fbpx

กินอะไร ก็ไม่เหมือน “กินข้าว”

บทความชุด : ปฏิบัติการสื่อสารตราสินค้าข้าวสังข์หยดและข้าวไรซ์เบอร์รี่ การเรียนรู้ที่ต้องออกเดินทาง   ตอน : ข้าวสังข์หยด @เกาะกลาง จังหวัดกระบี่

มีใครรู้สึกแบบนี้เหมือนกันมั้ยคะ ยิ้มแบบไม่อาย เราคนไทย หัวใจรักษ์ข้าว

เคยสัมภาษณ์นักศึกษาเข้าใหม่คนหนึ่ง ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมถึงอยากมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ว่าที่นักศึกษาใหม่คนนั้นตอบว่า  “ผมชอบการถ่ายรูป จริงๆ ผมเรียนทางยูทูบก็ได้ แต่ที่ผมเลือกมาเรียนที่นี่ เพราะผมอยากเรียนกับครู อยากมีครูที่เป็นคน อยากมีเพื่อน อยากมีสังคม”  ตอบได้น่ารักขนาดนี้ รับเลยค่ะ รออะไรอยู่  แต่คำตอบของนักศึกษาคนนั้นมันสะท้อนความเป็นจริงของยุคสมัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือถ้าครูไม่ปรับตัว บอกเลยว่าอยู่ยาก เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่มันทำหน้าที่แทนมนุษย์อย่างเราๆ ไปแล้ว ถ้าครูไม่ทำการบ้าน ไม่หาวิธีการเรียนการสอนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ไม่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความใฝ่รู้ เราคงจะซื้อใจพวกเขาไม่ได้ ต่อไปเด็กๆ คงเมินหน้าและไปพึ่งพาคุณครูยูทูบ อาจารย์กูเกิ้ล แทนแน่ๆ ครูอย่างเราจึงต้องสร้างความแตกต่าง

ความเดิมตอนที่แล้ว เมื่อเราได้ชื่อเรียกหรือยี่ห้อของข้าวกันเรียบร้อยแล้ว พลันคิดถึงวันแรกของข้าว ที่เทออกมาจากถุงเดียวกัน มาจากดินเพาะปลูกเดียวกัน ได้น้ำได้ปุ๋ยเดียวกัน แต่วันนี้เมื่อมีชื่อเรียก (brand name) ข้าวที่เหมือนกันทุกอย่าง กลับมีความแตกต่างกันทันที นี่เป็นเพราะพลังอำนาจของแบรนด์นั่นเอง ยี่ห้อที่เด็กๆ นำเสนอ มีดังนี้ ข้าวทิพย์ รวงข้าว หยดทอง สามอนงค์ไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น  ซึ่งชื่อที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นที่เรียบร้อย


จากการได้ล้อมวงคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา เราได้กำหนดประเภทการเขียนออกมาเป็น 3 ประเภทงานเขียนด้วยกัน ได้แก่ การเขียนเพื่อแนะนำสินค้า การเขียนเพื่อขายของ และการเขียนเพื่อให้ความรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตราสินค้า

งานเขียนประเภทแรก คือ การเขียนเพื่อแนะนำสินค้า โจทย์แรกที่นักศึกษาจะต้องทำส่ง คือการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากข้าวสังข์หยดและข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยจะต้องเป็นเมนูอาหารใหม่เท่านั้น!! และเขียนในรูปแบบการเขียนบทความแนะนำเมนูอาหารและสาธิตการทำเมนูอาหารนั้นให้น่าสนใจ พร้อมภาพประกอบที่สวยงาม

เมื่อถึงเวลานำเสนอผลงานเราจะเห็นไอเดียเมนูอาหารที่แปลกใหม่น่ารับประทาน เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่คลุกน้ำพริกกะปิห่อไข่ ข้าวสังข์หยดต้มธัญพืช 4 สหาย ข้าวยำสังข์หยดทอด ซึ่งนักศึกษาต่างก็ยืนยันว่า เมนูอาหารที่พวกเขาคิดขึ้นมานั้น รับประทานได้จริงค่ะ…อาจารย์

มาถึงโจทย์ที่ 2 (อย่างกับมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์) การเขียนเพื่อขายของ ในที่นี้ให้เขียนในรูปแบบของ advertorial ซึ่งเป็นการเขียนโฆษณาแฝงในนิตยสาร โดยมีเงื่อนไขของการเขียน ดังนี้

1. กลุ่มลูกค้าที่เราต้องการสื่อสารคือใคร

2. กำหนดจุดขายของตราสินค้าว่าเราต้องการสื่อสารอะไรออกไป (key message)

3. กำหนดบุคลิกภาพของตราสินค้า (brand personality) คิดง่ายๆ คือ ถ้าให้ยี่ห้อข้าวของเราเป็นคน เราอยากให้ยี่ห้อข้าวของเราเป็นคนแบบไหน เป็นคนร่าเริงสดใส เป็นคนอ่อนหวานนุ่มนวล เป็นคนห้าวๆ ชอบการผจญภัย เป็นคนทำงานเก่งมั่นใจกล้าแสดงออก ไรเงี้ย ลองดูดาราต่อไปนี้ค่ะ แล้วคิดถึงบุคลิกลักษณะของเขา เราจะร้อง อ๋อออออออ (อ อ่างล้านตัวเลย) ทันที

4.เมื่อได้ข้อที่ 1-3 แล้ว ให้หาตัวแทนของคนกลุ่มนั้น 1 คน เพื่อเลือกให้เขาเป็น ตัวแทนนำเสนอสินค้า (presenter) และไปสัมภาษณ์ คำถามสัมภาษณ์ก็จะต้องเชื่อมโยงกับสินค้าที่เราต้องการขาย

อย่างที่บอกไว้ว่างานเขียนประเภทนี้ คือ การโฆษณาแฝง โดยให้คนอ่านไม่รู้สึกว่า กำลังอ่านงานโฆษณา นักศึกษาส่วนใหญ่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงวัยทำงาน อายุ 25-40 ปี ที่รักสุขภาพ ต้องทำงานหนักแต่ก็ดูแลสุขภาพร่างกายไปด้วย มีความกระตือรือร้นและมั่นใจ เนื้อหาแรกๆ ก็จะพูดถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวกับความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ก็สามารถแบ่งชีวิตได้ดี ทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพร่างกายไปด้วย

โดยการออกกำลังกายและการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น การรับประทานข้าวสังข์หยด หรือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวสังข์หยด หรือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ดีนั้นจะต้องมาจากแหล่งเพาะปลูกที่ดี เช่น เกาะกลาง จังหวัดกระบี่ /เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ประมาณนี้นะคะ advertorial ของเรา

งานเขียนชิ้นที่ 3 การเขียนเพื่อให้ความรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตราสินค้า เราคุยกันว่าการที่จะบอกคนอ่านให้ได้ว่าข้าวยี่ห้อของเรามันดีอย่างไร มีคุณค่ามีความพิเศษอย่างไรนั้นเราจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปดูกันให้เห็นกับตาจะจะ จึงเป็นที่มาของทริปการเดินทางเพื่อไปค้นหาแหล่งที่มาของข้าวสังข์หยด สำหรับนักศึกษา ห้อง 561 ณ เกาะกลาง จังหวัดกระบี่ และแหล่งที่มาของข้าวไรซ์เบอร์รี่ สำหรับนักศึกษา ห้อง 562 ณ เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา การเดินทางของเรา คือ การเรียนรู้


ทริปที่ 1  รสบัสภูเก็ต-ตรัง คันนั้นมุ่งตรงพานักศึกษาและอาจารย์รวม 30 คน เดินทางไปจังหวัดกระบี่ เราเหมารถบัสของบริษัทเอกชน โดยการติดต่อประสานงานทุกอย่างให้นักศึกษาเป็นคนจัดการ เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครรับผิดชอบอะไร แนวการเขียนรอบนี้กำหนดให้เป็นการเขียนสารคดีเรื่องข้าว ซึ่งต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาการท่องเที่ยวเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน เพราะสาระอย่างเดียวอาจทำให้ผู้อ่านเบื่อได้ + การให้ความรู้เรื่องแหล่งที่มาและการเพาะปลูกข้าว ซึ่งจะนำมาสู่ภาพลักษณ์ที่ดีต่อตราสินค้า เมื่อล้อรถจอดสนิทที่ลานปูดำจังหวัดกระบี่ นักศึกษาก็ช่วยกันขนของลงจากรถและรอเรือมารับ ซึ่งเราได้ติดต่อไว้แล้วกับน้องมัด สถาปนิกหนุ่มที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของโฮมสเตย์ คิดถึงคอทเทจ บนเกาะกลาง เป็นรุ่นน้องที่สนิทกันมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ ส่วนน้องมัดนั้นไซร้ อยู่รั้วข้างๆ ศิลปากร

น้องมัดเป็นไกด์พิเศษพาพวกเราล่องเรือแล่นชมความงามและเล่าประวัติความเป็นมาของเขาขนาบน้ำให้ฟัง เด็กๆ แวะพักถ่ายรูปอย่างสนุกสนาน และจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ เพราะมันเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการเขียน สุดท้ายเราก็มีถึงจุดหมายปลายทาง เกาะกลาง จังหวัดกระบี่ โดยมีป๊ะ ม๊ะ และน้องมูนา ภรรยาของน้องมัดรอรับอยู่ที่คิดถึงคอทเทจ เมื่อจัดแจงเรื่องที่พักกันเรียบร้อยแล้ว เราก็เรียกรวมตัวกันอีกครั้ง ป๊ะก็ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของเกาะกลางให้พวกเราฟัง ส่วนเด็กๆ ก็ตั้งใจจดข้อมูลสำคัญและตั้งคำถาม บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ได้เห็นภาพของคน 2 Generation ที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง


แดดบ่ายเริ่มอ่อนแรง แดดยามเย็นกำลังปกคลุมพื้นที่เกาะกลางจังหวัดกระบี่ เย็นนี้เรามีนัดหาหอยกัน เด็กๆ เตรียมตัวพร้อมออกเดินทาง การหาหอยเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมนำเที่ยวสำหรับการท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะกลาง โดยมีทีมงานบ่าวๆ (หมายถึงหนุ่มๆ ในหมู่บ้าน) พาพวกเราไปและสอนพวกเราหาหอย ท้องทะเลอันแสนกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เราเดินหาหอยกันอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ช่วงเวลานี้เป็นเวลาของการพักผ่อน เด็กๆ นิเทศศาสตร์รักการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว เด็กๆ ชักภาพกันใหญ่ เพราะความทรงจำนั้น เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ณ ช่วงจังหวะนั้น เวลานั้น และสถานที่ นั้น …. ถามว่าได้หอยมั้ย ตอบเลยว่า ไม่ แต่ไม่เป็นไรเพราะคืนนี้เราเตรียมอาหารทะเลไว้ให้เด็กๆ ปิ้งย่างกันอยู่แล้ว ส่วนการหาหอยเป็นแค่ความทรงจำที่น่าประทับใจเท่านั้น

การพานักศึกษาออกเดินทางและต้องพักค้างอ้างแรมนั้น อาจารย์จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันกับนักศึกษาก่อนว่า เรามาเพื่ออะไร แล้วจะต้องได้อะไรกลับไป อะไรที่ทำได้และทำไม่ได้ เช่น กางเกงขายาวเท่านั้น ร้องเท้าเรียบร้อย เสื้อแขนไม่กุด ไม่มีเหล้าหรือแอลกอฮอล ผู้หญิงนอนกับผู้หญิง ผู้ชายนอนกับผู้ชาย ให้มีมารยาทที่ดี ต้องรู้จักไหว้สวัสดีและขอบคุณ ที่สำคัญให้เชื่อฟังอาจารย์ ถ้าทำตัวมีปัญหา อาจารย์ให้ดรอปเรียนวิชานี้ค่ะ ฟังดูเหมือนใจร้าย แต่ถ้าต้องดูแลคนจำนวนมาก กฎระเบียบเป็นสิ่งจำเป็น เราจะต้องบอกเด็กๆเสมอด้วยเหตุและผลที่ว่า เรามาในนามของมหาวิทยาลัย ฉะนั้นทุกการกระทำของเราจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อทุกอย่างชัดเจน แน่นอนค่ะว่าแทบไม่เกิดปัญหาอะไรเลย เพราะนักศึกษาสามารถปฏิบัติตัวได้ดีมากจนเจ้าบ้านอย่างน้องมัดและครอบครัวออกปากชม นี่คือเสน่ห์ของเด็กราชภัฏ

(อ่านต่อ ฉบับหน้านะคะ)

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

อ.ยุพิน หะสัน

จูต้า เป็นชื่อที่เพื่อนๆ มักเรียกกันติดปากของ อาจารย์ยุพิน หะสัน อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ด้วยประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบปีในการสอนวิชาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับบรรดานักศึกษา จูต้าจึงคัดสรรเรื่องราวที่เกิดในห้องเรียนมาเรียบเรียงบอกเล่าในคอลัมน์ "เรื่องเล่าจากห้องเรียน 4.0"