fbpx

อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข ผู้เป็นครูแห่งครู  

            ในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ นับได้ว่าเป็นแหล่งตักศิลาสำคัญในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอิสลาม และยังได้ผลิตนักวิชาการอิสลามคนสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อ.อัชอารีย์ เรืองปราชญ์ อ.อับดุลวาเฮด หวังประโยชน์ อ.ซิดดี๊ก มูฮำหมัดสะอี๊ด เป็นต้น

อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข ในฐานะผู้บุกเบิกโรงเรียนศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่ต้นจึงนับได้ว่าเป็นครูของครูอีกมากมายหลายคน ท่ามกลางสถานการณ์ในสังคมมุสลิมที่อะไรมันก็ดูยุ่ง ๆ นะซีฮัตจากครูอาจารย์ระดับอาวุโสจึงย่อมนับได้ว่าเป็นสิ่งที่สังคมมุสลิมควรตั้งใจฟัง

 

Halal Life : จุดเด่นอย่างนึงของอาจารย์คือบุคลิก อ่อนน้อม อ่อนโยนอย่างนี้ อาจารย์ได้แบบอย่างนี้มาจากใคร

อ.มุสตอฟา : ก็ต้องบอกว่านี่มาจากอัลลอฮฺด้วย ประการที่สองก็คือว่า เราอ่านกุรอานพบนะ อย่าง อัรเราะฮฺมาน อัลละมัลกุรอาน อัรเราะฮ์มานเป็นชื่อหนึ่งของอัลลอฮ์ แปลว่าผู้ทรงเมตตา อัลละมัลกุรอาน ผู้ทรงเมตตานี่สอนกุรอาน หมายถึงให้ความรู้กับประชาชนกับลูกศิษย์ ผู้ที่มีลักษณะอัรเราะฮ์มาน ก็คือมีความเมตตาสงสารให้อภัย ผมก็เอาจากคัมภีร์อัล-กุรอานนี่แหละมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

 

Halal Life : เท่าที่อาจารย์เป็นครูสอนมานานมากหลายสิบปีนี่ การเรียนการสอนหรือบทบาทของการศึกษาในสังคมปัจจุบันนี้แตกต่างกับอดีตอย่างไร

อ.มุสตอฟา : นักเรียนรุ่นก่อนกับนักเรียนรุ่นปัจจุบันนี่ต่างกันเยอะ ความตั้งใจของเด็กรุ่นก่อน ๆ นี่ดีกว่าเด็กรุ่นปัจจุบัน อัคลากก็ดีกว่า นิสัยดีกว่า ไม่ค่อยดื้อเท่าเด็กสมัยนี้ แล้วความตั้งใจ นี่ถ้าหากว่าคนไทยนี่นักเรียนไทยนี่ ถ้าหากตั้งใจเรียนนะไม่จำเป็นต้องไปอยู่ต่างประเทศหรอก

 

Halal Life : อ.อิสมาแอล วิสุทธิปรานี ก็ไม่ได้เรียนต่างประเทศ

อ.มุสตอฟา – ก็นั่นนะซิ ความตั้งใจสมัยคนยุคก่อนนี่ แต่สมัยนี้ต่างกันมากเลย ครูอิสมาแอลน่ะ อ.อิลยาส (นาคนาวา) ด้วยเหมือนกัน ไม่ได้จบต่างประเทศแต่ว่าเขาก็ตั้งใจดีอะไรดี แต่เด็กรุ่นใหม่นี่ อัลลอฮุอักบัร

 

Halal Life : ปัญหามันอยู่ที่เด็ก หรือว่าควรโทษครูที่เป็นคนสอนครับ

อ.มุสตอฟา – ผมว่าก็ประกอบกันนะ ครูเองก็เป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียนไม่ได้ ผมว่ามาจากครูนี่แหละมากกว่า

 อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข

Halal Life : ครูสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันยังไง

อ.มุสตอฟา – ผมว่าครูสมัยก่อนนี่สอนหนังสือใช้วิญญาณเยอะ ใช้ดุอาอ์ ใช้อัคลากสอนมากกว่า แต่คนสมัยนี้สอนเพื่อ ผมก็มองดูนะเหมือนกับอยู่ไปวัน ๆ นะ

 

Halal Life : ทำไมเป็นแบบนั้นครับ  ก็ในเมื่อครูยุคปัจจุบันก็คือศิษย์ของครูยุคก่อน

อ.มุสตอฟา – เพราะว่าคงจะอ่านหนังสือพิมพ์เยอะมากเกินไปหรือเปล่า คนอ่านอัล-กุรอานเยอะ ๆ อ่านอัล-หะดีษเยอะ ๆ หัวใจมันก็คิดอย่างนึง เราไม่ได้ตำหนิข่าวหรอกนะอ่านนะได้แต่ว่าเราบางทีใส่ใจกับข่าวความเคลื่อนไหวอะไรมากเกินไปหรือเปล่า สมัยนี้ตีเด็กได้ที่ไหน ถ้าจะตีหรือ เฮ้ย ไม่ได้ ๆ กลัวลงหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้นผมว่ามันมาจากครูนี่เยอะมากกว่ามาจากนักเรียน ส่วนนักเรียนนี่เราจะโทษพ่อแม่มากกว่า เพราะผู้หลักผู้ใหญ่รุ่นก่อน ๆ นี่ จะสอนลูก เราต้องกลัวครู ให้เกียรติครู แต่สมัยนี้จะมีพ่อสักกี่คนที่บอกลูกว่าให้เกียรติครูเคารพครู

 

Halal Life : พ่อบอกว่าให้ดูว่าครูสอนอะไร ครูสอนถูกหรือเปล่า

อ.มุสตอฟา – (หัวเราะ) เหมือนกับจะจับผิดครู เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่พ่อแม่ด้วยนะ พ่อแม่เคยขอดุอาอ์ไหม ออกจากบ้านเคยขอดุอาอ์เคยกอดลูกไหม บอกให้ลูกมีอีมานต่อัลลอฮฺ อย่างกับท่านนบีมุฮัมมัดเคยทำกับลูกหลานของท่าน  เพราะฉะนั้นวันนี้ผมมองดูว่าสถาบันการศึกษา นี่เป็นหะดีษบทหนึ่งของท่านนบี นบีบอกว่า ใกล้ ๆ วันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺจะถอนเอาความคุชัวอ์ออกจากหัวใจ วันนี้มันมีแต่รูปคนเดิน เขาเรียกว่าศพเดินได้นะ แต่ไม่มีคุชัวอ์ คนมีความรู้แต่ว่าความรู้นั้นนะเอามาใช้ประโยชน์เกือบไม่ได้

 

Halal Life : อาจารย์ครับ บทบาทของครูที่ควรจะเป็นตั้งแต่ปัจจุบันนี่ควรจะเป็นอย่างไร

อ.มุสตอฟา – ผมว่านะครูจะต้องลอกเลียนแบบสุนนะห์นบี อย่างอื่นไม่มีทาง ถ้าไม่เอาสุนนะห์นบีมากำกับชีวิตนะ ครูคนนั้นสอนหนังสือไม่มีบะระกะฮ์ ต้องเอาสุนนะห์นบี

 

Halal Life :  แล้วสุนนะห์นบีในการเป็นครูมีอะไรบ้าง

อ.มุสตอฟา – ข้อแรก เวลาเราจะสอนอะไรก็ตามแต่เราเป็นตัวแทนของท่านนบี ต้องนึกอย่างนี้ให้ตลอดเวลา เราเป็นตัวแทนของท่านนบีมาทำงานศาสนา ไม่ใช่ว่ารับเงินเดือนอย่างเดียว เราสอนหนังสือเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ สอง ผมถามว่าครูนะ เวลาขึ้นสอนไปสอนหนังสือ มีน้ำละหมาดไหม

 

Halal Life : ทำไมต้องมีน้ำละหมาดด้วยครับ ไปสอนหนังสือ ไม่ได้ไปละหมาดนี่ครับ

อ.มุสตอฟา : ก็ทำงานอะมัลที่ศอลิห์ ละหมาดก็มีน้ำละหมาดไม่อย่างนั้นละหมาดก็ใช้ไม่ได้ แต่ว่านบีก็ไม่ได้บังคับแต่เราเอาตามความรู้สึกส่วนตัวว่าเมื่อเราทำของที่ดีทำไมเราไม่มีน้ำละหมาด แล้วครูเคยขอดุอาอ์ให้ลูกศิษย์ไหม โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้ลูกศิษย์ของฉันนี้เข้าใจคำพูดของฉันง่าย ๆ ครูเองเคยขอดุอาอ์ไหม ร็อบบิชเราะฮ์ลีศ็อดรี วะยัสสิรลีอัมรี วะห์ลุลอุกดะตัมมินลิสานี ยัฟเกาะฮูเกาลี

 อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข

Halal Life : ที่ว่านี้ก็เป็นแนวทางที่อาจารย์ปฎิบัติ

อ.มุสตอฟา : ใช่ ๆ คนอื่นอาจจะไม่เอาอย่างนี้ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่สำหรับผม ผมต้องมีน้ำละหมาดทุกครั้ง แม้ว่าผมจะอัดรายการทีวีนี่ก็ต้องอาบน้ำละหมาดก่อน แปรงฟันก่อนตามสุนนะห์นบี แล้วบางทีผมขอไปละหมาดก่อนสองเราะกะอะฮ์ อิมามบุคอรีนี่ทุกครั้งที่จะเขียนหะดีษหนึ่งหะดีษนี่ต้องละหมาดก่อนสองเราะกะอะฮ์ เราเรียนหะดีษจากอิมามบุคอรีมาตั้งหลายปี เราได้อะไรบ้างจากอิมามบุคอรี ไม่ใช่เอาเฉพาะความรู้อย่างเดียว เอาการปฏิบัติของท่านด้วย

 

Halal Life : อาจารย์ครับ แล้วอย่างนี้ทิศทางของนักวิชาการมุสลิมในปัจจุบันนี่ควรเป็นอย่างไร เพราะว่าเหมือนระหว่างการที่เราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย มีใหม่ มีเก่า มีใหม่มาก มีใหม่มากกว่า เราจะอยู่อย่างไร

อ.มุสตอฟา : คือผมว่านะ เราต้องอุมมะฮ์วาหิดะฮ์ อุมมะฮ์เดียวกันหมดแหละ แล้วอีกอย่างหนึ่งนบีพูดเองว่าอุมมะตีสะตัฟตะริกุ จะแบ่งแยกออกเป็น 73 กลุ่ม ก็อุมมะฮ์ของฉันนะ นบีบอกว่านี่ของฉันทั้งหมด แตกต่างกันก็ไม่มีปัญหา ถ้าอยู่เป็นญะมาอะฮ์ เก่ากับใหม่อยู่ด้วยกันได้ไหม ผมอยู่ได้ ผมนั่งได้สบายเลยไม่มีปัญหา เพราะมีงานที่ต้องทำเป็นญะมาอะฮ์เยอะแยะ

 

Halal Life : อ้าว แล้วจะอยู่ด้วยกันยังไงในเมื่อเรามองว่าที่เขาทำมันผิด

อ.มุสตอฟา : ค่อย ๆ บอกเขาซิ เราไปด่าเขาเขาจะเชื่อหรอ เมื่อคุณผิด ผิดอะไร อธิบาย ไม่ใช่เริ่มด้วยการด่าว่าคุณมันชาวนรก

 

Halal Life : เปลี่ยนจากการด่าเป็นการอธิบาย

อ.มุสตอฟา : คุยกันอธิบายกัน อย่าใช้อารมณ์ ก็นบีสั่ง อัดดีนุนนะศีหะฮ์ ศาสนาคือการต้องเตือน

 

Halal Life : คำว่าเตือนกับคำว่าด่าต่างกันยังไง

อ.มุสตอฟา : เวลาจะเตือนเราเรียกมาเตือนตัวต่อตัว คนที่มีอีมานคนที่มีศาสนาอยู่แล้วเข้าใจง่าย เคยขอดุอาอ์ให้กันไหม ขอดุอาอ์ลับหลังที่นบีสอน อย่าใช้เฉพาะขอให้พ่อให้แม่ให้เมียให้ลูก แล้วถ้าขอ ขอให้เขาเปลี่ยนแปลงนะ ผมอยากเห็นอุละมาอ์นี่อยู่รวมกันเป็นญะมาอะฮ์  อย่างที่อินเดีย เขาเป็นญะมาอะฮ์ทุกคณะทุกโรงเรียนทุกมหาวิทยาลัย  ปีนึงเขาประชุมครั้งนึง แล้วมีนโยบายว่าภายในห้าปีนี้จะให้นักเรียนเรานี่เข้าใจอะไรที่ดีที่สุด ให้นักเรียนเข้าใจเรื่องอะไร เรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอิสลาม เขามีเป้าหมายที่ชัดเจนนะ

 

Halal Life : อย่างนี้ก็ทิศทางของการพัฒนาคนนะเขาก็จะมีเป้าหมายมีทิศทางมียุทธศาสตร์

อ.มุสตอฟา : ใช่ มียุทธศาสตร์ ถ้าประเทศไทยเป็นอย่างนี้ได้จะดีมาก ไม่ต้องมาทั้งหมดหรอก เอาจังหวัดละคนสองคนสามคนมา เอาคนที่มีอัคลากดี ๆ มานั่งคุยกันแล้วก็เดี๋ยวเขาเอาไปเผยแผ่กันเองนั่นแหละ เคยมีอุละมาอ์อยู่คนหนึ่งแถวภาคใต้มานั่งคุยกับผม เขาว่าอุละมาอ์กรุงเทพก็เยอะ แต่ว่าทะเลาะกัน อุละมาอ์ภาคใต้นะมีไม่เยอะ แต่ว่าเขาอยู่เป็นญะมาอะฮ์ เขารวมกัน เราต้องเปลี่ยนมาขอดุอาอ์ให้กัน อย่าด่ากัน

 

Halal Life : คำว่าด่ากับคำว่าขอดุอาอ์ให้กัน สองคำนี้มันคนละขั้วกันเลย

อ.มุสตอฟา : ไปคนละทางเลยนะ ขอดุอาอ์ให้กัน ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องให้เกียรติรุ่นพี่ ตักเตือนกัน ทำไมต้องตักเตือนทางอากาศนะ ก็โทรศัพท์คุยกันซิ เฮ้ย ท่านผิดนะ อะไรอย่างนี้ ถ้าเราเตือนกลางอากาศนี่ คนที่รับคำเตือนก็ต้องมีกำแพงแล้ว

อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข

 

ครูของอาจารย์มุสตอฟา
ครูคนที่หนึ่ง : อ.ฮัมซะห์ อยู่เป็นสุข
“คุณพ่อนี่ดีอย่างหนึ่ง แกไม่โจมตีใคร แต่ว่าคุณพ่อจะถูกชาวบ้านโจมตีตลอด เวลาใครมาถามปัญหาศาสนา พ่อก็ถามว่าจะเอาตามประเพณีปฏิบัติ หรือจะเอาตามอุละมาอ์ หรือจะเอาตามสุนนะห์ หรือจะเอาตามอัล-กุรอาน ถามก่อนจะเอาตามยังไง ถ้าเอาตามอุละมาอ์ไม่เอาสุนนะห์นบีก็จะอธิบายให้ฟังอย่างนี้ ถ้าจะเอาสุนนะห์นบีก็อย่างนี้ คนนั่งฟังก็อ๋อ งั้นเอาตามสุนนะห์นบี คือไม่เล่นแรง เราก็นั่งมองดู อ๋อ นี่คือวิธีการเผยแผ่ศาสนา อัลฮัมดุลิลลาฮฺ คนเขาก็ยอมรับ ถ้าจะปะทะแรงเหมือนเดิมนะได้ แต่ว่าไม่มีประโยชน์ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ”
ครูคนที่สอง อ.อิสมาอีล อะหมัด
“ตอนที่ผมเป็นนักเรียนนะ ครูอิสมาอีล อะห์มัดสอนหนังสือผม ร้องไห้เกือบทุกวัน สอน ๆ ไป ร้องไห้ เอากุรอานมาแปล ก็ร้องไห้ พอเราไปเรียนกุรอานถึงได้รู้ กุรอานสอนให้คนลงมือทำ ถ้าคนจะมีอีมานได้ก็ต้องลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็อัลลอฮฺก็จะให้อีมานนี่มันเพิ่มพูนขึ้นในหัวใจ ผมไปซาอุดิฯ ไปพบกับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเอากอฟของซาอุดิอาระเบีย เขาก็มาต้อนรับพาผมไปที่บ้าน นั่งคุยกันอะไรกัน เขาพูดอยู่คำนึงว่า ครูอิสมาอีล อะห์มัด นี่เป็นคนที่เคร่งครัด เคร่งครัดในสุนนะห์นบี เคร่งครัดกับตัวเองด้วย เคร่งครัดกับคนอื่นด้วย ในขณะที่หลาย ๆ คนเคร่งครัดกับคนอื่น แต่ไม่ได้เคร่งครัดกับตัวเอง”
ครูคนที่สาม เมาลานาอะบุลหะสันอันนัดวีย์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนัดวาตุ้ลอุลามาอฺ
“ผมชอบวิธีการดะอ์วะฮ์ของเมาลานาอะบุลหะสัน คือเขาปลูกฝังให้นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้นะ ไม่ใช่เป็นอุละมาอ์อย่างเดียว เป็นนักบริหารนักจัดการ ไม่ได้เป็นอิมาม ไม่ได้สนับสนุนให้เป็นอิมามด้วย ให้เป็นผู้บริหาร เพราะแต่ก่อนอิมามส่วนใหญ่ก็นำละหมาดอย่างเดียว เมาลานาอะบุลหะสันสอนว่าวันนี้น่ะ ของผิด ๆ ในโลกนี้เขาทำเป็นระบบ ทำให้ของผิดแต่ทำเป็นระบบเอาชนะของที่ถูกต้องแต่ไม่มีระบบ พวกเรามุสลิมวันนี้เรายึดอัล-กุรอานยึดสุนนะห์ถูกต้อง แต่เราทำไม่มีระบบ สะเปะสะปะ มุสลิมก็ต้องมีระบบระเบียบมากกว่านี้ การสอนของเมาลานาอะบุลหะสันก็คือเราต้องอยู่เป็นญะมาอะฮ์ นี่เรื่องใหญ่เรื่องการอยู่เป็นญะมาอะฮ์ แล้วก็ต้องเคารพให้เกียรติผู้นำ ไม่ให้ทะเลาะกับผู้นำ ถ้าระหว่างคนตามกับผู้นำเกิดขัดแย้งกันก็ไม่ใช่พูดต่อหน้าคนนะ ก็นั่งคุยกันเจรจากัน ถ้าอย่างนั้นไม่สำเร็จ”
ครูคนที่สี่ อ.ดิเรก กุลศิริสวัสดิ์ อดีตนายกสมาคมญัมอียะตุ้ลอิสลาม
“ท่านเป็นคนที่ทำธุรกิจด้วยสนใจศาสนาด้วย เป็นแบบอย่างที่ดี ในขณะที่โต๊ะครูก่อน ๆ ไม่ทำอะไรเลย นอนทั้งวัน แต่ท่านทำงานทั้งวัน เหนื่อย อัลฮัมดุลิลลาฮฺ อ.ดิเรกเป็นคนตรงต่อเวลา แล้วก็ไม่พูดเกะกะ พูดเป็นงานเป็นการ เป็นคนที่พูดน้อยทำงานเยอะ เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นคนที่มีความรู้แล้วทำอะไรให้แก่สังคม ขณะที่อ.ดิเรกถูกด่า ถูกแอนตี้ ถูกฟิตนะฮฺเยอะไปหมด ท่านก็ทำงานของท่านไป โดนด่าสารพัด แต่ท่านก็ทำงานไป ทำเท่าที่มีความสามารถ วันนี้ผมก็ถูกด่าเหมือนกัน เป็นนู่นเป็นนี่สารพัด เราก็นั่งยิ้ม อัลฮัมดุลิลลาฮ์”
ครูคนที่ห้า เมาลานา มุฮัมมัดรอเบียอ์
“ท่านเป็นหลานของเมาลานาอะบุลหะสัน คนนี้เป็นคนทีอัคลากดี บทความที่ท่านเขียนมานี่ดีมาก อ่านแล้วสำนวนง่าย เข้าใจง่าย แต่ว่าแอบแฝงไปด้วยอีมานที่ลึกซึ้ง ส่วนใหญ่ท่านจะเขียนเรื่องประวัติศาสตร์อิสลาม ประวัติศาสตร์อินเดีย พูดเรื่องประวัติศาสตร์ในฐานะประวัติศาสตร์ คนอื่นเขาก็แค่เขียนเล่าประวัติ แต่เมาลานา มุฮัมมัดรอเบียอ์ เล่าแล้วก็บอกว่าได้ข้อคิดอะไรบ้างจากประวัตินี้ แล้วไม่ใช่รู้ประวัติอย่างเดียวยังสอนอีกด้วย อย่างเรื่องประวัติของนบีมุฮัมมัดที่นบีมุฮัมมัดอพยพจากนครมักกะฮ์ไปอยู่มะดีนะฮ์นี่ได้ข้อคิดอะไรบ้าง”

 

เรื่อง : ดาวุด ลาวัง
ตีพิมพ์ใน Halal Life Magazine ฉบับที่ 24

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน