fbpx

ฮาร่า ชินทาโร่ นักแปลสารแห่งมลายูปัตตานี

ไม่ใช่ภาพแปลกตา สำหรับใบหน้าและบุคลิกลักษณะคนญี่ปุ่น คนชาตินี้คุ้นเคยอยู่ในมโนทัศน์ของคนไทยมานานแล้ว ภาพของนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์ ท่าเดิน วิธีพูด การกินอยู่ หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์เรื่องราวของพวกเขาในบทเรียน เป็นที่มักคุ้นของคนไทยเป็นอย่างดี

แต่ชายผู้นี้คือชาวญี่ปุ่นที่เป็นมุสลิม!

ชื่อของเขาคือ “ฮาร่า ชินทาโร่” หรือนามมุสลิม “บาดีอุซซามาน”

นี่อาจเป็นข้อมูลที่คนจำนวนมากอาจไม่เชื่อหู เพราะการเป็นมุสลิมในประเทศตะวันออกไกลอย่างญี่ปุ่นออกจะเกินจินตนาการของหลายคนสักหน่อย แต่ข้อมูลที่น่าแปลกใจมากกว่านั้น เขาคือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู เป็นทั้งครูสอนภาษามลายูกลางที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี ) และเป็นนักวิชาการผู้มีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้แปลเอกสารแถลงการณ์สำคัญจากกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีหรือ “BRN” จนได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่ในโลกสื่อสารสังคมออนไลน์ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาทั้งในแง่บวกและลบ กระทั่งถูกล่าแม่มดประณามจากอีกฝ่ายอย่างน่าเสียวไส้

เราเจอกับฮาร่า ชินทาโร่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพ เขาทักทายด้วยภาษาไทยชัดถ้อยคำแต่ยังติดกลิ่นอายสำเนียงญี่ปุ่นอยู่ หนุ่มใหญ่ชาวอาทิตย์อุทัยเดินทางจากบ้านพักที่ปัตตานีมาร่วมเวทีสัมมนาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อนจะเดินทางต่อไปประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อศึกษาดูงานด้านกระบวนการสันติภาพในจังหวัดมินดาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เผื่อเป็นองค์ความรู้นำกลับมาใช้ที่ปัตตานีในอนาคต

เขายิ้มก่อนบอกว่า “ผมหวังอย่างนั้น”

จากอดีตนักศึกษาปริญญาโทด้านภาษามลายู(กลาง)ในประเทศมาเลเซียที่หันมารับอิสลาม พร้อมกับต้องการพัฒนาภาษามลายู(กลาง)ของตนเองให้ไต่ระดับสูงขึ้นไป อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้เขาทำการเปรียบเทียบการใช้ภาษาในสังคมผู้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น โดยมีอินโดนีเซีย ในบางท้องถิ่นของมาเลเซียและปัตตานีเป็นตัวเลือก แต่ห้วงเวลาของปี 1998 อินโดนีเซียอยู่ท่ามกลางปัญหาการปฏิรูปทางการเมือง เขาเลยเลือกปัตตานี

ปัตตานีเนี่ยมันจะอยู่แบบเรียบง่าย ไปไหนมาไหนง่าย แล้วเราก็รู้จักกันได้ทุกคน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ก็คือ มันส่งผลกระทบในการใช้ชีวิต

“ตอนนั้นปัตตานียังมีความสงบ ผมไม่เคยคาดคิดว่าผมจะเลือก แต่เลือกเพราะความปลอดภัยที่อาจารย์ที่ปรึกษาบอก แต่สุดท้ายปัตตานี คือ สถานที่ที่อันตรายกว่าอินโดฯ ในช่วงนั้น” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มเปื้อนหน้า

เกือบ 15 ปี ชายหนุ่มผ่านการปรับตัวหลายอย่างเพื่อให้เขากับสังคมปัตตานี ทั้งการเป็นชาวต่างชาติบนพื้นที่อื่น และต้องผจญกับปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับภาษามลายูถิ่นปัตตานีซึ่งแตกต่างกับภาษามลายูกลางค่อนข้างมาก

“ต้องใช้เวลานานพอสมควร” ฮาร่า ชินทาโร่ยอมรับตรงไปตรงมาต่ออุปสรรคการเรียนรู้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี

“อย่างปีแรก คือผมเห็นว่าการจะสื่อสารกับคนมลายู คนปัตตานีเนี่ย รู้จักแค่ภาษามลายูอย่างเดียวไม่ค่อยสะดวก ยกเว้นที่ว่าเฉพาะคนที่มีความรู้ในภาษามลายูปัตตานี เพราะอย่างนี้ผมถึงประสบปัญหาในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นผมตัดสินใจจะเรียนภาษาไทย”

“มีคำภาษาไทยจำนวนมากแทรกเข้าไปในประโยคคำพูดของคนมลายู คำศัพท์เหล่านี้เราก็… ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าผมไม่รู้จักภาษาไทยเนี่ยที่ผมพูดเค้าก็ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นผมก็เห็นว่า เออ…ถ้าเราจะเข้าใจภาษาถิ่นมาลายูปัตตานีที่เนี่ย ผมก็ต้องมีความรู้ภาษาไทยด้วย ช่วงแรกเนี่ย คือมันเป็นความจำเป็นทางวิชาการก็จะเข้าใจภาษาถิ่นมลายูปัตตานี”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชายหนุ่มจำเป็นต้องเริ่มเรียนรู้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สี่ กระทั่งพูด อ่าน เขียนได้ในระดับที่ดี ซึ่งปัจจุบันในห้องเรียนภาษามลายูกลางที่ภาควิชาภาษาตะวันออกของเขา ก็ยังต้องใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางในการสอน

“ส่วนใหญ่ในห้องจะเป็นนักศึกษาเด็กมลายู 90 กว่าเปอร์เซนต์ ช่วงแรกผมก็พยายามอธิบายโดยใช้ภาษามลายู แต่ปรากฎว่าการที่เราใช้ภาษามลายูเนี่ย ความเข้าใจของนักศึกษาในระดับนี้ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากว่าเราอธิบายในสิ่งที่นักศึกษายังไม่เข้าใจ โดยใช้ภาษาที่เค้าไม่ค่อยเข้าใจเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องอาศัยภาษาไทยมากกว่า” ฮาร่า ชินทาโร่ อธิบาย

นอกจากการปรับตัวอย่างหนักหน่วงด้านภาษา การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2547 นับเป็นประสบการณ์เรียนรู้อีกก้าวที่ชายหนุ่มต้องปรับตัวเพื่อต้องอยู่กับมันให้ได้อย่างหนักหน่วง

hara-shintaro-02

“ชีวิตมันคนละแบบเลยนะ ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าปัตตานี เป็นสถานที่ที่น่าจะสบายที่สุดเลยเท่าที่ผมเคยไปนะ โดยที่ว่าค่าครองชีพมันถูก แล้วก็ชีวิตเรียบง่าย ผมไม่ชอบความเป็นเมืองที่มีความวุ่นวาย ซับซ้อน แต่ปัตตานีเนี่ยมันจะอยู่แบบเรียบง่าย ไปไหนมาไหนง่าย แล้วเราก็รู้จักกันได้ทุกคน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ก็คือ มันส่งผลกระทบในการใช้ชีวิต คือสมัยก่อนผมไม่เคยเห็นทหารเลยนะ แต่วันนี้ไปไหนมาไหนมีแต่ทหาร มีตำรวจ กว่าจะเคยชินเนี่ยผมต้องใช้เวลา 3-4 ปีเลยนะครับ เพราะในญี่ปุ่นผมไม่เคยเห็นทหารในเมืองเลยนะ แม้แต่ปืนตำรวจ ก็ห้ามโชว์ให้คนอื่นดู เขาสามารถใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่อยู่ที่ปัตตานีนะ อยู่ดีๆเหตุการณ์ก็รุนแรงขึ้น ทหารก็ถือปืนอาวุธสงคราม กว่าจะให้ตัวเองคุ้นชินกับสถานการณ์นี้ต้องใช้เวลานาน มันมีผลกระทบทางจิตใจค่อนข้างรุนแรง”

กระทบอย่างรุนแรงแค่ไหน แต่เขาก็อยู่กับมันมานานจนย่างเข้าทศวรรษที่สอง กระทั่งรู้สึกเหมือนปัตตานีกลายเป็นบ้านอีกหลัง ปัจจัยสำคัญในการปรับตัวได้ดีมาจากศาสนา และ ภาษามลายูที่เขาตั้งมั่นเรียนรู้จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ

“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านต้องต้อนรับผมอย่างดีมาก ไม่ทราบว่าอาจเป็นเพราะผมเป็นมุสลิมหรือผมพูดภาษามลายู หรือทั้งสอง เพราะตั้งแต่ช่วงนั้นผมพูดภาษามลายูแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่รู้นะว่าเป็นเพราะศาสนาหรือภาษา อยู่ที่นี่ความเป็นมลายูในภูมิภาคปัตตานี อย่างเช่น เค้าถามว่าพูดมลายูได้หรอ ได้ คำถามต่อไปคือ เป็นอิสลามไหม คือภาษากับศาสนาจะมาพร้อมกัน”

การตัดสินใจรับอิสลามเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อสำหรับคนนอก ที่ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งตัดสินใจยอมรับนับถืออัลลอฮ์ (ซ.บ.)เป็นพระเจ้าองค์เดียว และยอมรับอิสลามเป็นแนวทางแห่งชีวิต เพราะในประเทศญี่ปุ่นผู้ไม่ยอมรับนับถือศาสนาเป็นตัวเลขประชากรที่สูงมาก เป็นผลมาจากการเป็นประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างยาวนาน ชาวญี่ปุ่นจึงอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งแรกเริ่ม ฮาร่า ชินทาโร่ก็ยอมรับว่าเขาได้รับการฟูมฟักมาจากสังคมแบบนั้น

“ผมเป็นคนที่มีสภาพจิตใจที่ไม่ค่อยมั่นคงมาก่อน มีอะไรจะไวต่อความกดดัน จะรู้สึกเครียดมากเลย แล้วมันก็เป็นเหมือนคนธรรมดาของคนญี่ปุ่น วิธีการป้องกันที่ง่ายที่สุด คือฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นจึงมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเยอะ ตอนนั้นเมื่อเราเจอกับปัญหา ผมก็คิดว่าต้องผ่านให้ได้นะ ผมก็ไม่คิดจะแก้ไข แต่ว่าหาชีวิตใหม่ที่สว่างกว่าดีกว่า ทีนี้ผมเห็นว่าคนอิสลาม ทำงานไม่เก่งกว่าญี่ปุ่น แล้วก็ขี้เกียจกว่าคนญี่ปุ่นด้วย ไม่มีระเรียบแต่พวกเขามีความสุขมากกว่า เคารพครอบครัว ใช้เวลากับเขา ความเครียดไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญของชีวิต ผมเห็นว่าทัศนะศาสนาน่าจะมีส่วน ก็เลยรับอิสลามเพื่อจะเปลี่ยนคุณภาพชีวิต” เขาบอกเล่าจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ของตัวเอง

“ช่วงนั้นถ้าถามว่ามั่นใจกับคำสอนศาสนาไหม ผมพูดตรงๆนะว่าก็ไม่ ไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าผมยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ระบุในศาสนา แต่ผมก็ปรึกษาอิหม่ามและเพื่อนๆ ว่ามันสมควรไหมที่ผมจะเข้าศาสนาอิสลามในสภาพแบบนี้ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ก็ให้คำตอบที่ดีมากเลย เค้าบอกว่าถ้าไม่ชอบ มึงก็ออก แต่เค้าบอกว่าถ้ามึงคิดแบบนี้นะ ถึงวันหนึ่งมึงจะไม่เข้าใจ เพราะว่าศาสนาอิสลามต้องมาพร้อมกับคำปฏิบัติ ต้องละหมาดด้วย ต้องถือศีลอดด้วย แล้วเพื่อนสนิทก็บอกว่า จริงๆแล้วมันคือความศรัทธาทางจิตใจ บางอย่างมันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติแต่ถ้ามึงใช้สมองอย่างเดียว ยังไงก็ไม่มีทางเข้าอิสลามได้ แต่ถ้าอยากจะลองก็ลองดู ไม่พอใจก็ออกเลย ให้คำแนะนำแบบนี้ แต่เนื่องจากช่วงนั้นผมอยู่มาเลเซียด้วย มันเลยเป็นแรงกดดัน ผมต้องเคารพความเป็นมนุษย์ด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันเศร้ามาก มีปัญหาด้วย  มันส่งผลกระทบรุนแรงต่อจิตใจ เห็นว่าตัวเองไม่มีค่า ฆ่าตัวตายจะดีกว่า แต่ในช่วงนั้นผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วนะที่จะลองดูก่อน ก็เลยอยากจะเข้าอิสลาม สุดท้ายเราก็เข้า”

ทุกวันนี้ครอบครัวของเขาที่ญี่ปุ่นยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น พร้อมกับสนับสนุนเป็นอย่างดี เมื่อกลับบ้านก็สามารถดำเนินวัตรปฏิบัติเยี่ยงบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ได้อย่างไม่ติดขัด

“ผมก็อธิบายว่า ศาสนานี้เค้าต้องให้เคารพคุณพ่อคุณแม่ ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง พวกเขาก็ว่ามันดีนะ เวลาทำละหมาดหรือปฏิบัติอะไรก็ไม่มีปัญหาอะไรกับที่บ้านนะ ส่วนจำนวนมุสลิมในญี่ปุ่นผมได้ข่าวว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในส่วนนี้ก็ยังไม่ถึง 0.01 เปอร์เซ็นต์ ยังน้อยมาก เป็นชนกลุ่มน้อยมาก ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นที่เป็นอิสลาม เพราะเค้าแต่งงานกับคนที่เป็นมุสลิม”

ผมเป็นคนญี่ปุ่นแต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น แต่ถ้าที่ปัตตานี ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมปัตตานี

ฮาร่า ชินทาโร่เป็นอาจารย์ชาวต่างชาติของ มอ.ปัตตานีที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย และไม่โดดเด่นในทางสังคมมากนัก หากแต่บทบาทที่ทำให้เขาโดดเด่นเป็นที่จับตามองขึ้นมา คือการเป็นนักวิชาการที่ลงจากหอคอยมาแปลแถลงการณ์ของฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนจากกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีหรือ “BRN”ที่ต้องการสื่อสารกับรัฐบาลและสังคมไทย ในห้วงที่มีการเปิดเวทีหารือเพื่อหาทางออกจากปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีนายฮัสซัน ตอยิบเป็นตัวแทน โดยรัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางซึ่งเริ่มต้นมานานหลายเดือนก่อน จากแถลงการณ์ที่หากปล่อยให้ผ่านเลยไป สังคมไทยอาจไม่มีปฏิกิริยามากนัก เพราะอุปสรรคด้านภาษามลายู แต่ฮาร่า ชินทาโร่กลับไม่คิดเช่นนั้น

“ผมจะเดินทางกลับไปที่ญี่ปุ่น ผมก็รู้วามีคำแถลงการณ์นั้น ก็มีคนเอามาให้ผมแปลให้หน่อย ตอนนั้นมัน 5 ทุ่มแล้ว แล้วตี 5 วันต่อไปผมต้องกลับญี่ปุ่น ผมก็ไม่มีเวลาที่จะแปล แต่ผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะแปลในตอนนี้เลย เพราะองค์กรบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นองค์กรลับก่อนหน้านี้ คำแถลงการณ์จึงถือว่าสำคัญมาก แล้วความสับสนจากการแปลผิดเคยเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรานำเสนอการแปลก่อน ถึงจะไม่เป็นทางการ อย่างน้อยก็สามารถป้องกันเหตุการณ์ต่างๆจากความเข้าใจผิด ผมจึงแปล แต่มีเรื่องที่หนักใจมาก เขาใช้คำว่า ‘เปินฌาฌัฮซีแย’ เจ้าอาณานิคมสยาม ผมก็เลยคิดว่าคำนี้เนี่ย แปลยังไงดี คิดหนักมากเลย”

“ คือเค้าไม่ใช้คำว่ารัฐบาลไทย ทำไมเขาเลือกคำนี้ ผมเชื่อมั่นว่าอันนี้น่าจะเป็นภูมิหลังประวัติศาสตร์ ไอ้คำว่า “”เปินฌาฌัฮ” (penjajah) ภาษามลายูอินโด หมายความว่า อาณานิคมที่จำเป็นต้องไล่ออกจากประเทศ ไม่ใช่ศัตรูนะครับ ตรงนี้มันมีลักษณะเป็นแถลงการณ์ของสงครามมากกว่า ช่วงนั้นผมก็คิดเหมือนกันนะว่า ถ้าผมแปลตามนี้ ผมจะโดนโจมตีแน่เลย แต่ผมคิดว่าการที่ผมแปลแบบนี้ ดีกว่าการเข้าใจผิด ผมไม่ได้บอกว่ารัฐไทยหรืออาณานิคมสยามนะ มันไม่ใช่ประเด็นของผมนะ แต่ต้องยอมรับว่ามีใครที่คิดว่ารัฐไทยเป็นนักล่าอาณานิคม ทีนี้ผมก็ตัดสินใจว่าผมจะแปลตามที่เค้าว่าไว้จะดีกว่า เพราะว่าอย่างน้อยการแปลไม่ใช่ลิขสิทธิ์นะ ลิขสิทธิ์ของคำพูดอยู่ที่ภาษาไทยที่บีอาร์เอ็น เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบต้องโยนให้กับเค้า ผมรับผิดชอบแค่ว่าทำไมต้องเลือกคำนี้”

การตัดสินใจครั้งนั้นจึงได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ โดยเฉพาะอย่างหลังที่น่าจะมากกว่าอย่างแรกจนเทียบไม่ติด ทั้งในระยะเวลาอันใกล้ยังมีคำแปลอีกฉบับที่ใช้ภาษาสละสลวยพร้อมกับคำแปลที่เบาลงในความรู้สึกออกมาเทียบเคียงกัน ซึ่งสังคมไทยและรัฐบาลไทยยอมรับมากกว่า แต่ไม่ได้ทำให้ฮาร่า ชินทาโร่หวั่นไหว เขายังตั้งมั่นใจการแปลสารอย่างตรงไปตรงมาโดยคำนึงบริบทและเจตนาของผู้ส่งสารเป็นสำคัญ

“ก็บ่งบอกถึงนิสัยคนไทยอย่างดีนะครับ คือที่แปลอีกอันนะมันตรงใจของคนไทยมากที่สุดเลย แปลค่อนข้างดีมากเลย มันคนละเรื่องของผมเลย แต่ว่ามีประเด็นนึงที่ว่า บีอาร์เอ็นพูดถึงสิ่งที่สังคมไทยต้องการฟังหรือไม่ และต้นฉบับนี้ผมเชื่อว่าคนไทย สังคมไทยหรือแม้แต่รัฐบาลไทยไม่อยากจะฟังเลย เพราะฉะนั้นผมจึงต้องแปล พยายามที่จะแปล คงคำแปลที่สังคมไทยไม่ต้องการฟัง”

นี่คือความคิด ความรู้สึกที่สะท้อนตรงไปตรงมาของฮาร่า ชินทาโร่ ชาวญี่ปุ่นที่หลงรักภาษามลายู และสังคมปัตตานี เคยมีคนนอกตั้งคำถามกับเขาหลายครั้งว่า ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติ เขาจะอยู่ทนกับเหตุการณ์ร้ายและความเสี่ยงอันตรายอยู่ในปัตตานีต่อไปทำไม และเขาก็ยังตอบเหมือนเดิมเสมอ

ผมอยู่ปัตตานีเป็นประโยชน์กับคนปัตตานีมากกว่า  แต่ถ้าผมอยู่ญี่ปุ่นผมจะมีประโยชน์อะไรกับคนญี่ปุ่น ผมเป็นคนญี่ปุ่นแต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น แต่ถ้าที่ปัตตานี ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมปัตตานี”.

เรื่อง: ณรรธราวุธ เมืองสุข / ภาพ: Jollybear Studio
ตีพิมพ์ใน Halal Life Magazine ฉบับที่ 25

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน