“ความสุขความเจริญที่แท้จริงอันควรหวังนั้น
เกิดขึ้นได้จากการกระทำและความประพฤติที่เป็นธรรม
มีลักษณะสร้างสรรค์ คืออำนวยผลที่เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตัว แก่ผู้อื่น
ตลอดถึงประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2518
เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ทางปรัชญา พบว่า เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะปรัชญา หรือที่เรียกว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีลักษณะเป็นปรัชญาแห่งความสุข ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 2 เงื่อนไขหลัก พบว่า ฐานความรู้และคุณธรรมนั้น เป็นพื้นฐานของ “ปรัชญาจริยะ” เพราะเน้นในเรื่องของฐานความรู้ควบคู่คุณธรรม เพื่อตอบโจทย์คำถามสำคัญในด้านจริยธรรมที่ว่า How to live well? (เราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร)
ฐานความรู้ ได้แก่ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (รู้รอบ) เป็นหลักในการดำรงตนด้วยความไม่ประมาท ส่วนฐานคุณธรรม ได้แก่ ความประพฤติที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง เน้นในเรื่องความประพฤติที่ส่งเสริมให้เกิดความเกื้อกูล ช่วยเหลือ แบ่งปัน ด้วยน้ำใสใจจริง มีทัศนะในการมองโลกตามความเป็นจริง มีความเพียร และอดทนในการฝึกฝนอบรมตนอยู่เสมอ
ความสุขที่เกิดขึ้นจากการครองตน ครองคน ครองงาน ด้วยธรรม บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นความสุขที่ประณีต สัมผัสได้ด้วยใจ ช่วยให้เกิดการคุณภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตในทางที่สร้างสรรค์ และพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง มั่นคง เกิดดุลยภาพในการดำรงชีวิต
ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานไว้ ณ สถานที่ต่างๆ อาทิเช่น
“การฝึกหัดทางใจนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด
จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังฝึกฝนอยู่เสมอตลอดชีวิต
จึงจะคงความสุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบไว้ได้ ไม่พ่ายแพ้แก่ความลุ่มหลงลืมตัว”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2515 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2516
“ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว
ความสุขความเจริญย่อมเป็นอันหวังได้”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2541
“จิตใจที่ต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ
ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียรพยามยามสร้างสมความดีงาม
ความเจริญ ความสำเร็จ ในทางที่ถูกต้อง เป็นธรรม
มีแต่จะคิดให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี
จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ทำให้คนเป็นคนมักง่าย
ทำงานบกพร่องเสียหายอย่างมาก ก็ทำให้คนเป็นคนด้านหนาไร้ความอาย
“ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ
เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ และเอารัดเอาเปรียบกัน
นอกจากนั้นยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคน ทุกฝ่าย
ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใด ก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2535
“ความเพียรนั้นคือไม่ท้อถอยในการฝึกตนเอง
ไม่ท้อถอยในการแผ่ความรู้
ไม่ท้อถอยในการช่วยผู้อื่น”
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครูฝึกตำรวจตระเวนชายแดน ณ ศาลาเริง พระราชวังไกลกังวล วันพุธที่ 21 พฤษภาคม 2518
แม้ว่าปรัชญาประโยชน์นิยมของทางตะวันตกจะมุ่งเน้นประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นคล้ายกับตอนท้ายของพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ที่กล่าวว่า “…เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ประโยชน์สุขที่พระองค์กล่าวถึงนั้นเป็นประโยชน์สุขอันเกิดจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจทั้งในมิติของการพัฒนากาย อารมณ์ สติปัญญา และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจ จึงแตกต่างจากประโยชน์สุขในทัศนะของปรัชญาประโยชน์นิยมตะวันตก ที่เน้นเพียงเรื่องของความพอใจต่อคุณภาพและปริมาณอันเกิดขึ้นกับวัตถุภายนอกเพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ หากเราแบ่งลักษณะของความสุขออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
แบบที่ 1 มีความสุข บนความทุกข์ของคนอื่น
แบบที่ 2 มีความทุกข์ บนความสุขของผู้อื่น
แบบที่ 3 มีความทุกข์ บนความทุกข์ของตนเองและผู้อื่น
แบบที่ 4 มีความสุขบนความสุขของตนเองและผู้อื่น
จะเห็นได้ว่า ความสุขในรูปแบบที่ 4 นั้นมีความสอดคล้องกับลักษณะความสุขบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด เพราะเว้นจากการเบียดเบียน ส่งเสริมการสงเคราะห์เกื้อกูลแบ่งปันกันด้วยความจริงใจ เป็นความสุขที่สร้างความพอเพียงและสมดุลให้กับชีวิตทั้งในระดับปัจเจก (พึ่งพาตนเองได้) และระดับส่วนรวม (แบ่งปัน)
ติดตามบทความต่างๆ ได้ที่ http://porpeang.net