fbpx

ความรัก การแต่งงาน และความเป็นผู้หญิงมุสลิม ในมุมมอง เมทินี อาดัม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็น ผู้หญิงมุสลิม ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งคนที่เกลียดกลัวรวมถึงคนที่ไม่เข้าใจอิสลาม เราจึงได้เห็นผู้หญิงมุสลิมถูกตัดสินและพิพากษาจากการ “คิดแทน” โดยคนอื่นที่ไม่เข้าใจมาโดยตลอด ว่าพวกเธอถูกบังคับ กดขี่ ลิดรอนสิทธิ์ หรือกระทั่งลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเธอ

เมทินี อาดัม ก็เช่นเดียวกันที่มักถูกคิดแทนโดยคนอื่น แต่เธอในฐานะผู้หญิงมุสลิมที่ยึดมั่นในศรัทธาของตัวเองกลับไม่ได้คิดแบบนั้น

แทนที่จะ “คิดแทน” เราอยากชวนคุณลองมา “คิดตาม” เธอกันดูบ้างว่าที่จริงแล้ว เธอคิดและรู้สึกอย่างไรต่อความเป็นผู้หญิงมุสลิมของตัวเธอเอง

ในฐานะที่เป็นผู้หญิงมุสลิมที่อยู่ในเมืองไทย เมืองที่มุสลิมเป็นคนส่วนน้อย มันมีความขัดแย้งในการใช้ชีวิตบ้างหรือเปล่า ?

ที่ผ่านมาโดยส่วนตัวจะโตมากับสังคมที่ไม่ใช่มุสลิมล้วน ก็คือกลุ่มเพื่อนของเราตั้งแต่เด็กจนถึงระดับปริญญาตรีจะเป็นคนไทยพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ(ขอบคุณอัลลอฮ์) ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกหรือแตกต่างจากคนอื่นในเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน อาจจะมีความแตกต่างเรื่องความศรัทธาที่ต่างกันแต่ไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด และอัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺที่เจอเพื่อนที่ให้เกียรติและเข้าใจเรา อย่างในเรื่องอาหาร เรื่องการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ  โดยเฉพาะเพื่อนในสมัยปริญญาตรีที่เข้าใจเราถึงขนาดเตือนเราว่า ถึงเวลาละหมาดแล้วนะจะไปละหมาดก่อนมั้ย หรือเลือกร้านอาหารที่เราสามารถทานได้แบบสะดวกใจ โดยที่เขาก็โอเคด้วย

เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหม ว่าการเป็นมุสลิมะห์นั้นใช้ชีวิตยากกว่าคนอื่นหรือเปล่า ?

เคยมีเหมือนกัน เราเคยคิดว่าทำไมบางอย่างเราถึงมีข้อจำกัด ทำไมเราถึงทำไม่ได้ ทำไมพี่ชายถึงทำได้ แต่หลังจากตั้งคำถามเราก็หาคำตอบให้ตัวเองว่าทำไม เราก็พบว่า จริงๆ แล้วหลายส่วนเป็นการป้องกันปัญหาที่จะตามมามากกว่า เป็นเหมือนกับการป้องกันไว้ก่อนซึ่งมันดีกว่าการแก้ไขทีหลัง

แล้วอย่างเรื่องสิทธิสตรีที่มักถูกพูดถึงกันในหมู่คนมีการศึกษาล่ะ เราเคยมีปัญหากับเรื่องพวกนี้ไหม หรือมีคนอื่นมาถามบ้างไหม ?

ก็เคยมีบ้าง จากเพื่อนต่างศาสนิกที่ยังไม่เข้าใจ จะเข้ามาถามว่าทำไมผู้หญิงมุสลิมถึงโดนบังคับในหลายๆ เรื่อง ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องทำอย่างนั้น ซึ่งมันค่อนข้างแตกต่างกับสิทธิสตรีที่ตะวันตกต้องการจะบอกเรา มันเป็นค่อนข้างแตกต่างกับความเป็น Modernize ในสังคมยุคปัจจุบัน บางคนก็ว่าเราล้าหลัง แต่ความคิดส่วนตัวเราไม่ได้รู้สึกแบบนั้น  เพราะความเป็นจริงในเรื่องทางกายภาพ ผู้หญิงกับผู้ชายย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว ในส่วนของฟังก์ชั่นการทำงาน ฟังก์ชั่นการตัดสินใจ อารมณ์การใช้ชีวิตต่างๆ ก็จะต่างกัน  คำว่าสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับเรา คือการที่เราได้ชีวิตในแบบที่เรารู้สึกว่าเราปลอดภัย เราได้ชีวิตในสิ่งทีเราอยากจะทำโดยที่เราไม่รู้สึกว่าการกระทำของเราจะทำให้เราเดือดร้อนภายหลัง หลักการอิสลามสามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ เราสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เราจะทำได้แต่ว่ามีขอบเขตที่ชัดเจน เราไม่ได้ถูกบังคับ แต่เรามีความรัดกุมในการใช้ชีวิตมากขึ้น

พอเราตอบไปแบบนั้น เขาเข้าใจไหม หรือแค่คิดว่าเราแถไปเรื่อย ?

เราก็อธิบายให้ฟังโดยการยกตัวอย่างเช่น  ปลากับนก มันก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว สิทธิเท่าเทียมกันก็คือ ปลาได้ว่ายน้ำ นกได้บิน  เราอธิบายให้เขาเห็นเป็นภาพ ตอนแรกเขาก็จะบอกว่า ไม่ใช่ มันเป็นอุดมคติเกินไป เราก็บอกว่าลองเทียบง่ายๆ ผู้หญิงกับผู้ชายก็เหมือนนกกับปลา ปลาไม่ได้ต้องการที่จะบินได้  มันแค่อยากจะว่ายน้ำไปเรื่อยๆ ตามน้ำที่มี นกก็เหมือนกัน นกก็อยากบินบนท้องฟ้า ไม่ได้อยากอยู่แค่ในกรง เนื่องจากฟังก์ชั่นที่ต่างกัน อิสระ หรือเสรีภาพมันก็จะต่างกัน เราแค่ทำให้ตัวเราเองสามารถใช้ชีวิตได้ปกติอย่างอิสระ แต่ว่ามีขอบเขตที่ชัดเจน

เมทินี อาดัม

แล้วประเด็นที่เขาบอกว่า มุสลิมล้าหลัง ทำไมถึงเขาถึงคิดแบบนั้น ?

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นที่ตัวมุสลิมเองด้วย มันก็มีจริงๆ ผู้หญิงที่ทำตัวให้คนอื่นมองได้ว่าเราล้าหลังนะ บางครั้งเราก็เจอผู้หญิงที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับภาพลักษณ์ภายนอกมากเกินไป มากกว่าที่จะแสวงหาความรู้ให้กับตัวเอง เพราะความจริงแล้วเราจะล้าหลังหรือไม่ขึ้นอยู่กับความรู้ในตัวเรา ไม่ใช่แค่การแต่งตัวที่ดูทันสมัย มันอาจทันสมัยแต่ไม่ได้อัพเดต เหมือนมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนใช้แต่ไม่ได้อัพเดตเลย ยังเป็นรุ่นเก่าตลอดเวลา ถ้าเราจะบอกใครในเรื่องสิทธิสตรีหรือความทันสมัย เราควรจะเริ่มจากข้างในไม่ใช่แค่เปลือกข้างนอก ไม่ใช่แค่ smartphone แต่คือ firmware ข้างใน

กำลังจะบอกว่า ผู้หญิงมุสลิมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการหาความรู้หรือเปล่า ?

ไม่ใช่ทุกคน มันขึ้นอยู่กับการรับรู้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เขาเจอ บางครั้งคนที่ไม่ใช่มุสลิมไปเจอกับมุสลิมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เขาจะรู้สึกว่ามุสลิมทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ เหมือนเวลาเขาไปเจอร้านอาหารมุสลิมที่สกปรก เขาก็จะรู้สึกว่ามุสลิมสกปรก ความเป็นจริงมันเป็นจุดเล็กๆ เท่านั้นเอง ที่จะบอกคือ มุสลิมะห์ที่มีคุณภาพมีเยอะ แต่อยู่ที่ว่าเขาไปเจอกับอะไร ฉะนั้นสิ่งที่อยากจะบอกกับมุสลิมะห์ก็คือ ให้การศึกษากับตัวเองให้มากขึ้น

อิสลามสนับสนุนให้ผู้หญิงเรียนเยอะๆ ถึงแม้ว่าจะต้องกลับไปอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะสิ่งสำคัญคือการที่คุณจะได้ร่วมกันสร้างประชาชาติที่มีคุณภาพ ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการสั่งสอนลูก ซึ่งมันสำคัญมากๆ

แต่มันสวนทางกับแนวคิดสมัยใหม่ ที่หลายคนออกไปทำงานนอกบ้านแล้วให้คนอื่นเลี้ยงลูก ?

ถ้าเราไปดูประเทศที่เจริญแล้วอย่างฝั่งตะวันตก เราจะพบว่าหลายๆ ประเทศให้ความสนใจกับการเลี้ยงลูกมากขึ้น ผู้หญิงยอมลาออกจากงานที่มีเงินเดือนสูงๆ มาอยู่กับลูก เพื่อให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูก ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น สาเหตุจากปัญหาการหย่าร้างที่เกิดมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองคนออกไปทำงาน บางครั้งเวลาที่มีให้กันน้อยลง ความตึงเครียดที่เกิดจากงานมากขึ้น พอมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจึงเกิดปัญหา ในส่วนของการเลี้ยงลูกก็เช่นเดียวกันที่มันเกิดปัญหา

ตอนนี้จะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศที่เจริญแล้วเริ่มกลับมาสู่ภาวะที่เขาเคยปฏิเสธมันไป ก็คือการให้ผู้หญิงกลับมาอยู่บ้านเลี้ยงลูก เพราะมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ถ้าเราอยู่กับลูกตั้งแต่ต้น อยู่กับเขาตั้งแต่ช่วงแรกที่เราเป็นโลกทั้งใบของเขา มีอิทธิพล ต่อเขาตั้งแต่ต้น พอถึงเวลาที่เขาโตเป็นวัยรุ่น เราจะไม่กลัวอิทธิพลจากภายนอกที่จะส่งผลกระทบกับตัวเขาเลย พ่อแม่หวังดีกับลูกอยู่แล้ว ถ้าเขาเป็นคนแรกที่ลูกเข้ามาพูดคุยด้วย คำแนะนำคำปรึกษาต่างๆ ก็จะเต็มไปด้วยความหวังดี สายใยนี่แหละที่จะทำให้เราเติบโตไปด้วยกัน ก้าวไปด้วยกันได้

ในฐานะที่เป็นแม่คนแล้ว เรามองมิติการเลี้ยงลูกในสังคมไทยอย่างไรบ้าง ?

เรื่องการเลี้ยงลูก เราพยายามให้ลูกเห็นสภาพสังคมจริงๆ โดยการเดินทางไปด้วยกัน เราใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านการเดินทาง  ผ่านการเล่น ผ่านการใช้ชีวิตจริงๆ มากกว่าการมานั่งกางแบบเรียนสอน เราเรียนรู้โดยการเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในสังคมจริงๆ เราพาลูกไปทำงานอาสาด้วยกัน เราพาลูกเดินทางไปในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม เพื่อให้เขาเห็นความแตกต่างของมนุษย์บนโลกที่มันมีอยู่จริงๆ เราส่งลูกไป Play School ที่มีทั้งคนฮินดู  คนพุทธ และอีกหลายศาสนา เราต้องการให้เขาเห็นสภาพที่มันเป็นสังคมจริงๆ ว่าจริงๆ แล้วในสังคมเราไม่ได้มีแค่มุสลิม เราต้องการให้ลูกเป็น Global Citizen เป็นประชาคมโลก เราอยากจะให้เขาเห็นสภาพที่เป็นอยู่ในสังคมจริงๆ ว่า ยังมีคนต่างศาสนิกอีกมากมาย ยังมีวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง เทศกาลหลายๆ อย่างที่มันผูกติดกับความเชื่อ ความศรัทธา และเราในฐานะมุสลิม เราสามารถทำอะไรได้บ้าง  เราเข้าร่วมได้ไหม หรือเราจำเป็นต้องทำตัวอย่างไร

กำลังจะบอกว่า มุสลิมส่วนใหญ่มักเลี้ยงลูกในวัฒนธรรมเดียว และทำให้เป็นคนแปลกแยกจากสังคมหรือเปล่า ?

เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่เป็นวิธีการเลี้ยงลูกของแต่ละครอบครัวมากกว่า เมื่อก่อนเคยตัดสินครอบครัวอื่นที่คิดไม่เหมือนเรา แต่พอเราโตขึ้นโลกเรากว้างขึ้น เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถตัดสินเขาอย่างนั้นได้ บางครั้งหลายๆ อย่าง หลายๆ การตัดสินใจ อยู่ที่ประสบการณ์ของพ่อแม่ที่พบเจอมา อย่างตัวเรา เราอยู่ในสังคมที่เป็นสังคมผสม เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะเลี้ยงลูกแบบที่เราโตมา  แต่กับบางครอบครัวที่รู้สึกว่าอยากให้ลูกอยู่ในสังคมมุสลิมมันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับครอบครัวเขา เราไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่ แต่เราก็อยากให้แต่ละครอบครัวให้ลูกได้เห็นความจริงและความเป็นไปของสังคม โลกเราไม่ได้มีแค่มุสลิม ควรจะให้ความสำคัญกับคนในศาสนาอื่นๆ ด้วย เพราะเราสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกันได้ ในทางกลับกันมันเป็นรูปแบบหนึ่งในการดะวะห์(เผยแพร่) หรือการทำงานศาสนาได้ ด้วยกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเรา ไม่ใช่ด้วยกับสิ่งที่เราพูดแต่ด้วยกับสิ่งที่เราทำ เพื่อที่เขาสามารถมองเห็นว่าจริงๆ แล้วอิสลามไม่ได้แย่แบบที่เขาเคยคิด

คิดว่าอะไรคือความงามที่แท้จริงของความเป็นมุสลิมะห์ ?

เราจะเห็นว่าในกุรอานหรือฮะดีษ อิสลามจะให้ความสำคัญกับเพศหญิงค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลจากสามีหรือจากพ่อ และเมื่อเติบโตจนได้กลายเป็นแม่ก็จะมีบทบาทสำคัญต่อการเลี้ยงลูก เป็นคนที่ให้การศึกษา ให้ความรัก และเป็นคนที่สร้างบุคลิกภาพของลูก เพราะแม่คือครูคนแรกของลูก ตักแม่ก็คือโรงเรียนแห่งแรกของลูก เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่านี่แหละคือเกียรติที่ศาสนาให้กับเรา  เป็นสิ่งสวยงามที่เราไม่สามารถหาได้จากที่อื่น

สำหรับแม่ที่เลี้ยงลูกชาย คุณกำลังเลี้ยงอนาคตผู้นำ เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะเป็นผู้นำในระดับไหน แต่ที่แน่ๆ เขาจะเป็นผู้นำครอบครัวในอนาคต แต่สำหรับแม่ที่เลี้ยงลูกสาว คุณกำลังเลี้ยงแม่ของประชาชาติคนต่อไป เพราะฉะนั้นเราอยากให้ประชาชาติของเราเป็นอย่างไร ตอนนี้เรามีลูกสาวเราก็ต้องเลี้ยงอย่างนั้น เลี้ยงให้เขามีความอดทน มีความเข้มแข็ง  คำว่าอ่อนโยนไม่ได้แปลว่าเขาจะอ่อนแอ เขามีความอ่อนโยนในขณะเดียวกันก็เข้มแข็งและอดทนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรจะมี

เมทินี อาดัม

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักวาดฝันในเรื่องชีวิตรักชีวิตครอบครัวเอาไว้ หากย้อนกลับไปก่อนที่จะแต่งงานเรามองหรือเราคาดหวังกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?

มันก็มีบ้างตอนที่ยังอายุน้อย ก็คาดหวังเรื่องของความโรแมนติก เรื่องการขอแต่งงาน เหมือนเราโดนสังคมหรือสื่อกำหนดความคิดว่าเราควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริงพอถึงวันที่เรารู้สึกว่าเราพร้อม มันกลับไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นความเรียบง่าย มันเป็นแค่การคุยกันว่า ถึงเวลาแล้วนะที่เราต้องทำอะไรให้มันถูกต้อง มันเป็นแค่นั้นจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือฝ่ายผู้ชายเข้าไปคุยกับที่บ้านเราว่าควรจะไปในทิศทางไหน ที่บ้านโอเคไหมถ้าเราจะนิกะห์กัน

มันจำเป็นไหมที่ก่อนแต่งงานเราต้องทดลองคบหาดูใจกันก่อน ?

คือในขณะที่สังคมบอกเราว่า ก่อนที่เราจะแต่งงานเราต้องทำความรู้จักกันก่อน เราต้องออกไปเที่ยวกันก่อน แต่ในความเป็นจริง อันนั้นเราไม่ได้รู้จักกันจริงๆ เพราะว่าเวลาที่ผู้หญิงผู้ชายคิดว่าจะออกไปเที่ยวด้วยกัน ทุกคนพยายามสรรหาแต่ด้านที่ดีออกมา ผู้หญิงยืนหมุนหน้ากระจกอยู่เป็นชั่วโมงเพื่อที่จะได้ภาพลักษณ์ที่ดีที่สุด ผู้ชายใช้น้ำหอมที่ดีที่สุด เลือกคำพูดที่ดีที่สุด มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง การที่เราจะรู้ว่าตัวตนของคนๆ หนึ่งแท้จริงแค่ไหน เราสามารถดูได้จากครอบครัวของเขา จากเพื่อนของเขา ซึ่งมันตรงกับที่อิสลามแนะนำเราว่า เวลาที่เราจะเลือกใครสักคนหนึ่ง เราสามารถพิจารณาจากอะไรได้บ้าง

ท่านนบีให้สี่ประการด้วยกัน สำหรับการที่ผู้ชายจะคัดเลือกผู้หญิง ในทางกลับกันผู้หญิงก็สิทธิ์ที่จะเลือกจากสิ่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก เรื่องของศาสนา เรื่องของชาติตระกูล หรือเรื่องของฐานะ อยู่ที่ว่าแต่ละคนให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากที่สุด สำหรับบางคนอาจจะมองที่ชาติตระกูลก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด มันก็สามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือสิ่งที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายของการใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้คือเรื่องของศาสนา เพราะคนที่เขามีศาสนา เขาจะมีความอ่อนโยน เขาจะมีความเข้าใจ เขาจะมีการให้เกียรติ ซึ่งอันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ มันจะแตกต่างกับการที่สังคมบอกเราว่า เราควรจะออกไปเจอกันก่อน ซึ่งอย่างที่บอกคือการไปเจอกันก่อน คือการคัดเลือกส่วนที่ดีแล้วมาเจอกัน เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วผู้ชายคนนี้เป็นอย่างไร มันไม่สามารถบอกได้ กับการที่เราออกไป เราเหมือนกับเราได้เรียนรู้กัน แต่ในความเป็นจริงมันเป็นด้านที่เราคัดสรรแล้วว่า อันนี้แหละคือสิ่งที่เราอยากให้เขารู้ แต่มันไม่ใช่ตัวจริงทั้งหมดของเรา

แต่มันสวนทางกับค่านิยมของคนไทยทั่วไปในสมัยนี้ ที่คิดว่าการคบหาดูใจกันก่อนเป็นสิ่งจำเป็น หลายคู่ถึงขั้นทดลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันก่อนเลยก็มี

การนิกะห์(การแต่งงาน)ตามรูปแบบอิสลามถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงผู้ชายที่ให้เกียรติกัน แต่เป็นการให้เกียรติกับพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญคือการให้เกียรติกับผู้สร้าง พระเจ้าที่สร้างเรามา แต่การที่เราอยู่กันก่อนแต่ง ทดลองอยู่ด้วยกัน มันไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลย มันเป็นการทดลองบนความเสี่ยงหลายอย่างๆ และเป็นการทดลองบนความไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราไม่ให้ความสำคัญกับคนที่เลี้ยงดูผู้หญิงมา เราไม่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่เราต้องการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่ค่อนข้างเสียหายในหลายๆ ประเด็น ผู้ชายบอกกับเราว่าขอทดลองอยู่กันก่อนคือผู้ชายที่ไม่ได้ให้เกียรติเราจริงๆ เพราะถ้าผู้ชายที่เขาให้เกียรติเราจริงๆ เขาจะต้องมีหลักประกันให้เรารู้สึกมั่นใจ และการนิกะห์หรือการแต่งงานคือการทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกมั่นใจ และก็ปลอดภัย ซึ่งกันแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

 แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิม เขาอาจมองว่าวิธีการของเขาไม่เสี่ยงนะ ทดลองอยู่กันก่อน ถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็จากลากันไป ดีกว่ามาแต่งงานกันเลยโดยไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งอาจเกิดปัญหาหย่าร้างหรือบ้านแตกตามมา อันนี้เรามองอย่างไร ?

 การแต่งงานหรือการใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน สิ่งที่สำคัญนอกจากความรักคือการให้เกียรติกัน ถ้ามันไม่ได้เริ่มต้นจากการให้เกียรติกัน การใช้ชีวิตด้วยกันมันก็จะมีปัญหา ถึงแม้คุณจะบอกว่ามันลดความเสี่ยง ถ้าสมมติแต่งงานกันไปแล้วอยู่กันไม่ได้ขึ้นมาต้องหย่าร้าง มันก็ยังดีกว่าการที่เราทดลองอยู่ด้วยกันแล้วก็ต้องหย่าร้างอยู่ดี จริงๆ มันเสี่ยงทั้งสองอย่าง แต่เสี่ยงแบบมีหลักประกัน กับเสี่ยงแบบไม่มีอะไรเลยเป็นข้อผูกมัด ไม่มีอะไรเป็นข้อบังคับ ไม่มีขอบเขตไม่มีอะไรเลย แบบไหนมันน่าเสี่ยงกว่ากัน

คนส่วนใหญ่มองว่า ความรักมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ความรักเอาชนะทุกสิ่ง ความรักคือนิรันดร์ ในฐานะที่เรามีครอบครัวแล้ว เราคิดว่าความรักมันสำคัญขนาดไหน และมีผลกับชีวิตคู่ของเรามากน้อยขนาดไหน ?

ถ้าดูในละคร รักแท้ก็คือความรักที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงผู้ชายแล้วก็จบลงที่การแต่งงาน แต่ว่าความเป็นจริงการแต่งงานมันเป็นแค่จุดเริ่มต้น รักแท้สำหรับผู้ศรัทธาไม่ได้จบลงพร้อมลมหายใจที่หมดไป แต่มันคือความรู้สึกอยากที่จะพบกันอีกครั้งในสวรรค์ ความแตกต่างระหว่างผู้ศรัทธากับผู้คนทั่วไปก็คือ ความความรักที่เกิดขึ้นมาเป็นความรักที่เกิดขึ้นเพื่ออยากจะได้เจอกันอีกครั้ง แม้ว่าชีวิตนี้ของเราจะจบ จะหมดลมหายใจไปแล้ว แต่ว่าความรักแท้ของเราจะไม่หยุดแค่นั้น มันคือการได้เจอกันอีกครั้ง ได้หัวเราะ ได้ยิ้มกันอีกครั้งในสวรรค์ ซึ่งมันจะเป็นที่อยู่ที่ถาวร มันเป็นความรู้สึกอย่างนั้น

ก่อนหน้านั้นเคยให้คำนิยามว่ารักของเราจะเป็นรูปแบบไหน แต่ความเป็นจริงมันไม่สามารถนิยามได้ มันก็คือการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตในทุกวันเพื่อที่อยู่ด้วยกัน รักกัน คุยกัน อบรมซึ่งกันและกัน เวลาที่เราอยู่ด้วยกันในลักษณะของสามีภรรยา มันก็จะมีบางครั้งบางมุมที่เขาอาจจะทำไม่ถูกต้องหรือว่าเรายังทำไม่ถูกต้องเราใช้วิธีพูดคุยกัน ปรึกษากัน เพราะเราถือว่าทุกๆ การกระทำที่เราทำร่วมกันตอนนี้มันมีผลตอบแทนที่ดีรอเราอยู่ และทุกๆ การกระทำที่เกิดขึ้นในทุกวันมันจะส่งผลต่ออนาคตที่เป็นอนาคตที่ถาวรของเรา เพราะฉะนั้นรักแท้ในนิยามของเราตอนนี้ก็คือรักที่หวังว่าจะได้พบกันอีกครั้งในสวรรค์ มันจะช่วยทำให้เรากำหนดวิธีการที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ง่ายขึ้น

เราตื่นขึ้นมาละหมาดตะฮัจญุดร่วมกัน เราทำงานอาสาร่วมกัน เราบริจาคด้วยกัน และเราก็เลี้ยงดูลูกด้วยกัน เราไม่ผลักให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง เราใช้เวลาร่วมกันค่อนข้างเยอะ และเราก็ไม่ได้รู้สึกมั่นใจในตัวบุคคล เราไม่ได้รู้สึกว่าสามีเราดีกว่าคนอื่น แต่เพียงเรารู้จักที่จะมอบหมายมากขึ้น ทุกวันนี้ที่ชีวิตเราดีเป็นเพราะอัลลอฮ์ช่วยเหลือเรา ทุกๆ วันนี้ที่เราเจอสิ่งที่ดี เพราะว่าอัลลอฮ์ได้ประทานให้กับเรา เราขอบคุณกันมากขึ้น เราให้เกียรติกันมากขึ้น ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้น มากกว่าตอนที่เราเพิ่งแต่งงานกันแล้วอยู่ในช่วงของการจูนกัน มีความสุขมากกว่าตอนก่อนที่เราจะแต่งงานกัน ตอนที่เราคิดว่านี่แหละคือความรัก แต่ เมื่อเรามองย้อนกลับไปเราจะพบว่าก่อนแต่งงานมันไม่ใช่ความรัก

เมทินี อาดัม

การนิกะห์หรือการแต่งงานในมุมมองของเราเป็นอย่างไร ?

ขอให้คำนิยามสั้นๆ ง่ายๆ แค่สองพยางค์คือคำว่า เติมเต็ม การนิกะห์ช่วยเติมเต็มคนสองคนให้เป็นคนที่เพอร์เฟ็คต์สำหรับกันและกัน อาจไม่ได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเขาตัดสินใจที่จะนิกะห์กัน ตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน มันจะเติมเต็มคนทั้งสองคน เติมเต็มทั้งในเรื่องของจิตวิญญาณ เติมเต็มในเรื่องของการใช้ชีวิต เติมเต็มในทุกๆ อย่างในชีวิตตั้งแต่ตื่นเช้าจนหลับไปอีกรอบ มันเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เป็นการช่วยให้อีกคนมีชีวิตที่สมบูรณ์มากขึ้น ผู้ชายคนเดียวไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้คนเดียวได้ ผู้หญิงคนเดียวก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อสองคนตัดสินใจมาอยู่ร่วมกัน เขาและเธอพามุมมองที่ต่างกันมาเจอกัน และใช้ชีวิตร่วมกันมันเป็นการเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น

อยากจะฝากอะไรถึงมุสลิมะห์ที่กำลังจะแต่งงานบ้างไหม ?

สำหรับมุสลิมะห์ที่กำลังตัดสินใจจะแต่งงานหรือว่ากำลังอยู่ในช่วงวัยที่พร้อม ก็อยากจะให้สนใจแล้วก็ศึกษาในเรื่องของศาสนาให้มากขึ้น หลังจากที่เราสนใจและใส่ใจศึกษาในเรื่องของศาสนามากขึ้นเราจะเจอคำตอบหลายๆ อย่างที่เรากำลังค้นหา และสังคมภายนอกไม่สามารถบอกคำตอบที่แท้จริงกับเราได้ เราไม่สามารถดูละครแล้วบอกว่า ชีวิตเราจะเป็นแบบไหน แต่ถ้าเราศึกษาชีวิตของศอฮาบะห์ ศอฮาบียะห์ และผู้คนที่เกิดในยุคของท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล) จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเราได้

การตัดสินใจแต่งงานไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่ว่าเราพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชายคนหนึ่ง แล้วก็มีจุดมุ่งหมายที่ยาวไกลด้วยกันหรือเปล่า เพราะว่าการใช้ชีวิตของมุสลิม การแต่งงานของมุสลิมไม่ได้จบที่เรื่องของการแต่งงาน มันไม่เหมือนละครที่พระเอกกับนางเอกแต่งงานกันคือละครจบ แต่การนิกะห์หรือการแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตจริง ชีวิตครอบครัวด้วยกันจริงๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดอีกหนึ่งชีวิตขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นของความรับผิดชอบใหม่ที่มันท้าทายสำหรับมุสลิมะห์ทุกคน

Note: เมทินี อาดัม คือใคร

เมทินี อาดัม เป็นคนภูเก็ตแต่ไปอาศัยอยู่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย พร้อมกับสามีและลูกชายตัวน้อย ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้เธอสนใจงานแปลและงานเขียนโดยเน้นไปที่บทความและหนังสือสำหรับครอบครัวมุสลิม นอกจากนี้เธอยังเป็นโค้ชให้กับพ่อแม่ในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยวิถีอิสลาม และเป็นผู้ออกแบบสื่อและหลักสูตร Islamic Homeschool โดยใช้ชื่อบ้านเรียนของเธอว่า “Sow The Seeds Islamic Homeschool” และเขียน Blog เพื่อใช้ในการเก็บร่องรอยแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกับการรีวิวหนังสือดีๆ สำหรับครอบครัวมุสลิมไปในเวลาเดียวกัน

สามารถติดตามผลงานเธอได้ที่

Facebook: Sow The Seeds Islamic Homeschool
Blog: https://menie2review.wordpress.com

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน