้สึกเชิงบวกต่อพื้นที่ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธและมองข้ามเหตุร้ายที่เกิดขึ้น

“เรามักจะบอกกล่าวกับผู้ที่มาเยือนทุกคนว่า…ความรุนแรงมีอยู่จริง” คุณราชิตพูดอย่างไม่ปฏิเสธถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในบ้านของตน และได้อธิบายต่อว่า

“แต่ถ้าเรามัวแต่ยึดติดกับความรุนแรงเหล่านั้น สังคมจะดีได้อย่างไร ทุกครั้งที่เราเชิญวิทยากรมาบรรยาย เราจะพาไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ ไปพบปะผู้คน ไปทานอาหารในพื้นที่ที่ดูน่ากลัว แต่สิ่งที่ทุกท่านกล่าวตอนอำลาคือ ความประทับใจที่นึกไม่ถึง ประทับใจในการต้อนรับ ประทับใจในสถานที่ บรรยากาศที่ได้สัมผัส ทุกท่านยืนยันว่าจะกลับไปเชิญชวนและสื่อสารกับคนภายนอกใหม่ว่าพื้นที่นี้ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ทุกคนคิด ซึ่งนี่เป็นจุดประสงค์หลักของห้องรับแขกที่ชื่อ Melayu Living”

เราสัมผัสได้ถึงความคิดที่เปิดกว้างอย่างเป็นกลางของกลุ่มที่ชื่อว่า Melayu Living ผ่านการพูดคุยเพียงสั้นๆ พูดได้เลยว่าหากมีโอกาสได้ลงไปยังพื้นที่สามจังหวัดนั้น จะต้องไม่พลาดแวะเยี่ยมเยียนห้องรับแขกแห่งนี้แน่นอน เราจึงอยากให้คุณราชิดช่วยพูดถึงแผนงานในปีนี้หน่อยว่า Melayu Living จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจอะไรบ้าง

“สำหรับแผนในปี 2018 นี้ เราจะเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหากิจกรรม ให้กิจกรรมมีความหลากหลายขึ้นกว่าเดิม แต่ยังอยู่ในบริบทของการสร้างสรรค์เหมือนเดิม ขณะเดียวกัน เราเตรียมที่จะเปิด BLOOM Concept Store อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็น Showroom เล็กๆ ในพื้นที่ของ Melayu Living ที่จะขายสินค้าออกแบบดี ที่มาจากนักออกแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เราต้องการนำเสนอว่า Bloom ในที่นี้คือความเบ่งบานของคนสร้างสรรค์ ไม่ใช่ Boom! ที่เป็นตัวแทนของความรุนแรง”

และถึงแม้พวกเขาจะใช้ชื่อกลุ่มว่า Melayu แต่กิจกรรมที่พวกเขาทำนั้นเปิดกว้างต่อผู้คนทุกความเชื่อ Melayu ในมุมของพวกเขาจึงไม่ใช่เพียยงแค่ตัวแทนของคนนับถือศาสนาอิสลาม แต่เป็นการบ่งบอกถึงพื้นที่ในถิ่นฐานบ้านเกิดนั่นก็คือคาบสมุทรมลายู ที่มีภาพของความหลากหลาย การอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างวัฒนธรรม แต่เป็นการอยู่ร่วมกันได้เหมือนคนสมัยปู่ ย่า ตา ยาย คนเก่าแก่ที่ไปมาหาสู่กับผู้คนต่างศาสนาได้อย่างเป็นเรื่องปรกติ

Melayu Living ต้องการสร้างความคุ้นเคยเหล่านี้ให้กลับมาอีกครั้งผ่านการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์สังคมในแบบที่พวกเขาถนัด…

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก