fbpx

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ฝังรากลึกมายาวนาน  โดยมีต้นตอมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (ทุนนิยม) ที่ใช้เงินเป็นตัวชี้วัด โดยคนมีเงินมีโอกาสและอำนาจมากกว่า ทำให้คนจนและคนมีความรู้น้อยกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ  อีกทั้งระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรมมีข้อยกเว้น และเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน รวมทั้งระบบงบประมาณที่ลำเอียง โดยเป็นประโยชน์ต่อคนมีรายได้สูงมากกว่าคนยากจน จึงยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมขยายฐานกว้างมากขึ้น

ประเทศไทยยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากว่า 10 ปี ก็ด้วยรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ปัญหาด้านการเศรษฐกิจไม่ได้มีเฉพาะด้านเศรษฐกิจเองเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับด้านภูมิศาสตร์  ด้านภาวะประชากร  ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านลักษณะประจำชาติ  ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต รวมไปถึงด้านการศึกษา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ก่อตัวกลายเป็นปัญหาด้านการเมือง ด้านสังคมจิตวิทยา ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ความเหลื่อมล้ำได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมือง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงและเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเกิดจากการขาดโอกาส  ขาดสิทธิ  ขาดทรัพยากร หรือธรรมชาติไม่เข้าข้างก็ตาม

จากการศึกษาและวิจัย พบว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นนับเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้  ทั้งนี้หลักปรัชญาฯ มีพื้นฐานอยู่บนทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ  ซึ่งนับเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างพอเพียงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว  ระดับชุมชน  ระดับการดำเนินธุรกิจ จนถึงระดับประเทศ

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว ไปจนถึงระดับประเทศโดยมีคนหรือประชากร เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ผ่านกระบวนการปลูกฝังความรับผิดชอบหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม การรวมตัวกันของชุมชน ระหว่างชุมชน และกับชุมชนอื่นๆ ที่รวมเรียกว่าภาคประชาสังคมนั้นนับเป็นพลังใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนในการแบ่งปันอำนาจรัฐจากโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่อยู่ในกลุ่มข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ นักธุรกิจ และหากได้รับการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง จะช่วยเปลี่ยนสมการและแบ่งอำนาจในสังคมยุคใหม่ โดยจะก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงการเติบโตอย่างมีพลวัต มีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรมและมีสภาวะทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สรุปกรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ว่า เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  มุ่งเน้นให้รอดพ้นจากภัยและวิกฤตเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา  ทุกคนสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้  ไม่ใช่เฉพาะในหมู่คนจนหรือเกษตรกร โดยต้อง “ระเบิดจากข้างใน”  คือ การเกิดจิตสำนึก มีความศรัทธา เชื่อมั่น เห็นคุณค่าและนำไปปฏิบัติด้วยตนเองแล้วจึงขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป

1.ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว  มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ  พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ  ไม่ทำอะไรเกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  รวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด เช่น หาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัวจากการประกอบสัมมาชีพ รู้ข้อมูลรายรับ- รายจ่าย ประหยัดแต่ไม่ใช่ตระหนี่  ลด-ละ-เลิกอบายมุข สอนให้เด็กรู้จักคุณค่า  รู้จักใช้รู้จักออมเงินและสิ่งของเครื่องใช้ ดูแลรักษาสุขภาพ รู้จักการแบ่งปันกันในครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง รวมถึงการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

2.ความพอเพียงระดับชุมชน  มีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี  สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การรวมกลุ่มอาชีพ องค์กรการเงิน สวัสดิการชุมชน การช่วยดูแลรักษาความสงบ ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม  เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง

3.ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน  เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์ หรือกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่ง และเรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้ ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม

4.ความพอเพียงระดับประเทศ เป็นการบริหารจัดการประเทศโดยการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้  มีความรู้ มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

หลักคิดและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นสิ่งที่คนในยุคสมัยนี้ ควรได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้โดยละเอียด และนำไปประยุกต์ใช้ในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับรัฐ และถือเป็นแนวทางหลักที่นำมาใช้ในการพัฒนาสังคมไทยและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สังคมไทยจึงจะสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ทุกอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ได้


ติดตามบทความต่างๆ ได้ที่ http://porpeang.net

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน