เชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของภาคเกษตรเท่านั้น
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดประกายพลังแห่งศรัทธาต่อการดำเนินชีวิตที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า… “คนส่วนมากมักเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริง ผู้ประกอบอาชีพอื่น เช่น พ่อค้า ข้าราชการ และพนักงานบริษัทต่างๆ สามารถนำแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ได้…อันนี้ขอบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป..”
ความเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงเรื่องของการปลูกผัก ปลูกหญ้า เป็นเรื่องของภาคเกษตร หรือเป็นเรื่องของการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ความเชื่อเช่นนี้เกิดจากเหตุหลายประการ ส่วนหนึ่งเกิดจากการประชาสัมพันธ์ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เน้นการนำเสนอภาพลักษณ์ของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม มีการทำไร่ทำนา เลี้ยงควาย เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักไร้สารเคมีที่เป็นโทษต่อร่างกาย และส่งเสริมทฤษฎีทางการเกษตร เช่น ทฤษฎีใหม่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เกิดการพัฒนาต่อยอดเครือข่ายทางด้านการเกษตรและนวัตกรรมในการบริหารจัดการพื้นที่ทำกินโดยประยุกต์จากทฤษฎีใหม่ เช่น โคกหนองนาโมเดล เป็นต้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ซึ่งมีอีกหลายภาพที่ยังไม่ถูกนำเสนอต่อสาธารณชน หรือมีการนำเสนอเพียงน้อยนิดที่ยังคลุมเครือหรือยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอาชีพ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้กับภาคธุรกิจ คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง รวมไปถึงการคิดนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดความพอเพียงในด้านคุณภาพชีวิตของคนในชาติ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเคยมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2544 ความว่า
“เศรษฐกิจพอเพียง เริ่มมีการนำไปประยุกต์ใช้กับ “ภาคธุรกิจ” ได้เช่นกัน โดยหัวใจอยู่ที่ การครองตนของภาคธุรกิจในทางสายกลาง คือ พอประมาณ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน และมีบทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศ”
“…การอยู่พอมีพอกิน ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความก้าวหน้า มันจะมีความก้าวหน้าแค่พอประมาณ ถ้าก้าวหน้าเร็วเกินไป ไปถึงขึ้นเขายังไม่ถึงยอดเขา หัวใจวาย แล้วก็หล่นจากเขา ถ้าบุคคลหล่นจากเขา ก็ไม่เป็นไร ช่างหัวเขา แต่ว่าถ้าคนๆ เดียวขึ้นไปวิ่งบนเขา แล้วหล่นลงมา บางทีทับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องหล่นไปด้วย อันนี้เดือดร้อน…”
แก่นแท้ของการพัฒนา เริ่มต้นจากการระเบิดจากภายใน สำรวจความพอเพียงตามลำดับขั้น โดยทุกคนต้องเริ่มสำรวจความพอเพียงด้วยตนเอง เพราะวิถีชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไปตามบริบท ความพอเพียงของคนๆ หนึ่ง อาจไม่เพียงพอกับคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะต้องค้นหาความต้องการที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต และจัดลำดับความต้องการจากสิ่งที่จำเป็นในเบื้องต้น ส่วนความต้องการอื่นๆ จะตามมาในภายหลังบนฐานความรู้และคุณธรรม คือ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การพัฒนาตามลำดับขึ้นจึงเป็นแก่นแท้ของการพัฒนา ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517
เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า ความจำเป็นเร่งด่วนคือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาที่ดิน เป็นเบื้องต้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารควบคู่ไปกับระบบสาธารณสุขที่ดีที่เริ่มต้นจากภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต มีอาหารที่สดใหม่ ปลอดภัยจากสารพิษ เป็นการพัฒนาขั้นพื้นฐานให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนที่จะพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป
ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะของเกษตรกรหรือหมู่คนจน แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพึ่งพาตนเองได้ การมีสติปัญญาในการบริหารความต้องการ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง (ภูมิคุ้มกัน) มีความสมดุลในการดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง มีความรู้รักสามัคคี เมื่อเราเห็นคุณค่าและนำไปปฏิบัติจนเกิดผลก็จะเกิดความมั่นใจจากการพึ่งพาตนเองได้ ขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป
ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมี ความสุขทั้งทางกายและทางใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็ม ความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัว ดำเนินชีวิตโดย ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมทั้งไฝ่รู้และมีการ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคต และเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด เช่น หา ปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัวจากการ ประกอบสัมมาชีพ รู้ข้อมูลรายรับ-รายจ่าย ประหยัด แต่ไม่ใช่ตระหนี่ ลด-ละ-เลิก อบายมุข สอนให้เด็ก รู้จักคุณค่า รู้จักใช้และรู้จักออมเงินและสิ่งของ เครื่องใช้ดูแลรักษาสุขภาพ มีการแบ่งปันภายใน ครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง รวมถึงการ รักษาวัฒนธรรม ประเพณีและการอยู่ร่วมกับ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
ความพอเพียงระดับชุมชน คนในชุมชน มีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วย เหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รัก สามัคคีสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันในชุมชน และนอกชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น การรวมกลุ่มอาชีพ องค์กรการเงิน สวัสดิการชุมชน การช่วยดูแลรักษาความสงบ ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้ง การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่าง เหมาะสม เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง
ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน เริ่มจาก ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์ หรือกำไรในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แสวงหา ผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน มุ่งให้ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม และเป็นธรรมทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่ง และเรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมความพร้อม ต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อสังคมและป้องกันผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้ และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม
ความพอเพียงระดับประเทศ เป็นการบริหารจัดการประเทศ โดยเริ่มจากการวางรากฐาน ให้ป ระช าชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกิน และพึ่งตนเองได้ มีความรู้และคุณธรรมในการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สืบทอดภูมิปัญญา และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรฐกิจพอเพียงอย่างรู้รัก สามัคคีเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด
กล่าวโดยสรุปก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของภาคเกษตรเท่านั้น แต่เป็นรากฐานทางปรัชญาที่ทำให้เกิดความสมดุลในชีวิตบนทางสายกลาง ใช้สติปัญญา ดำรงชีวิตบนความไม่ประมาท คือ มีความพอประมาณ มีภูมคุ้มกัน มีเหตุมีผล รากฐานดังกล่าวนี้คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (รู้รอบ รอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาท) และคุณธรรม (ซื่อสัตย์จริงใจ ขยัน อดทน แบ่งปัน) เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกสาขาอาชีพ เป็นพื้นฐานจำเป็นของชีวิตในทุกระดับ
ติดตามบทความต่างๆ ได้ที่ http://porpeang.net