fbpx

สัมผัสบรรยากาศการช่วยเหลือ ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศ

หนึ่งในภาพเหตุการณ์ที่แสนความหดหู่ตลอดกาลสำหรับใครหลายๆ คน คงเป็นภาพเด็กตัวเล็กๆ หน้าตาเปรอะเปื้อนมอมแมม นัยน์ตาแสนโศกเศร้า ใบหน้าไร้ซึ่งชีวิตชีวา ที่มีฉากหลังเป็นซากปรักหักพังและกองไฟลุกโชน หนึ่งในหลายร้อยพันเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา “ชาวโรฮิงญา” ในรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมาร์ ชนชาติที่น่าสงสารที่สุดในโลก ที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนเป็นข่าวสุดสะเทือนใจในปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีผู้บริสุทธิ์หลายแสนคน ต้องจากบ้านเกิดของตน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังคลาเทศ และน้ำใจของมุสลิมชาวไทยก็ได้หลั่งไหลไปถึงที่นั่นแล้ว มูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ได้เปิดรับบริจาคเงินเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพี่น้องชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยบังคลาเทศ

การเข้าไปเยี่ยมพี่น้องชาวของเราจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น คอลัมน์ Small Talk จะพามาพูดคุยกับ คุณนาอีม วงค์เกษร ผู้ที่จะพาเราไปสัมผัสกับบรรยากาศที่นั่นกันค่ะ

  1. ช่วยเล่าความเป็นมาของการช่วยเหลือ

ปี 2017 ที่ผ่านมา กระแสข่าวชาวโรฮิงญาเดินทางจากเมียนมาร์ผ่านแม่น้ำนาฟของบังคลาเทศมีตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หลายองค์กรจึงมีการตื่นตัว แต่เดิมปกติค่ายผู้ลี้ภัยนี้มีจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาประมาณ 400,000 คน เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำให้ยอดจำนวนผู้อพยพทะลักเข้ามาอีก 350,000 คน ในช่วงนั้นมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า และยาตีมทีวี ได้เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวโรงฮิงญา ระดมเงินได้เป็นจำนวน 1 ล้านบาท และเราก็เดินทางเข้าไปยังเมืองค็อกบาซาทางตอนใต้ของบังคลาเทศ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

  1. การที่เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คน ที่มีโอกาสได้เข้าไปในค่ายผู้อพยพนี้ รู้สึกยังไงบ้าง?

เราน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปที่นี่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งวีซ่า การเตรียมการ ประสานงานต่างๆ แต่ด้วยกับความช่วยเหลือของอัลลอฮ์ทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เราเคยทำคลิปไวรัลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ชาวโรฮิงญาแล้วแชร์ผ่านสื่อ พอได้ลงสนามจริงมันก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาช่วยพวกเขาด้วยตนเอง

3. ช่วยเล่าขั้นตอนต่างๆ ในการเดินทางเข้าไปที่ค่าย

การเข้าไปบังคลาเทศต้องขอวีซ่า กว่าจะผ่านใช้เวลา 3-4 เดือน เพราะสถานทูตของเขาจะระวังเป็นพิเศษ เพราะประเทศเขาไม่ได้ร่ำรวยและไม่ได้เป็นประเทศท่องเที่ยว การเดินทางก็จะคล้ายๆ ค่ายอพยพของที่อื่นที่เคยไปมา คล้ายๆ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ จากหาดใหญ่ไปชายแดนอีกที

ก่อนจะไปเราก็ประสานงานไปยังคนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นคนบังคลาเทศที่จะคอยช่วยเหลือเราเมื่อเราอยู่นั่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์  เมื่อไปถึงโรงแรมในวันแรกด้วยกับการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ก็ได้เจอกับชายคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องของนายพลใหญ่ที่นั่น เมื่อวันที่ต้องเดินทางไปยังชายแดนเขาก็ขอตามไปด้วยและช่วยเคลียทาง เคลียด่านต่างๆ ให้ นับเป็นความเมตตาที่ทำให้การเดินทางของทีมงานเรานั้นง่ายดาย

เมื่อถึงชายแดน เงินบริจาคที่พี่น้องทุกท่านช่วยกันเรานำไปซื้อของของเพื่อมาแพคถุงยังชีพ เราก็ทำการถามคนในพื้นที่ว่า ชาวโรฮิงญาทานอะไร ชอบอะไร ก็จัดไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามี เราสั่งของในตลาดและให้คนพื้นที่ช่วยแพคให้ ได้ถุงยังชีพเกือบ 2,000 ชุด ชุดละ 500 บาท เตรียมแจกจ่ายให้พี่น้องชาวโรฮิงญาที่กำลังรอความช่วยเหลือ

4. ความเป็นจริงที่เจอเหมือนกับในภาพตามสื่อมากน้อยแค่ไหน

บรรยากาศเหมือนในภาพเลย แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นมากกว่าในภาพคือ แววตาของชาวโรฮิงญา บ้านของพวกเขาทำจากโครงไม้ไผ่ หลังคาเป็นผ้าใบ  หลายคนยังใช้ฟืนอยู่ อาหารมีกินไม่เพียงพอ เสื้อผ้าบางคนก็ไม่มีนุ่งห่ม เด็กบางคนใส่เสื้อ ไม่ใส่กางเกง เด็กบางคนใส่กางเกง ไม่ใส่เสื้อ

5. แล้วความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขาหลายคนเลย แต่ละคนมีเรื่องราวที่แตกต่างกันแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันมาก ซึ่งผมและทีมงานทุกคนสัมผัสได้ก็คือ แววตาอันบริสุทธิ์ของเขา มันเต็มไปด้วยความเศร้า ความกลัว และไร้หวัง

มีผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มลูกแล้วมองมาที่เรา เธอถามเราว่า…เธอจะได้ของแจกนี้ไหม เธอมีลูกสี่คนอพยพมาที่นี่และสามีเสียชีวิตแล้ว ทันทีที่เธอพูดจบ ผมและทีมงานทุกคนมองไปยังลูกๆ ที่น่ารักของเธอ…เด็กพวกนี้จะอยู่ยังไงต่อไป

มีอีกหลายบทสนทนาที่เจ็บปวด เด็กๆ ต้องผวากับเสียงต่างๆ ผู้หญิงต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทำร้ายไหม และอีกหลายชีวิตที่ต้องอยู่ในความหวาดกลัว ไม่มีใครอยากกลับไปแล้ว เพราะไม่รู้กลับไปแล้วจะมีบ้านอยู่ไหม ข้าวของก็ไม่มีติดตัวมาเลย พ่อแม่พี่น้องก็ต้องกระจัดกระจายกัน สิ่งที่พวกเขาทำได้มีเพียงดุอาเท่านั้นจริงๆ…

  1. ความยากลำบากของพวกเขามันสะกิดความคิดเรายังไงบ้าง

คนที่นั่นเขาไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองเลย ไม่รู้ว่าจะถูกส่งกลับไปเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าอยู่ไปจะมีชีวิตรอดหรือเปล่า พวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไร มีแต่ความหวาดกลัว เป็นชีวิตที่เลื่อนลอยมาก ต่างจากเราที่อยู่ตรงนี้ เรามีฝัน มีหวัง มีสิ่งที่ต้องทำในชีวิตมากมาย มีบ้าน มีอาหาร มีครอบครัวในขณะที่พวกเขาไม่มีอะไรเลย มันเตือนสติเราได้เป็นอย่างดีเลย

  1. สำหรับคนที่อยากช่วยเหลือพี่น้องชาวโรฮิงญามีช่องทางไหนบ้าง

ผมก็มีความหวังว่าจะกลับไปที่นั่นอีก เพราะมีประชากรเข้ามาใหม่อีก 87,000 คน เรื่องน้ำ ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มใช้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สิ่งเหล่านี้อยากจะเชิญชวนพี่น้องได้มามีส่วนร่วมในการช่วยบริจาค เราตั้งเป้าไว้ว่าอยากมอบปั้มน้ำ 20 ชุด ซึ่งตอนนี้ก็ได้เริ่มเชิญชวนคนอื่นๆ แล้ว สำหรับผู้ที่อยากจะบริจาคสามารถบริจาคได้ที่  :

ชื่อบัญชี มูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า

เลขที่บัญญี 0016002172   บัญชีกระแสรายวัน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

เราทำตามความสามารถของเราเท่าที่ทำได้ เพราะวันหนึ่งมันจะกลับมาเป็นคำถามที่ตัวเรา ว่าเราได้เคยช่วยเหลือพี่น้องของเราบ้างไหมในวันที่พวกเขาลำบาก ขณะที่เรานั้นสุขสบาย มีหะดิษจากท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า   “ใครก็ตามที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากให้ได้รับความง่ายดาย อัลลอฮ์ก็จะช่วยเหลือเขาให้ได้รับความง่ายทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์”   ซึ่งหะดิษนี้เองที่ผมใช้ในการดำเนินงานช่วยเหลือสังคมต่างๆ เรื่อยมา

 

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก