fbpx

นูรฮีซาม บินมามุ : นักอนุรักษ์ที่ชวนเยาวชนมาเห็นคุณค่าของป่าฮาลา-บาลา นกเงือก และอำเภอแว้ง

นูรฮีซาม บินมามุ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซัม ยังยิ้ม” เกิดและเติบโตท่ามกลางธรรมชาติและเรื่องเล่าในอดีตของ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นผู้ก่อตั้ง “ยังยิ้ม” กลุ่มเยาวชนใน อ.แว้ง ที่โดดเด่นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องราวของนกเงือก

‘ซัม’ ก็คงเหมือนกับคนหนุ่มสาวรุ่นเดียวกันอีกหลายคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่เหตุการณ์ความไม่สงบกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน และด้วยความที่บ้านของ ‘ซัม’ คืออำเภอแว้ง อำเภอที่อยู่แนบชิดกับผืนป่าฮาลา-บาลาอันอุดมสมบูรณ์ ความหลงใหลของเขาจึงหลีกไม่พ้นเรื่องราวของธรรมชาติ

นอกจากนี้ ‘ซัม’ ยังเคยเป็นครูโรงเรียนประถม เมื่อคิดจะทำกิจกรรมเพื่อบ้านเกิด เขาจึงเอาธรรมชาติที่ตัวเองหลงใหลมาผนวกกับเด็กและเยาวชนที่ตัวเองยังคงผูกพัน จนเกิดเป็นกลุ่มกิจกรรมเล็กๆ ที่ชื่อ “ยังยิ้ม” ในปี พ.ศ. 2556

“ผมยังรู้สึกผูกพันกับเด็กๆ ก็เลยคิดว่าจะทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชน อยากเอาเนื้อหาที่อยู่ในห้องเรียนมาขยายห้องให้ใหญ่ให้กว้างขึ้น ก็เลยไปชวนน้องๆ 7-8 คน ที่สนิทมานั่งคิดกันว่าถ้าเราอยากจะมีกิจกรรมบางอย่างที่นี่ เราจะทำอะไรกันดี”

ในครั้งนั้น ‘ซัม’ ยอมรับว่าตัวเองยังไม่มีความรู้ด้านกิจกรรมเยาวชนและการอนุรักษ์ เขาจึงไปขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และได้รู้ว่าก่อนหน้านี้ที่ฮาลา-บาลาแห่งนี้มีการจัดค่ายอนุรักษ์มาตลอด จนกระทั่งเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น กิจกรรมเหล่านั้นก็จำเป็นต้องหยุดไป และนั่นทำให้กิจกรรมแรกของ ‘ซัม’ คือการจัดค่ายเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่

“ตอนนั้นผมเรี่ยไรเงินจากเพื่อนๆ มาได้ 6 หมื่นบาท แล้วก็ให้น้องๆ ไปพูดกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนว่าใครสนใจจะมาร่วมค่ายบ้าง อยากได้สัก 30 คน มาเล่นน้ำตกด้วยกัน มาเดินป่าด้วยกัน มานั่งคุยกัน ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรจริงจัง แค่มาแคมปิ้งแล้วนั่งคุยกันอย่างเดียวเลย ใช้ชื่อค่ายว่า ฮาลาบาลายังยิ้ม พื้นที่นี้เรียนรู้ร่วมกัน”

อาจเป็นเพราะเด็กและเยาวชนที่แว้งโหยหากิจกรรมและความสนุก กิจกรรมแรกของ ‘ซัม’ จึงมีเด็กสมัครเข้าร่วมมากถึง 67 คน เกินจากที่ตั้งไปกว่าเท่าตัว และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ซัม’ ตัดสินใจตั้งกลุ่ม “ยังยิ้ม” ขึ้น

“คำว่า ยัง (Young) หมายถึงเยาวชนหรือคนหนุ่มสาว ซึ่งเราก็มองได้ 2 ความหมายคือ คนหนุ่มสาวกำลังแฮปปี้ มีความสุขดี อีกแง่หนึ่งเราจะสื่อสารกับคนข้างนอกว่า ถึงแม้เราเป็นคน 3 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในพื้นที่สีแดง แต่เราก็ยังโอเคนะ ไม่มีปัญหา”

หลักจากเริ่มต้นด้วยการพาเยาวชนไปเรียนรู้ธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของป่าฮาลาล-บาลา ‘ซัม’ ก็ขยับขยายประเด็นพาเยาวชนมาเรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนบ้านเกิด “ผมคิดว่าแว้งเปรียบเสมือนเทปม้วนหนึ่งที่มีสองด้าน ด้าน A ก็เรื่องราวธรรมชาติ ทรัพยากร คือฮาลา-บาลา ส่วนด้าน B ก็เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้ารู้จักแว้งแค่เรื่องความงามของธรรมชาติแต่ไม่รู้วิถีชีวิตผู้คน ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเองมันก็ไม่สมบูรณ์”

อีกหนึ่งประเด็นที่กลุ่มยังยิ้มของ ‘ซัม’ โดดเด่นนั่นคือเรื่องของ ‘นกเงือก’ นกคู่บ้านคู่เมืองของป่าฮาลา-บาลา และอำเภอแว้ง “เรื่องนกเงือกเราก็สื่อสารตั้งแต่ปีแรกๆ เลยนะ มันเกิดจากคำขวัญประจำอำเภอที่เราสงสัยว่าทำไมต้องมีคำว่างกเงือก พ่อเราเลี้ยงนกหัวจุก นกเขาชวา ทำไมไม่เอามาพูดบ้าง ทำไมต้องเป็นนกเงือก เราก็ไปหาข้อมูลมาปรากฏว่านกเงือกไม่ธรรมดาจริงๆ ตรงนี้เป็นป่าที่มีนกเงือกหลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในเมืองไทย จาก 13 ชนิดที่นี่มีถึง 10 ชนิด ขาดไปแค่ 3 เท่านั้นซึ่งจะอยู่ฝั่งแถบป่าตะวันตก”

‘ซัม’ บอกว่านกเงือกถือเป็นนักปลูกป่าโดยธรรมชาติ เพราะเป็นนกที่กินผลไม้ป่าราววันละ 100 ลูกต่อตัว กินแล้วคายกินแล้วขี้ เมล็ดก็จะงอกขึ้นใหม่กลายเป็นไม้ใหญ่อีกครั้ง “แล้วนกเงือกเป็นนกที่บินไกลจนได้ฉายายิบซีแห่งพงไพร สมมุติมันบินมาจากห้วยขาแข้งมันกินผลไม้ มันก็บินมาเรื่อย จนถึงแถวๆ เทือกเขาบรรทัด เทือกเขาตะนาวศรี สันกาลาคีรี ไปถึงมาเลเซียด้วยซ้ำ กินไปขี้ไปเรื่อยๆ ก็ปลูกป่าเรื่อยๆ จากการวิจัยของทีมวิจัยเปอร์เซ็นต์ความอยู่รอดของต้นไม้ที่โตจากเมล็ดที่ผ่านการกลืนของนกเงือกมันจะงอกดีกว่าต้นที่เราปลูกเอง ผมคิดว่ามันเป็นความสามารถของพระเจ้าที่ให้เกิดความวิเศษนี้ขึ้นมา”

“เราลองมาคิดคำนวณกันง่ายๆ สมมุติว่านกเงือกกินอาหารมื้อละ 100 เมล็ด มันก็คายออกมาขี้ออกมา ถ้าเมล็ดที่มันคายออกมางอกเป็นต้นไม้สัก 10% กิน 100 เมล็ดเราก็จะได้ต้นไม้ 10 ต้นต่อมื้อ วันหนึ่ง 3 มื้อก็ 30 ต้น เอา 30 X 365 วัน ได้เท่าไหร่ แล้วก็คูณอายุไขของนกเงือกประมาณ 30 ปีเข้าไปอีก นี่แค่นกเงือกตัวเดียวนะได้เป็นแสนต้น”

สิ่งที่ ‘ซัม’ และกลุ่มยังยิ้มทำกับเรื่องนกเงือกนั้นเรียบง่ายแต่ทว่าลึกซึ้ง นั่นคือการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักและเข้าใจความสำคัญของนกเงือก เพราะเขาเชื่อว่าหากเด็กรู้จักและเข้าใจแล้ว ความรักความหวงแหนจะเกิดขึ้นกับพวกเขาเอง

“เราไม่ได้อยากให้เขาแค่รู้จัก แต่เราอยากให้เขารักด้วย เพราะผมคิดว่าการสื่อสารเรื่องธรรมชาติให้คนหันมาดูแลรักษาทางหนึ่งที่ทำง่ายคือทำยังไงก็ได้ให้เขารัก พอรักแล้วก็รู้สึกเกิดการหวงแหน แต่ก่อนที่จะรักก็ต้องให้เขารู้ก่อน ก็เหมือนการรักหญิงสาวที่จู่ๆ จะไปรักเลยมันก็ไม่ใช่ เราต้องรู้จักกันก่อน นิสัยใจคอเป็นไง ก็เริ่มไปเดินดู พอนานๆ เข้าก็เริ่มหวง พอหวงแหนความรักก็จะเข้ามาเอง พอเด็กๆ เริ่มรักเริ่มหวงแหนแล้ว คำว่าอนุรักษ์จะเข้ามาสู่ตัวเขาเอง เราชื่อว่าอย่างนั้นนะ จู่ๆ จะไปบอกให้เขารักธรรมชาติเลยมันไม่มีทาง”

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Furqan Ismael

บรรณาธิการ Halal Life Magazine ผู้นิยมการเขียนมากกว่าพูด และมีช่วงชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างบ้านนอกกับสังคมเมือง รวมไปถึงด้านมืดและด้านสว่างของชีวิต