fbpx

บรรจง บินกาซัน : ศรัทธาด้วยปัญญา

500 คน คือจำนวนมุสลิมใหม่ในแต่ละปีที่ผ่านการอบรมให้ความรู้จากโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน

20 ปี คือระยะเวลาของการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจในอิสลามให้กับคนต่างศรัทธา ด้วยถ้อยคำและภาษาที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนและเป็นสากล ของ อ.บรรจง บินกาซัน ประธานโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน

ตัวเลขทั้งสองคงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงความสำเร็จและความมุ่งมั่นของหัวเรือหลักโครงการฯ อย่าง อ.บรรจง บินกาซัน ผู้เปรียบเสมือน “พ่อ” ของเหล่ามุสลิมใหม่นับพันคน

อ.บรรจง บินกาซัน บันฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สารานิพนธ์สมัยเรียนของเขากลายเป็นแม่แบบของธนาคารอิสลามในปัจจุบัน) อดีตเจ้าหน้าที่สถานฑูตญี่ปุ่นและสายการบินปากีสถาน นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนและนักแปลคนสำคัญที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก

จากที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเชิญชวนคนเข้ารับอิสลามให้ได้ 1 คนในชีวิต แต่มาถึงวันนี้มีคนเข้ารับอิสลามผ่านการเชิญชวนของเขาแล้วนับพันคน เขาทำได้อย่างไร ใช้วิธีการแบบไหน ความลับจะถูกเปิดเผยในบรรทัดถัดไป

 

จุดเริ่มต้นของโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม

ผมทำมา 20 ปีแล้ว เป็นงานที่สานต่อจาก อ. อิสมาแอล วิสุทธิปราณี ซึ่งท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นนักวิชาการผู้อาวุโส เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิสันติชน และผู้คนให้ความเคารพยกย่องในเรื่องความรู้ของท่าน และสันติชนเองก็มีวัตถุประสงค์ในการที่จะเผยแผ่อิสลามให้คนทั่วไปทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม เมื่อก่อนยังมีคนไม่มากที่มาเรียนกับครูแอ ส่วนใหญ่ก็จะป็นมุสลิมแต่ก็มีบ้างที่เป็นคนที่ไม่ใช่มุสลิมและมาเข้ารับอิสลามและมาเรียนกับครูแอ ซึ่งครูแอก็ต้องจัดชั้นเรียนให้อีกชั้นหนึ่ง เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย จะไปเรียนปะปนกับมุสลิมเดิมเดี๋ยวจะต่อกันไม่ติด อ.อับดุลฆอนี บริสุทธิ์ เลยมารับช่วงต่อ หลังจากนั้นกรรมการของมูลนิธิสันติชนก็ให้ผมเข้ามารับหน้าที่คอยดูแลแล้วก็จัดหลักสูตรให้เป็นกิจลักษณะ เพราะว่ายิ่งนานวัน คนที่สนใจอิสลามก็มีจำนวนมากขึ้น ตลอด 20 ปีที่ผมทำโครงการนี้ที่มูลนิธิสันติชน ไม่มีวันอาทิตย์ไหนที่ไม่มีคนหน้าใหม่ๆเข้ามาขอเข้ารับการอบรม และคนที่สนใจอิสลามก็มีการศึกษามากขึ้น บางคนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งการเรียนการสอนของเราตอนนั้นยังไม่เป็นระบบ ยังไม่มีหลักสูตร ยังไม่มีการประเมินผล ทำให้คนที่มาเรียนไม่รู้ว่าเขาจะเริ่มต้นอย่างไร จะจบเมื่อไหร่  จะมีการประเมินผลอย่างไร  ผมจึงจัดทำหลักสูตรให้ ซึ่งค่อนข้างจะลำบากพอสมควร เพราะว่าทุกวันอาทิตย์จะผู้สนใจเข้ามาใหม่ตลอด ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในการจัดทำหลักสูตร เพราะหากใครเข้ามาเรียนแล้วเราไปบอกว่า คุณรออีกสองเดือน อีกสามเดือน จะเปิดคอร์สใหม่ มันไม่ได้ เพราะว่ามากันทุกอาทิตย์ เราถือว่าใครที่มาก็จะต้องได้เรียน ก็เป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องเข้าไปจัดวางแผนผัง ระบบระเบียบการเรียน ก็เลยจัดเนื้อหาที่สำคัญและมีความจำเป็นที่มุสลิมใหม่จะต้องรู้แบ่งออกเป็น 15 หัวข้อ ที่จะครอบคลุมในเรื่องของหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ หลักคุณธรรมจริยธรรม ซึ่ง 3 สิ่งนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของอิสลามอยู่แล้ว หนี้ไม่พ้น ถ้าเราพูดถึงเรื่องอิสลามก็จะต้องพูดถึงเรื่องหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ และหลักคุณธรรมความดี

 

เรื่องสำคัญที่เขาจำเป็นจะต้องรู้ ก็คือหลักศรัทธา 6 ประการ หลักปฏิบัติ 5 ประการ และเรื่องคุณธรรมความดี

 

หลักสูตรเอามาจากไหน ?

หลักสูตรนี้ผมจัดของผมเอง คือเรื่องสำคัญที่เขาจำเป็นจะต้องรู้ ก็คือหลักศรัทธา 6 ประการ หลักปฏิบัติ 5 ประการ และเรื่องคุณธรรมความดี ในเรื่องของหลักศรัทธาเราต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เพราะเขาไม่ใช่มุสลิมและไม่มีพื้นฐานมาก่อน ถ้าจะไปพูดภาษาอาหรับมากเขาก็จะงง เพราะว่าคนต่างศาสนิกเองกระทั่งภาษาบาลีเป็นคำสวดของเขา เขาก็ยังไม่รู้ความหมาย ฟังพระเทศน์ด้วยภาษาบาลีมากๆ เข้า เขาก็จะเบื่อเพราะว่าไม่เข้าใจความหมาย ก็เช่นเดียวกันเวลาที่เขามาเรียนอิสลามเราก็ต้องอธิบายด้วยศัพท์ง่ายๆ ให้เขาได้เข้าใจแก่นแท้ของอิสลามด้วยภาษาไทยที่เป็นภาษาที่เขาสามารถที่จะเข้าใจได้ ผมก็มาเริ่มทำให้ตรงนี้ วางเนื้อหาของหัวข้อที่ครอบคลุม 15 หัวข้อที่จำเป็นสำหรับคนมุสลิมจะต้องรู้และใครที่มาเรียนก็จะได้เรียนตาม 15 หัวข้อนี้

มันเหมือนกับโรงหนังชั้นสองครับ นึกออกไหม คือถ้าคุณมาดูต้นเรื่องคุณก็นั่งดูไปเรื่อยๆ จนจบ 15 หัวข้อ แต่ถ้าคุณมากลางเรื่องตรงหัวข้อที่หกที่เจ็ดคุณก็นั่งดูกลางเรื่องไปจนกระทั่งจบเรื่องและคุณก็มาดูต้นเรื่องใหม่ แต่ถ้าคุณมาท้ายเรื่องคุณก็ดูตรงท้ายเรื่องและมาดูต่อต้นเรื่องในอาทิตย์ถัดไป เราใช้วิธีการแบบนี้ในการแก้ปัญหาซึ่งก็ได้ผล

 

ใครมาตอนไหนก็เรียนได้เลย ?

ครับเรียนได้เลย เพราะ 15 หัวข้อนี้ แยกเนื้อหาเด็ดขาดจบในตัวของมัน และใครที่มาครั้งแรกเราจะให้ปฐมนิเทศก่อน ให้ได้รู้เห็นโครงสร้างของอิสลาม เหมือนกับเราพาเขานั่งเฮลิคอปเตอร์และมองภาพรวม เหมือนกับไปชมป่าเขาใหญ่ว่าอาณาเขตของป่าเขาใหญ่มันติด 5 จังหวัดน่ะ ให้เห็นภาพโดยรวมก่อน

 

ภาพรวมที่ว่านี้เป็นอย่างไร ?

หนึ่งเขาจะต้องรู้ความหมายของคำว่าอิสลาม และมุสลิม การรู้ความหมายของชื่อศาสนาสำคัญเพราะชื่อของศาสนาเป็นตัวสะท้อนถึงแก่นธรรมของศาสนา ซึ่งแม้แต่มุสลิมเองที่เข้าไปนั่งฟังด้วยส่วนใหญ่เก้าสิบเปอร์เซ็นก็จะไม่รู้ ขณะเดียวกันชาวพุทธที่มาเรียนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า พุทธแปลว่าอะไร ตัวเขาเองเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะว่าเราเป็นศาสนิกกันตามปู่ ย่า ตา ยาย เป็นตามสำมะโนครัว เราถึงไม่รู้ความหมายของชื่อศาสนาที่ตัวเองนับถืออยู่ ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ก็ไม่สามารถเข้าถึงแก่นธรรมของศาสนาตัวเองได้ เมื่อแก่นธรรมของศาสนาตัวเองยังไม่เข้าใจ แล้วคุณจะไปเข้าใจศาสนาของคนอื่นเขาได้อย่างไร เมื่อไม่เข้าใจซึ่งกันและกันการอยู่ร่วมกันก็ลำบาก เพราะมีการไม่เข้าใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ว่าแก่นแท้ของศาสนาทุกศาสนาจะสอนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ก็เลยต้องสอนให้เขารู้ถึงที่มาของอิสลาม หลังจากนั้นก็บอกให้รู้ว่าอิสลามนั้นมาอย่างไร เป็นอะไร เราก็บอกพวกเขาว่า เป็นวัจนพระเจ้า ฉะนั้นคุณจะรู้จักอิสลามคุณต้องรู้จักพระเจ้าก่อน ถ้าคุณไม่รู้จักพระเจ้าคุณไม่เชื่อพระเจ้าคุณก็จะไม่รู้จักอิสลาม คุณก็จะไม่เชื่ออิสลามเพราะอิสลามเป็นวัจนของพระเจ้าอธิบายให้เป็นแบบนี้ และบอกถึงหลักศรัทธาว่าทำไมจำเป็นจะต้องศรัทธาในพระเจ้า ศรัทธาในมลาอิกะห์  ศรัทธาในคัมภีร์ ก็จะอธิบายให้เขาได้เห็นภาพรวมๆ ว่าความศรัทธาเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตมันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ขณะเดียวกันความเชื่อก็เป็นตัวผลักดันพฤติกรรม ถ้าเชื่อผิด คิดผิด ก็ทำผิดโดยปริยาย ทำให้เขาได้เห็นว่าหลักศรัทธาที่ถูกต้องมีความสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต สำหรับพฤติกรรมชีวิตของเรา

แต่เนื่องจากว่าหลักศรัทธาเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น มันเหมือนกับเมล็ดพืชที่อยู่ใต้ดิน เราไม่รู้ว่ามันจะมีชีวิตหรือเปล่าจนกว่ามันจะงอกออกมาเป็นลำต้นให้เราได้เห็น เราถึงจะรู้ว่าเมล็ดพันธุ์นั้นมันมีชีวิต เพราะมันงอกออกให้เห็นเป็นลำต้นแล้ว ส่วนลำต้นที่งอกออกมาก็คือหลักการปฏิบัติ ที่คุณจะต้องยืนยันด้วยวาจา การละหมาด ถือศีลอด จ่ายซะกาต ไปทำฮัจญ์ อันนี้ก็คือลำต้นที่งอกออกมาจากเมล็ดพันธุ์ของความศรัทธา แต่ว่าต้นไม้ก็ยังไม่สมบูรณ์จนกว่ามันจะแตกกิ่งก้านสาขาผลิดอกออกใบให้ผลให้ร่มเงาเป็นประโยชน์แก่บรรดาสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัว นั่นก็คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มารยาทต่างๆ ที่ทำให้ต้นไม้อิสลามนี้มีความสมบูรณ์สวยงาม ในทุกศาสนาก็จะมีหลักอย่างนี้เหมือนกัน มีหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติเพื่อยืนยันความเชื่อ และมีเรื่องจรรยา มารยาท คุณธรรม ศีลธรรมต่างๆ แต่เราให้เห็นความต่างว่าอิสลามศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว เราไม่กราบไหว้สิ่งอื่นๆ ซึ่งในศาสนาอื่นๆ ถ้าหากศึกษาเนื้อหาจริงๆ แล้วการกราบไหว้วัตถุบูชารูปปั้นมันก็ไม่มีในเนื้อหาคำสอนของทุกศาสนา ถ้าลองกลับไปดูลึกๆ เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจ ให้เขาได้เห็น พอเห็นภาพรวมแล้ว ก็จะประกอบไปด้วยหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ คือถ้าคุณต้องการรายละเอียดเราก็จะพาคุณลงจากอากาศจากเฮลิคอปเตอร์ เราก็มาเดินดูต้นไม้แต่ละต้น หินแต่ละก้อน ดูในรายละเอียดซึ่งกล่าวไว้ใน 15 ชั่วโมง 15 หัวข้อ ถ้าเขาสนใจก็มาดูได้ในรายละเอียด คือคนที่มาครั้งแรกจะได้เห็นภาพรวมอิสลามแล้ว จากนั้นพอเข้าฟังบรรยายเขาก็จะต่อติด เพราะมีพื้นมาแล้ว



HL021.indd

คนต่างศาสนิกมักศรัทธาและกราบไหว้สิ่งที่เขาเห็นเป็นรูปลักษณ์สิ่งที่เขาสามารถจับต้องได้ แต่ในอิสลามสิ่งที่เราศรัทธาในสายตาคนอื่นมันคือความว่างเปล่า อาจารย์มีวิธีอธิบายคนต่างศาสนิกในเรื่องนี้อย่างไร ?

ง่ายๆเลย เราก็บอกว่า การมองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งที่มีอยู่ไม่จำเป็นต้องมองเห็น สิ่งที่มองไม่เห็นมีมากกว่าสิ่งที่มองเห็น อย่างเช่นกลางวันนี้เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าเรามองไม่เห็นดวงดาวแต่ไม่ได้หมายความว่าดวงดาวไม่มีเพราะว่าแสงอาทิตย์มันบดบังดวงดาวต่างๆเอาไว้หมด ดาวพฤหัสใหญ่กว่าโลกพันเท่าเราก็มองไม่เห็นก็ไม่ได้หมายความว่าดาวพฤหัสไม่มี ไวรัส แบคทีเรียอยู่รอบตัวเรา เรามองไม่เห็นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี ตาเราต่างหากที่มองไม่เห็น บางคนอาจแย้งว่าเดี๋ยวนี้มีกล้องจุลทรรศน์ แล้วเราก็ไม่ปฏิเสธก็ใช่เพราะว่ามันเป็นวัตถุสามารถมองเห็นได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ว่ายังมีสิ่งที่มองไม่เห็นแล้วมีอยู่อีก ยกตัวอย่างง่ายๆ ความรู้ความสามารถที่อยู่ในตัวของทุกคน เอาตั้งโต๊ะให้ผมดูหน่อยหรือเอากล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทัศน์มาส่อง ให้ผมเห็นความสามารถของคุณหน่อยทำได้ไหม ผมรู้ว่าคุณมีความรู้ความสามารถแต่คุณก็ทำไม่ได้ เพราะความรู้ความสามารถมันไม่ใช่วัตถุ แล้วเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคุณมีความรู้ความสามารถ คุณก็ต้องแสดงผลงานให้ผมรู้ ให้ผมได้เห็น หมายความว่าถ้าคุณเป็นนักดนตรีคุณก็เล่นดนตรีให้ผมฟัง คุณเป็นช่างไม้ คุณเป็นคนทำกับข้าว คุณก็แสดงฝีมือความรู้ความสามารถให้ผมเห็นในรูปของผลงานออกมา เพราะฉะนั้นเวลาเรารู้จักพระเจ้าที่เรามองไม่เห็นเราก็ดูจากผลงานรอบตัวเรา ดาวนับแสนล้านดวง ต้นไม้ ภูเขา ถามว่าใครเป็นคนสร้างมัน มนุษย์หรือเปล่า ไม่ใช่มนุษย์ แล้วถามว่าธรรมชาติคืออะไร ถ้าบอกคือความบังเอิญ แต่ความบังเอิญไม่มีน่ะ ในศัพท์ทางวิทยาศาตร์เพราะวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ของเหตุผล ธรรมชาติไม่ใช่ความบังเอิญ จริงๆแล้วธรรมชาติมาจากคำสองคำรวมกัน คำว่าธรรม แปลว่า ความจริง กับชาตะ คือ ต้นกำเนิดที่มาแต่เดิม ธรรมชาติรวมกันก็คือ ความจริงที่มีมาแต่เดิม พอเราเกิดมาเราเห็นดวงอาทิตย์ มันมีอยู่แต่เดิม ฉะนั้นดวงอาทิตย์ก็คือธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็คืองานรังสรรค์ งานสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่เรามองไม่เห็น เราบอกได้ว่าการที่เรามองไม่เห็นมันไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี เพียงแต่เรามองไม่เห็น

ถ้าเราบอกว่าธรรมชาติคือความบังเอิญมันก็ขัดแย้งกับปัญญาของเรา ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งกินข้าวกับเพื่อนสองคนมีรองเท้าแตะเก่าๆ ลอยมาตกใส่จานข้าวและเพื่อนบอกว่าอันนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นความบังเอิญ คุณจะยอมรับไหม เราก็อธิบายง่ายๆ อย่างนี้แหละ มันเป็นเรื่องของสติปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาเราเชื่อพระเจ้า เราเชื่อจากสติปัญญา ไม่ใช่เพียงเพราะตาเห็น เพราะบางทีตาเห็นอาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้ อาจจะเป็นกลลวงต่างๆ สารพัด การที่ตามองเห็นมันยังไม่ใช่ความจริงเสมอไป แต่ถ้าเราใช้สติปัญญาคิดเราจะได้ความจริงที่เกินกว่าตามนุษย์มองเห็น

 

เราจะเผยเพร่ให้อิสลามอย่างไรให้เข้าใจง่ายๆ ?

เราสอนให้คนที่ไม่เข้าใจอิสลามเรียนรู้ว่า อิสลามเป็นศิลปะในการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เรามีความสุขความเจริญในโลกนี้ และได้รับความรอดพ้นในโลกหน้าด้วย เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสองโลก โลกนี้สุขและโลกหน้าต้องสุขด้วย   มิใช่โลกนี้สุขและโลกหน้าทุกข์ การเผยแพร่อิสลาม ก็แค่เราไม่ทำตัวให้ยาก อย่างการคลุมฮิญาบก็ถือเป็นการเผยแพร่อิสลามแล้ว คือมีบางคนเขารับอิสลามเพราะเห็นฮิญาบ อย่างมีอาก๋งอยู่คนหนึ่งเคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน เมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลาย แกจึงลงมาจากป่า พอไปเห็นเด็กมุสลิมคลุมผมก็ถามเพราะสงสัยว่าทำไมแต่งกายแบบนี้  เด็กก็ตอบว่าหนูเป็นมุสลิม แกจึงไปเรียนที่สันติชนแล้วจึงเข้ารับอิสลาม เท่านี้ก็เป็นการจุดประกายแล้ว

เป็นหน้าที่ของผู้รู้ คือเวลาสอนก็ต้องสอนง่ายๆ และอยู่ที่การทำตัวของเราด้วย  ซึ่งอิสลามมีทางออกตรงกลางเสมอ เวลาไปกินอะไรกับคนต่างศาสนิกก็ไม่เห็นว่าจะลำบากตรงไหน แต่บางคนบอกว่าลำบาก เวลาบริษัทจัดงานเลี้ยงต่างๆ ก็จะมีลงขันกัน  ไปร่วมงานก็กินเฉพาะในสิ่งที่กินได้ เราสามารถปรับตัวได้ บางทีเขาบอกมาว่าอันโน้นอันนี้กินได้ เราก็สามารถอธิบายได้ด้วย  เราต้องอยู่เป็นทุเรียนในเข่งแตงโม   มิใช่แตงโมในเข่งทุเรียน  อิสลามมีเรื่องง่ายๆให้ปฏิบัติโดยไม่ลำบาก

 

20 ปีที่ผ่านมามีคำถามอะไรแปลกๆ จากคนที่เขามาศึกษาบ้าง ?

ก็เป็นคำถามพื้นๆ เดิมๆ ทำไมมีภรรยาได้ตั้งสี่คน ทำไมไม่กินหมู ทำไมต้องคลุมผม มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่เขาเห็น เขาสังเกตซึ่งเขาเองเขาก็ไม่รู้ ผมจึงถามเขากลับว่า ทำไมคุณมาถามผมว่าทำไมอิสลามห้ามกินหมู ทำไมคุณไม่ถามคนคริสเตียนบ้างล่ะว่าทำไมคัมภีร์ไบเบิลห้ามกินหมู เพราะในคัมภีร์ไบเบิลก็ห้ามกินหมูเหมือนกัน ซึ่งคนคริสเตียนเองก็ยังไม่รู้เลย และคนพุทธคัมภีร์พระไตรปิฎกห้ามกินเนื้องู เนื้อสัตว์มีเขี้ยว อิสลามก็ห้ามเหมือนกัน ผมจึงถามว่าพวกคุณรู้เรื่องนี้หรือเปล่า เขาก็ไม่รู้เพราะเขาไม่ได้เรียน ฉะนั้นเมื่อเขามาเห็นสิ่งที่มันแปลกไปจากการปฏิบัติของพวกเขา เขาก็จะสงสัยขึ้นมา

 

เวลาที่เราโดนถามคำถามเหล่านี้ เราจะอธิบายให้คนต่างศาสนิกเข้าใจอิสลามง่ายๆอย่างไร ?

อันนี้สำคัญมากน่ะ ความจริงแล้วต้องถือว่าเป็นเรื่องดีน่ะที่คนมาถาม เพราะคนที่เขาถามแสดงว่าเขาสนใจ ตรงนี้เป็นโอกาสที่เราจะชงอะไร จะป้อนอะไรให้เขาก็ได้ที่เขาต้องการ คำถามคือเขาถามคำถามอะไรเราก็ต้องตอบให้ตรงประเด็น และต้องตอบด้วยคำพูดที่สุภาพและเป็นเหตุเป็นผล อันนี้เป็นหลักในการเผยแผ่ มันขึ้นอยู่กับว่าคำถามเขาถามอะไรคือถ้าหากว่าเราตอบได้เราก็ตอบและต้องไม่ใช้อารมณ์เด็ดขาดเราใช้เหตุเราใช้ผล แต่ว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ตอบไม่ได้  เช่นคำถามถ้าผมไม่ได้เป็นคนที่ศรัทธาในพระเจ้าผมจะตกนรกไหม เพื่อนที่เป็นมุสลิมโดยความรู้พื้นฐานก็จะตอบว่าตกนรก เพื่อนต่างศาสนิกก็จะถามว่าถ้าผมทำความดีแล้วผมตกนรกพระเจ้าคุณก็ไม่ยุติธรรมนะซิ ตัวอย่างนี้ก็เป็นปัญหาทางปรัชญา เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง เที่เขาถามเป็นเพราะว่าเขาไม่รู้แม้กระทั่งศาสนาของเขา ยกตัวอย่างง่ายๆ คนพุทธส่วนใหญ่มักจะเหมารวมเอาว่าศาสนาพุทธไม่ได้สอนเรื่องพระเจ้า อยู่ในหลักเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นศาสนาที่เป็นธรรมชาติที่สุดและบอกว่าศาสนาพุทธไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้า อันนี้เป็นคำทึกทักเอาเองของคนรุ่นใหม่ ผมถามว่าศาสนาพุทธเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์ไหมผมถามพระทุกคนบอกว่าเชื่อหมดว่ามีนรกมีสวรรค์ ผมจึงถามต่อแล้วใครสร้างนรกสวรรค์ คำถามที่สองถ้าหากว่าจะเอาคนดีกับคนชั่วทั้งหมดเข้าสวรรค์คุณว่ายุติธรรมไหม หรือจะเอาคนชั่วคนดีรวมกันลงนรกทั้งหมดคุณว่ายุติธรรมไหม เขาก็ตอบโดยสามัญสำนึกว่าไม่ยุติธรรม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแยก ใครดีใครชั่วใครผิดใครถูก แล้วถามว่าใครจะเป็นคนตัดสินที่ให้ใครเข้านรกเข้าสวรรค์ เขาจึงเริ่มคิด

 

ผมทำโครงการนี้มา 20 ปี ผมยังไม่เคยเจอเลยว่าอาทิตย์ไหนที่ว่างเว้นจากการมีคนใหม่ๆ มาขอเรียนอิสลาม วันนึง 10 คน 15 คน ถ้าเกิดวันอาทิตย์ไหนหยุดไปทำกิจกรรมนอกสถานที่วันอาทิตย์ถัดไปก็จะมาสมทบกัน 20 – 30 คนบางทียกเก้าอี้กันไม่ทัน เพราะฉะนั้นเฉลี่ยปีนึงประมาณ 500 คนขึ้น

 

และจะมีคำถามที่ว่า ถ้าผมทำดีผมไม่ได้เข้าสวรรค์ มันก็ไม่ยุติธรรม ผมเลยยกตัวอย่างว่า คุณทำความดีผมไม่เถียง แต่การทำความดีผลที่รับมันต่างกัน เช่น มีคนสองคนมากวาดถนนหน้าบ้านผมตอนเช้าๆ ฝั่งตรงข้ามจะมีคนกวาดถนนที่เป็นลูกจ้างหัวหน้าเขต แต่ถนนฝั่งนี้เป็นคนข้างบ้านผมเองที่กวาด กวาดถนนเหมือนกัน คนในซอยทุกคนจะเห็นว่าสองคนนี้ทำความดีเหมือนกัน  ผมอยากถามว่าเวลาสิ้นเดือนใครได้รับเงินเดือน คำตอบคือคนฝั่งตรงข้ามได้เงินเดือน แล้วทำไมเขาถึงได้รับ เพราะว่าเขามีนายเป็นคนสั่งให้ทำเมื่อเขาทำเขาก็ได้รับเงินตอบแทน แต่คนฝั่งนี้เขากวาดเหมือนกันแต่จะไปรับเงินเดือนได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่คือความต่าง เพราะฉะนั้นการมีพระเจ้าไม่ทำให้เราขาดทุน แต่การไม่มีพระเจ้าต่างหากที่ทำให้เราขาดทุน และการพิสูจน์ว่ามีพระเจ้ามันก็ไม่เกินกว่าสติปัญญาที่เราจะเข้าใจได้ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดแต่ง่ายที่สุด เราต้องเรียนรู้เขา และเวลาเราตอบคำถามเราต้องตั้งคำถามให้เขาคิดด้วย ถ้าเรามัวแต่ตอบ เขาก็จะรุกถามอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราตอบคำถามโดยการตั้งคำถามให้เขาคิดและให้เขาตอบคำถามของเราบ้างเพื่อเป็นการตอบตัวเขาเอง เขาก็จะเอาไปฉุกคิด

ผมบอกเขาว่าเรียนอิสลามก็เหมือนเรียนศิลปะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้มีความสุขความเจริญในโลกนี้และได้รับความรอดพ้นในโลกหน้า ผมไม่ได้บอกว่าคุณมาเรียนศาสนาคุณต้องทำหน้าตาเคร่งขรึมไม่มี คือเรียนศิลปะการใช้ชีวิตในการเก็บเกี่ยวผลบุญ ผมบอกว่า ถ้าคุณเป็นมุสลิมการเก็บเกี่ยวผลบุญคุณทำได้ตลอดเลยก่อนกินข้าวคุณกล่าวบิสมิลลาฮฺ คุณเก็บเกี่ยวผลบุญแล้ว กินข้าวเสร็จคุณกล่าว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ คุณเก็บเกี่ยวผลบุญอีกแล้ว เราสอนวิธีการง่ายๆแบบนี้ เขาจะรู้สึกว่ามันอยู่ในชีวิต มันเป็นเรื่องที่ง่ายถ้าศาสนาเป็นเรื่องยากแล้วใครจะทำล่ะ อย่างเวลาที่ผมสอนละหมาด ผมก็ไปที่ก๊อกน้ำเลยอาบน้ำละหมาดผมทำให้เขาดูให้บิสมิลลาฮฺสั้นๆ ก่อน ให้เขาอาบน้ำละหมาดตามผมสามที แล้วให้เขาทำเองเขาทำได้ก็โอเค เราก็ชมเขาเก่งนี่ทำได้แล้วให้เขาภูมิใจ

HL021.indd

มีผู้เข้ารับอิสลามผ่านโครงการมากน้อยแค่ไหน ?

ทุกปีมีคนมาเข้ารับอิสลามโดยเฉลี่ยร้อยกว่าคนทั้งชายและหญิงรวมกัน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 มีคนมาศึกษาอิสลามมากขึ้นอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ผมทำโครงการนี้มา 20 ปี ผมยังไม่เคยเจอเลยว่าอาทิตย์ไหนที่ว่างเว้นจากการมีคนใหม่ๆ มาขอเรียนอิสลาม วันนึง 10 คน 15 คน ถ้าเกิดวันอาทิตย์ไหนหยุดไปทำกิจกรรมนอกสถานที่วันอาทิตย์ถัดไปก็จะมาสมทบกัน 20 30 คนบางทียกเก้าอี้กันไม่ทัน เพราะฉะนั้นเฉลี่ยปีนึงประมาณ 500 คนขึ้น มาเรียนแล้วก็มีการสอบทั้งสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ ในจำนวน 500คนสอบผ่านประมาณ 300 คน เราไม่บังคับถ้าคุณจะประเมินผลตัวเองว่าคุณเรียนรู้เข้าใจแค่ไหนคุณก็มาลองสอบประเมินผลทุกสองเดือนเราจัดให้มีการสอบ เราก็จะบอกว่าไม่ต้องกลัว สอบตกไม่ตกนรกมาสอบใหม่ได้ แต่ถ้าหากว่าคุณต้องการจะได้ประกาศนียบัตรคุณก็ต้องสอบละหมาดให้ผ่าน ถ้าคุณสอบละหมาดผ่าน สอบข้อเขียนผ่านเราก็มอบประกาศนียบัตรให้ ถ้าคุณสอบข้อเขียนผ่านแต่ไม่สอบปฏิบัติเราก็ไม่มอบประกาศนียบัตรให้ การสอบซ่อมจะต้องสอบให้ได้คะแนน 75 สอบครั้งแรก 60 คะแนน ถือว่าผ่าน แต่ถ้าหากว่าคุณสอบ 60 คะแนนไม่ผ่าน สอบครั้งใหม่คุณต้องสอบให้ได้ 75 เพราะอย่างน้อยที่สุดคุณได้รู้แนวข้อสอบแล้วก็ตั้งเกณฑ์ให้สูงหน่อย

 

อาจารย์คิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จและดำเนินการได้ต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี ?

มันขึ้นอยู่กับทัศนคติตอนแรกว่าคุณไประแวงสงสัยจิตใจคนหรือเปล่า เมื่อเขามาเรียนเราน่าจะดีใจเพราะคนที่มาเรียนนำเอาผลบุญมาให้เรา ถ้าคิดในเชิงธุรกิจ เมื่อลูกค้าเข้าร้านแล้ว เราก็ต้องต้อนรับลูกค้า เราต้องหาสินค้า ต้องเรียนรู้สินค้า เขาต้องการได้อิสลาม เราก็ต้องนำเสนออิสลาม และต้องนำเสนอแบบเซลล์แมนชิพ ให้เขาเห็นถึงความดีงาม  อธิบายอย่างไรให้สั้นๆ เข้าใจง่ายๆ มองเห็นอิสลามได้รอบด้าน แล้วเขาอยากจะเอาอิสลามไปใช้ ถ้าเอาไปใช้แล้วคุณมีอุปสรรค มีปัญหา เรามีบริการหลังการขาย เราก็ต้องช่วยเขา เพราะถ้าเข้าเข้ารับอิสลามแล้วถูกตัดความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่นเมื่อเรียนหนังสืออยู่แล้วเข้ารับอิสลามแล้วถูกตัดขาด ดังนั้นก็ต้องช่วยเหลือ คือเอาซะกาตช่วยเหลือเขาให้เรียนให้จบ พอเรียนจบแล้ว เป็นคนเคร่งครัด ปฏิบัติดีเข้ามาช่วยงาน เรารู้ เราเห็นว่าเขาเป็นมุสลิมแล้ว เราได้สอนเขาว่ามุสลิมเป็นพี่น้องกัน  พอเวลาจะแต่งงานเขาต้องไปสู่ขอ แต่พอดีพ่อแม่เขาไม่อยู่ ไม่รู้จักวัฒนธรรม หรือแก่มากแล้วไปไม่ไหว เขาก็ให้เกียรติเราเป็นผู้ปกครองไปช่วยสู่ขอ เราจึงต้องทำหน้าที่บริการหลังการขาย บ้างก็ไปทำหน้าที่คุตบะห์ เป็นวลีบ้าง ก็ต้องทำให้ บางทีก็ไปปัตตานีบ้าง นครศรีธรรมราช อำนาจเจริญ ก็ไปทำให้ด้วยความยินดี เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่  เวลาถึงวันอีดก็มาละหมาดกันที่สันติชน ก็รู้สึกดีใจเมื่อเห็นลูกศิษย์ที่มัสยิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีใจที่สุดในชีวิต เพราะเขามีความมั่นคงต่อมัสยิด แค่คนสองคนผมก็รู้สึกพอใจแล้ว เพราะผมตั้งเป้าไว้แค่เพียงคนเดียวในชีวิต ถ้าได้มากกว่านั้นก็รู้สึกดีใจมาก พอละหมาดอีดเสร็จแล้วพวกเขาไม่รู้จะไปไหน ผมก็ต้องเปิดบ้านต้อนรับวกเขา ตั้งแต่ทำงานอบรมมุอัลลัฟมาทั้ง 2 อีด ก็เปิดบ้านมาตลอด แล้วก็จะมีเมนูอาหารหลักที่ภรรยาทำให้ และภรรยาจะเตรียมไว้ทั้งหมด แล้วพอกลางวันก็จะเลี้ยงอาหาร อยู่จนกระทั่งค่ำ มากันเป็นร้อยคน บางทีอยู่ถึงจนกระทั่งสี่ทุ่ม ถึงจะเหนื่อยแต่ก็เป็นการเหนื่อยที่มีความสุข

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: คอลิด แยนา

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน