fbpx

9 ปีฝันร้าย…จากคลื่นยักษ์ สึนามิ

เหตุการณ์วันมหาวิปโยคที่ไม่มีใครคาดฝัน ช่วงสายๆ ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หายนะครั้งยิ่งใหญ่ของการสูญเสีย พลัดพรากจากคนที่รัก แม้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่สิ่งที่ทิ้งไว้อย่างยาวนานคือความโศกเศร้าและคราบน้ำตา

ชุมชนบ้านหาดยาวเจ้าไหม

ชุมชนบ้านหาดยาวเจ้าไหม

9 ปีที่แล้วชุมชนบ้านหาดยาว – เจ้าไหม หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ชุมชนที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลอันดามันอยู่บริเวณร่องของปากอ่าว หลังจากคลื่นยักษ์ สึนามิ ได้ทำลายทุกสิ่ง หลายคนหวาดกลัว  ทิ้งบ้าน ทิ้งทะเล ทิ้งอาชีพ ย้ายไปอยู่ที่อื่น  9 ปีกับฝันร้ายที่ผ่านไป ชุมชนบ้านหาดยาว – เจ้าไหมได้เรียกรอยยิ้มเสียงหัวเราะกลับมาอีกครั้ง

นางหย๊ะ  หมาดตุด หรือ “จ๊ะเลียะ” ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านหาดยาว-เจ้าไหม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เล่าว่า แต่ก่อนในชุมชนผู้หญิงเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้  ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ     ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ออกเรือหาปลา แต่การทำประมงก็ถูกกดราคา  ปลาที่หามาได้นอกเหนือจากปลาเศรษฐกิจที่ติดอวนมาแล้วขายไม่ได้ราคา ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ติดอวนมาถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย ขาดการนำไปใช้ประโยชน์  บวกกับการที่กลุ่มผู้หญิงจำนวนมากว่างงาน   ใช้เวลาที่มีอยู่หมดไปกับการนั่งรอผู้นำครอบครัวที่ออกเรือไปหาปลา จึงจุดประกายความคิดให้จ๊ะเลียะคิดหาวิธีสร้างอาชีพและรายได้ให้เหล่าแม่บ้านในชุมชน

“หลังเหตุการณ์สึนามิผ่านไป บ้านหาดยาว-เจ้าไหมกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเข้าออกไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน  ปี 2555  จึงชักชวนผู้หญิงในชุมชนตั้ง กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านหาดยาว-เจ้าไหม ผลิตผ้าบาติก จักสาน อาหารทะเลแปรรูปและกะปิ ซึ่งที่ผ่านมาก็ขายได้ดี แต่ติดปัญหาอยู่ที่ต่างคนต่างขาย ขาดการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้น”

เรือของชาวประมง

เรือของชาวประมง

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงร่วมมือกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ” โดยมุ่งหวังที่จะเข้ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิให้กลายเป็นชุมชนที่สามารถบริหารจัดการตัวเองเพื่อคลี่คลายปัญหาหรืออุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ และพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ

ปลาเค็ม – ปลาหวาน จึงถูกนำกลับมาสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับครอบครัวและชุมชนบ้านหาดยาว-เจ้าไหมอีกครั้ง ภายใต้ โครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกของกลุ่มสตรีบ้านหาดยาว-เจ้าไหม  อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  โดยใช้ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการแปรรูปอาหารที่มีอยู่แล้ว รวมไปถึงคุณภาพของรสชาติ ความสะอาด และคุณประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมาผลิตสินค้า

นางละบิดะ หะหวา หรือ “จ๊ะเพิ่ม” รองประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านหาดยาว-เจ้าไหม บอกว่า เริ่มคิดสูตรด้วยการให้แต่ละคนทดลองทำปลาเค็มและปลาหวาน  แล้วนำมาแลกกันชิม พร้อมกับแลกเปลี่ยนเคล็ดลับการทำให้เนื้อปลาสวย ไม่กระด้าง ไม่ให้มีแมลงวันตอม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยราคาปลาเค็มอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ปลาหวานกิโลกรัมละ 250 บาท

“เรื่องการตลาดไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกวันนี้ผลิตไม่พอขายอยู่แล้ว แต่ก็มีการพูดคุยกันว่ามีแหล่งตลาดอยู่ที่ไหนบ้าง ขายดีหรือขายไม่ดี จนได้ข้อสรุปว่าแหล่งที่ขายดีที่สุดคือ หาดหยงหลิง และร้านของฝากที่หาดยาว นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มในหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อขยายตลาดอีกด้วย”

นอกเหนือจากการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้หญิงที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและครอบครัวแล้ว กลุ่มยังได้ค้นหาวิธีความรู้ใหม่ๆ พัฒนาโครงการของตัวเองให้เกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น  ด้วยการทำอาหารแปรรูปให้มีวางจำหน่ายตลอดปี  เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ความอุดมสมบูรณ์

ความอุดมสมบูรณ์

นางสาวสุทิน สีสุข ผู้ประสานงานสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดตรัง บอกว่า โครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกของกลุ่มสตรีบ้านหาดยาว-เจ้าไหม  อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นการนำ “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” มาใช้ เริ่มด้วยให้คนในชุมชนรวมตัวกันขึ้นมาร่วมกันค้นหาปัญหาของตนเอง ค้นหาสิ่งที่อยากจะแก้  เป็นกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านเห็นถึงปัญหาของตัวเองตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นชาวบ้านจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของปัญหาว่านี่คือปัญหาของเขาเอง ตัวเขาเองเป็นผู้ที่อยากจะทำ แต่สิ่งที่เขาทำอยู่ภายใต้การจัดการข้อมูลของชุมชน ไม่ใช่คิดแค่ว่าอยากจะทำ แต่ต้องมี “ข้อมูล” รองรับว่าเขาต้องการแก้ปัญหานี้ เพราะมีข้อมูลหนุนเสริมในการวางโจทย์การทำงานของชาวบ้าน ดังนั้นการเริ่มต้นต้องเริ่มจากความอยากจะทำ  การเป็นเจ้าของปัญหา  รวมถึงการมีข้อมูลรองรับ เพื่อให้ชาวบ้านตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่  เรียกได้ว่าเป็นการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมาตั้งแต่ต้น ได้แกนทำงานที่ตั้งใจทำงานจริงๆ

จ๊ะเลียะบอกว่า การเก็บข้อมูลทั้งหมดของชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ รายได้ ปริมาณสัตว์ที่หาได้ในแต่ละฤดูกาลของตัวเอง การทำประมงจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ทำชาวบ้านทราบว่าทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในแต่ละฤดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการใช้เครื่องมือที่ผิดวิธีหรือไม่ ในการเก็บข้อมูลสมาชิกในกลุ่มแบ่งการทำงานเป็นโซนโดยไปสัมภาษณ์ชาวประมงสอบถามชนิดของเครื่องมือประมง สามารถเลือกใช้ตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำ

จากข้อมูลความรู้ทั้งหมดที่ชาวบ้านหามาได้ ถูกเปลี่ยนมาเป็น “ปฏิทินชีวิต” เป็นสิ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาใช้เองภายใต้ฐานข้อมูลในชุมชน เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เมื่อเห็นแล้วสามารถวางแผนได้ในช่วงของระยะเวลาในการผลิตอาหารแปรรูป เมื่อไรถึงเวลากักตุนเพื่อให้มีจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

จ๊ะเลียะกล่าวต่อว่า ประโยชน์ของการเก็บข้อมูลคือ ทำให้สมาชิกในกลุ่มรู้ว่ามีวัตถุดิบในช่วงเวลาไหนบ้าง ทำให้คนในกลุ่มรู้เท่ากัน ตอนนี้โครงการได้กำลังสร้างโรงเรือนขึ้นเพื่อในอนาคตการรวมกลุ่มจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีกว่าต่างคนต่างทำ และเพื่อช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ชุมชน สร้างอาชีพ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังได้ฝึกเรื่องการบริหารจัดการอีกด้วย

วันนี้ 9 ปีกับฝันร้ายที่ยากจะลืมของชุมชนบ้านหาดยาว–เจ้าไหมเริ่มเลือนหายไป  แต่การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านหาดยาว-เจ้าไหมเพื่อก้าวไปสู่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ และการจัดการทรัพยากรได้อย่างมีศักยภาพกำลังเริ่มขึ้นแล้วและมีทีท่าว่าจะไปได้ดีอีกด้วย

รายงานโดย : มูลนิธิสยามกัมมาจล

[bws_related_posts]

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน