fbpx

การเดินทางของกาแฟ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกลี้ลับ สู่ความสามัญในโลกสมัยใหม่

การดื่มกาแฟอาจเป็นเพียงกิจกรรมธรรมดาสามัญสำหรับใครหลายคน แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ถึงความเป็นมาหรือเรื่องราวของกาแฟที่เราดื่มกันอยู่ทุกวันนี้ Steven Topik จึงช่วยสะกิดเราให้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งในยุคสมัยที่ผ่านมา เมล็ดกาแฟเคยเป็นตัวแทนแห่งจิตวิญญาณ เคยเป็นทั้งข้อพิพาททางการเมือง และเคยเป็นแม้กระทั่งรูปแบบหนึ่งของเงินตรา

ประวัติศาสตร์ของกาแฟเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเอธิโอเปีย ที่ซึ่งกาแฟเติบโตตามป่าเขา Topik ได้เล่าว่า ชาวบ้านนำเมล็ดกาแฟมาใช้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อบวงสรวงในพิธีกรรมทางศาสนาของชนเผ่า อีกทั้งยังนำกาแฟมาใช้ดื่มเพื่อเพิ่มพลังดับความหิวกระหายในยามออกเดินป่าล่าสัตว์อีกด้วย

ครั้นเมื่อเมล็ดกาแฟได้เริ่มแพร่กระจายสู่ภูมิภาคอื่นในทวีปแอฟริกา ผู้คนบางกลุ่มจึงนิยมใช้เมล็ดกาแฟสดมาชงเป็นเครื่องดื่ม บ้างก็นำไปคั่วกับไขมันพืชหรือเนยก่อนชง บ้างก็เคี้ยวเมล็ดกาแฟเพื่อทานเล่น เมล็ดกาแฟจึงเป็นพืชที่มีน้ำหนักเบาแต่มีคุณค่าในตัวสูง จนชาวฮายาในประเทศแทนซาเนียเคยนำเมล็ดกาแฟมาใช้เป็นสกุลเงิน ใช้กำหนดราคาปศุสัตว์และสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดกาแฟ

ต่อมากาแฟได้เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วทุกมุมโลก ซึ่งตรงนี้คงต้องยกความดีความชอบให้กับบรรดาพ่อค้าชาวอาหรับ โดยเฉพาะชาวซูฟีในประเทศเยเมนที่ยกระดับคุณค่าของกาแฟให้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมยามค่ำคืนของพวกเขา

“ผู้ชายและผู้หญิงจะส่งต่อกาแฟและร่วมดื่มจากถ้วยเดียวกัน” Topik เขียนอธิบาย “จุดประสงค์ของการดื่มกาแฟร่วมกันก็เพื่อเอาชนะโลกแห่งวัตถุและเพื่อค้นหาความสันติในจิตใจ”

และกาแฟเยเมนก็ได้สร้างผลกระทบต่อโลกแห่งวัตถุจริง เมื่อเยเมนได้กลายเป็นต้นกำเนิดกาแฟขนาดใหญ่ครองตำนานมาร่วม 250 ปี สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและทางการทหารของอาณาจักรอ็อตโตมันในเวลานั้นเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กาแฟสำหรับแวดวงมุสลิมสากล กลับเป็นประเด็นขัดแย้งร้อนแรงประเด็นหนึ่ง Topik เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากกาแฟคือสิ่งที่เย้ายวนใจสำหรับกลุ่มคนที่พยายามเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในยามดึกของช่วงรอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอดของศาสนาอิสลาม แต่ก็มีนักวิชาการศาสนาบางท่านออกมาโต้แย้งต่อประเด็นดังกล่าวนี้ เนื่องจากให้น้ำหนักกับประโยชน์ในทางการรักษาโรคของกาแฟมากกว่า

อีกหนึ่งประเด็นความกังวลก็คือการผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดของบรรดาร้านกาแฟ เนื่องจากการชงกาแฟจำเป็นต้องใช้ทักษะทางเทคนิคจึงทำให้พ่อค้าไม่สามารถขายเมล็ดกาแฟสดให้กับลูกค้าทั่วไปได้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงนิยมเปิดร้านกาแฟทั่วทุกแห่งที่พวกเขาเคยไป การเกิดขึ้นของแหล่งชุมนุมแห่งใหม่อย่างร้านกาแฟจึงได้กลายเป็นข้อกังวลสำหรับบรรดาผู้นำศาสนา ที่หวั่นวิตกกลัวว่าจะไปกระทบกับบทบาทของมัสยิดซึ่งถือเป็นศูนย์กลางและแหล่งชุมนุมของชาวมุสลิมในการพบปะสังสรรค์และถกประเด็นทางการเมืองของผู้คนในชุมชน

ร้านกาแฟในกรุงไคโร ช่วงศตวรรษที่ 18 : By Bruno Befreetv (Own work) [CC BY-SA 3.0 or GFDL], via Wikimedia Commons

            ในช่วงปี ค.ศ.1500 เรื่อยมา กาแฟยังคงได้รับความนิยมในแถบคาบสมุทรอาหรับไม่น้อยลงจากเดิม แต่ยังมากขึ้นถึงขนาดมีการแต่งนิทานปรำปราที่กล่าวอ้างและยกเครดิตให้ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) และเทวทูตญิบรีลที่อุตส่าห์ส่งกาแฟให้มาจุติยังโลกใบนี้

ชาวตะวันออกกลางนิยมดื่มกาแฟดำเข้มไม่เติมน้ำตาล และเมื่อชาวยุโรปได้เริ่มลองหันมาดื่มกาแฟด้วยพวกเขากลับไม่ประทับใจกับรสชาติขมฝาดนั้น แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ปฏิเสธถึงความโดดเด่นข้ออื่นของกาแฟ เช่นสรรพคุณในด้านการรักษาโรคและความสัมพันธ์ของกาแฟกับการมีรสนิยมชั้นสูงและความหรูหราในแบบ “ชาวตะวันออก”

เมื่อกาลเวลาผ่านไปความเกี่ยวเนื่องดังกล่าวก็เริ่มเปลี่ยนแปลง กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มของเหล่านักวิชาการและบรรดานักลงทุนหน้าใหม่ชาวยุโรป รวมไปถึงกลุ่ม “แอนตี้บาคคัส” (กลุ่มต่อต้านสุรา) และชายผู้ไม่นิยมสิ่งมึนเมาอีกด้วย

กระนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับกรณีของประเทศในแถบตะวันออกกลาง เมื่อการเป็นแหล่งสังสรรค์พบปะชุมนุมซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของร้านกาแฟได้กลายเป็นข้อวิตกกังวลสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งความวิตกกังวลเหล่านี้ก็เคยพิสูจน์ว่าเป็นจริงดังที่คาดมาแล้ว เมื่อร้านกาแฟได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ในการวางแผนการก่อปฏิวัติขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 และที่กรุงเบอร์ลิน บูดาเปส และเวนิชเมื่อปี ค.ศ. 1848 เช่นเดียวกัน

ด้วยการเติบโตของสังคมบริโภคนิยมทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา วัฒนธรรมการดื่มกาแฟจึงได้แพร่หลายมาถึงชนชั้นกรรมกรระดับล่าง และเมื่อใดที่เหล่าทหารในช่วงการก่อปฏิวัติในอเมริกาได้รับการแบ่งสรรปันส่วนเป็นเหล้ารัม บรรดากลุ่มทหารในสงครามกลางเมืองก็จะได้กาแฟเป็นอภินันทนาการ จนมีนายทหารคนหนึ่งเคยพูดว่า “ถ้าหากการเคารพนับถือในหมู่ชนทหารผ่านศึกมีมากพอจนสามารถสถาปนาเป็นศาสนาใหม่ได้ พวกเขาคงจะมีไฟและกาแฟเป็นพระเจ้าไปแล้ว”

วัฒนธรรมการดื่มกาแฟเพิ่งกลายมาเป็นความธรรมดาสามัญขึ้นกว่าเดิมเมื่อศตวรรษที่ 20 ไม่นานมานี้เอง เมื่อมนุษย์มีนวัตกรรมใหม่ที่เอื้อความสะดวกสบายให้การชงกาแฟด้วยตัวเองที่บ้านหรือที่ทำงาน  และนี่จึงเป็นจุดผกผันที่เปลี่ยนแปลงให้การดื่มกาแฟได้กลายมาเป็นกิจกรรมสามัญสุดแสนธรรมดา ที่ไม่มีอะไรหวือหวาอีกต่อไป

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Coffee’s journey from mystic to modern realms
Photo by Jakub Kapusnak on Unsplash

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร