fbpx

มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ : เปลี่ยนมุสลิมไทย ด้วยการออกแบบอนาคต

มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ หนุ่มนักศึกษาแพทย์จากชายแดนภาคใต้ สนใจปัญหาสังคมจนวิพากษ์ออกมาเป็นงานเขียนรวมเล่มของตัวเองและได้รับความสนใจจากนักอ่านอย่างอบอุ่น

เมื่อเขาเรียนจบเขาคงเป็นนักศึกษาแพทย์ที่แปลก หากยึดตามมาตรฐานแบบไทยๆ เขาไม่ใช่เด็กเรียน ไม่ใกล้เคียงเลยด้วยซ้ำ ทั้งคนรู้จักและไม่รู้จักน่าจะจัดเขาเป็นจำพวกเด็กหลังห้องมากกว่า เป็นเด็กหลังห้องที่ชอบโห่แซวครูผู้สอน ชีวิตไม่ได้มีแค่การเรียน แต่ยังชอบเล่นกีฬา บ้ากิจกรรม สนใจการช่วยเหลือสังคม และหากดูแค่เสื้อผ้าหน้าผมคงไม่มีใครคิดว่าเขาจะเป็นเด็กเรียนเก่งหาตัวจับยากคนหนึ่งในละแวกบ้านเกิด หรือนี่อาจเป็นภาพจำลองลักษณะของเยาวชนมุสลิมไทยในอนาคต ที่กล้าท้าทายกรอบความคิดที่ยึดติดระเบียบแบบแผนเดิมๆ ของสังคมมุสลิมในประเทศไทย หากเป็นเช่นนั้น บางทีอาจถึงเวลาที่เราต้องตั้งใจฟังทัศนะของเขาอย่างลึกซึ้งแล้วก็เป็นได้

 

สังคมมุสลิมไทยในอุดมคติที่อยากเห็นเป็นแบบไหน แล้วเราจะก้าวไปสู่สังคมแบบนั้นได้อย่างไร?
ผมว่าสังคมอุดมคติคงต้องรอวันอาคีรัต ผมเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมจะขจัดปัญหาในสังคมให้หมดไปได้ คนรวย-จน มีได้ แต่ต้องยุติธรรม ต้องไม่เหลื่อมล้ำ ต้องมีการแบ่งปันตามสัดส่วนจริงๆ ไม่ใช่ว่าคนเหนื่อยมากได้น้อย คนเหนื่อยน้อยได้มาก เพราะการเป็นหรือไม่เป็นเจ้าของทุน หรือพวกคนทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ถูกลงโทษ บทลงโทษของกฎหมายไม่ยุติธรรม คนทำผิดสามารถปลิ้นปล้อนไปเรื่อยๆ เพราะการไม่มีประจักษ์หลักฐานหรือพยานทำให้คำพูดเราใหลเรื่อยตามน้ำ อันนี้คือเรื่องที่จะไม่เกิดขึ้นในวันอาคีรัต กุรอ่าน นบีบอกอะไรไว้ในวันอาคีรัต ผมเชื่อว่านั่นคือสังคมอุดมคติ แน่นอนว่าดุนยานี้คงไม่มีใครสร้างสังคมอุดมคติแบบนั้นได้ แต่ถ้ายึดว่าเรามีรูปแบบสังคมที่อุดมคติ แล้วพยายามทำให้มันคล้ายๆ อันนี้ก็น่าจะโอเค

ไอ้ปัญหาพวกความขัดแย้งระหว่างสายเก่า – ใหม่ ความแตกต่างระหว่างมัซฮับ สลัฟ-อิควาน ไอ้เรื่องพวกนี้มันคืออะไร มันดูเล็กไปเลย

อะไรคือปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมมุสลิมไทย และเราจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร?
มันมีปัญหาหลายรูปแบบมาก ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน การไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคนหมู่มากในสังคมคือวิกฤตในความคิดของผม ซึ่งน่าเสียใจอยู่ไม่น้อยที่สัดส่วนมุสลิมในกลุ่มดังกล่าวมีอยู่เยอะ ง่ายๆเลยในชีวิตของผมที่เป็นหมอ ทั้งที่ผมเจอเองหรือฟังจากเพื่อนๆหมอด้วยกันเล่ามา มันมีอะไรที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษนี้สำหรับประเทศนี้

ผมเคยเจอครอบครัวหนึ่ง มีลูก 7 คน รวมพ่อ แม่ เป็นทั้งหมด 9 คน สมาชิกในครอบครัวที่ต้องพามาให้หมอตรวจคือลูกคนสุดท้องในบ้าน ถูกส่งตัวมาจาก รพ.ประจำอำเภอด้วยเรื่องตัวบวมเพราะภาวะขาดสารอาหารโปรตีน บวมทั่วตัว มีไข้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป สืบสาวเรื่องต่อพบว่าครอบครัวนี้พ่อแม่มีอาชีพรับจ้างตัดยาง บนเขาห่างไกลชุมชน พวกเขาปลูกกระท่อมเล็กๆไว้บนเขา รายได้รวมต่อเดือนของครอบครัวนี้คือ 3,000 บาท ไม่ผิดหน่วย ไม่ผิดเลข สามพันบาทครับ การจัดการบริหารให้รายได้เท่านี้เลี้ยงลูกทุกคนได้และสะดวกต่อชีวิตในพื้นที่ห่างไกลชุมชน คือการกินข้าวทุกมื้อโดยมีกับข้าวเป็นบะหมี่ บางมื้ออาจจะมีไข่ใส่ลงไปบ้าง กินกันแบบนี้มาเป็นเวลาหลายปี ลูกคนสุดท้องที่มาหาหมอนี่ไม่ได้กินบะหมี่ แต่ที่ขาดสารอาหารเพราะเด็กกินนมแม่ แม่กินแต่บะหมี่ ไม่ได้รับโปรตีนอย่างอื่น นมแม่ก็ไม่รู้ว่าอะไรอยู่บ้าง บีบเค้นมาจากเลือดแม่ทั้งตัวแทบไม่เหลือสารอาหารอะไรให้ลูกเลย ตรวจร่างกายลูกคนอื่นๆ ในบ้านก็เป็นโรคขาดสารอาหาร ตัวเล็กกว่าเกณฑ์กันหมด อะไรแบบนี้คือเรื่องที่ไม่คาดว่าจะเจอ คนในเมืองจนที่สุดยังไงก็มีข้าวกิน แต่ชีวิตแบบนี้ผมว่ามันยังมีซ่อนอยู่อีกเยอะ คือพอมีเรื่องพวกนี้ขึ้นมา ไอ้ปัญหาพวกความขัดแย้งระหว่างสายเก่า – ใหม่ ความแตกต่างระหว่างมัซฮับ สลัฟ-อิควาน ไอ้เรื่องพวกนี้มันคืออะไร มันดูเล็กไปเลย คนกินอิ่มนอนหลับก็มีเรื่องทะเลาะกันได้ทุกวัน ในขณะเดียวกันปากท้อง สุขภาพอนามัย ความรู้สำหรับการมีชีวิตอย่างพลเมืองของคนส่วนใหญ่ในสังคมมุสลิมยังน้อยอยู่ อันนี้ผมว่ามันวิกฤต

สมมติว่าผมเป็นหมอผมอาจจะออกหน่วยแพทย์อาสา เดินขึ้นป่าขึ้นเขาตรวจชาวบ้านฟรีๆ ถ้าวิศวกรก็ช่วยออกแบบบ้าน knock down ราคาถูกๆ ที่ให้คนเร่ร่อนมีที่อยู่อาศัยเป็นรูปเป็นร่างบ้าง

ใครควรเป็นเจ้าภาพหรือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือชี้นำสังคมมุสลิมไทย?
มันไม่มีองค์กรอะไรที่ดูแลคนทุกส่วนในสังคมได้หมดอยู่แล้ว ใครถนัดอะไรก็ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่มีจุดมุ่งหมายนะ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมด้วยกัน คือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่เรามีบ้าง สมมติว่าผมเป็นหมอผมอาจจะออกหน่วยแพทย์อาสา เดินขึ้นป่าขึ้นเขาตรวจชาวบ้านฟรีๆ ถ้าวิศวกรก็ช่วยออกแบบบ้าน knock down ราคาถูกๆ ที่ให้คนเร่ร่อนมีที่อยู่อาศัยเป็นรูปเป็นร่างบ้าง นักกฎหมายก็รวมตัวกันว่าความให้คดีที่โดนอธรรม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มันมีมาก่อนที่ผมจะตอบคำถามวันนี้นานมากแล้ว สำนึกในมนุษยธรรมมันสืบทอดกันมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีอารยะธรรม

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนแบบที่ว่ามันเป็นคนสัดส่วนเล็กๆในทุกๆสาขาวิชาชีพ ของอย่างงี้มันต้องช่วยกันสร้างกระแส กระแสที่แบบว่าให้คนรุ่นใหม่นะ ที่พอมีความรู้ความสามารถมีวิชาชีพที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ หรือไม่มีความรู้ไม่มีวิชาชีพก็ได้ แต่อยากมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ออกมาเยอะๆ มันต้องมีอีเว้นท์บ่อยๆ ถ้ามีคนคิดใกล้กันเหมือนกัน ก็รวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กรแล้วต่อยอดพัฒนากันต่อ

ผมเคยฟังเรื่องเล่าจาก อ.วันนอร์(วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา) อดีตประธานสภา ท่านเล่าถึงตอนไปเยี่ยมเยียนที่ประเทศการ์ตา คนการ์ตานี่แปลก เพราะประชากรทั้งประเทศมีไม่ถึง 1 ล้านคน แต่มีมูลนิธิเยอะกว่ามุสลิมในไทยทั้งประเทศรวมกัน เงินหมุนเวียนในกิจกรรมการกุศลของคนประเทศนี้เยอะมาก ตอนไปที่การ์ตามีแต่คนพา อ.วันนอร์ไปเยี่ยมชมมูลนิธิอย่างเดียว การพักร้อนของคนพวกนี้คือการไปเยี่ยมเยียนประเทศที่ยากไร้ในโลกที่สามสี่ห้าหกเจ็ด แล้วกลับมาบอกเล่าเพื่อขอความช่วยเหลือกลับไป อันนี้เป็นตัวอย่างที่เบสิคมากว่าการสร้างกระแสมันทำให้สังคมดีขึ้นจริงๆ ประเทศเรามีมุสลิมที่อยู่ดีกินดี การศึกษาดี มีงานทำดีๆเยอะ แต่มันเหมือนเราหลับตาไม่อยากมองเห็นว่าสังคมเรายังมีความต้องการในสิ่งที่ท่านมีอยู่เยอะนะ

 

ในฐานะที่เป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่ต้องคลุกคลีกับคนต่างศาสนิก คิดว่าอะไรบ้างที่เป็นปัญหา ร่วมระหว่างเยาวชนมุสลิมกับเยาวชนต่างศาสนิก และเราควรจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรจากกันและกัน ได้บ้าง?
คือในพื้นสามจังหวัดมันเป็นเขตที่พิเศษนิดนึง เพราะมุสลิมที่นี่ส่วนมากแล้วจะเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ผมเองก็จบมาจากโรงเรียนประเภทนี้ ส่วนคนไทยพุทธก็เรียนโรงเรียนสามัญธรรมดาไป บรรยากาศและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมมีพื้นฐานมาจากโรงเรียนมัธยมน้อยมาก และจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้กันส่วนใหญ่เกิดในรั้วมหาวิทยาลัย เด็กปอเนาะก็มีทัศนคติวิธีคิดในแบบที่ไม่เคยเจอสังคมไทยพุทธมาก่อน แบบขวาจัดก็อาจมาในรูปแบบความคิดที่ว่าไทยพุทธคือกาเฟร เข้านรกหมด ไม่ชอบ ไม่คุย ไม่สังคมด้วย ซึ่งหายากมากจริงๆ กลางๆหน่อยเวลาคบหาเพื่อนก็จะคบเฉพาะมุสลิมด้วยกัน ไม่เน้นสร้างสัมพันธ์กับคนศาสนิกอื่น ถ้ามาทางซ้ายก็แทบไม่เหลืออะไรที่บอกว่าเป็นมุสลิมเลย อันนี้ก็มีพอสมควร และคนที่จบจากปอเนาะหรือเคยผ่านสถาบันปอเนาะก็มีอยู่ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคั่นกลางความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างคือ ความกล้าในการทดลองสิ่งใหม่ๆ โดยที่ไม่ทำให้ขนบเดิมของเราหายไป  ผมว่านศ.มุสลิมเค้าเป็นห่วงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมตัวเอง ซึ่งความจริงมันเป็นเรื่องดีนะ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการยืนหยัด แต่เราน่าจะเรียนรู้เพิ่มเติมกันหน่อยนะว่าเราสามารถแสดงตนในการเป็นมุสลิมที่ดีได้แล้วสามารถเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างได้จากการสัมผัสและใกล้ชิดคนในวัฒนธรรมอื่น แต่คงมีให้เห็นหลายกรณีว่าเด็กปอเนาะทิ้งความรู้ศาสนาไปกันหมดเลยพอมาเจอวัฒนธรรมที่ทันสมัยอะไรพวกนี้ ทำให้รุ่นน้องต้องระวังตัวกันมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี

 

การรักษาตัวตนมุสลิมมันทำให้เราอยู่กับสังคมอื่นยากไหมและมันทำให้เราดูแปลกแยกหรือไม่?
ผมว่าไม่ยากเลย ผมเป็นมุสลิมที่ชัดเจนกับคนรอบข้างตั้งแต่ครั้งแรกที่เราเจอกันว่าเรามีขอบเขตอะไรบ้าง วันหนึ่งต้องทำอะไรบ้าง อะไรที่กินได้ กินไม่ได้ ซึ่งเพื่อนๆแรกๆก็ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย (อันนี้ถือว่าการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมของไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร เรามีความรู้ของวัฒนธรรมอื่นๆที่มีอยู่ในสังคมนี้กันค่อนข้างน้อย) ต้องใช้เวลาพอสมควรในการอธิบาย มันไม่ถึงกับแปลกแยกหรอก เพราะมีอีกตั้งหลายเรื่องที่เราทำเหมือนกับคนอื่นๆได้ เตะบอลด้วยกัน กินน้ำชาด้วยกันอะไรด้วยกัน ก็เป็นเพื่อนต่างศาสนิกทั้งนั้น ผมว่าจุดเริ่มต้นที่เราทำให้คนอื่นรู้จักเราเนี่ยแหละสำคัญที่สุด ถ้าเราเริ่มต้นว่าเราเป็นมุสลิมแบบชัดเจนไปเลยนะ ซักพักนึงทุกคนก็จะเข้าใจเราว่าที่เราแตกต่างกับคนอื่นมันเป็นเรื่องของศาสนา มันคล้ายๆกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ผมเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมคณะเป็นพวกเดินทางต่างประเทศบ่อยๆ อันนี้เป็นข้อดีอีกแบบ เพราะคนพวกนี้จะเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลายและการเคารพกันระหว่างความแตกต่างของวัฒนธรรมอะไรพวกนี้ครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Halal Life Magazine ฉบับที่ 26

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน