fbpx

ข้าวสังข์หยดและข้าวไรซ์เบอร์รี่ การเรียนรู้ที่ต้องออกเดินทาง

ได้รับของขวัญวันปีใหม่จากคณะวิทยาการจัดการ เป็นหนังสือเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการสอน …หัวใจอุดมศึกษา เสียงเรียกร้องเพื่อปรับเปลี่ยนสถานศึกษา โดยการสนทนาในสถาบัน … อ่านไปได้สัก 10 หน้า ก็เริ่มรู้สึกง่วง หนังสือหรือจะสู้ประสบการณ์จริง

ชีวิตคนเป็นอาจารย์  

สิ่งที่บอกกับนักศึกษาในคลาสเรียนเสมอ คือความรู้จริงๆ นั้น อยู่นอกห้องเรียน สิ่งที่อาจารย์จะสอนให้คือวิธีการได้มาซึ่งความรู้ และเมื่อได้ความรู้มาแล้วนั้น เราจะจัดการมันอย่างไรเพื่อเอาไปใช้ในการสื่อสาร พอพูดแบบนี้ เด็กๆ มักงวยงงสักครู่และดูเหมือนจะผิดหวัง เพราะระบบการเรียนการสอนแต่เดิมที่เขาเรียนรู้มานั้น อาจารย์คือผู้ป้อนความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างให้กับพวกเขา นักศึกษาคือคนที่นั่งคอยรับความรู้นั้นอย่างเดียว แล้วจู่ๆ วิชานี้จะให้ไปหาความรู้นอกห้องเรียนซะอย่างนั้น

บ้างก็อาจจะคิดว่า อาจารย์ขี้เกียจสอนหรือเปล่า สุดแล้วแต่เด็กๆ จะคาดเดา แต่การเรียนการสอนแบบนี้มันไม่ง่ายเลย เพราะอาจารย์ต้องทำการบ้านอย่างหนักมากกว่าแค่อ่านหนังสือ สรุปสาระสำคัญ และทำพาวเวอร์พอยท์

การจัดการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงไม่ใช่แค่เพียงการเข้าเรียนในชั้นเรียน นั่งขีดๆ เขียนๆ ตามที่อาจารย์สอน หรือเด็กยุคใหม่ มักจะจดๆ จ้องๆ อยู่กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีข้อมูลคลังความรู้มากมายอยู่ในนั้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ เด็กๆ ก็ไม่สามารถจะเอาความรู้ที่อยู่ในอินเทอร์เนตมาใช้ประโยชน์ได้ จึงทำให้รู้ว่า ความรู้มีอยู่ทุกที่ แต่วิธีการเรียนรู้และจัดการความรู้ต่างหากคือสิ่งที่จะต้องคอยบอก คอยสอน และคอยแนะนำเขา ห้องเรียนจึงต้องมีอาจารย์และนักศึกษา พร้อมกับโจทย์งานแจ่มๆ ไว้ประลองความคิด

นี่คือจุดเริ่มต้นของการเขียนคอลัมน์นี้ เรื่องเล่าจากห้องเรียน 4.0 ห้องเรียนเล็กๆ มีนักศึกษาต่อห้องประมาณ 30 คน กับอาจารย์สาวสวยและรวยมาก (รวยไอเดียไง) สิ่งที่เขียนสิ่งที่เล่าอาจจะไม่ใช่วิธีการเรียนการสอนที่ดีที่สุด แต่มันมาจากความตั้งใจสุดสุด การทดลองหรือเรียกเก๋ๆ ว่า การวิจัยในชั้นเรียน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน ให้เข้ากับยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และบ่อยครั้งที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภายนอกเข้ามากำหนดโจทย์ให้กับนักศึกษาด้วย

เขียนเพื่อขายข้าว

ปฏิบัติการสื่อสารตราสินค้า ข้าวสังข์หยดและข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็เริ่มต้นขึ้น วิชาการเขียนเชิงกลยุทธ์เพื่องานนิเทศศาสตร์

วิชานี้เป็นวิชาใหม่เพิ่งได้รับมอบหมายให้สอนเป็นครั้งแรก สำหรับภาคการศึกษาที่ 2 เมื่อปีการศึกษา 2558 ผู้เรียนคือนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่ผ่านการเรียนวิชาการเขียนเบื้องต้นมาแล้ว โจทย์สำหรับวิชานี้ที่อาจารย์จะต้องมานั่งทำความเข้าใจเนื้อหารายวิชา และสร้างจุดมุ่งหมายว่า เมื่อเรียนวิชานี้แล้วนักศึกษาจะได้อะไร

เราอยากให้เด็ก คิดก่อนเขียน เขียนอย่างมีกลยุทธ์ ไม่ใช่เขียนอะไรก็ได้

คิดก่อนเขียน ผู้ใหญ่หลายคนมักมองว่าเด็กไทยไม่ค่อยคิด เลยทำให้คิดไม่ค่อยเป็น แต่เอาเข้าจริงๆ เราอาจจะไม่เคยกระตุ้นหรือเปิดโอกาสให้เขาคิดเลยก็ได้ ดังนั้นก่อนจะเริ่มงานเขียนในรายวิชานี้เราจะต้องส่งเสริมให้เด็กได้คิด คิดวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับการเขียน เมื่อคิดได้แล้ว ก็เริ่มลงมือเขียน ถ้าแทรกความคิดสร้างสรรค์ในผลงานเขียนออกมาได้ด้วยก็จะดีมากๆๆๆๆๆๆ

ความน่ากลัวสำหรับวิชาการเขียนที่คนเป็นอาจารย์รุ่นใหม่จะต้องใส่ใจให้มาก และยอมไม่ได้หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้คือ การลอกงานเขียนมาจากกูเกิ้ล ดังนั้น อาจารย์จึงต้องหาโจทย์งานที่ สด ใหม่ และมีอยู่จริง ทำได้จริง  ให้กับนักศึกษา

ข้าวสังข์หยด สำหรับห้อง 561

รุ่นน้องที่รักคนหนึ่งเปิดเพจ รักเกาะกลาง ในเฟสบุค ถึงเราจะไม่ใช่คนเกาะกลาง แต่ก็ขอรักเกาะกลางกับเขาด้วย เห็นแว้บๆ ว่าเขาพูดถึงข้าวสังข์หยด พอไปถามคนรู้จักเขาบอกว่า ข้าวสังข์หยดในภาคใต้ปลูกที่จังหวัดพัทลุง แต่เกาะกลางเขาก็ปลูกเหมือนกัน แถมมีรสชาติที่แตกต่างจากพัทลุงด้วย ความคิดบรรเจิดก็เกิดขึ้นในทันที ข้าวสังข์หยด คือโจทย์แรกสำหรับนักศึกษาห้อง 1 ไม่รอช้า เมื่อสบโอกาสจึงลงพื้นที่ไปหาข้อมูลคร่าวๆ แล้วก็ได้อย่างใจ รุ่นน้องต้อนรับอย่างดี พาทัวร์เกาะกลางและพาไปดูแปลงนาข้าวสังข์หยดซึ่งมีอยู่ไม่มาก แต่ที่เกาะกลางเขามีการรวมตัวกัน ทำให้ข้าวสังข์หยดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ สำหรับห้อง 562

แล้วโจทย์ที่ 2 สำหรับห้อง 2 คือข้าวอะไรดีน๊า…..มีร้านขายข้าวแกงและอาหารตามสั่งอยู่หน้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เรามักจะฝากท้องไว้ที่นั่น กินเป็นประจำจนรู้จักมักจี่กับบังและก๊ะเจ้าของร้านเป็นอย่างดี คนเป็นอาจารย์นี่ดีนะผู้คนมักให้ความไว้วางใจ วันดีคืนดีก๊ะก็จะมาเล่าให้ฟังว่า ก๊ะไปเช่าที่นาที่เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา เพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ….. โอ้วววว อัลฮัมดุลิลลาห์ หามานาน ในที่สุดอัลลอฮ์ก็เปิดทางให้ได้เจอ ผลิตภัณฑ์ชิ้นที่ 2 ที่จะมาเป็นโจทย์ให้กับเด็กๆ ห้อง 2 ใช่เลย ช้าวไรซ์เบอร์รี่จากเกาะยาวน้อย พร้อมด้วยฟังก์ชั่นเสริมพิเศษที่ก๊ะเน้นหนักมาก “ข้าวที่นี่กินดี เพราะพื้นดินบนเกาะมันเค็ม ข้าวเลยออกรสชาติเค็ม” จัดไปค่ะ ก๊ะ !!!!!

ปฏิบัติการ สื่อสารตราสินค้า brand communication

เราจึงได้นำ ข้าวสังข์หยด กิโลกรัมละ 100 บาท จากเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ และ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กิโลกรัมละ 100 บาท จากเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา มาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษา (การเรียนรู้คือการลงทุน) เริ่มแรก อาจารย์แกะถุงข้าวกันต่อหน้าต่อตาเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเห็นว่า ตัวผลิตภัณฑ์นั้นมาจากแหล่งเพาะปลูกเดียวกัน แปลงนาเดียวกัน ดินเดียวกัน ใส่ปุ๋ยยี่ห้อเดียวกัน ควายที่ไถนาก็ตัวเดียวกัน คนเกี่ยวข้าวก็คนเดียวกัน แต่สิ่งที่จะทำให้ข้าวมีความแตกต่างกันก็คือตราสินค้า หรือที่เรียกว่า แบรนด์ (brand) นั่นเอง งานเขียนชิ้นแรกก็คือการสร้างตราสินค้า โดยการคิดชื่อตราสินค้า สร้างโลโก้ คิดสโลแกน และสร้างบรรจุภัณฑ์ให้กับข้าวที่นักศึกษาได้รับแจกกันไปคนละ 1 กิโลกรัม

2 อาทิตย์ผ่านไป ผ่านกระบวนการเรียนรู้ คิด และนำเสนอผลงาน เสร็จแล้วให้เอาสิ่งที่คิดได้ไปตรวจสอบกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ โดยการสัมภาษณ์ สอบถามว่า ชื่อไหนดี โลโก้ไหนเหมาะ สโลแกนดีไหม บรรจุภัณฑ์เป็นอย่างไร และเราก็เตรียมตัวแพคกระเป๋าเตรียมตัวเดินทางไปตามล่าหาข้าวกันนนน

อ๊ะ อ๊า !!!!!!!! ไว้ตามต่อกันตอนหน้านะคะ

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

อ.ยุพิน หะสัน

จูต้า เป็นชื่อที่เพื่อนๆ มักเรียกกันติดปากของ อาจารย์ยุพิน หะสัน อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ด้วยประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบปีในการสอนวิชาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับบรรดานักศึกษา จูต้าจึงคัดสรรเรื่องราวที่เกิดในห้องเรียนมาเรียบเรียงบอกเล่าในคอลัมน์ "เรื่องเล่าจากห้องเรียน 4.0"