fbpx

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง (ตอนที่ 2)

เชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของคนจน คนชนบท

ความเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียง คือ ห้ามมี ห้ามรวย ห้ามใช้จ่าย หรือต้องทำไร่ทำนาแบบชาวบ้านในชนบท เป็นการตีความที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง เพราะรู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกับคนเมือง หรือคนอาชีพอื่น ๆ หรือไม่เกี่ยวข้องกับคนที่มีฐานะปานกลาง หรือฐานะร่ำรวย ทัศนะเช่นนี้ขัดแย้งกับพระราชดำรัสที่ทรงเคยตรัสไว้ว่า


“พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
วันที่ 4 ธันวาคม 2541


เมื่อนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศ ความเข้าใจผิดเช่นนี้จะทำให้เกิดทัศนะผิด ๆ ที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงปฏิเสธความร่ำรวยมั่งคั่งของคนในชาติ ปฏิเสธนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปฏิเสธเมกะโปรเจ็คใหญ่ ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน โครงการติดตั้งสายไฟเบอร์ออฟติคทั้งประเทศแทนการใช้สายทองแดง เป็นต้น ความเชื่อเช่นนี้ทำให้มองว่า การพัฒนาประเทศตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจะให้ความสำคัญกับคนชนบทที่ทำเกษตรเท่านั้น แต่ไม่เหมาะกับการพัฒนาชีวิตคนเมือง และความเข้าใจผิดที่เป็นอันตรายอย่างมากอีกประการหนึ่งก็คือ ความเข้าใจผิดคิดว่า ความพอเพียงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ทำให้หยุดการพัฒนาความเจริญของสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ ซึ่งความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจหลักการอย่างถ่องแท้

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการกู้เงินกับธนาคารโลกหรือ IMF ของรัฐบาลเพื่อนำมาพัฒนาประเทศนั้น บางคนมองว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ส่งเสริมนโยบายการกู้เงินดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเคยตรัสไว้ว่า


“…การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
วันที่ 4 ธันวาคม 2540


จากพระราชดำรัสกลับพบว่า ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้กู้เงิน ไม่ให้เป็นหนี้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ความมีภูมิคุ้มกัน ความมีเหตุมีผล ความมีสติปัญญา ที่จะรักษาเกียรติศักดิ์ศรีของประเทศ หากรัฐบาลกู้เงินมาแต่ไม่สามารถตอบโจทย์หรือไม่สามารถนำเงินที่กู้มาทำรายได้ให้งอกเงยได้ ก็เท่ากับว่ากู้เงินมาเป็นหนี้สินภาระให้กับประชาชนในประเทศ ไม่ได้นำมาพัฒนาประเทศชาติอย่างที่กล่าวไว้ ทั้งยังทำให้คนในประเทศเสียเกียรติหากไม่สามารถใช้หนี้ตามเงื่อนไขสัญญาที่ได้ให้ไว้กับธนาคารโลก ในระดับครอบครัวก็เช่นกัน หากคิดกู้หนี้ยืมสินมาเพียงเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย แต่ไม่สามารถนำมาสร้างรายได้หมุนเวียน ผู้ที่กู้เงินด้วยทัศนะเช่นนี้ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนเองและครอบครัว

เท่าที่ผ่านมาการพูดถึงแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงส่วนใหญ่มุ่งไปที่มิติปรัชญา ซึ่งแคบเกินไปเพราะมิติเศรษฐกิจมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ยิ่งถ้าเรามองว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสนอแนะให้ใช้แนวคิดนี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจซึ่งกำลังโหมกระหน่ำเมื่อปี 2540 ด้วยแล้ว การมองข้ามมิติเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมาก


“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517


ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะว่า การใช้ชีวิตให้ยึดหลัก ประการ คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมคุ้มกัน จะทำอะไรอย่าให้เกินกำลัง อย่าใช้จ่ายเกินตัว ยิ่งยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม ยุคทุนนิยม ดูอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด ยุคนี้ผู้บริโภคถูกยั่วด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนั้นต้องรู้จักตัวเอง อย่าหลงระเริง อย่าให้กิเลสมาเป็นนายเรา เราต้องบริหารกิเลสให้เป็น นอกจากธรรมะ ประการแล้ว พระองค์ท่าน ยังเพิ่มหลักอีก ประการ คือ ความรอบรู้ และรอบคอบ ที่สำคัญถ้าปราศจากจริยธรรมและคุณธรรมทุกอย่างก็จบ”

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี (2550) กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องของความประหยัดมัธยัสถ์ในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมองว่าเป็นการนำมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรมเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงหลักการนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกภาคส่วน ในขณะที่ต่างชาติมักเข้าใจผิดคิดว่าพอเพียงแปลว่าไม่ก้าวหน้า ซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างมาก สิ่งที่ดีก็นำมาประยุกต์ใช้ให้ประเทศก้าวหน้า แต่ความก้าวหน้าต้องสมดุลกับประเทศด้วย ที่สำคัญการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ให้ได้ผล ต้องพยายามลบค่านิยมด้านวัตถุนิยมที่เน้นความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย พร้อมปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนในเรื่องของการเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เสริมเข้าไปด้วยมุ่งหวังให้สังคมไทยรู้จักคำว่า “พอเพียง” มากขึ้น ไม่หลงตามไปกับกระแสบริโภคนิยม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนเข็มทิศ เพื่อนำไปสู่หนทางการตัดสินใจที่ถูกต้อง และยั่งยืน

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษ เรื่อง “พระจริยวัตรของในหลวงกับเศรษฐกิจพอเพียง” ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2550 ของสถาบันพระบรมราชนก เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย…จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ” ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า “ได้บรรยายเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 900 กว่าแล้ว เวลาไปพูดเรื่องนี้ทีไรมีหลายหน่วยงานพยายามทำตัวอย่างให้ดู เช่น มีควาย มีกองฟาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาด บางเวทีมีกองฟาง ดีไม่จูงควายขึ้นมาเดินบนเวทีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรัชญานี้”

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ความจำกัดจำเขี่ย แต่เป็นการสร้างพื้นฐานการดำรงชีวิตให้มั่นคง แล้วก้าวจากพื้นฐานที่มั่นคงนั้นต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

กล่าวโดยสรุปก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นของคนจน คนชนบท เพราะเป็นการจำกัดความด้วยทัศนะที่คับแคบ แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกสาขาอาชีพ เป็นพื้นฐานจำเป็นของชีวิตในทุกระดับ เป็นรากฐานทางปรัชญาที่ทำให้เกิดความสมดุลในชีวิตบนทางสายกลาง ใช้สติปัญญา ดำรงชีวิตบนความไม่ประมาท คือ มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุมีผล รากฐานดังกล่าวนี้คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (รู้รอบ รอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาท) และคุณธรรม (ซื่อสัตย์จริงใจ ขยัน อดทน แบ่งปัน)


ติดตามบทความต่างๆ ได้ที่ http://porpeang.net

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน