fbpx

อิบนิ ค็อลดูน บิดาแห่งประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่

อิบนิ ค็อลดูน (Ibn Khaldun) เป็นชาวอาหรับมุสลิม เป็นนักประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่นับได้ว่าเป็นบิดาแห่งสังคมวิทยา, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ และเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ท่านเป็นชาวตูนิเซียแห่งทวีปแอฟริกาเหนือ

จุดเริ่มต้นและหนังสือ มุก็อดดิมะฮ์

ผลงานที่ดีที่สุดของท่านคือหนังสือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายใต้ชื่อ “มุก็อดดิมะฮ์” (ซึ่งแปลว่า อรัมภบท) ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเมื่อปีค.ศ.1377 มันคือหนังสืออรัมภบทและเป็นหนังสือเล่มแรกที่ชักนำท่านเข้าสู่สายงานด้านประวัติศาสตร์สากล แต่กระนั้นในช่วงยุคสมัยของท่านหนังสือเล่มดังกล่าวก็เรียกได้ว่าเป็นงานอิสระในตัวของมันเองอยู่แล้ว นักคิดร่วมสมัยบางท่านมองว่า “มุก็อดดิมะฮ์” คืองานเขียนชิ้นแรกที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาด้านประวัติศาสตร์, สังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา, ประชากรศาสตร์, ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม, และศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย

อิบนิ ค็อลดูน เริ่มต้นงานเขียนในหนังสือ “มุก็อดดิมะฮ์” ด้วยการตั้งข้อวิพากษ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงความผิดพลาดที่นักประวัติศาสตร์ทั่วไปมักจะยึดถือปฏิบัติกันและอุปสรรคความยากลำบากต่างๆ ที่อาจต้องเจอในแวดวงประวัติศาสตร์ ท่านได้สรุปข้อวิพากษ์ไว้เป็น 7 ประเด็นสำคัญด้วยกัน

“โดยธรรมชาติของทุกการบันทึกเรื่องราวนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาดเสมอ…

  1. การแบ่งพรรคแบ่งพวกตามหลักความเชื่อหรือความคิดเห็น
  2. การมั่นใจกับที่มาของข้อมูลของตนเองมากเกินไป
  3. ความล้มเหลวในการทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ผู้อื่นต้องการสื่อ
  4. ความเชื่อที่ผิดต่อความจริง
  5. การไม่สามารถจัดวางเหตุการณ์หนึ่งให้เข้ากับบริบทของความเป็นจริง
  6. ความปรารถนาอยากได้รับความดีความชอบจากกลุ่มชนชั้นสูง ด้วยการยกย่องสรรเสริญพวกเขาหรือการทำให้ชื่อเสียงของพวกเขาระบือไกล…
  7. สิ่งสำคัญที่สุดคือความเขลาหรือความไม่รู้ในกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ในส่วนของประเด็นข้อที่ 7 (ความเขลาในกฎเกณฑ์ทางสังคม) นั้น อิบนิ ค็อลดูน ได้แตกแขนงออกมาเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยสังคมมนุษย์ที่กล่าวถึงในงานเขียน “มุก็อดดิมะฮ์” ของเขาเช่นกัน Al Husri (นักคิดยุคอ็อตโตมันแห่งศตวรรษที่ 20) กล่าวว่าหนังสือ “มุก็อดดิมะฮ์” ของ อิบนิ ค็อลดูน นั้นเป็นงานเขียนด้านสังคมวิทยาที่สำคัญชิ้นหนึ่งซึ่งร่างอธิบายออกมาเป็นผลงาน 6 เล่มดังเช่น สังคมวิทยาทั่วไป สังคมวิทยาการเมือง สังคมวิทยาวิถีชีวิตเมือง สังคมวิทยาเศรษฐศาสตร์ และสังคมวิทยาองค์ความรู้

อิบนิ ค็อลดูน

การยอมรับซึ่งข้อมูลข่าวสาร  

บ่อยครั้งที่ อิบนิ ค็อลดูน มักจะวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ความเชื่อที่งมงายไร้สาระและการยอมรับซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยไม่ใช้วิจารณญาณใดๆ” ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแนะนำกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ต่อศาสตร์สังคมวิทยา ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น ท่านมักจะอ้างอิงถึงสิ่งนั้นว่าเป็น “ศาสตร์ใหม่” และท่านยังได้พัฒนาศัพท์บัญญัติใหม่ๆ เพื่อการนั้นอีกด้วย

นอกจากนี้แล้วกระบวนการเชิงประวัติศาสตร์ของท่านยังได้วางรากฐานการตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของรัฐชาติ, การติดต่อสื่อสาร, การโฆษณาชวนเชื่อและความอคติอย่างเป็นระบบในประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้นำมาสู่การพัฒนาด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ของท่านในที่สุด

การถือกำเนิดของแนวคิด อัศศอบียะห์

แนวความคิดแบบ อัศศอบียะห์ (ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความเป็นกลุ่มชนนิยม’ ‘ความเป็นเผ่าพันธุ์นิยม’ หรือ ‘ความเป็นชาตินิยม’ ในบริบทปัจจุบัน) คือหนึ่งในแนวคิดซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของหนังสือ “มุก็อดดิมะฮ์” อิบนิ ค็อลดูน ใช้นิยามของคำว่า อัศศอบียะห์ เพื่ออธิบายถึงพันธนาการระหว่างมนุษย์ที่ก่อตัวเป็นสังคมขึ้นมา พันธนาการ หรือ อัศศอบียะห์ ที่ว่านี้มีอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะระดับชั้นใดของความเป็นอารายธรรมก็ตาม นับตั้งแต่สังคมที่ร่อนเร่พเนจรไปจนถึงรัฐประเทศหรืออาณาจักรและจักรวรรดิ  อัศศอบียะห์ จะมีความแข็งแกร่งมากที่สุดในกลุ่มชนร่อนเร่พเนจรและลดหลั่นน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามระดับความก้าวหน้าของอารายธรรม เมื่อใดที่ อัศศอบียะห์ หนึ่งเริ่มลดตัวลงก็จะมี อัศศอบียะห์ ที่น่าสนใจกว่าเกิดขึ้นแทนที่

ทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้แล้ว อิบนิ ค็อลดูน ยังได้เขียนทฤษฎีเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และการเมืองไว้ในหนังสือ Muqaddimah โดยได้เชื่อมโยงความคิดของเขาเกี่ยวกับแนวคิด อัศศอบียะห์ ไว้กับการแบ่งแยกของแรงงานว่า ยิ่งมีความเหนียวแน่นทางสังคมมากขึ้นเท่าใด ก็อาจมีความซับซ้อนของการแบ่งแยกมากขึ้นเท่านั้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้นตามด้วย

อิบนิ ค็อลดูน ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตและการพัฒนานั้นสามารถกระตุ้นอุปสงค์และอุปทานได้เป็นอย่างดี และกำลังของอุปสงค์และอุปทานเดียวกันนี้จะเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้าในสังคม ท่านยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า macroeconomic forces of population growth, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้น จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม อิบนิ ค็อลดูน เชื่อว่าการเติบโตของจำนวนประชากรนั้นคือความมั่งคั่ง

อิบนิ ค็อลดูน ตระหนักดีว่าเงินตรานั้นคือมาตรฐานของมูลค่าต่างๆ คือตัวกลางของการแลกเปลี่ยนและเป็นตัวสงวนมูลค่า แม้ท่านจะไม่ได้ตระหนักว่ามูลค่าของทองคำและเงินนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตามกำลังอุปสงค์และอุปทานได้ก็ตาม นอกจากนี้แล้ว อิบนิ ค็อลดูน ยังแนะนำทฤษฎีแรงงานที่ว่าด้วยมูลค่า ท่านได้อธิบายว่าแรงงานนั้นคือแหล่งกำเนิดของมูลค่าที่จำเป็นต่อกำไรและการสะสมเงินทุนทั้งมวล

ทฤษฎีแนวคิด อัศศอบียะห์ ของท่านมักถูกเปรียบเทียบกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ของ Keynes โดยทฤษฎีของ อิบนิ ค็อลดูน นั้นครอบคลุมแนวความคิดเรื่องตัวทวีคูณได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือในทฤษฎีของ John Maynard Keynes นั้นชนชั้นกลางที่แสดงแนวโน้มในการประหยัดได้ดีกว่าในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำคือสิ่งที่น่าตำหนิ แต่สำหรับทฤษฎีของ อิบนิ ค็อลดูน แล้วมันคือแนวโน้มในการประหยัดของรัฐบาล ในช่วงเวลาที่โอกาสทางการลงทุนไม่สามารถแก้ปัญหาความซบเซาทางการค้าที่นำไปสู่อุปสงค์มวลรวมได้

อิบนิ ค็อลดูน ได้สร้างความรู้จักให้กับแนวคิดซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันด้วยชื่อ Laffer Curve ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีที่จะทำให้รายได้ภาษีของรัฐเพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีนี้จะเป็นเหตุให้มีการลดลงของรายได้ภาษีของรัฐในที่สุด สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่สูงจนเกินไปนั้นมักจะขัดขวางความต้องการผลิตของผู้ผลิตในทางเศรษฐศาสตร์

อิบนิ ค็อลดูน ใช้รูปแบบวิภาษวิธีในการอธิบายความเกี่ยวพันทางสังคมวิทยาของตัวเลือกภาษี (ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์) ว่า:

“ในระยะแรกของรัฐประเทศนั้น ภาษีอากรเป็นสิ่งที่ไม่หนักหน่วงแต่สามารถเรียกรายได้ให้กับรัฐได้มากมาย (…) จนเมื่อระยะเวลาผ่านไปและกษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินเอาชนะกันและกันได้ พวกเขาเริ่มสูญเสียพฤติกรรมฝักใฝ่เผ่าพันธุ์และเริ่มที่จะชื่นชอบสิ่งที่เป็นอารยธรรมมากกว่า ความต้องการและความจำเป็นของพวกเขาเริ่มเติบโตขึ้น (…) และเริ่มผูกพันกับความหรูหรามีระดับที่ชีวิตของพวกเขาเคยเติบโตมา นั่นจึงทำให้พวกเขาเริ่มออกมาตรการภาษีใหม่ให้กับผู้คน (…) แล้วเพิ่มอัตราภาษีเก่าให้สูงขึ้นเพื่อที่จะทำให้รายได้ภาษีของพวกเขาเพิ่มพูนขึ้นไปอีก (…) แต่กระนั้นผลกระทบต่อธุรกิจจากการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีเหล่านี้ทำให้พวกเขาเริ่มรู้สึกกระทบ ไม่นานต่อมานักธุรกิจจึงเริ่มรู้สึกไม่อยากลงทุนอันเนี่องมาจากการเปรียบเทียบผลกำไรกับภาระค่าธรรมเนียมภาษีที่พวกเขาต้องแบกรับ (…) จนในที่สุดการผลิตจึงตกต่ำลงและรายได้ภาษีก็ลดลงเช่นกัน”

บทวิเคราะห์นี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า Laffer Curve เป็นอย่างมาก ซึ่ง Laffer เองก็ไม่ได้อ้างว่าเขาคิดค้นแนวคิดดังกล่าวด้วยตัวเขาเอง ความคิดดังกล่าวนั้นปรากฏขึ้นในผลงานของ อิบนิ ค็อลดูน มาก่อนหน้าและล่าสุดในผลงานของ John Maynard Keynes ด้วยเช่นกัน

ผู้บุกเบิกในศาสตร์หลายแขนง

อิบนิ ค็อลดูน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปัญญาชนมุสลิมที่ฉลาดและอัจฉริยะที่สุดของโลก ท่านได้สร้างผลงานไว้กับศาสตร์หลายแขนง นักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันเชื่อว่าศาสตร์สังคมวิทยาที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นั้นอาจไม่มีวันได้ไปถึงระดับที่สูงขึ้นหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก อิบนิ ค็อลดูน ผมเชื่อว่าท่านคือแบบอย่างที่ดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ทุกแขนงวิชา (ดังเช่นอีกหลายท่าน) ท่านคือต้นแบบที่เลอเลิศของการผสมผสานระหว่างความเป็นมุสลิมและนักวิทยาศาสตร์ในคนเดียวกัน ท่านได้พิสูจน์ว่าอิสลามและวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้เป็นอะไรที่ขัดแย้งกันตามที่บางคนอาจเชื่อและเข้าใจ

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Why Ibn Khaldun is Called One of the Greatest Thinkers of the Muslim World

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร